คู่มือพาคู่รักจับมือกันฝ่าวิกฤตความสัมพันธ์ช่วงกักตัว
เมื่อล่าสุดมีข่าวออกมาว่า ประเทศจีนและสหราชอาณาจักร ยอดอัตราการหย่าร้าง การเลิกราพุ่งขึ้นหลังจากที่ประเทศมีการประกาศให้ประชาชนกักกันตัว เพื่อลดการแพร่ระบาดของ COVID-19 อาจทำให้หลายท่านตกใจและสงสัยว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น แล้วการกักกันตัวของบ้านเรา จะส่งผลต่อความรัก ความสัมพันธ์ของเราอย่างไร วันนี้เรามีบทความและคำแนะนำจากนักจิตวิทยามาฝากกันค่ะ

นอกจากจะต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 การกักกันตัว และการ Work From Home แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ทุกท่านต้องเผชิญและรับมือให้ได้ ก็คือ การจัดการความสัมพันธ์ของตัวเองกับคนในครอบครัวหรือบุคคลที่อาศัยด้วย นักจิตวิทยากล่าวไว้ว่า เหตุการณ์ที่เลวร้ายมักส่งผลกับความสัมพันธ์อยู่สองแบบ คือ ไม่ทำให้คนใกล้ชิดกันมากขึ้น ก็ทำลายความสัมพันธ์นั้นไปเลย โดยเฉพาะในคู่รัก นักจิตวิทยาบอกว่า วิกฤตหรือสถานการณ์ที่เลวร้ายจะช่วยให้เราเห็นคุณค่าของอีกฝ่ายและทำให้เราคิดได้ว่า คนรักของเราคือคนที่เราอยากใช้ชีวิตด้วยไปตลอด และพร้อมจะเผชิญปัญหาอื่น ด้วยกันในอนาคต หรือไม่ในทางกลับกัน ก็คือ สอนให้เราตระหนักได้ว่า เราเลือกผิดคนแล้วล่ะ เนื่องจากนักจิตวิทยาได้ลองสังเกตแล้วว่า เมื่อใดก็ตามที่มีวิกฤตที่คนส่วนมากประสบพร้อมกัน อย่าง การกักกันตัว หรือ ภัยธรรมชาติ มาเป็นตัวบังคับให้คู่รักต้องใช้เวลาอยู่ด้วยกันเยอะเป็นพิเศษ สิ่งที่มักจะตามมาก็คือ อัตราเด็กเกิดเพิ่มขึ้น และ การเลิกรา
แต่แล้ว ท่านอาจสงสัยว่า แล้วทำไมการเผชิญหน้ากับวิกฤตจึงนำไปสู่การเลิกราได้ มีอะไรบ้างที่เป็นปัจจัย
1. ปัญหาเดิมที่ไม่เคยแก้
เนื่องจากการที่ต้องอยู่แต่ในบ้าน เจอหน้ากันทุกวัน ทำกิจกรรมร่วมกันทุกวันเพราะไม่สามารถไปพบปะคนอื่นได้ ไม่สามารถปลีกวิเวกหรือหลบหน้าอีกฝ่ายได้ ถ้าหากคู่ใดมีปัญหาที่ไม่เคยได้เคลียร์มาตั้งแต่ก่อนช่วงกักกันตัว และใช้วิธีรับมือ คือ การหนีปัญหา มาโดยตลอด แต่เมื่อต้องกักกันตัวด้วยกันทุกวัน วิธีที่เคยใช้ จะไม่ได้ผลอีกต่อไป บังคับให้คู่นั้นต้องเผชิญกับปัญหาที่เคยพยายามหลีกเลี่ยงมาตลอด เป็นตัวก่อให้เกิดความตึงเครียดและความอึดอัดในความสัมพันธ์
2. ปัญหาใหม่เข้ามา
สำหรับบางคู่ที่ก่อนหน้านี้เคยใช้เวลาร่วมกันได้อย่างจำกัด อย่างเช่น เจอหน้ากันได้เฉพาะหลังเลิกงาน แต่ตอนกลางวันไม่เคยได้เห็นหน้ากัน เมื่อต้องปลีกวิเวกมาอยู่ด้วยกันสองต่อสอง 24 ชั่วโมง จึงได้เห็นตัวตนของอีกฝ่ายมากขึ้น อาจจะมีอะไรผุดขึ้นมาที่ไม่เคยเห็นมาก่อนที่อาจก่อให้เกิดปัญหา ความขัดแย้ง ความคิดไม่ตรงกัน และถ้าหากคู่ไหนที่ไม่สามารถรับมือได้ ก็จะแก้ไขโดยการใช้การทะเลาะ การเคลียร์กันโดยการใช้ปะทะ จนแตกหัก เลิกรากันไปในบางคู่

