top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

3 วิธีรักษาโรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง


เปิดหัวข้อมาด้วยชื่อโรคภาษาอังกฤษแปลกๆ ว่า IMPOSTER SYNDROME ซึ่งหลายท่านจะเกิดความสงสัยว่ามันคืออะไรนะ แต่หากคุณผู้อ่านได้รู้ความหมายแล้วจะต้องร้องอ๋อ! กันอย่างแน่นอนค่ะ และเชื่อว่าคุณผู้อ่านหลายท่านจะรู้สึกว่าเราเองก็เป็นโรคนี้อยู่นี่หน่า ซึ่งในบทความนี้จะมาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับอาการและวิธีรักษาโรค IMPOSTER SYNDROME ให้คุณผู้อ่านรับทราบกันค่ะ



โรค IMPOSTER SYNDROME คืออะไร?


คิดว่าตัวเองไม่เก่ง

IMPOSTER SYNDROME มีชื่อภาษาไทยที่แสนเข้าใจง่ายว่า “โรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง” ซึ่งพบได้ตั้งแต่เด็กๆ วัยเรียนจนถึงผู้ใหญ่วัยทำงาน และพบได้มากที่สุดในช่วงอายุ 25 – 45 ปี ซึ่งเป็นวัยที่กำลังสร้างตัว สร้างฐานะนั่นเอง ความอันตรายของโรคนี้ไม่ใช่แค่เฉพาะการทำให้ความภาคภูมิใจในตัวเองต่ำลง (Low self estreem) แต่ยังนำไปสู่โรคซึมเศร้าได้อีกด้วย


จุดกำเนิดของโรค IMPOSTER SYNDROME เริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ. 1978 โดยนักจิตวิทยา 2 ท่าน คือ Suzanne Imes และ Pauline Rose Clance ได้ศึกษาปรากฏการณ์ของกลุ่มคนที่ประสบความสำเร็จ แต่ลึกๆ แล้วกลับรู้สึกว่าไม่คู่ควร คิดว่าที่ตัวเองสำเร็จได้ก็เพราะโชคมากกว่าความสามารถจริงๆ ซึ่งความรู้สึกดังกล่าวทำให้ผู้คนเหล่านั้นหวาดระแวงกลัวว่าจะมีคนรู้ว่าเขาไม่เก่งจริง


การศึกษาดังกล่าวทำให้พบว่าอาการดังกล่าว มักเกิดขึ้นในเพศหญิงที่ประสบความสำเร็จสูงเป็นหลัก ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะค่านิยมทางสังคมที่เพศหญิงจะได้รับการยอมรับน้อยกว่าเพศชายนั่นเอง แต่ในยุคต่อๆมาก็พบว่าโรค IMPOSTER SYNDROME เป็นอาการที่เกิดได้กับคนทั่วไป



อาการของโรค IMPOSTER SYNDROME เป็นอย่างไร?

โรค IMPOSTER SYNDROME มีอาการของโรค 5 อาการ ดังนี้


กดดันตัวเอง

1.กดดันตัวเอง

ตั้งมาตรฐานกับตนเองสูง คาดหวังว่าตนต้องประสบความสำเร็จในทุกเรื่อง แต่ถ้าไม่สำเร็จเพียงอย่างหนึ่งอย่างใด จะคิดว่าตัวเองไม่เก่งในสิ่งนั้นทันที และนำไปสู่การไม่กล้าคิด ไม่กล้าลงมือทำในเรื่องนั้นๆอีกเลย


2.เป็นยอดมนุษย์

ทำงานหามรุ่งหามค่ำ เพราะคิดว่างานที่ทำจะต้องทำได้ดีกว่านี้ จึงมองว่าสิ่งที่ทำยังดีไม่พอ คนประเภทนี้จะทุ่มเทให้กับงานอย่างมากมาย จนถึงขั้นแยกเวลาในการใช้ชีวิตส่วนตัวและเวลาทำงานออกจากกันไม่ได้ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัวตามมาได้


3.ขาดความมั่นใจ

กลัวความผิดพลาด มักจะวิตกกังวลกับสิ่งที่กำลังเผชิญ และกลัวว่าตัวเองจะทำไม่ได้ ทั้งๆ ที่เตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา กลายเป็นคนที่เสียบุคลิกภาพ เพราะจะดูอยู่ไม่นิ่ง ดูไม่สมาร์ท กลายเป็นการสร้างความไม่น่าเชื่อถือให้แก่ตนเอง


