เมื่อคู่ชีวิตเป็นพิษต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว ไปต่อหรือพอกันที

หากคุณยังจำตอนที่เป็นเด็กได้ ภาพวาดครอบครัวของหลาย ๆ คนมักจะเป็นภาพที่ประกอบไปด้วยพ่อแม่ลูก อันเป็นภาพที่มีความหมายถึงการเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์ โดยภาพครอบครัวที่สมบูรณ์นั้นก็มาจากอุดมคติทางสังคมที่เชื่อว่าครอบครัวที่อบอุ่นสมบูรณ์ควรเป็นครอบครัวที่มีพ่อแม่ลูกอยู่ด้วยกัน ในขณะที่ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวหรือครอบครัวที่มีสามีภรรยาแต่ไม่มีลูกก็มักจะถูกมองว่าเป็นครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์หรือมีปัญหา ทำให้หลาย ๆ คนเลือกที่จะทำทุกอย่างเพื่อให้ครอบครัวคงสมาชิกไว้ตามที่สังคมกำหนด แม้ว่าจะต้องเผชิญกับคู่ชีวิตที่เป็นพิษก็พยายามอดทนเอาไว้เพียงเพื่อไม่ให้สังคมภายนอกมองว่าเป็นครอบครัวที่มีปัญหา หรือมองว่าตนเป็นคนที่แย่เพราะไม่สามารถรักษาความเป็นครอบครัวแบบพ่อแม่ลูกเอาไว้ได้
อย่างไรก็ตาม นักจิตวิทยามักจะได้พบกับผู้รับบริการที่มีสมาชิกครอบครัวคนใดคนหนึ่งหรือหลายคนมีลักษณะเป็นพิษ (toxic) ต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว อาทิ มีพ่อที่เมาเหล้าอย่างหนักชอบตะโกนด้วยถ้อยคำหยาบคายหรือลงไม้ลงมือกับสมาชิกในครอบครัว หรือในข่าวซึ่งเรามักเห็นกันบ่อย ๆ ที่ฝ่ายสามีมีโลกหลายใบสร้างความทุกข์ให้กับภรรยาและลูก เรื่องราวเหล่านี้ล้วนเป็นตัวอย่างของครอบครัวที่มีจำนวนสมาชิกครบถ้วน แต่เบื้องลึกเบื้องหลังสมาชิกในครอบครัวกลับตกอยู่ในสภาวะ ‘กลืนไม่เข้าคายไม่ออก (dilemma)’ ใจหนึ่งก็อยากจะหย่ากับคู่ชีวิตเพื่อให้ปัญหาที่คาราคาซังนี้จบสิ้นไปเสียที แต่อีกใจหนึ่งก็ไม่อยากให้ครอบครัวของตนขาดพร่องกลายเป็นครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวเพราะกลัวว่าลูกจะกลายเป็นเด็กมีปัญหา
ทั้งนี้ จากการพบกับผู้รับบริการหลาย ๆ กรณีแล้ว จะเห็นจุดร่วมกันอยู่ว่า โจทย์ภายนอกไม่ได้เป็นเรื่องที่มีน้ำหนักต่อการตัดสินใจมากมายเท่าใดนัก เช่น จะถูกชาวบ้านนินทาไหม? จะเดินเข้าซอยบ้านแล้วต้องตอบคำถามตั้งแต่ปากซอยยันท้ายซอยยังไง? แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว สิ่งที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจว่าจะเลิกราหรือไม่นั้นมักมาจากโจทย์ภายในมากกว่า โดยเฉพาะโจทย์ที่เชื่อมโยงกับคุณค่า (value) ของตนเอง อาทิ “คนที่มีคุณค่าจะต้องไม่ผ่านการหย่าร้าง” “แม่ที่ดีจะต้องไม่ทำให้ลูกขาดพ่อ” “ผู้ชายที่ดีจะต้องไม่ถูกภรรยาทิ้ง” “การเป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวคือการล้มเหลวในชีวิต” เป็นต้น หากเป็นเช่นนั้น การแยกทางจะไม่ใช่เป็นเพียงการเลิกราแต่จะสั่นสะเทือนไปถึงการเห็นคุณค่าในตนเอง (self-esteem) ซึ่งก็จะยิ่งทำให้จมอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกหนักเข้าไปอีก
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังรู้สึกกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ไม่รู้ว่าควรจะไปต่อหรือพอกันที นั่นหมายความว่าคุณกำลังอยู่ในช่วงเวลาที่สับสน ดังนั้น สิ่งที่คุณควรทำจึงไม่ควรเป็นการเร่งตัวเองให้ตัดสินใจ แต่คุณควรจะใช้เวลากับตัวเองเพื่อทำสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ …
1. ทบทวนคุณค่าที่คุณให้กับคำว่า “ครอบครัว”
ลองทบทวนดูว่าคุณมีการตั้งคุณค่าหรือความหมายของคำว่าครอบครัวไว้อย่างไร และคุณกำลังยึดโยงคุณค่าของตัวเองเอาไว้กับความหมายของคำว่าครอบครัวอยู่หรือไม่ เพราะหากคุณเอาคุณค่าของตัวเองไปผูกไว้กับการมีพ่อแม่ลูกอยู่กันครบ คุณก็อาจจะหลงลืมไปว่าการมีความสงบสุขในครอบครัวมีความสำคัญกว่าจำนวนสมาชิกมากมายนัก
2. ประเมินผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับลูก
