นักจิตวิทยาแนะนำ 5 วิธีเลี้ยงลูกวัยรุ่นอย่างเข้าใจ
เราทุกคนล้วนเคยเป็นลูก แต่การเป็นพ่อแม่นั้นถือเป็นสิ่งใหม่ของใครหลาย ๆ คน จึงไม่แปลกค่ะที่หลายครอบครัวต้องมาขอรับคำแนะนำ หรือปรึกษานักจิตวิทยาเกี่ยวกับวิธีการเลี้ยงลูก โดยเฉพาะในครอบครัวที่มีลูกวัยรุ่น ความเป็นพ่อแม่ถือเป็นทักษะที่ต้องอาศัยการเรียนรู้และประสบการณ์ สิ่งที่พ่อแม่หลายคนนำมาใช้กับการเลี้ยงลูกส่วนใหญ่แล้วเป็นสิ่งที่มาจากประสบการณ์ที่ตัวพ่อแม่เองเคยประสบหรือได้รับมาก่อน เช่น จากพ่อแม่ ปูย่าตายาย ครูอาจารย์ หรือแม้แต่ตัวแบบในโทรทัศน์ สไตล์การเลี้ยงลูกของพ่อแม่แต่ละคนจึงมีความแตกต่างกันไปในแต่ละครอบครัว
อย่างไรก็ตาม จากการที่ผู้เขียนได้ทำงานด้านการให้คำปรึกษามักพบว่า “ความขัดแย้ง” ระหว่างพ่อแม่และลูกวัยรุ่นส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องของการควบคุมและจำกัดอิสระของลูกวัยรุ่น เนื่องจากพ่อแม่หลายคนไม่เข้าใจธรรมชาติของลูกวัยรุ่น จึงใช้วิธีการเลี้ยงลูกแบบเดิมที่เคยใช้เมื่อลูกอยู่ในวัยเด็ก สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาจึงกลายเป็นว่านอกจากลูกจะไม่เชื่อฟังพ่อแม่เหมือนเดิมแล้ว ยังมักจะต่อต้านสิ่งที่พ่อแม่สอนหรือห้ามปราม เข้าทำนองว่า “ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ”
มีพ่อแม่จำนวนมากที่รู้สึกหนักใจจนกุมขมับกับลูกวัยรุ่น พ่อแม่หลายคนคุยกับนักจิตวิทยาไปร้องไห้ไป เพราะรู้สึกว่าลูกเปลี่ยนแปลงไปเหมือนไม่ใช่ลูกคนเดิม รู้สึกว่าลูกไม่น่ารักไม่เชื่อฟังพ่อแม่ แถมยังเห็นเพื่อนดีกว่าพ่อแม่ เวลาเพื่อนพูดอะไรก็เชื่อไปหมด ส่วนพ่อแม่พูดอะไรก็เถียงไปหมด แต่คุณพ่อคุณแม่ที่เข้ามาอ่านบทความก็อย่าเพิ่งสิ้นหวังกันนะคะ เพราะก็มีหลายครอบครัวที่ลูกวัยรุ่นไม่ได้สร้างความหนักใจให้กับพ่อแม่เลย หากคุณพ่อคุณแม่มีความเข้าใจในสิ่งต่อไปนี้ การเลี้ยงลูกวัยรุ่นก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากจนถึงขั้นต้องหนักใจหรือน้ำตาตกอีกต่อไปค่ะ
นักจิตวิทยาแนะนำ5 วิธีเลี้ยงลูกวัยรุ่นอย่างเข้าใจ
1. เข้าใจธรรมชาติของวัยรุ่น
พ่อแม่ทุกคนย่อมต้องเคยผ่านชีวิตช่วงวัยรุ่นกันมาแล้ว แต่หลายคนก็ผ่านช่วงวัยรุ่นมาโดยไม่เข้าใจตัวเอง เมื่อต้องมาเลี้ยงลูกวัยรุ่นจึงไม่เข้าใจพฤติกรรมการแสดงออกของลูก เพราะสมัยที่พ่อแม่เป็นวัยรุ่นก็ไม่เข้าใจว่าความรู้สึกหรือความต้องการของตัวเองที่เกิดขึ้นในตอนวัยรุ่นนั้นคืออะไรเช่นกัน
