ดาหลา บุปผา ฆาตกรรม เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม : ทำไมความสัมพันธ์ที่ดีถึงช่วยให้คุณมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น?

ทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่า “มนุษย์เป็นสัตว์สังคม” อีกทั้งยังมีความซับซ้อนในการเข้าสังคมนั่นจึงทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์เป็นเรื่องเข้าใจยาก เพราะแต่ละคนมีจุดประสงค์ในการสร้างความสัมพันธ์กับแต่ละบุคคลแตกต่างกัน เช่น ต้องการสร้างมิตรภาพ ต้องการสร้างเพื่อน ต้องการคบเพื่อนผลประโยชน์ ต้องการสร้างครอบครัว หรือต้องการเรื่องความสัมพันธ์ทางกายเพียงอย่างเดียว เป็นต้น
นั่นจึงทำให้มนุษย์อย่างเรา ๆ จึงต้องเรียนรู้ในการสร้าง พัฒนา และรักษาความสัมพันธ์ เพื่อประโยชน์ในการดำรงชีวิต
ตามทฤษฎีวิทยาศาสตร์ของ Charles Darwin บิดาแห่งวิวัฒนาการ กล่าวไว้ว่า “มนุษย์เป็นสัตว์สังคม” เพราะการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ ช่วยให้มนุษย์สามารถเอาตัวรอดได้ดีขึ้น ทางด้านทฤษฎีจิตวิทยา เกี่ยวกับ “มนุษย์เป็นสัตว์สังคม” Bandura มีทฤษฎีว่า มนุษย์เรียนรู้พฤติกรรมทางสังคมผ่านการสังเกต การเลียนแบบ และการเสริมแรง การมีความสัมพันธ์กับผู้อื่นช่วยให้เกิดการพัฒนาทักษะและบรรทัดฐานทางสังคม
และ Maslow กล่าวว่า ความต้องการทางสังคม (Belongingness and Love Needs) เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของชีวิตมนุษย์ ตั้งแต่ความสัมพันธ์ในครอบครัว มิตรภาพ ไปจนถึงการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม หากขาดสิ่งเหล่านี้ มนุษย์อาจรู้สึกโดดเดี่ยวและเกิดปัญหาทางจิตใจ เช่น ภาวะซึมเศร้า ภาวะเครียด เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้ คำถามที่ว่า ทำไมความสัมพันธ์ที่ดีถึงช่วยให้คุณมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น? จึงเป็นคำถามที่น่าสนใจ ซึ่งทฤษีจิตวิทยาได้ให้คำตอบเอาไว้ดังนี้ค่ะ
1. การได้รับการสนับสนุนทางสังคม (Social Support) ช่วยให้ลดความเครียด
ทฤษฎีการสนับสนุนทางสังคม (Social Support Theory) โดยผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา Cohen & Wills อธิบายว่า การได้รับการสนับสนุนทางสังคม (social support) ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนทางอารมณ์ (emotional support) การสนับสนุนทางข้อมูล (informational support) หรือการช่วยเหลือทางกายภาพ (instrumental support) ล้วนสามารถช่วยให้มนุษย์รับมือกับความเครียดได้ดีขึ้น
ซึ่งมีผลโดยตรงต่อสุขภาพกาย โดยมีงานวิจัยทางจิตวิทยา พบว่า ผู้ที่มีความสัมพันธ์ทางสังคมที่ดี จะมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและความดันโลหิตต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และยังสามารถฟื้นตัวจากโรคได้เร็วขึ้น หรือกล่าวได้ว่า ความสัมพันธ์ที่ดีส่งผลให้เรามีชีวิตที่ยืนยาวขึ้นนั่นเอง
2. ความสัมพันธ์ที่ดีช่วยให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนดี
