top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

5 ข้อสังเกตว่าคุณเป็นโรคบ้างานหรือไม่ และต้องทำอย่างไรไม่ให้บ้างาน


ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เมื่อเดือนมิถุนายน 2567 ได้บ่งชี้ว่าคนไทยโดยส่วนใหญ่กำลังเข้าข่าย “โรคบ้างาน” หรือ Workaholic โดยพบว่า


คนไทยในวัยทำงาน 18.20% ทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมง/สัปดาห์ หรือคิดเป็นมากกว่า 10 ชั่วโมง/วัน โดยอีก 66.00% ทำงาน 35 – 49 ชั่วโมง/สัปดาห์ หรือคิดเป็น 7 – 10 ชั่วโมง/วัน และมีเพียง 15.80% เท่านั้นที่ทำงานน้อยกว่า 35 ชั่วโมง/สัปดาห์ หรือคิดเป็นน้อยกว่า 7 ชั่วโมง/วัน 


โดยโรคบ้างาน หรือ Workaholic จะแสดงออกมาทางพฤติกรรมที่หมกมุ่นอยู่กับงานมากจนเกินไป ส่งผลให้ชีวิต Work ไร้ Balance อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้าง สุขภาพร่างกายที่ย่ำแย่ และนำมาสู่ปัญหาทางสุขภาพจิต ได้แก่


1. ภาวะเครียดเรื้อรัง (Chronic Stress)

การทำงานหนักโดยไม่พักผ่อนส่งผลให้ร่างกายและจิตใจเครียดอย่างต่อเนื่อง เมื่อสะสมเครียดนาน ๆ เข้า ก็จะนำไปสู่ภาวะอื่น ๆ เช่น โรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลได้ 


2. ปัญหาการนอนหลับ (Sleep Disorders)

ผู้ที่เป็น โรคบ้างาน หรือ Workaholic มักจะมีปัญหาการนอนไม่หลับ นอนหลับไม่เพียงพอ หรือมีคุณภาพการนอนต่ำ เพราะต้องทำงานจนดึกดื่นหรือตื่นเช้าทุกวัน จนส่งผลให้การพักผ่อนไม่เพียงพอซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาด้านสมาธิ อารมณ์ และยังส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลงอีกด้วย


3. ภาวะหมดไฟ (Burnout)

เมื่อเราทำงานหนักเกินไปและขาดการพักผ่อน จะส่งผลให้เกิดความรู้สึกเหนื่อยล้า หมดกำลังใจ ขาดแรงจูงใจในการทำงาน และอาจทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ซึ่งนำไปสู่ภาวะหมดไฟ (Burnout) และหมดใจในการทำงานได้ 


4. โรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวล

การทำงานหนักและความเครียดสะสมทำให้คนทำงานหลายคนเกิดความรู้สึกหมดไฟ (Burnout) ซึ่งสามารถกระตุ้นให้เกิดโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวล และยังทำให้มีความสุขในการใช้ชีวิตน้อยลงอีกด้วย


โดยผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยากล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้คนกลายเป็นโรคบ้างาน หรือ Workaholic เกิดมาจากปัจจัย ดังต่อไปนี้

1. ความรู้สึกกดดันจากความคาดหวังของตนเองและคนอื่น ๆ ในที่ทำงาน

บ่อยครั้งที่เราถูกกดดันในเรื่องงานจากความคาดหวังของเราเองก็ตาม ที่ต้องการจะดีขึ้น เก่งขึ้น มีตำแหน่งสูงขึ้น หรือได้รับความกดดันจากคนอื่น ๆ โดยเฉพาะหัวหน้างานที่คาดหวังว่าเราจะต้องเก่งขึ้นทุกปี ขยันขึ้น ทำงานมีประสิทธิภาพสูงขึ้น จนเราต้องโหมงานหนักเพื่อบรรลุความมุ่งหวังนั้น


