วัยรุ่นกับความรู้สึกเฉยชา : ทำความเข้าใจกับภาวะสิ้นยินดีในวัยรุ่นผ่านภาพยนตร์วัยหนุ่ม 2544
- Chanthama Changsalak
- Mar 31
- 2 min read

ถึงแม้ว่า “ภาวะสิ้นยินดี” หรือการมีความรู้สึกเฉยชาต่อการใช้ชีวิต มีมีอาการรุนแรงที่สุดในช่วงวัยทำงาน แต่ผลการศึกษาทางจิตวิทยากลับพบว่า “ภาวะสิ้นยินดีในวัยรุ่น” ก็มีความรุนแรง และส่งผลกระทบต่อตัววัยรุ่นที่มีความรู้สึกเฉยชาทางด้านจิตใจอย่างรุนแรง จนอาจนำไปสู่โรคทางจิตเวชอื่น ๆ เช่น โรคซึมเศร้า โรคเครียด โรควิตกกังวล เป็นต้น
ในบทความจิตวิทยานี้จึงขอพาท่านมาทำความเข้าใจกับภาวะสิ้นยินดีในวัยรุ่นผ่านภาพยนตร์วัยหนุ่ม 2544 ภาพนยนตร์น้ำดี 100 ล้าน ที่เพิ่งลง Netflix เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2568 กันค่ะ
ในภาพยนตร์วัยหนุ่มนั้น เป็นการถ่ายทอดเรื่องราวของวัยรุ่นชายชื่อว่า “เผือก” (แสดงโดยคุณณัฏฐ์ กิจจริต) ผู้รังเกียจสังคมที่ตนเกิดและเติบโตขึ้นมาแต่หลุดพ้นจากวงจรอุบาทที่ต้องพบเจออยู่ทุกวันไม่ได้เสียที จนความรู้สึกเกลียดเปลี่ยนเป็นความโกรธต่อโลก ความโกรธต่อผู้คน จนส่งผลให้เผือกมีจุดเดือดต่ำ หัวร้อนง่าย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากใครมาหยามเกียรติแม่ที่เขารัก เขาจะไม่ทน และด้วยความที่เขาไม่อดทนต่อการยั่วยุนี่เองที่พาเขาเข้ามาอยู่ในโลกหลังลูกกรงที่เรียกว่า “ทัณฑสถานวัยหนุ่ม” ที่ทำให้เขาได้พบกับความโหดร้าย ดิบ เถื่อน จากผู้คุมสุดโหด (แสดงโดยคุณสหัสชัย ชุมรุม) เบียร์ (แสดงโดยคุณเป้ อารักษ์ อมรศุภศิริ) และบอย (แสดงโดยคุณท็อป ทศพล หมายสุข) รุ่นพี่ในห้องขังที่ทำตัวยิ่งใหญ่ และทำร้ายร่างกายและจิตใจของเผือก
จนทำให้ไฟที่จะใช้ชีวิตของเผือกดับมอดลงจนกลายเป็นความรู้สึกเฉยชา และนำจิตใจเขาเข้าสู่ภาวะสิ้นยินดีในวัยรุ่นในที่สุด ถึงแม้ว่าเขาจะได้รับความช่วยเหลือจากฟลุ๊ค (แสดงโดยคุณเอม ภูมิภัทร ถาวรศิริ) บังกัส (แสดงโดยคุณจ๋าย ไททศมิตรอิชณน์กร พึ่งเกียรติรัศมี) และกอล์ฟ (แสดงโดยคุณเบนจามิน โจเซฟ วาร์นี) ในภายหลัง แต่จิตใจที่แตกสลายจนไร้ความรู้สึกของเขา ก็ยังจมอยู่กับภาวะสิ้นยินดีในวัยรุ่น จนแม้แต่การทำร้ายคนอื่นก็ไม่สะเทือนความรู้สึกของเขาอีกต่อไป
ทั้งนี้ ในทางจิตวิทยานั้น ภาวะสิ้นยินดี (Anhedonia) เป็นภาวะที่บุคคลไม่สามารถรู้สึกพึงพอใจหรือมีความสุขจากกิจกรรมที่เคยสร้างความสุขมาก่อน ซึ่งในวัยรุ่น ภาวะนี้อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ความเครียดจากการเรียน หรือความกดดันทางสังคม และปัจจัยทางจิตวิทยาอื่น ๆ
โดยเราสามารถแบ่งภาวะสิ้นยินดีในวัยรุ่นออกเป็นสองประเภทหลัก ได้แก่ ภาวะสิ้นยินดีทางสังคม (Social Anhedonia) คือ ภาวะที่บุคคลแยกตัวโดดเดี่ยว ไม่ต้องการสร้างปฏิสัมพันธ์ ไม่ต้องการมีความสัมพันธ์กับผู้อื่น ดังเช่นที่เผือกมักจะแยกตัวโดดเดี่ยว ไม่สุงสิงกับใคร ไม่ทักทายหรือเริ่มปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับใครก่อน
