top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

วิธีสังเกตสัญญาณการฆ่าตัวตาย ก่อนที่จะสายเกินไปกับคนใกล้ตัว


โรคซึมเศร้า

ข่าวการฆ่าตัวตายมีมาให้ได้ยินกันอีกแล้ว กลับกลายเป็นว่า การฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุการตายอันดับสองของคนวัยหนุ่มสาว ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ ที่พบได้บ่อยคือผลพวงตามมาจากโรคซึมเศร้า ซึ่งการฆ่าตัวตายเท่ากับเป็นการพยายามหนีให้พ้นจากสภาะความทุกข์และความเศร้าที่ท่วมท้นจิตใจ ซึ่งผู้ป่วยที่อาการหนักจะเห็นว่าทางนี้เป็น “ทางออก” เดียวที่พวกเขาจะหลุดพ้นและหายจากโรคนี้ไปได้ >> เปิดบันทึกความคิดของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โลกที่คนทั่วไปไม่อาจเข้าถึง แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ผู้ที่รอดชีวิตจากความพยายามฆ่าตัวตาย ส่วนใหญ่มักจะพูดภายหลังว่าดีใจที่ตัวเองยังไม่ตาย ดังนั้น ในหลายกรณี ผู้ที่มีสัญญาณ แนวโน้ม หรือความเสี่ยงที่จะกระทำการดังกล่าว ยังสามารถได้รับความช่วยเหลือได้ทัน หากคนใกล้ชิด เช่น เพื่อน หรือครอบครัว มีความรู้ความเข้าใจ สังเกตเห็นสัญญาณเหล่านั้น และรู้วิธีรับมืออย่างทันท่วงที แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าคนไหนมีแนวโน้มจะฆ่าตัวตาย? โดยทั่วไปแล้ว การจะรู้ล่วงหน้าว่าคนไหนจะฆ่าตัวตายนั้นค่อนข้างทำได้ยาก แต่ยังมีความคิดและพฤติกรรมบางอย่างที่คนใกล้ตัวใช้สังเกตได้ จากแบบประเมินโรคซึมเศร้าและแนวโน้มการฆ่าตัวตายของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข มีข้อคำถามที่เกี่ยวกับความคิดและพฤติกรรมของคนคนนั้น เช่น

  • คิดทำร้ายตนเอง หรือคิดว่าถ้าตายไปคงจะดี

  • อยากทำร้ายตัวเอง หรือ ทำให้ตัวเองบาดเจ็บ

  • มีแผนการที่จะฆ่าตัวตาย

  • เตรียมการที่จะทำร้ายตนเองหรือเตรียมการจะฆ่าตัวตายโดยตั้งใจว่าจะให้ตายจริง ๆ

  • ทำให้ตนเองบาดเจ็บแต่ไม่ตั้งใจที่จะทำให้เสียชีวิต

  • ฆ่าตัวตายโดยคาดหวัง/ตั้งใจที่จะให้ตายพยายาม

รวมถึงพฤติกรรมที่สังเกตได้อื่น ๆ เช่น

  • เคยพูดว่า “อยากตาย” “ถ้าตายไปก็คงดี” “ไม่อยากอยู่แล้ว”

  • แปลกแยก หนีหายออกไปจากสังคม

  • รูปร่างเปลี่ยนแปลงไป

  • อยู่ดีๆ ก็บริจาคของส่วนตัว หรือยกให้คนอื่น

  • อย่างอื่นที่เหมือนเป็นการเตรียมตัวตาย เช่น จัดการทรัพย์สิน มรดก ฝากฝัง ฯลฯพฤติกรรม

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่กระตุ้นหรือเพิ่มความเสี่ยงในการลงมือฆ่าตัวตายได้อีก เช่น

  • ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า

  • เคยพยายามทำมาแล้วครั้งหรือหลายครั้งก่อนหน้านี้

  • สมาชิกในครอบครัว หรือเพื่อนสนิทเพิ่งฆ่าตัวตาย หรืออยู่ในสังคมแวดล้อมที่มีคนฆ่าตัวตาย