2. วัฒนธรรมองค์กร

วัฒนธรรมองค์กรอย่างหนึ่งที่พบได้มากในประเทศไทย คือ การยกย่องเชิดชูผู้ที่ทำงานหนัก ส่งผลให้คนทำงานคนอื่น ๆ รู้สึกว่าเราต้องทำงานหนักทำงานแบบหามรุ่งหามค่ำ ถึงจะกลายเป็นบุคลากรดีเด่นในองค์กร


3. ความกลัวในความล้มเหลว

ด้วยสภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนสูง ส่งผลให้คนทำงานหลายคนมองหาความมั่นคงในการทำงาน ดังนั้นจึงต้องทำงานหนัก เพื่อพิสูจน์ว่าตนเองเก่ง ตนเองดี ตนเองมีคุณค่า ด้วยความกลัวว่าจะสูญเสียงาน และกลายเป็นบุคคลไร้ความสำเร็จ


ด้วยสาเหตุข้างต้นที่สะสมเพิ่มขึ้นทุกวัน ๆ จึงทำให้คนทำงานกลายเป็นโรคบ้างานไปในที่สุด หากคุณกำลังสงสัยว่าเรากำลังเข้าข่ายเป็นโรคบ้างาน หรือ Workaholic อยู่หรือไม่นั้น ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาก็ได้มีข้อสังเกต ดังนี้ค่ะ

1. การทำงานหนัก โดยไม่ยอมพักผ่อน

มาเช้า กลับช้า คือวิถีชีวิตประจำวันของชาว Workaholic งานไม่เสร็จเราไม่เลิก และรางวัลของคนทำงานดีก็คือ...รับงานไปเพิ่มค่ะ! นั่นจึงทำให้ผู้ที่เป็นโรคบ้างานมักมีค่านิยมส่วนตัวว่า ต้องทำงานให้หนัก ทำข้ามวันข้ามคืนกันไปเลย


2. หมกมุ่นอยู่แต่กับงาน

ตื่นเช้ามาก็กังวลเกี่ยวกับเรื่องงาน พักเที่ยงก็ยังไม่ Move on ออกจากเรื่องงาน ขนาดตอนนอนยังฝันว่าทำงาน หรือเวลาคุยกับใครก็ตาม หัวข้อสนทนาก็มักจะวนเวียนอยู่กับเรื่อง งาน! งาน! และงาน! จนไม่สามารถปล่อยวางออกจากเรื่องงานได้


3. ละเลยการใส่ใจในความสัมพันธ์และการดูแลสุขภาพ

เพราะต้องมุ่งความสนใจไปที่เรื่องงาน จนส่งผลให้ไม่มีเวลาสำหรับไปทำสิ่งอื่น แม้แต่เรื่องการพักผ่อนหย่อนใจ หรือการใส่ใจสุขภาพ รวมไปถึงละเลยการให้เวลากับคนในครอบครัว จนเป็นสาเหตุให้ชาว Workaholic มักจะมีปัญหาด้านสุขภาพควบคู่ไปกับปการประสบปัญหาด้านความสัมพันธ์


4. ความรู้สึกว่าตนเองยังทำงานได้ดีไม่พอ

แม้ว่าจะทำงานจนสำเร็จเสร็จสิ้นไปแล้ว แต่กลับเกิดความรู้สึกว่า “ฉันยังไม่เก่ง” “ฉันยังดีไม่พอ” “ฉันต้องเก่งมากกว่านี้อีก” จนทำให้ผู้ที่เป็นโรคบ้างานทำงานไม่หยุดไม่หย่อน และทำมากขึ้น เร็วขึ้น และแสวงหางานยาก ๆ มาทำเพิ่มไปอีกเพื่อสร้างคุณค่าให้กับตนเอง


5. มีความเครียดสูง และอารมณ์ไม่มั่นคง

เนื่องจากการตรากตรำทำงานหนักอย่างต่อเนื่องมานาน จึงส่งผลให้ผู้ที่มีภาวะ Workaholic มีความเครียดสะสมสูง ทำให้อารมณ์แปรปรวนง่าย และหลายคนที่ไม่สามารถควบคุมได้ก็กลายเป็น Toxic People ในที่ทำงานไป