โดยอาจจะมาจากการที่ไม่เคยมีใครบอก ไม่ได้ศึกษาเกี่ยวกับธรรมชาติของวัยรุ่น หรือก็ถูกเลี้ยงดูมาจากพ่อแม่ที่ไม่เข้าใจตัวเองเหมือนกันจึงส่งต่อความไม่เข้าใจกันรุ่นสู่รุ่น จึงไม่ทราบว่าการเป็นวัยรุ่นก็คือการสิ้นสุดลงของวัยเด็ก วัยรุ่นต้องค้นหาอัตลักษณ์ของตัวเองซึ่งเป็น “งานประจำวัย” ของวัยรุ่นตามทฤษฎีขั้นพัฒนาการทางบุคลิกภาพของอิริคสัน ดังนั้น ถ้าวัยรุ่นถูกบังคับให้เชื่อฟังและยอมตามผู้ใหญ่ไปหมดทุกอย่าง เขาก็จะไม่สามารถเกิดพัฒนาการตามวัยได้ ซึ่งจะทำให้มีปัญหาต่าง ๆ ตามมาตั้งแต่ระดับเล็กน้อยไปจนถึงระดับรุนแรง
ศึกษาธรรมชาติของวัยรุ่นเพิ่มเติมได้ที่นี่ Empathic Parenting รักอย่างเข้าใจพ่อแม่ยุคใหม่เข้าใจลูกวัยรุ่น
โดยจิตแพทย์และนักจิตวิทยา
2. หมั่นทบทวนความต้องการของตัวเองบ่อย ๆ
มีคนวัยอุดมศึกษาจำนวนหนึ่งที่เข้ามาปรึกษาด้วยปัญหาที่เกิดขึ้นจากพ่อแม่ของตัวเอง โดยเฉพาะปัญหาเรื่องการถูกควบคุมบงการ เช่น กำหนดให้กลับบ้านก่อน 6 โมงเย็น เลือกคณะ หรือสาขาที่เรียนให้โดยที่ลูกไม่ชอบ ไม่อนุญาตให้ลูกไปเที่ยวต่างจังหวัดกับเพื่อน ๆ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้คุณพ่อคุณแม่อาจไม่ทราบว่าการกระทำดังกล่าวได้สร้างความรู้สึกเจ็บปวดทุกข์ใจให้กับลูกวัยรุ่นเป็นอย่างมาก
ซึ่งหากมองที่เจตนาจะพบว่าพ่อแม่มีเจตนาที่ดี อยากให้ลูกปลอดภัย อยากให้ลูกได้เรียนในสาขาที่มีหน้ามีตาในสังคม แต่ขณะเดียวกัน หากคุณพ่อคุณแม่ไม่เคยทบทวนความรู้สึกนึกคิดของตนเอง ไม่ทราบว่าจริง ๆ แล้วตนเองต้องการอะไร ก็มักจะมีพฤติกรรมควบคุมบงการลูกโดยไม่รู้ตัว ยกตัวอย่างเคสหนึ่งที่คุณแม่มาปรึกษาว่า “ลูกเป็นเด็กที่ไม่สู้คน ไม่กล้าแสดงออก คุณแม่กังวลว่าลูกจะถูกเอาเปรียบ” เมื่อถามว่าเหตุใดคุณแม่จึงคิดเช่นนั้น คุณแม่ให้เหตุผลว่า “เพราะตอนที่ตัวเองเป็นเด็ก ก็เป็นเด็กที่ไม่กล้าแล้วก็ถูกเพื่อนแกล้งและเอาเปรียบตลอด” สุดท้ายแล้ว คุณแม่ก็พบว่า ..อ๋อ..เหตุผลที่กังวลไปต่าง ๆ นานา ทั้งที่เรื่องร้าย ๆ ยังไม่เกิดขึ้นกับลูก มาจากประสบการณ์ของคุณแม่เอง รวมถึงความกังวลนั้นมาจากความกลัวลึก ๆ ของตัวคุณแม่นั่นเอง ความหนักใจของคุณแม่ท่านนี้จึงเบาหวิวลงไปหลังจากที่ตระหนักรู้ความต้องการของตัวเอง
3. ให้อภัยตนเองบ้างก็ได้ ไม่เห็นต้องเป็นพ่อแม่ที่เพอร์เฟคเลย