และภาวะสิ้นยินดีทางร่างกาย (Physical Anhedonia) คือภาวะที่บุคคลไม่รู้สึกพึงพอใจจากกิจกรรมทางกายภาพ เช่น การรับประทานอาหาร หรือการสัมผัสทางกาย ดังเช่นที่เผือกรับประทานอาหารอาหารแค่พอให้ท้องอิ่ม ให้พอมีชีวิตรอดไปวัน ๆ และหวาดระแวงต่อการถูกสัมผัสทางร่างกาย ซึ่งนั่นอาจเป็นผลมาจากการถูกทำร้ายร่างกายและความรู้สึกโดดเดี่ยวในจิตใจของเขา
เพื่อเป็นประโยชน์ในการสังเกตตนเองและวัยรุ่นที่อยู่ใกล้ชิด จึงได้นำข้อสังเกตของภาวะสิ้นยินดีในวัยรุ่น มาฝากกันดังนี้ค่ะ
ขาดความสนใจหรือความสุขในกิจกรรมที่เคยชอบ
หากวัยรุ่นไม่สนใจงานอดิเรก หรือกิจกรรมสุดโปรดของเขา หรือแสดงอาการเบื่อหน่ายต่อการเขาสังคม มีความเฉยชา ไม่ยินดียินร้าย ไม่อินกับสถานการณ์ในครอบครัว นั่นอาจจะเป็นสัญญาณของภาวะสิ้นยินดีในวัยรุ่นก็เป็นได้ค่ะ
มีอารมณ์ด้านลบหรือเฉยชา
โดยปกติแล้ว วัยรุ่นจะเป็นวัยที่พลังงานล้นเหลือ มักจะตื่นเต้น หรือแสดงอารมณ์ออกมาในลักษณะล้น ๆ หรือที่เราเรียกว่า “เล่นใหญ่” แต่ถ้าเราสังเกตว่าวัยรุ่นที่อยู่ใกล้ชิดมีความรู้สึกเฉยชา ไร้ความรู้สึก ไม่รู้สึกตื่นเต้น ไม่ดีใจ หรือไม่พึงพอใจในเรื่องต่าง ๆ นั่นก็เป็นหนึ่งในสัญญาณของภาวะสิ้นยินดีในวัยรุ่นได้เช่นกันค่ะ
แยกตัวจากสังคม
สัญญาณหนึ่งของภาวะสิ้นยินดีในวัยรุ่น สามารถแสดงออกมาผ่านพฤติกรรมหลีกเลี่ยงสังคม แยกตัวโดดเดี่ยว มักขังตัวเองอยู่แต่ในห้อง มีเพื่อนน้อย หรือแทบไม่มีเพื่อนเลย แม้แต่กับคนในบ้านก็ไม่มีปฏิสัมพันธ์ด้วย รวมไปถึงความรู้สึกว่าตนเองไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคม และหลีกเลี่ยงที่จะเขามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมค่ะ
ไม่มี Passion ในการใช้ชีวิต
วัยรุ่นที่มีภาวะสิ้นยินดี มักจะขาดแรงจูงใจในการใช้ชีวิต ดังเช่นที่เผือก ผู้หมดหวังกับการมีอิสรภาพในการชีวิต ไม่ว่าจะอยู่ในโลกจริง หรือโลกหลังลูกกรงเขาก็ถูกปิดกั้นความฝัน เหมือนกับที่กอล์ฟพูดกับเผือกในตอนหนึ่งว่า “ที่นี้ขังเราแม้กระทั่งความฝัน” นั่นจึงทำให้เขาสูญสิ้นความกระตือรือร้นในการใช้ชีวิต เพราะเขาเกิดความรู้สึกว่าชีวิตของเขาไร้ความหมาย
มีพฤติกรรมเปลี่ยนไปในทางลบ
ภาวะสิ้นยินดีในวัยรุ่น ส่งผลให้วันรุ่นมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปในทางลบ เช่น นอนมากขึ้น หรือนอนน้อยลงผิดปกติ รับประทานอาหารน้อยลง หรือมากเกินไป รวมถึงการใช้เวลากับโลกสมมุติ ไม่ว่าจะเป็นเกม หรือโซเชียลมีเดีย หรือซีรี่ย์มากเกินไป ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเขาไม่อยากมีส่วนร่วมในโลกความเป็นจริงแล้ว
ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาให้ข้อมูลว่าภาวะสิ้นยินดีในวัยรุ่น มีสาเหตุหลักมาจาก 3 ปัจจัย ได้แก่ ความผิดปกติของสารเคมีในสมอง เช่น โดปามีน (Dopamine) และเซโรโทนิน (Serotonin) ที่มีบทบาทในการควบคุมอารมณ์และความสุข รวมถึงปัจจัยทางพันธุกรรมที่ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะสิ้นยินดี