ด้วยความที่สถานการณ์ COVID-19 เป็นสถานการณ์ที่ตึงเครียดสำหรับทุกคนอยู่แล้ว ไหนจะเปลี่ยนแปลงในการใช้ชีวิต การทำงาน การเงิน ใครที่มีลูก การศึกษาของลูกก็โดนกระทบ เศรษฐกิจบ้านเมืองไม่ดี ความกังวลรุมเร้า กลายเป็นว่ามีปัญหารอบด้าน ยิ่งถ้ามีคู่รักที่พร้อมจะตีกันเสมอมาเป็นตัวกระตุ้น คุณอาจจะคิด มันเป็นไปได้หรือไม่ว่าเราจะรักษาสุขภาพจิตและความสัมพันธ์ของเราให้ผ่านช่วงวิกฤตไปได้ โดยที่ไม่ต้องมีการหย่าร้างและเลิกรา
วันนี้เราจึงมีคำแนะนำเบื้องต้นสำหรับคู่ไหนที่อาจกำลังมีความรู้สึกตึงเครียด อึดอัดต่อกันและกัน ไม่เข้าใจกัน มาฝาก เพื่อที่จะรักษาความสัมพันธ์ของเราให้ผ่านจุดวิกฤตนี้ไปได้นะคะ
1. แบ่งหน้าที่
สำหรับหลาย ๆ คู่ ช่วงกักกันตัว เป็นช่วงที่เผยให้ได้เห็นตัวตนและนิสัยของอีกฝ่ายมากขึ้น บางคนอาจจะชอบการที่อยู่บ้านกับครอบครัว ใช้เวลากับแฟนหรือลูกมากขึ้น แต่บางคน อาจจะกลายเป็นว่ามีหน้าที่เพิ่ม โดยเฉพาะฝ่ายหญิงหรือคนที่เป็นแม่ อาจรู้สึกมีความกดดันที่ต้องทำงานบ้าน ตั้งแต่กวาดบ้าน ถูบ้าน ซักผ้า ทำกับข้าวให้ครอบครัวทุกมื้อ นอกจากนั้นแล้ว อาจจะมีลูกที่ต้องดูแลตลอดเวลา เนื่องจากลูกก็ไม่สามารถไปโรงเรียนได้ ถ้าหากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากคนอื่น ๆ ในครอบครัว อาจทำให้สติแตกได้ ฉะนั้น เพื่อเป็นการป้องกันการทะเลาะกันให้เสียความสัมพันธ์ ใช้การ "แบ่งหน้าที่" ให้ทุกคนมีหน้าที่เป็นของตัวเองให้เท่า ๆ กัน ไม่ให้คนใดคนหนึ่งทำงานอะไรที่หนักจนเกินไปอยู่คนเดียว เป็นการทำให้ทุกคนไม่ว่างจนเกินไปด้วย
บทความแนะนำ “4 เทคนิคจากนักจิตวิทยาในการคลายเครียดในสถานการณ์วิกฤต COVID-19”
2. กำหนดขอบเขตที่ชัดเจน
สร้างความตกลง หรือ "กำหนดขอบเขตที่ชัดเจน" เป็นสิ่งที่เราแนะนำให้ทุกคนทำโดยไม่ต้องรอให้มีวิกฤต การใช้ชีวิตประจำวันแบบเมื่อก่อน เราก็ควรที่จะเซ็ทลิมิตหรือกำหนดขอบเขตขึ้นมาเพื่อให้อีกฝ่ายรับทราบว่า อะไรที่เราไม่โอเค อะไรที่ “เกินไป” สำหรับเรา และอีกฝ่ายจะต้องเคารพในส่วนนั้น ในส่วนของความสัมพันธ์ในช่วงวิกฤตก็เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่อาจทำให้เราหรืออีกฝ่ายไม่พอใจ ก็ต้องแจ้งให้อีกฝ่ายรับรู้และมาทำความเข้าใจให้ตรงกัน เพื่อเป็นการเลี่ยงความขัดแย้งในอนาคต สามารถทำออกมาเป็น list ได้เลยเพื่อให้อีกฝ่ายดู อย่างเช่น list เราอาจจะเขียนว่า
ทานอาหารเสร็จแล้ว เอาจานไว้ในอ่างให้ด้วย อย่าวางทิ้งไว้
ไม่ได้ออกไปไหนก็จริง แต่อาบน้ำแปรงฟันด้วย อย่าอยู่ในชุดนอนทั้งวันจนมีกลิ่นตัว
มีอะไรพูดกันตรง ๆ ไม่มีความลับหรือปิดบังต่อกันและกัน
พูดกันดี ๆ อย่าใช้คำหยาบคาย
เวลาเข้าห้องน้ำ ใช้ที่ดับกลิ่นฉีดด้วย
เวลาคุยกัน ฟังฉันบ้าง อย่าเล่นมือถือไปฟังไป
เป็นต้น
และให้อีกฝ่ายทำ list ของเขาเช่นกัน และปรับความเข้าใจ ตกลงกันว่า โอเค ต่อไปนี้จะเคารพสิ่งใน list นี้ เพื่อให้การกักตัวอยู่ด้วยกัน 24 ชั่วโมงนี้ ผ่านไปได้อย่างราบรื่นขึ้น