ทฤษฎีความเครียดและสุขภาพ (Stress-Health Theory) โดย Selye ระบุว่า ความเครียดเรื้อรัง (chronic stress) ทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (cortisol) มากเกินไป ซึ่งสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ เบาหวาน และภาวะอักเสบเรื้อรัง
แต่ในทางกลับกัน หากเรามีความสัมพันธ์ที่ดีร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนดี ได้แก่ ออกซิโทซิน (Oxytocin) ซึ่งเป็นสารแห่งความรักและความสัมพันธ์ จะหลั่งออกมาเมื่อมีปฏิสัมพันธ์ที่อบอุ่นกับคนอื่น ๆ เช่น กอด จับมือ หรือเล่นกับสัตว์เลี้ยง โดยจะช่วยลดความเครียดและเพิ่มความรู้สึกปลอดภัย และเอนดอร์ฟิน (Endorphins)
ซึ่งเป็นสารแห่งความสุขและความผ่อนคลาย จะหลั่งออกมาเมื่อเราทำกิจกรรมหรือหัวเราะ โดยจะช่วยลดความเครียดและเพิ่มความสุข ทั้งนี้เมื่อร่างกายหลั่งฮอร์โมนดีออกมาอย่างต่อเนื่องจะส่งผลให้เรามีชีวิตที่ยืนยาวขึ้นนั่นเอง
3. ความสัมพันธ์ที่ดีช่วยให้เกิดความรู้สึกปลอดภัยในการใช้ชีวิต
ทฤษฎีความต้องการของ Maslow (Maslow’s Hierarchy of Needs) ชี้ให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ที่ดีมีบทบาทสำคัญในการระดับความต้องการทางสังคม (Belongingness and Love Needs) ซึ่งช่วยให้มนุษย์รู้สึกปลอดภัยและเติมเต็มทางจิตใจ โดยการขาดความสัมพันธ์ที่ดีอาจนำไปสู่ความรู้สึกเหงา (loneliness) ซึ่งเชื่อมโยงกับปัญหาสุขภาพ เช่น ภาวะซึมเศร้า โรคหัวใจ และอายุขัยที่สั้นลง
4. การมีความสัมพันธ์ที่ดี ทำให้เกิดความรู้สึก “เป็นส่วนหนึ่งของสังคม”
ทฤษฎีวิวัฒนาการและการอยู่ร่วมกันในสังคม (Evolutionary Theory of Social Bonds) ของ Baumeister & Leary (1995) เสนอแนวคิด "Need to Belong" ซึ่งอธิบายว่ามนุษย์มีแรงจูงใจโดยธรรมชาติในการสร้างความสัมพันธ์ เพราะการอยู่ร่วมกันในสังคมช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิต
เนื่องจากมนุษย์จะรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เป็น Some body ไม่ใช่ Nobody มีตัวตน มีความสำคัญ โดยงานวิจัยทางจิตวิทยาพบว่า การแยกตัวจากสังคมหรือการขาดเครือข่ายทางสังคมมีผลเสียต่อสุขภาพพอ ๆ กับปัจจัยเสี่ยงทางกายภาพ เช่น การสูบบุหรี่ หรือโรคอ้วน เลยทีเดียว
จากทฤษฎี “มนุษย์เป็นสัตว์สังคม” และคำอธิบายของคำถามที่ว่า ทำไมความสัมพันธ์ที่ดีถึงช่วยให้คุณมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น? ข้างต้น สามารถอธิบายให้เห็นภาพผ่านซีรีส์สัญชาติไทย เรื่อง “ดาหลา บุปผา ฆาตรกรรม” ที่ว่าด้วยเหตุฆาตรกรรม คุณ โอม อนุสรณ์ เอื้อเทพา แคนิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรคการเมืองหนึ่งในเรื่อง
อันนำไปสู่การไขคดีที่แสดงให้เห็นความลับดำมืด และธาตุแท้ในจิตใจของคนในตระกูล “เอื้อเทพา” และ “ตั้งสินทรัพย์” ที่มืดหม่น และเน่าเฟะ แตกต่างจากภาพลักษณ์ผู้ดี ติดหรู ติดแกลมที่คนทั้งสองตระกูลแสดงออกมา
เหตุผลที่ชีวิตของโอม ใน “ดาหลา บุปผา ฆาตรกรรม” ไม่ได้มีชีวิตยืนยาวเท่าที่ควร นั่นก็เพราะความสัมพันธ์ทางสังคมที่ล้มเหลวค่ะ ซึ่งสามารถตอบคำถามเรื่องความสัมพันธ์ที่ดีช่วยให้มีชีวิตที่ยืนยาวได้อย่างเห็นภาพ กล่าวคือ หากโอม เป็นคนดี ให้เกียรติคนอื่น ใส่ใจ และรักษาความสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างจริงใจ ดังเช่นที่เขาแสดงออกมาจริง เขาจะเป็นที่รักของทุกคน เขาจะได้รับความใส่ใจ ได้รับความเอ็นดู ห่วงใย และความปรารถนาดีจากคนรอบข้าง
