top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

รู้หรือไม่? การรับฟังสามารถช่วยคนที่มีความคิดฆ่าตัวตายได้มากกว่าการแนะนำ


รู้หรือไม่ว่า...สิ่งที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการช่วยคนที่มีความทุกข์ใจและคนที่มีความคิดค่าตัวตายนั้น ไม่ใช่การแนะนำแต่เป็นการรับฟัง และต่อให้เป็นคำพูดสวยหรูหรือคำคมที่โดนใจก็อาจจะไม่มีความหมายเท่าการมีใครสักคนที่รับฟัง

บ่อยครั้งที่เราไปลดคุณค่าของพลังแห่งการสัมผัส รอยยิ้ม คำพูดที่อ่อนโยน การรับฟัง การชมอย่างจริงใจ หรือการกระทำเล็ก ๆ ที่แสดงออกว่าเราห่วงใย ทั้งที่สิ่งเหล่านี้มันสามารถพลิกชีวิตใครสักคนได้เลย ― Leo F. Buscaglia

Sigmund Freud บิดาแห่งทฤษฎีจิตวิเคราะห์คือผู้ที่ริเริ่มนำการพูดคุยมาใช้เพื่อบำบัดจิตใจ เรียกว่า “the talking cure” โดยเริ่มต้นในช่วงปลายปี ค.ศ. 1890 โดยในบางครั้งจิตแพทย์ก็แค่นั่งอยู่กับคนไข้และรับฟังไปอย่างเงียบ ๆ ราวกับแค่มาเป็นสักขีพยานให้กับคนที่กำลังเล่าประสบการณ์ของตนเองออกมา

ดังนั้น เราจึงเห็นได้ว่าการฟังมีพลังมากกว่าที่เราคิด และมันไม่จำเป็นเลยที่เราจะต้องเป็นคนพูดเก่งคารมดีหรือมีคำแนะนำที่ยอดเยี่ยมทัดเทียมกับ Life Coach ในการที่จะช่วยคนที่มีความคิดฆ่าตัวตาย ตรงกันข้าม การเป็นคนที่พูดไม่เก่งไม่ถนัดแนะนำมันอาจจะเป็นการดีด้วยซ้ำหากคุณสามารถให้การรับฟังคนที่มีความทุกข์ใจได้ หรือพูดง่าย ๆ ว่า “เป็นผู้ฟังที่ดี”

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสิ่งที่สำคัญมากต่อการฟังก็คือ “หู” ซึ่งเป็นอวัยวะรับเสียง แต่การรับฟังไม่ได้เป็นเพียงแค่การให้เสียงผ่านเข้ามาในหูของเราเท่านั้น เพราะหากคุณอยากจะเป็นผู้ฟังที่ดีที่จะสามารถช่วยคนที่มีความติดฆ่าตัวตายได้ คุณจำเป็นต้องเรียนรู้และฝึกทำในสิ่งต่อไปนี้

1. ทำความเข้าใจก่อนที่จะช่วยคนที่มีความคิดฆ่าตัวตายว่า “ทั้งเราและเขามีคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่ากัน”


เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เราวางตัวเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือ และวางเขาเป็นผู้รับความช่วยเหลือ มันจะเกิดความไม่เท่ากันขึ้นมาในใจเราทันที ส่งผลให้เรารู้สึกว่าจะต้องช่วยแก้ปัญหาให้เขา ต้องตัดสินใจให้หรือคิดแทนเขา ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดและมักจะนำไปสู่การให้คำแนะนำที่อาจจะทำให้เขารู้สึกแย่กว่าเดิมก็ได้ ในขณะที่การรับฟังนอกจากจะไม่พาไปสู่บรรยากาศที่กดดันแล้ว ยังสามารถช่วยให้เขาเกิดความรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าศักดิ์ศรีมากพอที่จะมีใครสักคนให้การรับฟังเรื่องราวของเขาอย่างตั้งใจ