  • เพิ่งสูญเสียคนสำคัญในชีวิต หรือตกงาน

  • เพิ่งเกิดเรื่องร้าย ๆ หรือเกิดปัญหารุมเร้าหนัก ๆ

  • ความเชื่อส่วนบุคคลด้านศาสนาหรือลัทธิบางอย่าง

  • การดื่มเหล้าหรือใช้สารเสพติด

  • ความรู้สึกสิ้นหวัง หรือไร้จุดมุ่งหมายในการมีชีวิต

  • ครอบครองอุปกรณ์ที่สามารถใช้ฆ่าตัวตายได้ เช่น ปืน ยานอนหลับจำนวนมาก

  • ไม่พยายามมองหาความช่วยเหลือใด ๆ

เหล่านี้คือสัญญาณที่คนใกล้ตัวสามารถใช้เพื่อสังเกตและเช็กผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นระยะ อย่างไรก็ตาม มักมีความเข้าใจผิดบางอย่างเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น “คนที่พูดมักไม่ทำจริงหรอก” สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถใช้ตัดสินได้ว่าบุคคลนั้นจะทำจริงหรือไม่ เพราะทันทีที่มีคำพูดออกมา นั่นแสดงว่าเขากำลังต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน อย่าเหมารวมว่าคนที่พูดมักไม่ทำ เพราะหากคนที่มุ่งมั่นจะทำแล้ว แม้จะพูดออกมา พวกเขาก็จะทำตามนั้นจริงๆ “คนที่คิดฆ่าตัวตายนั่นแสดงว่าเราช่วยอะไรเขาไม่ได้แล้ว” ความคิดอยากจากโลกนี้ไปอาจเกิดขึ้นเพียงชั่ววูบและในระยะเวลาสั้น ๆ หากได้รับการช่วยเหลือทันท่วงที พวกเขามักจะเปลี่ยนใจในภายหลัง แต่หากช่วยเหลือไว้ไม่ทัน ก็มักจะเกิดเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น “การฆ่าตัวตายเป็นการตัดสินใจส่วนบุคคล” ความคิดเช่นนี้จะนำพาไปสู่การเพิกเฉยที่จะช่วยเหลือผู้ที่มีความเสี่ยง ทั้ง ๆ ที่หากยับยั้งทัน พวกเขาเหล่านั้นอาจรู้สึกขอบคุณในภายหลังที่ได้รับการช่วยเหลือ และการตายของคนคนหนึ่ง ไม่ได้จบปัญหาที่คนคนเดียว แต่มักกระทบต่อคนที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยเฉพาะคนในครอบครัวของพวกเขา “ยิ่งไปถามเรื่องฆ่าตัวตายก็จะยิ่งเป็นการชักนำเขา” มีงานวิจัยที่พิสูจน์แล้วว่า การถามเรื่องแนวโน้มการฆ่าตัวตายไม่ได้กระตุ้นให้คนเกิดพฤติกรรมตามนั้น แต่ตรงกันข้าม บุคคลเหล่านั้นจะยิ่งรู้สึกดีขึ้นที่มีคนห่วงใย และจะยิ่งรู้สึกได้ปลดปล่อยหากได้พูดออกมา แล้วคนรอบตัวจะช่วยเหลือได้อย่างไร?

การรับฟังอย่างใส่ใจและตั้งใจ คือ วิธีที่ดีที่สุดที่จะปฐมพยาบาลพวกเขาได้ เพียงความปรารถนาที่จะรับฟัง การสัมผัสอย่าง กุมมือ ตบบ่า หรือโอบกอดจะช่วยสื่อสารความห่วงใยคุณได้มากขึ้น แต่คุณต้องระวังคำพูดบางประโยคที่นอกจากจะไม่ช่วยให้ดีขึ้น กลับจะยิ่งทำให้แย่ลง >> วิธีพูดคุยกับคนใกล้ตัวที่เป็นโรคซึมเศร้า และคำพูดที่ต้องห้าม จำไว้ว่า คุณไม่จำเป็นต้องแบกปัญหาคนใกล้ตัวไว้คนเดียว สิ่งสำคัญคือคุณต้องดูแลตัวเองให้มีสุขภาพจิตที่ดีก่อนที่จะไปดูแลคนอื่น และส่งมอบภาระหน้าที่ช่วยเหลือให้กับผู้เชี่ยวชาญอย่างจิตแพทย์และนักจิตวิทยา อย่าเก็บความลับของผู้ป่วย หรือเก็บปัญหาไว้กับตัว แต่ควรมองหาความช่วยเหลือให้เร็วที่สุด ช่องทางความช่วยเหลือ Samaritans of Thailand Hotline: (02) 713-6793 กรมสุขภาพจิต Hotline: 1323, 1667 ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและครอบครัว iStrong โดยทีมนักจิตวิทยาคลินิกและนักจิตวิทยาการให้คำปรึกษา Line: @istrong

 

ที่มา

กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Depression and Suicide. https://caps.ucsc.edu/

Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page