20 เหตุผล ที่คนเป็นโรคซึมเศร้ามีพฤติกรรมแยกตัวจากสังคม
พฤติกรรมแยกตัวจากสังคมเป็นพฤติกรรมที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โดยเฉพาะในบุคคลที่นิสัยดั้งเดิมเคยเป็นคนที่สามารถเข้าสังคมได้ตามปกติ พฤติกรรมแยกตัวจากสังคมที่เกิดขึ้นมักมีสาเหตุมาจากโรคซึมเศร้า หลายคนอาจไม่เข้าใจว่าทำไมผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจึงมักแยกตัวไปอยู่ตามลำพังไม่ออกมาพบปะสังสรรค์กับใคร แทนที่จะออกมาเจอผู้คนซึ่งน่าจะช่วยทำให้รู้สึกสดชื่นมากกว่า
นำไปสู่การมีความรู้สึกในเชิงลบต่อผู้ป่วย เช่น เป็นเพื่อนที่ไม่น่าคบ ไม่สนใจใคร เอาแต่ใจตัวเอง หรือมองว่าเป็นคนขี้เกียจ บทความนี้จึงอยากนำข้อมูลมาจากเว็บไซต์ The Depression Project ที่ได้กล่าวถึง 20 เหตุผลที่คนเป็นโรคซึมเศร้ามีพฤติกรรมแยกตัวจากสังคม เพื่อให้คนรอบข้างเข้าใจผู้ป่วยมากขึ้น ได้แก่
1. ผู้ป่วยต้องการใช้เวลาอยู่กับตัวเองเพื่อจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกที่ของตัวเอง
เช่น ความรู้สึกกลัวและรู้สึกสิ้นหวังเมื่อนึกถึงอนาคต ความรู้สึกด้านชา (numbness) ความรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่าในสายตาของคนรอบข้าง ความรู้สึกเศร้าโศกที่ไม่สามารถกลับไปรู้สึกมีความสุขสนุกสนานได้เหมือนเมื่อก่อน
2. ผู้ป่วยต้องการปกป้องคนที่ตัวเองรักจากอาการที่ตัวเองเป็น
เพราะบางครั้งอาการของโรคซึมเศร้าก็ทำให้ผู้ป่วยควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ยาก และมีบางครั้งที่เกิดความรู้สึกหงุดหงิดฉุนเฉียวซึ่งมักทำให้ผู้ป่วยแสดงพฤติกรรมไม่น่ารักออกไป โดยผู้ป่วยมักจะรู้สึกผิดหรือรู้สึกเสียใจในภายหลัง ผู้ป่วยจึงเลือกที่จะแยกตัวออกมาเพื่อลดโอกาสที่จะแสดงอารมณ์ทางลบออกมาต่อหน้าคนที่เขารัก
3. ผู้ป่วยกำลังอยู่ใน “survivor mode”
พลังชีวิตเฮือกสุดท้ายมีพอแค่สำหรับการจัดการกับตัวเอง จึงไม่มีพลังชีวิตเหลือมากพอที่จะออกไปมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ
4. การต่อสู้กับอาการของโรคซึมเศร้าทำให้ร่างกายเกิดอาการอ่อนเพลีย ผู้ป่วยจึงอยากอยู่กับตัวเองหรือใช้เวลาไปกับการนอนมากกว่า
5. ผู้ป่วยอยู่ในสภาวะ “เหนื่อยอย่างสมบูรณ์ (completely and utterly exhausted)
6. ผู้ป่วยไม่อยากให้ใครมาเห็นตัวเองในสภาพที่ดูแย่
7. ผู้ป่วยรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่าพอที่จะได้รับ support จากคนอื่น ซึ่งมาจากอาการของโรคซึมเสร้าคือผู้ป่วยมักรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า และมักรู้สึกว่าไม่มีใครมาช่วยได้หรืออยากจะมาช่วย
8. ผู้ป่วยต้องการอยู่ใน “safe space” ของตัวเอง เพราะกำลังอยู่ในช่วงที่รู้สึกว่าโลกข้างนอกมันโหดร้ายเกินกว่าที่จะออกไปเผชิญไหว
9. ผู้ป่วยรู้สึกว่าการร้องไห้มันช่วยให้รู้สึกดีขึ้น แต่ก็อยากจะร้องไห้ในพื้นที่ส่วนตัวมากกว่า และไม่อยากให้ใครมาเห็น
10. ผู้ป่วยคิดว่าอาการของตัวเองอาจจะไปเป็นภาระของคนอื่นที่ต้องมาคอยดูแลหรือปลอบใจ
11. ผู้ป่วยไม่อยากรู้สึกกดดันตัวเองในการฝืนยิ้มหรือต้องพยายามทำตัวปกติต่อหน้าคนอื่น
12. ผู้ป่วยมีความรู้สึกท่วมท้น จนบางทีก็เหนื่อยกับความรู้สึกของตัวเองจนลุกจากเตียงแทบไม่ไหว
13. ผู้ป่วยไม่รู้ว่าจะสื่อสารให้คนอื่นเข้าใจอาการที่ตัวเองกำลังเผชิญอยู่ได้ยังไง
14. ผู้ป่วยกลัวการถูกตัดสินจากคนอื่น ซึ่งสัมพันธ์กับอาการของโรคซึมเศร้าในส่วนของการมีความคิดทางลบ
15. ผู้ป่วยรู้สึกถูกตัดขาดจากโลกภายนอกรอบตัว หรือเกิดความรู้สึกแปลกแยกจากคนอื่น
16. ผู้ป่วยไม่สามารถเกิดความรู้สึกเป็นสุข หรือพึงพอใจกับการทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงการมีกิจกรรมร่วมกับคนอื่น
17. ผู้ป่วยขาดความสามารถในการดูแลสุขอนามัย ซึ่งมักเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่กำลังอยู่ในช่วงที่อาการของโรคซึมเศร้ามีระดับที่รุนแรง ทำให้ผู้ป่วยมีพฤติกรรมละเลยไม่ใส่ใจเรื่องความสะอาด เช่น ไม่อาบน้ำ ปล่อยให้ห้องนอนสกปรก
18. ผู้ป่วยสูญเสียความสามารถในการมีสมาธิจดจ่อหรือการตัดสินใจ ทำให้กังวลว่าตัวเองจะพูดจากับคนอื่นไม่รู้เรื่อง
19. ผู้ป่วยกลัวว่าจะทำให้คนอื่นผิดหวัง โดยเฉพาะคนที่เขารัก
20. ผู้ป่วยไม่สามารถที่จะแกล้งยิ้มหรือเสแสร้งทำตัวให้มีความสุขได้ จึงไม่อยากออกไปพบเจอใครเพราะออกไปก็คงจะหน้าตาบูดบึ้งหรือไปทำให้คนอื่นไม่พอใจ
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีคนใกล้ชิดมีอาการของโรคซึมเศร้า ผู้เขียนหวังว่าหลังจากที่ได้อ่าน 20 เหตุผลข้างต้นแล้วจะช่วยให้คุณเข้าใจผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามากขึ้น ซึ่งจากที่เคยพูดคุยกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามา ผู้เขียนพบว่า ที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่เลือกที่จะแยกตัวจากสังคมนั้นไม่ได้มาจากเขาไม่ชอบคนอื่น
แต่มักเกิดจากเขามีความคิดว่าคนอื่นจะไม่ชอบเขา และมักมีความกังวลว่าตนเองจะเป็นภาระหรือไปทำให้กลุ่มเสียบรรยากาศ แต่ลึก ๆ แล้วพวกเขาก็ต้องการมีความสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ โดยเฉพาะคนที่เขารัก เช่น ครอบครัว แฟน เพื่อนสนิท ลูก แต่ก็ไม่รู้ว่าตัวเองควรจะต้องทำยังไง
ดังนั้น จึงอยากเชิญชวนให้ญาติ/คนใกล้ชิดของผู้ป่วยคอยช่วยเน้นย้ำให้ผู้ป่วยเกิดความรู้สึกมั่นใจว่า ถึงแม้อาการของเขาอาจจะดูเข้าใจยากและอาจสร้างผลกระทบกับคนรอบข้างไปบ้าง แต่คนรอบข้างก็จะยังคงยินดีสนับสนุนกำลังใจและคอยอยู่ stand by ให้ความช่วยเหลือเสมอ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยลดความคิดทางลบว่าตนเองเป็นภาระหรือเป็นที่รังเกียจของคนอื่น ช่วยให้ผู้ป่วยคิดสอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น และที่สำคัญคือช่วยกระตุ้นให้ผู้ป่วยไปพบจิตแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
ทาง iSTRONG ขอส่งกำลังใจให้ทุกท่านนะคะ ขอให้ในทุกๆ วันเป็นวันที่ดียิ่งขึ้น และผ่านพ้นไปได้ด้วยดีค่ะ
หากคุณต้องการผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์เพื่อช่วยเหลือให้คำแนะนำในเรื่องสุขภาพใจ สามารถติดต่อเพื่อพูดคุยปรึกษานักจิต จิตแพทย์ ผ่านบริการดูแลสุขภาพจิตจาก iSTRONG ได้เสมอค่ะ
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
อ้างอิง:
[1] DEPRESSION ISOLATION: 20 Reasons Why People With Depression Isolate Themselves. Retrieved from. https://thedepressionproject.com/blogs/news/depression-isolation-20-reasons-why-people-with-depression-isolate-themselves?fbclid=IwAR3gBKokNlbVlQO2B8TAYBomHCdt7px-hNuqTwrMOM3l1aL-TmBX8phc60g
บทความที่เกี่ยวข้อง
ประวัติผู้เขียน
นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) จบการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และระดับปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา(คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เป็นนักเขียนของ iSTRONG และเป็นทาสแมว
Comments