3. ทำความเข้าใจว่าทุกคนใช้เวลาในการปรับตัว
วิกฤตแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้การใช้ชีวิตของหลาย ๆ คนที่จาก “thriving” กลายเป็น “surviving” ข้ามคืนกันเลยทีเดียว ซึ่งทุก ๆ การเปลี่ยนแปลงล้วนต้องใช้เวลา และแต่ละคนมีวิธีปรับตัวที่ต่างกัน หรือ ใช้เวลาไม่เท่ากัน เราจึงแนะนำว่า สำหรับใครที่ยังรู้ตัวว่ายังปรับตัวให้ชินกับ lifestyle แบบใหม่ไม่ได้ หรือ รู้ว่าคู่ของเรายังปรับไม่ได้ ให้ทำ "ความเข้าใจซึ่งกันและกัน" และ "ใช้การให้อภัยค่ะ" ค่อย ๆ ปรับกันไป ใครโกรธ ใครหงุดหงิด เพราะรู้สึกกดดันหรือเบื่อหน่ายกับการอยู่บ้าน อาจจะถอยออกมา ให้เวลาเขาหรือตัวเราเองหน่อย หรือไม่ก็ มานั่งคุยกันแบบมีเหตุมีผล ไม่ใช้อารมณ์ พูดถึงความรู้สึกตัวเองให้อีกฝ่ายเข้าใจ เพราะว่า ความรู้สึกเหล่านี้ปกติค่ะ และเป็นความรู้สึกที่ทุกคนที่กำลังประสบวิกฤตนี้ในทุกประเทศรู้สึก
บทความแนะนำ “วิธีจัดการความรู้สึกกดดันในช่วง Lockdown เพราะ COVID-19”
ฟังอย่างงี้แล้ว พอจะชวนให้เราคิดไหมคะว่าวิกฤตนี้ จริง ๆ แล้ว ไม่ได้เป็นตัวก่อกวนหรือ “ตัวร้าย” ที่มาทำให้ความสัมพันธ์เราแย่ลงหรือดีขึ้น เพียงแต่ เป็น “ตัวช่วย” ทำให้เราเห็นและรับรู้อย่างกระจ่างขึ้น ว่าแท้จริงแล้ว เราสองคนต้องการอะไร เพราะเราได้มีเวลาสังเกตคู่ของเราและความสัมพันธ์ของเรามากขึ้น อย่างเช่น ความสัมพันธ์ที่ปกติอาจจะอยู่ได้ 2 ปี ถ้าต้องมาอยู่ด้วยกัน 24 ชั่วโมงเป็นเวลานาน ๆ เหมือนในช่วงกักกันตัวนี้ อาจจะอยู่ไม่รอดและเลิกรากันไปภายใน 3 เดือน เป็นต้นค่ะ
ฉะนั้นแล้ว แทนที่เราจะไปโฟกัสและกังวลว่า COVID-19 และการที่ต้องอยู่บ้านนาน ๆ จะทำให้ความสัมพันธ์เราแย่ลง ลองมาปรับพฤติกรรม ปรับเปลี่ยนความคิด และหันมาใช้เวลาในการสังเกตดูว่าการที่ต้องกักตัวนี้กำลังสอนอะไรเราบ้างเกี่ยวกับนิสัยของเราและคู่ของเรา หรือ กำลังบอกอะไรเราเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเรา ลองสังเกตดี ๆ ค่ะ ถือซะว่า เป็นเหตุการณ์ที่ช่วยหาคำตอบให้เราและคู่ของเราค่ะ แต่สำหรับคู่ใดที่กำลังประสบปัญหาคล้ายกับที่เล่ามาและยังหาทางออกไม่ได้ ต้องการที่ปรึกษามาช่วยลดความตึงเครียดในชีวิตคู่ ทาง iSTRONG ไม่ทิ้งคุณค่ะ เรามีนักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาพร้อมดูแลและให้คำปรึกษาด้านความรัก ชีวิตคู่ (Couple Counseling) และความสัมพันธ์ในครอบครัว สามารถติดต่อเราได้โดยการคลิกที่นี่
iStrong.co ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและครอบครัว
บริการให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง
สามารถเลือกคุยทางโทรศัพท์หรือการพูดคุยแบบส่วนตัว (Private Counseling)
และคอร์สออนไลน์ | Classroom Workshop
รวมถึงบทความจิตวิทยาอีกมากมาย
Contact : https://www.istrong.co/service
Tags: