top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

สุขภาพใจพัง สู้ต่อไปไม่ไหว ควรไปพบจิตแพทย์ไหม?


เชื่อว่าในช่วงชีวิตของทุกคนย่อมต้องเคยประสบกับเหตุการณ์หรือช่วงเวลาที่มีความตึงเครียดสูง ซึ่งหลายครั้งก็สามารถผ่านไปได้ด้วยตนเอง แต่ในบางครั้งก็อาจจะพบว่าสิ่งที่ต้องจัดการหรือปัญหาที่ต้องเผชิญนั้นมีความยากและสร้างความตึงเครียดให้อย่างหนักหนาสาหัส จนส่งผลกระทบต่อสภาวะทางอารมณ์และการดำเนินชีวิต เช่น กินข้าวไม่ลง นอนหลับไม่ได้ ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างเริ่มแย่ลง มองอะไรก็ขัดหูขัดตา รู้สึกไม่มีความสุข เป็นต้น สัญญาณเหล่านี้ล้วนเป็นอาการที่มาเตือนคุณว่ามันน่าจะถึงเวลาแล้วที่คุณควรเริ่มต้นดูแลจิตใจตัวเองอย่างจริงจัง โดยในบทความนี้จะมานำเสนอแนวทางในการดูแลจิตใจให้คุณเก็บเอาไว้ใช้เป็นทางเลือกในวันที่จิตใจพังไม่ไหวแล้ว และแน่นอนว่าเราจะมานำเสนอแนวทางให้กับคนที่ต้องการพบจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้วยเช่นกัน ดังต่อไปนี้

1. พูดคุยกับคนใกล้ชิด

การมองหาคนใกล้ชิดสักคนที่คุณรู้สึกไว้วางใจเพื่อพูดคุย ระบาย หรือปรึกษาปัญหาในเบื้องต้น ถือว่าเป็นการรับความช่วยเหลือด้านจิตใจที่เข้าถึงได้ง่ายและประหยัดที่สุด เพราะการปรึกษาคนใกล้ชิดนั้นไม่ต้องจองคิวและไม่มีค่าใช้จ่าย แต่แม้ว่าจะสะดวกและรวดเร็ว การปรึกษาคนใกล้ชิดก็จะมีความเสี่ยงในเรื่องของการรักษาความลับ และหากคนใกล้ชิดไม่ได้มีลักษณะเป็นคนที่เปิดใจรับฟังได้ทุกเรื่อง ก็อาจจะมีการด่วนตัดสินหรือรีบแนะนำในทันที ทำให้เกิดความรู้สึกว่าคนใกล้ชิดไม่เข้าใจในปัญหา หรือบางครั้งอาจรู้สึกว่าหลังจากได้รับคำปรึกษาแล้วแย่กว่าเดิม


2. จิตใจที่ดีสัมพันธ์กับร่างกายที่แข็งแรง

สิ่งที่หลายคนอาจคิดไม่ถึงก็คือ ร่างกายกับจิตใจนั้นสัมพันธ์กัน ดังนั้น หากคุณหมั่นดูแลสุขภาพร่างกายของตนเองให้แข็งแรง โดยการออกกำลังกายตามความเหมาะสม เช่น ปั่นจักรยาน เล่นโยคะ วิ่ง เดิน หรือแม้แต่ทำสวน รวมไปถึงรับประทานอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนในปริมาณที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ คุณก็จะมีสุขภาพจิตใจที่แข็งแรงตามไปด้วย ซึ่งหากคุณดูแลร่างกายจิตใจของตัวเองอย่างเหมาะสมอยู่เสมอ จิตแพทย์ก็อาจไม่จำเป็นสำหรับคุณก็ได้

3. ทำกิจกรรมที่คุณชอบ

อย่าลืมหาเวลาว่างในแต่ละวันให้กับตัวเองสำหรับทำกิจกรรมที่คุณชอบ เช่น ทำอาหาร เล่นกับสัตว์เลี้ยง เดินเล่น อ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง ซึ่งกิจกรรมต่าง ๆ นั้นคุณสามารถเลือกได้ตามสไตล์ของคุณเอง โดยเน้นให้เป็นกิจกรรมที่คุณทำแล้วรู้สึกดี ผ่อนคลาย และอาจทำให้คุณรู้สึกว่าชีวิตมีความหมายมากขึ้นได้ด้วยในเวลาเดียวกัน เพื่อให้คุณสามารถมีช่วงเวลาที่เพลิดเพลินและผ่อนคลายจากความตึงเครียดบ้าง

