top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

พ่อแม่จะช่วยให้ลูกไม่มีนิสัยชอบใช้ความรุนแรงได้อย่างไร ในยุคที่ความรุนแรงมีอยู่รอบตัว



ข่าวการกราดยิงที่เกิดขึ้นในประเทศไทยแต่ละครั้งถือว่าสร้างความสะเทือนใจและหวาดกลัวให้กับคนไทยอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะพ่อแม่ผู้ปกครองที่ดูข่าวอยู่ก็อาจจะเกิดความกังวลใจขึ้นมา ในยุคที่ความรุนแรงมีอยู่รอบตัวแบบนี้ควรจะทำอย่างไรเพื่อให้ลูกไม่มีนิสัยชอบใช้ความรุนแรง หลายคนก็อาจจะคิดว่า “เกม” คือตัวแปรหลักที่ทำให้เด็กแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงหรือไม่ ในบทความนี้ ผู้เขียนได้รวบรวมสาเหตุของพฤติกรรมรุนแรงของวัยรุ่นมาฝาก ได้แก่


  • อิทธิพลของสื่อ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อประเภทต่าง ๆ รวมไปถึงวิดีโอเกมและ social media มีอิทธิพลต่อพฤติกรรม จากบทความของเว็บไซต์ Very well family ระบุว่าสาเหตุหนึ่งของพฤติกรรมรุนแรงในเยาวชนก็คือ “อิทธิพลของสื่อ” โดยในบทความได้อ้างถึงงานวิจัยบางส่วนที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างวิดีโอเกมและพฤติกรรมความรุนแรง


ซึ่งแต่ละงานวิจัยจะมีข้อสรุปที่แตกต่างกันไปโดยมีทั้งงานวิจัยที่บ่งชี้ว่าวิดีโอเกมมีผลต่อพฤติกรรมรุนแรง และงานวิจัยที่บ่งชี้ว่าวิดีโอเกมไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับพฤติกรรมรุนแรง อย่างไรก็ตาม แม้หลายงานวิจัยจะได้ผลของการศึกษาว่าวิดีโอเกมไม่ได้ทำให้เยาวชนเกิดพฤติกรรมรุนแรงโดยตรง


แต่วิดีโอเกมก็มีผลต่อสุขภาวะ (Well-being) ของเยาวชนอยู่เหมือนกัน นอกจากนั้น วิดีโอเกมที่มีเนื้อรุนแรงก็อาจมีอิทธิพลต่อเยาวชนได้ แต่กระนั้นวิดีโอเกมก็ไม่ได้เป็นจำเลยเดียวที่ถูกมองว่าเป็นสาเหตุของพฤติกรรมรุนแรงของเยาวชน Social media ก็เป็นอีกจำเลยที่ถูกมองว่าทำให้เยาวชนเกิดการลอกเลียนแบบและแสดงพฤติกรรมรุนแรงออกมา


  • สภาพแวดล้อมทางสังคม

สภาพแวดล้อมที่เยาวชนเติบโตก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อรูปแบบพฤติกรรมของเยาวชน ซึ่งในที่นี้หมายรวมถึงสภาพเศรษฐกิจสังคมของชุมชนที่เด็กคุ้นชิน ตัวอย่างของสภาพแวดล้อมที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดพฤติกรรมรุนแรงของเยาวชน


ได้แก่ คนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในชุมชนมีปัญหาทางเศรษฐกิจ มีความเป็นชุมชนไร้ระเบียบ เพื่อนบ้านตีกันรายวัน เป็นแหล่งค้าขายยาเสพติด ตำรวจไม่ค่อยเข้ามาดูแลตรวจตรา เด็กที่โตมากับสภาพแวดล้อมเช่นนี้จึงมองว่ามันเป็นสภาพแวดล้อมที่ปกติเพราะเกิดความคุ้นชินกับสภาพแวดล้อมที่เติบโตมา


  • ความรุนแรงในครอบครัว

ผู้เขียนมีความคิดเห็นส่วนตัวว่า “ความรุนแรงในครอบครัว” เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด เพราะนอกจากมันจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เด็กเกิดบาดแผลทางใจที่ส่งผลต่อพฤติกรรมในอนาคตแล้ว ยังมีเรื่องของการเลียนแบบทางสังคมเข้ามาเชื่อมโยงอีกด้วย อ้างอิงจากการทดลองของ Albert Bandura ที่มีชื่อว่า “The Bobo Doll Experiment”


ซึ่งเป็นการทดลองที่คลาสสิคขึ้นหิ้งพอสมควร โดยผู้เข้าร่วมการวิจัยเป็นเด็กชาย 36 คน เด็กหญิง 36 คน ที่อยู่ในความดูแลของ Stanford University Nursery School อายุเฉลี่ยของผู้เข้าร่วมการวิจัยคือ 3 – 6 ปี ผลของการวิจัยพบว่าเด็กจะเลียนแบบพฤติกรรมของผู้ใหญ่ที่เป็นผู้สาธิตการเล่นกับตุ๊กตา (Bobo Doll)


และเด็กที่ได้เห็นตัวแบบที่กระทำรุนแรงกับตุ๊กตา เช่น เตะ จับโยน เด็กก็จะทำเลียนแบบและมองว่านั่นเป็นพฤติกรรมการเล่นที่ปกติ จึงสรุปได้ว่าเด็กที่เห็นผู้ใหญ่แสดงพฤติกรรมรุนแรงต่อหน้า ก็มีโอกาสสูงที่เด็กจะมองว่าการใช้ความรุนแรงเป็นเรื่องปกติ ทำให้เด็กมีพฤติกรรมรุนแรง


  • ขาดการดูแลเอาใจใส่จากพ่อแม่/ผู้เลี้ยงดูหลัก

บางครอบครัวพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูหลักอาจจะไม่มีเวลาหรือไม่ได้เห็นความสำคัญของการเอาใจใส่เด็ก ทำให้เด็กไม่ได้รับการสอนว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ เวลาเด็กมีปัญหาก็ปรึกษาคนในครอบครัวไม่ได้ ซึ่งมีโอกาสสูงที่เด็กจะเกิดพฤติกรรมก้าวร้าว


และยิ่งถ้าเด็กรู้สึกว่าตัวเองขาดความอบอุ่น เด็กก็อาจจะไปคลุกคลีกับคนนอกครอบครัวที่เด็กรู้สึกดี หากเด็กโชคร้ายก็อาจไปเจอกับสังคมที่ยอมรับเด็กแต่เป็นสังคมมีมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม พูดง่าย ๆ ว่า “สบายใจแต่ชวนกันเกเร”

  • แรงกดดันจากคนรอบข้าง (Peer Pressure)

แรงกดดันจากคนรอบข้างโดยเฉพาะกลุ่มเพื่อนของวัยรุ่นก็เป็นอีกเหตุปัจจัยที่ทำให้วัยรุ่นมีพฤติกรรมรุนแรง วัยรุ่นปกติทั่วไปมักจะไม่ก้าวร้าวรุนแรงด้วยตัวเองแต่จะเป็นไปเพราะกลุ่มเพื่อนยุยงหรือกดดัน เพราะวัยรุ่นเป็นวัยที่ต้องการการยอมรับจากเพื่อนสูง หากวัยรุ่นไปอยู่ในกลุ่มของเพื่อนที่มีพฤติกรรมรุนแรงก็มักจะต้องทำพฤติกรรมรุนแรงให้เหมือนกับเพื่อนในกลุ่ม


  • การใช้สารเสพติดและแอลกอฮอล์

เมื่อสารเสพติดและแอลกอฮอล์ออกฤทธิ์ มันจะไปเพิ่มความก้าวร้าวแต่จะไปลดความรู้สึกกลัวลงซึ่งทำให้ผู้ใช้รู้สึกดี แต่ในระยะยาวมันจะไปทำให้เกิดความรู้สึกหดหู่ โกรธเคือง และคับแค้นใจ ซึ่งความรู้สึกที่เกิดขึ้นเหล่านี้มักจะทำให้ผู้ใช้แสดงพฤติกรรมรุนแรงเกรี้ยวกราดออกมา


  • บาดแผลหรือปมในใจ (Trauma Event)

บาดแผลหรือปมในใจก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดพฤติกรรมรุนแรง คนที่มีบาดแผลทางใจมักจะมีความรู้สึกโกรธอยู่ข้างใน เพราะความโกรธคือส่วนหนึ่งของ “stage of grief” วัยรุ่นที่เศร้าโศกเจ็บปวดอยู่ลึก ๆ


จึงมักจะแสดงพฤติกรรมรุนแรงเพราะมีความความโกรธที่ปะทุอยู่ข้างใน ซึ่งในวัยรุ่นบางราย พฤติกรรมรุนแรงอาจเป็นสัญญาณของอาการเครียดหลังจากเผชิญเหตุการณ์รุนแรง (PTSD)


หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กังวลว่าลูกจะมีพฤติกรรมรุนแรงไหม สิ่งแรกที่คุณทำได้เลยทันทีคือการทำให้ตัวเองเป็นพ่อแม่ที่มีอารมณ์มั่นคง ไม่ใช้ความรุนแรงกับลูก เพื่อเป็นตัวแบบที่ดี แต่หากคุณเองก็ไม่สามารถจัดการกับอารมณ์ของตนเองได้ การไปปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาก็เป็นทางเลือกที่ดีค่ะ

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

  • คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง:

[2] Do Violent Video Games Lead to Aggressive Behavior? https://www.verywellfamily.com/aggressive-behavior-and-video-games-1094980

[3] What the Bobo Doll Experiment Reveals About Kids and Aggression https://www.verywellmind.com/bobo-doll-experiment-2794993


บทความที่เกี่ยวข้อง

 

ประวัติผู้เขียน

นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) จบการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และระดับปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา(คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นนักจิตวิทยา

facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page