หากบ้านมีบรรยากาศราวกับเป็นสนามรบ ลูกที่ต้องพบเห็นสภาพเช่นนั้นบ่อย ๆ จะมีความรู้สึกอย่างไร โดยเฉพาะหากลูกยังอยู่ในวัยเด็กแล้ว ความที่ยังไม่มีวุฒิภาวะหรือการรู้คิดที่มากเท่าผู้ใหญ่ จะยิ่งทำให้เด็กตกอยู่ในสภาวะสับสนหวาดกลัว เครียด และวิตกกังวล ซึ่งภาพจำต่าง ๆ สำหรับเด็กจะกลายเป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญ และเป็นบาดแผลทางใจที่ยากจะแก้ไขเมื่อลูกโตขึ้น อย่างไรก็ตาม แต่ละครอบครัวก็มีรายละเอียดที่ไม่เหมือนกัน บางครอบครัวก็อาจมีเรื่องราวดี ๆ มากกว่าเรื่องที่แย่ ซึ่งเรื่องราวทั้งดีและแย่ก็อาจจะเป็นข้อมูลที่ดีที่คุณจะนำมาใช้ประเมินผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับลูกของคุณในอนาคตได้ว่าการตัดสินใจจะไปต่อหรือหย่าร้างจะดีต่อสภาพจิตใจของลูกมากกว่ากัน
3. ตั้งความคาดหวังไว้บนหลักของความจริง
หลายคนมีความคาดหวังเกี่ยวกับคำว่า “ครอบครัว” เอาไว้ค่อนข้างสูง มีมาตรฐานของคำว่า “ครอบครัวที่ดี” “คู่สมรสที่ดี” “พ่อที่ดี” “แม่ที่ดี” “ลูกที่ดี” ซึ่ง...ยิ่งคุณตั้งมาตรฐานเอาไว้สูงเท่าไหร่ คุณก็ยิ่งมีโอกาสที่จะผิดหวังมากเท่านั้น นอกจากนั้น หากทุกอย่างไม่เป็นไปตามที่คาดหวังคุณเองจะต้องประสบกับความทุกข์ใจอย่างสาหัส หรือดีไม่ดีคุณอาจจะเลือกยื้อความสัมพันธ์ที่เป็นพิษเอาไว้เพียงเพื่อต้องการให้เป็นไปตามนิยามคำว่าครอบครัวที่คุณสร้างมันขึ้นมา
4. อยู่กับปัจจุบัน
เป็นธรรมดาที่เวลาเริ่มต้นมีความรักหรือตอนที่เริ่มสร้างครอบครัวใหม่ ๆ ทุกอย่างมันย่อมต้องดีไปหมด แต่เมื่อเวลาล่วงเลยผ่านไป สิ่งที่ใหม่กลายเป็นสิ่งที่เก่า สิ่งที่เคยตื่นเต้นกลายเป็นสิ่งที่เคยชิน สิ่งที่เคยหวานกลับกลายเป็นความจืดชืด หากคุณยังยึดติดอยู่กับวันคืนเก่า ๆ และไม่สามารถปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงได้ คุณอาจจะตกอยู่ในสภาพ ‘ติดหล่ม’ คือไปข้างหน้าก็ไม่ได้ ถอยหลังก็ไม่ได้ ยิ่งพยายามจะออกจากหลุมให้ได้กลับยิ่งทำให้หลุมนั้นลึกขึ้นไปกว่าเดิม ดังนั้น หากคุณมาถึงช่วงทางตันของความรักจนยากที่จะเยียวยาแล้วล่ะก็ ทางรอดเดียวและเป็นทางรอดที่ดีด้วยก็คือการอยู่กับปัจจุบัน
5. รักตัวเอง
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ยอมสละหรือทิ้งความเป็นตัวเองไปเพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่เป็นพิษเอาไว้ ยกตัวอย่างเช่น คุณยอมที่ถูกคู่สมรสด่าทอด้วยคำหยาบคายหรือพูดจาดูถูกเหยียดหยามสารพัดเพียงเพื่ออยากจะรักษาความเป็นครอบครัวเอาไว้ ความคิดนี้นอกจากจะเป็นความคิดไม่ดีเท่าใดนัก มันยังอาจส่งต่อไปยังลูกของคุณให้เชื่อแบบเดียวกันนี้และอาจส่งผลต่อการมีความสัมพันธ์หรือชีวิตคู่ของลูกในวันข้างหน้าได้อีกด้วย ดังนั้น หากคุณไม่อยากให้ลูกของคุณต้องประสบกับสภาวะกล้ำกลืนฝืนทนกับปัญหาชีวิตคู่แล้วล่ะก็ คุณอาจจะต้องเริ่มต้นใหม่ด้วยการเป็นตัวอย่างในการ “รักตัวเอง” ให้กับลูกแล้วล่ะค่ะ
แม้ว่าชีวิตคู่ที่อยู่กันแบบถือไม้ทองกระบองยอดเพชรจะเป็นความใฝ่ฝันของคู่สมรสหลาย ๆ คู่ แต่มันก็ไม่จำเป็นที่คนทุกคนจะต้องเหมือนกันไปทั้งหมด และแม้ว่าคุณจะประสบกับปัญหาความสัมพันธ์กี่ครั้งกี่หน ก็อย่าลืมนะคะว่า คุณค่าของคุณไม่ได้ลดลงไปเลย ตราบใดที่คุณยังมีความรักให้กับตัวเอง
สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความแนะนำ :
เยียวยาความสัมพันธ์จากการนอกใจ
3 ขั้นตอนการค้นพบความสุข เมื่อเจอมรสุมความรัก
ประวัติผู้เขียน : นิลุบล สุขวณิช
จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาจิตวิทยา(คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และระดับปริญญาโท สาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีประสบการณ์ด้านการจิตวิทยาการปรึกษากว่า 7 ปี ปัจจุบันเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และเป็นผู้เขียนบทความของ iSTRONG