4. หลีกเลี่ยงการใช้สารเสพติด

ไม่ว่าชีวิตจะแย่และเครียดสักแค่ไหน ก็อยากเชิญชวนให้คุณทิ้งตัวเลือกที่เป็นสารเสพติดไปเลย หรืออย่างน้อยก็ไม่ควรจะใช้อย่างต่อเนื่องกันหรือใช้ในปริมาณที่มาก ไม่ว่าจะเป็นแอลกอฮอล์ บุหรี่ คาวา (Kava) หรือสารต่าง ๆ ที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท เพราะแม้ว่ามันจะช่วยให้คุณรู้สึกผ่อนคลายสบายใจขึ้น แต่มันก็เป็นฤทธิ์แค่เพียงชั่วคราว แต่ในระยะยาวนั้น สารเสพติดจะส่งผลเสียต่อทั้งสุขภาพร่างกายจิตใจและอารมณ์ของคุณ โดยเฉพาะสารเสพติดบางชนิดที่มีฤทธิ์ก่อให้เกิดอาการทางจิตได้ยิ่งควรหลีกเลี่ยงและอยู่ให้ห่างจากมัน

5. ฝึกโฟกัสอยู่กับช่วงเวลาในปัจจุบัน

เนื่องจากในแต่ละวันนั้นมีเรื่องยุ่งเหยิงให้ต้องจัดการมากมาย จนบางครั้งคุณเองก็หลงลืมที่จะใช้เวลาอยู่กับปัจจุบันของตัวเอง เช่น คุณอาจจะนึกถึงแต่การประชุมที่จะเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้ หรือยังไม่มูฟออนจากเหตุการณ์น่าขายหน้าเมื่อสัปดาห์ก่อน ทำให้ภายในจิตใจขาดความสงบ เพราะมีความวิตกกังวลหรือเศร้าเสียใจเกิดขึ้นอยู่ภายในแทบจะตลอดเวลา การฝึกโฟกัสอยู่กับช่วงเวลาในปัจจุบัน โดยอาจจะใช้เทคนิคการอยู่กับลมหายใจเพียงวันละ 2 นาที หรือการสังเกตสิ่งรอบตัวว่าคุณเห็นหรือได้ยินอะไรบ้าง ก็จะเป็นการดูแลจิตใจที่อ่อนล้าจากความรู้สึกทางลบได้อย่างหนึ่ง ซึ่งจิตแพทย์บางท่านก็ใช้วิธีนี้ในการช่วยเหลือผู้รับบริการด้วยเหมือนกัน

6. ปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา

หากคุณมาถึงจุดที่ไม่ว่าจะทำอย่างไรคุณก็ไม่สามารถจะรู้สึกดีขึ้นได้เลย หรือยังคงมีอาการกินไม่ได้นอนไม่หลับ รับรู้ได้ว่าจิตใจพังและเริ่มรับมือกับสิ่งที่คุณต้องเผชิญอยู่ตามลำพังไม่ไหวแล้ว รวมไปถึงเริ่มจะมีพฤติกรรมที่ทำให้คนรอบข้างตีตัวออกห่าง มันอาจถึงเวลาแล้วที่คุณควรปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้ตรงจุด

เทคนิคในการเลือกจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา

1. สำรวจงบประมาณ


หากคุณต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย แนะนำให้เริ่มต้นที่การใช้สิทธิ์ประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือสิทธิ์ประกันสังคม ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะได้รับการรักษาโดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ข้อจำกัดคือ อาจต้องรอคิวเพื่อรับการตรวจนาน จิตแพทย์อาจมีเวลาให้น้อยกว่าความคาดหวังของคุณ หรือโรงพยาบาลบางแห่งอาจไม่มีจิตแพทย์และนักจิตวิทยาจึงต้องมีการทำเอกสารส่งตัวไปยังโรงพยาบาลอื่นทำให้ต้องเดินทางไปมา แต่หากคุณสะดวกเรื่องค่าใช้จ่าย การเลือกไปรับบริการจากหน่วยงานเอกชนก็จะช่วยลดข้อจำกัดในการรอคิว มีขั้นตอนการนัดหมายที่ง่าย มีทีมงานคอยแนะนำผู้เชี่ยวชาญที่เหมาะกับคุณ รวมไปถึงมีช่องทางหลากหลายในการติดต่อนัดหมาย

2. สำรวจระดับความต้องการ


คุณอาจจะมีการประเมินตนเองในเบื้องต้นก่อน โดยสามารถทำแบบประเมินที่ผู้ให้บริการทั้งภาครัฐและเอกชนจัดทำขึ้น เช่น แบบคัดกรองโรคซึมเศร้า แบบวัด Mental Health Check-in เพื่อประเมินความเร่งด่วนจำเป็นของตนเองในการไปพบจิตแพทย์ เช่น ระดับคะแนนที่ได้จากแบบประเมินออกมาสูง และมีคำแนะนำให้รีบพบจิตแพทย์ คุณอาจจะต้องไปพบจิตแพทย์ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อลดโอกาสเสี่ยงในการทำร้ายตนเองหรือความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นได้หากปล่อยให้ตัวเองเครียดสะสมเป็นเวลานาน



สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง

[1] 6 ways to take care of your mental health and well-being this World Mental Health Day

 

ประวัติผู้เขียน : นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น)

จบการศึกษาระดับปริญญาโทสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ

ระดับปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา (คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็น นักจิตวิทยาการปรึกษา ประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงใหม่

และเป็นนักเขียนของ istrong


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page