2. บ่มเพาะตัวเองให้เป็นคนที่ชอบรับฟังผู้อื่น


ส่วนใหญ่แล้วคนที่พูดไม่เก่งมักจะเป็นคนผู้ฟังที่ดีไปโดยปริยาย แต่อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าการฟังนั้นไม่เพียงแต่ใช้หู แต่มันต้องใช้ใจในการรับฟัง ซึ่งเวลาที่เราต้องใช้ใจกับอะไรสักอย่าง มันก็ต้องอาศัยพลังจากความคิดความเชื่อภายในของเรา การบ่มเพาะตัวเองให้เป็นคนที่ชอบรับฟังผู้อื่นจึงเป็นการสร้างพลังจากความคิดความเชื่อภายในว่าเราอยากจะรับฟังใครสักคน โดยเฉพาะคนที่มีความทุกข์ใจจนถึงขั้นมีความคิดฆ่าตัวตาย

3. ฝึกมองเห็นสิ่งดี ๆ ของผู้อื่น


การที่เราตั้งธงว่าคนอื่นไม่ดีหรือคนอื่นคิดผิด มักจะนำไปสู่การตัดสินและไม่อยากรับฟัง ตรงข้าม เราจะรู้สึกว่าเราต้องพูดอะไรบางอย่างเพื่อให้เขาคิดได้(เหมือนเรา) เราจะมองความแตกต่างของคนอื่นว่าเป็นจุดด้อยที่เราต้องเข้าไปแก้ไขเปลี่ยนแปลง โดยมองไม่เห็นจุดดีหรือศักยภาพของเขาเลย ส่งผลให้คนที่มีความทุกข์ใจยิ่งมองตัวเองในด้านลบและไม่สามารถดึงเอาศักยภาพในตัวเองออกมาใช้ได้ ในขณะที่การมองเห็นสิ่งดี ๆ ของผู้อื่นจะช่วยให้เราสามารถพาให้เขามองเห็นจุดดีของตัวเองและดึงเอาศักยภาพของตัวเองออกมาใช้แก้ปัญหาชีวิตได้ เมื่อเขาแก้ปัญหาชีวิตได้ เขาก็อาจจะรู้สึกว่าชีวิตมีทางไปและมีกำลังใจในการอยู่ต่อขึ้นมา

4. พัฒนาทักษะการรับฟังไปสู่การทำให้เสียงในหัวของตัวเองเงียบลง


สิ่งที่หลายคนอาจนึกไม่ถึงว่ามันเป็นเทคนิคของการฟังด้วยก็คือ “การเงียบ” การเงียบนี้ไม่ใช่การเงียบที่เราใช้เวลาที่จะลงโทษใครสักคน แต่มันคือการเงียบเพื่อรับฟังเสียงของคนอื่น นอกจากนั้น การเงียบไม่ได้เป็นเพียงแค่การหยุดพูด แต่มันคือการหยุดเสียงในหัวของตัวเองควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้เราสามารถตั้งใจฟังอีกฝ่ายได้อย่างแท้จริง การเงียบจึงมีความสำคัญมากต่อการรับฟัง เพราะเมื่อใดก็ตามที่เสียงในหัวของเรามันยังดังไม่หยุด เราก็จะไม่สามารถได้ยินความคิดความรู้สึกของอีกฝ่ายได้เลย

5. บอกกับตัวเองว่า “ฉันจะรับฟังคนตรงหน้าอย่างแท้จริงด้วยใจที่เปิดกว้าง”


แน่นอนว่าคนเราแต่ละคนย่อมคิดและเชื่ออะไรที่ไม่เหมือนกัน หากเราจำกัดตัวเองให้อยู่แต่ในความคิดความเชื่อของเรา เราก็จะไม่สามารถเข้าใจคนอื่นได้เลยว่าเขาคิดและเชื่อแบบนั้นได้อย่างไร ยกตัวอย่างเช่น หากเรามีความเชื่อว่า การฆ่าตัวตายมันเป็นบาปที่คนทำจะต้องตกนรก 500 ชาติ เราก็อาจจะเผลอพูดกับเขาไปว่า “เธอรู้มั้ยว่าการฆ่าตัวตายมันบาปนะ เธอจะต้องตกนรก 500 ชาติเลย” ซึ่งนอกจากมันจะไม่ได้ช่วยให้เขารู้สึกดีขึ้นแล้ว มันยังเป็นคำพูดที่แสดงถึงความไม่เข้าใจ เมื่อเขารู้สึกว่าเราไม่เข้าใจ เขาก็จะปิดประตูหัวใจใส่เราทันที โดยที่เขาอาจจะไม่เล่าอะไรเพิ่มเติมหรืออาจจะไม่มาคุยกับเราอีกเลย และหากว่าห้วงเวลานั้นมันเป็นฟางเส้นสุดท้ายของเขาแล้ว เขาอาจจะลงมือฆ่าตัวตายไปเลยจริง ๆ