4.วันแมนโชว์

ทำทุกอย่างด้วยตัวเอง คิดว่าตัวเองต้องทำได้ทุกอย่าง และเมื่อทำไม่ได้ก็จะคิดว่าตัวเองไม่เก่ง เฝ้าโทษแต่ตนเองว่าถ้าเราเก่งกว่านี้เราคงทำงานชิ้นนี้ให้สำเร็จได้ จนนำไปสู่ความท้อถอย และถอดใจในการทำงานในที่สุด


5.ชอบอยู่ใน Comfort Zone

กลัวการเจอสิ่งใหม่ เมื่อทำงานประจำจนชิน จึงกลัวที่จะต้องเปลี่ยนไปทำงานอย่างอื่น ยอมอยู่กับตำแหน่งเดิม ในที่เดิมๆ แม้จะรู้ว่าการไม่เปิดรับความเปลี่ยนแปลงจะทำให้ไม่เกิดความก้าวหน้าก็ตาม



การรักษาโรค IMPOSTER SYNDROME ทำได้อย่างไร?

สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ได้เสนอแนะแนวทางรักษาโรค IMPOSTER SYNDROME ง่ายๆด้วยตนเอง 3 วิธี ดังนี้


1.​มองตัวเองในด้านบวก

มองตัวเองในแง่บวก

โดยเริ่มต้นง่ายๆจากการนึกถึงตนเองในสิ่งดีๆ วันละ 1 อย่าง ทำต่อเนื่องทุกวัน เช่น ข้อดีของตัวเอง การทำสิ่งดีๆ การคิดหรือพูดสิ่งดีๆ ในแต่ละวัน วิธีการทบทวนเรื่องดีๆ ประจำวันนี้ จะช่วยให้เรากลับมาเห็นคุณค่าในตนเอง อันนำมาซึ่งความรักและการยอมรับในตนเอง จนทำให้เกิดความเข้าใจว่า จริงๆแล้วเรามีดีมากกว่าที่เราคิด


2.ฝึกการรับรู้และรู้จักความสามารถของตนเอง

การรับรู้ว่าเราสามารถทำอะไรได้บ้าง รวมถึงการรู้จักความสามารถของตนเอง จะส่งผลให้ชีวิตของเราไม่สับสน รู้ว่าเรามีจุดแข็งหรือข้อดีอะไร และได้กลับมาภูมิใจในตนเองในแบบที่เราเป็นจริง เพราะเมื่อเรารู้จักความสามารถของเราแล้วและนำไปใช้ในการทำงาน เราจะสามารถเลือกทำงานที่เราถนัด เราจะสามารถทำงานออกมาได้ดี ซึ่งจะช่วยเพิ่มความรู้สึกดีๆ กับตนเองได้มากขึ้น อีกทั้งยังมีความสุขในการทำงานมากขึ้นอีกด้วย


3. กลับมารับรู้ความต้องการและแรงปรารถนาของตนเอง

การหาความต้องการ หรือความปรารถนาของตัวเองให้เจอเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะการที่เราจะทำอะไรได้ดี ต้องเริ่มจากการรู้ว่าเราชอบอะไร เราถนัดอะไร เราต้องการอะไร เมื่อเรารู้แล้วว่าเรามีเป้าหมายของชีวิต และความถนัดอย่างไรแล้ว จะก่อให้เกิดความรู้สึกที่มีพลังในทางบวก เช่น มีความหวังว่าเราจะสามารถประสบความสำเร็จได้ มีความรู้สึกรักตนเอง เชื่อมั่นในตนเอง เป็นต้น ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้จะช่วยให้เราสามารถเผชิญสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างกล้าหาญมากขึ้น



เชื่อมั่นใจตัวเอง

โรค IMPOSTER SYNDROME หรือ โรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง เป็นโรคที่ก่อให้เกิดอุปสรรคในการชีวิตอย่างมากค่ะ แต่ก็เป็นโรคที่เราสร้างมันขึ้นมาในใจของเราเอง และเราก็สามารถรักษาอาการของโรคให้หายไปด้วยตัวเราเองได้เช่นกัน ผู้เขียนขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านที่มีอาการของโรคนี้ในการค้นพบตนเองและเอาชนะความคิดที่ว่า “เราไม่เก่ง” ได้ในเร็ววันนะคะ

 

เพราะทุกก้าวของชีวิตคือจิตวิทยา


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง :

1.https://thematter.co/brief/imposter-syndrome-remedy/24237

2. https://www.ted.com/playlists/503/fighting_impostor_syndrome

3. https://www.jobbkk.com/variety/detail/5053

4. สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย. บทความ “ความพึงพอใจในตนเองต่ำ” (Low Self estreem).


 

facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page