ด้วยเหตุนี้ ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาจึงได้แนะนำเทคนิคจิตวิทยาในการแก้ไขและป้องกันโรคบ้างาน เอาไว้ 8 เทคนิคด้วยกัน ดังนี้ค่ะ

1. ตั้งขอบเขตการทำงานให้ชัดเจน

เวลางานทำงาน เวลาพักต้องพัก และต้องบังคับตัวเองให้ทำให้ได้ด้วยนะคะ เพราะไม่เช่นนั้นชีวิตก็จะวนลูปเดิม กลับไปบ้างาน และนัดพบจิตแพทย์เพื่อรับยาคลายเครียดเช่นเดิม  


2. จัดตารางเวลาสำหรับการพักผ่อน

ในระหว่างการทำงาน ควรมีช่วงพักเบรกสำหรับเปลี่ยนอิริยาบถ รับประทานของว่างหรือเครื่องดื่มสักเล็กน้อยเพื่อผ่อนคลาย หรือทำตัวเป็นคุณพี่ล่องลอยบ้างสัก 5 – 10 นาที เพื่อลดความตึงเครียดในการทำงานลง และในช่วงเลิกงาน ก็ควรมีตารางเวลาสำหรับการออกกำลังกายบ้าง อย่างน้อย 3 วัน/สัปดาห์ ครั้งละ 30 – 60 นาที รวมถึงอย่าลืมมีเวลาสำหรับการอ่านหนังสือ หรือพัฒนาตัวเองด้วยกิจกรรมสร้างสรรค์ด้วยนะคะ


3. ฝึกการปล่อยวาง

ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่สมบูรณ์แบบ ต่อให้เราทำดีที่สุด ก็ยังออกมาไม่ถูกใจทุกคน แต่ก็นั่นละค่ะขอให้ทุกงานของคุณทำออกมาดีที่สุด ภายใต้เวลาและทรัพยากรที่ได้รับก็เพียงพอแล้ว เก็บแรงกาย แรงใจ และความคิดสร้างสรรค์ไว้เผื่องานอื่น ๆ หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่เติมความมีชีวิตชีวาบ้างนะคะ


4. ดูแลสุขภาพกายควบคู่ไปกับสุขภาพใจ

โดยการสร้างสมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัว แบ่งเวลาชีวิตมาใช้กับการพักผ่อนและการทำกิจกรรมที่เติมความสดใสในชีวิตบ้าง สำหรับเรื่องงานขอให้ตั้งเป้าหมายที่เป็นไปได้จริง อย่าฝืนตัวเองจนเกินไป และหากรู้สึกเหนื่อย ควรหยุดพัก แต่ถ้ามีความเครียดมาก ๆ ควรปรึกษาคนที่คุณสนิทใจ หรือผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาเพื่อหาทางผ่อนคลายที่เหมาะสม หรือฝึกการผ่อนคลายและการจัดการกับความเครียด เช่น ฝึกสมาธิ ฝึกการหายใจ หรือการฝึกโยคะ ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจค่ะ


ภาวะ Workaholic เป็นเรื่องที่ควรระวังเพราะส่งผลกระทบอย่างมากต่อสุขภาพกายและใจ ดังนั้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการเรียนรู้ที่จะสร้างสมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัวจะเป็นตัวช่วยสำคัญให้เราสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขมากขึ้นได้ค่ะ

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa  

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS 

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

บทความแนะนำ : 


อ้างอิง : 

1. ไทยโพสต์. (14 สิงหาคม 2567). สำรวจว่างงานเดือนมิ.ย.จบ ป.ตรี มากสุด 1.39 แสนคน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 25 ตุลาคม 2567 จาก https://www.thaipost.net/news-update/637440/

2. พบแพทย์. (2564). Workaholic สัญญาณของคนบ้างานและการรับมือให้เหมาะสม. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 25 ตุลาคม 2567 จาก https://www.pobpad.com/workaholic-%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8D%E0%B8%B2%E0%B8%93%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%81 

 

จันทมา  ช่างสลัก บัณฑิตจิตวิทยาคลินิกจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้ 


Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page