สิ่งที่เป็นตลกร้ายของชีวิตอย่างหนึ่งก็คือ ยิ่งพยายามที่จะสมบูรณ์แบบเท่าไหร่ ก็ยิ่งไปไม่ถึงความสมบูรณ์แบบเท่านั้น พ่อแม่หลายคนพยายามทำทุกอย่างให้สมบูรณ์แบบ และเมื่อไปไม่ถึงความสมบูรณ์แบบที่หวังไว้ก็จะรู้สึกแย่กับตัวเอง หรือรู้สึกล้มเหลว
รวมถึงบางครั้งยิ่งพยายามที่จะรักษาความสมบูรณ์แบบเอาไว้กลับยิ่งพัง เช่น พยายามรักษาครอบครัวให้เป็นพ่อแม่ลูกแต่ก็ทะเลาะกับคู่สมรสต่อหน้าลูกทุกวัน พยายามให้ลูกเรียนคณะดี ๆ หรือสถาบันมีชื่อเสียงแต่ลูกก็ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ในความเป็นจริงแล้วการที่คุณได้ชื่อว่าเป็นพ่อเป็นแม่คน ก็ไม่เห็นต้องเป็นพ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบเลยค่ะ เพราะ “ความสมบูรณ์พร้อมก็คือการยอมรับพ่อแม่ของเราในฐานะเป็นปุถุชน พ่อแม่ทำดีที่สุดแล้วเท่าที่เขาจะทำได้ในเวลาใดก็ตามที่เอื้ออำนวย”
4. ห่วงใยหรือไม่เชื่อใจลูก
ทุกครั้งที่ได้พบกับผู้ปกครอง ก็มักจะได้ยินเหตุผลที่ทำให้พวกเขาต้องคอยควบคุมบงการลูกอยู่ตลอดเวลาว่า “เป็นห่วงลูก” ซึ่งเป็นที่เข้าใจได้ค่ะ เพราะพ่อแม่ทุกคนย่อมห่วงใยลูกอยู่แล้วตามสัญชาตญาณความเป็นพ่อเป็นแม่ แต่ความห่วงใยที่แฝงไปด้วยความไม่เชื่อใจนั้น ให้ผลที่แตกต่างจากความห่วงใยและไว้วางใจในตัวลูกมากค่ะ
เนื่องจากวัยรุ่นเป็นวัยที่ต้องการการยอมรับเป็นอย่างมาก การที่ถูกห้ามจากพ่อแม่อาจทำให้ลูกวัยรุ่นรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่ยอมรับซึ่งจะยิ่งทำให้ลูกวัยรุ่นรู้สึกไม่พอใจพ่อแม่จนทำตัวห่างเหินพ่อแม่ออกไป และยิ่งถ้าออกจากบ้านไปแล้วเขาได้รับการยอมรับจากคนอื่น เขาก็จะยิ่งตีตัวออกห่างจากพ่อแม่ตัวเองมากขึ้นไปอีก ในขณะเดียวกัน ลูกวัยรุ่น ที่ ได้รับความไว้วางใจจากพ่อแม่โดยที่มีพ่อแม่คอยสนับสนุนให้กำลังใจหรือเป็นตัวช่วยยามที่เขามีปัญหา เขาก็จะยิ่งสนิทสนมกับพ่อแม่ เวลาพูดอะไรเขาก็จะไม่โต้เถียงแต่จะเก็บเอาไว้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ
5. ยิ่งกลัวห่างเหินยิ่งเหินห่าง เว้นระยะช่องว่างให้ลูกวัยรุ่นบ้างก็ได้
เคยกอดใครแน่น ๆ ไหมคะ ส่วนใหญ่แล้วถ้าคนเราถูกกอดแน่น ๆ ก็มักจะอยากดิ้นรนออกไปจากอ้อมกอดนั้น ถ้าเรากอดเขาอย่างหลวม ๆ เขาก็จะอยู่ในอ้อมกอดนั้นนานขึ้น แต่ถ้าไม่กอดเลยความผูกพันเชื่อมโยงก็ไม่เกิดระหว่างกัน พ่อแม่บางคนรักลูกมากจนไม่ให้ลูกคลาดสายตาเลย ต้องมีลูกอยู่ใกล้ชิดตลอดเวลา
ซึ่งเป็นการดีสำหรับลูกวัยเด็กค่ะ เพราะวัยเด็ก สมองส่วนการคิดและการใช้เหตุผลไม่ดีนัก จึงยังต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิดจากพ่อแม่ แต่ลูกวัยรุ่นนั้นต่างออกไป เพราะเป็นช่วงวัยที่สมองส่วนการคิดและการใช้เหตุผลกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทำให้วัยรุ่นสามารถคิดซับซ้อนได้มากขึ้น คิดเป็นระบบมากขึ้น ในขณะที่สมองส่วนอารมณ์หรือระบบ Limbic ของวัยรุ่นยิ่งพัฒนาไปไกลกว่านั้น ทำให้วัยรุ่นมีพฤติกรรมหุนหันพลันแล่น หงุดหงิดโมโหง่าย หากพ่อแม่เข้าไปล้ำเส้นหรือทำให้วัยรุ่นรู้สึกถูกคุกคามก็มักจะแสดงพฤติกรรมต่อต้านหรือหงุดหงิดก้าวร้าวได้
ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่กลัวว่าลูกจะตีตัวออกไปจากตนเอง ก็คงจะต้องศึกษาระยะห่างและช่องว่างระหว่างเรากับลูกให้ดี ซึ่งวัยรุ่นแต่ละคนต้องการระยะห่างที่แตกต่างกันไป ไม่สามารถตีค่าออกมาเป็นตัวเลขความห่างได้ค่ะ แล้วแบบนี้รู้ได้ยังไงว่าต้องห่างกับลูกเท่าไหร่ถึงจะดี “เราจะมองเห็นแจ่มชัดได้ด้วยหัวใจเท่านั้น สิ่งสำคัญไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตา” - อ็องตวน เดอ แซงเตกซูเปรี
หากคุณพ่อคุณแม่ท่านไหนอ่านแล้วยิ่งรู้สึกหนักใจหรือไม่มั่นใจกับทักษะการเลี้ยงลูกของตนเอง หรือคุณครูอาจารย์ที่กุมขมับกับการดูแลเด็กนักเรียน ก็สามารถเรียนรู้ทักษะต่าง ๆ เพื่อฝึกฝนตนเองให้เป็นนักให้คำปรึกษาหรือเข้าร่วม Workshop ของ iSTRONG กันได้ที่ หลักสูตรประกาศนียบัตรสำหรับนักให้คำปรึกษามืออาชีพ
สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
อ้างอิง:
Satir, V., Banmen, J., Gerber, J., & Gomori, M. (1991). The Satir model: Family therapy and beyond. แปลโดย รศ. พญ. รัตนา สายพานิชย์ (2557)
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
Contact : https://www.istrong.co/service
ประวัติผู้เขียน : นิลุบล สุขวณิช
ปริญญาตรี ในสาขาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปริญญาโท ในสาขาจิตวิทยาการปรึกษา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
มีประสบการณ์การทำงานด้านจิตวิทยาการปรึกษา 7 ปี ปัจจุบันทำงานในตำแหน่งนักจิตวิทยา
ประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
Comentários