แต่ในความเป็นจริงแล้ว โดยเนื้อแท้โอมเป็นคนโหดร้าย แสวงหาผลประโยชน์จากความสัมพันธ์ ไม่เว้นแม้แต่กับคนในครอบครัว หรือคนที่กำลังจะแต่งงานด้วยกัน นั่นจึงทำให้ชีวิตของโอมต้องจบลงก่อนวัยอันควร รวมถึงชีวิตของตัวละครอื่น ๆ ใน “ดาหลา บุปผา ฆาตรกรรม” ก็เต็มไปด้วยความเครียด ความหวาดระแวงในการอยู่ร่วมกัน ไม่มีความสุขในการใช้ชีวิต และบางตัวละครมีการทำร้ายตัวเอง โทษตัวเอง ด้อยค่าตัวเอง ซึ่งทำให้ชีวิตของพวกเขาไม่มีคุณภาพเท่าที่ควรจะเป็น
ด้วยเหตุนี้จึงสามารถกล่าวได้ว่าความสัมพันธ์ที่ดีไม่เพียงส่งผลต่อสุขภาพจิตใจเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทสำคัญต่อสุขภาพกายและอายุขัยของมนุษย์ จากผลการศึกษาของ Harvard Study of Adult Development ซึ่งเป็นการศึกษาเกี่ยวกับสุขภาพและความสุขที่ยาวนานที่สุดในโลก (เริ่มตั้งแต่ปี 1938)
พบว่า ผู้ที่มีความสัมพันธ์ที่ดีและมั่นคงมีแนวโน้มมีสุขภาพที่ดีกว่าและมีชีวิตที่ยืนยาวกว่า เมื่อเทียบกับผู้ที่ขาดการสนับสนุนทางสังคม ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยทางจิตวิทยา ของ Holt-Lunstad และคณะ ที่พบว่า ผู้ที่มีความสัมพันธ์ทางสังคมที่ดีมีโอกาสรอดชีวิตมากกว่าผู้ที่โดดเดี่ยวถึง 50%
เนื่องจากความสัมพันธ์ที่ดีมีผลต่อสุขภาพกายและจิตใจโดยตรงผ่านกลไกหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น การลดความเครียด การสนับสนุนทางสังคม การเพิ่มความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม และการลดความรู้สึกเหงา ดังนั้น การสร้าง พัฒนา และรักษาความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อน หรือคู่ชีวิต ล้วนเป็นกุญแจสำคัญของชีวิตที่ยืนยาวและมีสุขภาพดีค่ะ
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
อ้างอิง :
1. Bandura, A. (1977). Social learning theory. Prentice-Hall.
2. Buss, D. M. (2019). Evolutionary psychology: The new science of the mind (6th ed.). Routledge.
3. Holt-Lunstad, J., Smith, T. B., Baker, M., Harris, T., & Stephenson, D. (2015). Loneliness and social isolation as risk factors for mortality: A meta-analytic review. Perspectives on Psychological Science, 10(2), 227–237. https://doi.org/10.1177/1745691614568352
4. Maslow, A. H. (1987). Motivation and personality (3rd ed.). Harper & Row.
5. Taylor, S. E. (2011). Social support: A review. In H. S. Friedman (Ed.), The Oxford handbook of health psychology (pp. 189–214). Oxford University Press.
6. Uchino, B. N. (2006). Social support and health: A review of physiological processes potentially underlying links to disease outcomes. Journal of Behavioral Medicine, 29(4), 377–387. https://doi.org/10.1007/s10865-006-9056-5
จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตจิตวิทยาคลินิกจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้