6. ฝึกตัวเองให้ไม่พูดแทรกหรือขัดจังหวะคนที่กำลังพูดอยู่


คุณอาจจะลองสวมบทบาทการเป็นผู้พูดดูก็ได้ ถ้าหากคุณกำลังเล่าเรื่องราวส่วนตัวหรือพูดความในใจของคุณอยู่ แล้วอีกฝ่ายก็พูดแทรกขึ้นมากลางคัน คุณจะมีความรู้สึกอย่างไร สำหรับคนทั่วไปแล้ว ย่อมไม่มีใครชอบถูกขัดจังหวะ เพราะมันมีแนวโน้มทำให้เกิดความรู้สึกว่าอีกฝ่ายไม่อยากรับฟัง และมันมักจะตามมาด้วยความรู้สึกว่า “เรื่องราวของฉันมันไม่มีค่าพอให้ใครเสียเวลามานั่งรับฟังหรอก” หลายคนจึงกลายเป็นคนที่ชอบเก็บปัญหาเอาไว้กับตัวไม่ยอมบอกใคร ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตราย

7. ฝึกจับใจความสำคัญจากสิ่งที่เขาพูด


ใจความสำคัญที่ว่านี้หมายถึงทั้งในส่วนของข้อความและความรู้สึก การแสดงออกให้เขารับรู้ได้ว่าเรากำลังรับฟังเขาอย่างตั้งใจก็คือ การที่เราสามารถจับใจความสำคัญและสะท้อนออกไปได้ โดยการสะท้อนข้อความที่เขาพูดนั้นจะช่วยให้เขาสัมผัสได้ว่าเราไม่ได้รับฟังเขาเพียงผ่าน ๆ ส่วนการสะท้อนความรู้สึกของเขานั้นจะช่วยให้เขารู้สึกว่าเราเข้าใจเขา หรืออย่างน้อยก็พยายามที่จะทำความเข้าใจเขาในกรณีที่สะท้อนไม่ตรงตามที่เขารู้สึก

การรับฟัง จัดว่าเป็นทักษะที่สำคัญมากที่สุดทักษะหนึ่งของการให้คำปรึกษา หากคุณเป็นคนที่สนใจหรือชอบที่จะเป็นผู้ให้คำปรึกษา ก็สามารถหาเรียนรู้เพิ่มเติมได้เสมอค่ะ เพราะอะไรก็ตามที่ขึ้นชื่อว่าเป็นทักษะมันย่อมหมายถึงสิ่งที่ไม่ใช่พรสวรรค์ แต่มันคือสิ่งที่มาจากการเรียนรู้และฝึกฝนจนเกิดทักษะนั้นในตัวเรา


และหากคุณต้องการพัฒนาตนเองให้กลายเป็นที่ปรึกษาที่เข้าอกเข้าใจตนเองและผู้คนมากขึ้น เพื่อปรับใช้ในการทำงาน ครอบครัว และในชีวิตประจำวัน คุณสามารถสมัครเรียน "หลักสูตรนักให้คำปรึกษากับนักจิตวิทยา" จาก iSTRONG ได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง

[1] How just listening can be a very powerful tool for suicide prevention. Retrieved from: https://www.jsonline.com/story/opinion/contributors/2018/07/20/how-just-listening-can-very-powerful-tool-suicide-prevention/797406002/

[2] How to Improve Your Empathic Listening Skills: 7 Techniques. Retrieved from: https://positivepsychology.com/empathic-listening/

[3] The Power of Silence through Active Listening. Retrieved from: https://www.equalmeasure.org/power-silence-active-listening/

บทความที่เกี่ยวข้อง

[1] รู้ทันสัญญาณฆ่าตัวตายก่อนจะสายเกินไป https://www.istrong.co/single-post/know-about-suicide

[2] นักจิตวิทยาเผย 4 สัญญาณเตือน! เสี่ยงฆ่าตัวตาย ในโลกโซเชียล https://www.istrong.co/single-post/warning-signs-suicide-risk-in-the-social

 

ประวัติผู้เขียน

นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) ปริญญาโทสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา (คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็น นักจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (ประสบการณ์การทำงาน 8 ปี)

และเป็นนักเขียนของ istrong


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page