และปัจจัยทางสภาพแวดล้อม เช่น สถานการณ์ที่เผือกได้พบเจอในภาพยนตร์วัยหนุ่ม คือ เติบโตขึ้นมากับแม่ที่ขายยาเสพติด อาศัยอยู่ในชุมชนแออัดที่อัดแน่นไปด้วยความเครียด และยังต้องพบเจอกับการถูกทารุณกรรมทางร่างกายและจิตใจจนเกิดบาดแผลทางใจ
ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาได้แนะนำการเยียวยาภาวะสิ้นยินดีในวัยรุ่น เอาไว้ดังนี้ค่ะ
การบำบัดทางจิตวิทยา
การบำบัดทางจิตวิทยาที่เหมาสมกับการเยียวยาภาวะสิ้นยินดีในวัยรุ่น คือ การบำบัดพฤติกรรมและความคิด (Cognitive Behavioral Therapy: CBT) ซึ่งสามารถช่วยให้วัยรุ่นเรียนรู้วิธีจัดการกับความคิดและพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การใช้ยา
ในบางกรณี จิตแพทย์อาจพิจารณาใช้ยาต้านเศร้าหรือยาที่ปรับสมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง เพื่อปรับสมดุลของสารเคมีในสมองให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น
การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต
หากชีวิตเดิมมันบั่นทอนเกินไป ก็ปรับเปลี่ยนชีวิตเพื่อลดความรู้สึกเฉยชา โดยการดูแลตัวเองอย่างสม่ำเสมอ เช่น การออกกำลังกาย การนอนหลับที่เพียงพอ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และการทำกิจกรรมที่เคยชื่นชอบ เพื่อปรับปรุงอารมณ์และลดอาการของภาวะสิ้นยินดีได้
การสนับสนุนจากครอบครัวและเพื่อน
หัวใจสำคัญของการเยียวยาจิตใจจากภาวะสิ้นยินดี ก็คือกำลังใจและการสนับสนุนจากคนรอบข้างค่ะ เนื่องจากการได้รับความอบอุ่นใจจากคนรอบข้างจะช่วยให้วัยรุ่นรู้สึกมีตัวตน ได้รับการใส่ใจ และสามารถผ่านปัญหาไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จากข้อมูลข้างต้น สามารถกล่าวโดยสรุปได้ว่า ภาวะสิ้นยินดีในวัยรุ่นมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพ อารมณ์ และสังคม หากไม่ได้รับการดูแล อาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าและปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ ได้ ดังนั้นผู้ที่มีภาวะสิ้นยินดีในวัยรุ่นจึงควรได้รับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาเพื่อป้องกันไม่ให้อาการรุนแรงมากยิ่งขึ้น
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความที่เกี่ยวข้อง
อ้างอิง:
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2564). เข้าใจภาวะสิ้นยินดี (Anhedonia) รู้รับมือก่อนความสุขจะสูญไปจากชีวิต. สืบค้นจาก https://www.chula.ac.th/highlight/131904/
โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต. (2564). ภาวะสิ้นยินดี.
สืบค้นจาก https://ch9airport.com/th/ภาวะสิ้นยินดี/
โรงพยาบาลสุขภาพจิตกรุงเทพ. (2564). ภาวะสิ้นยินดี ความผิดปกติทางอารมณ์ ที่ต้องรีบรักษา. สืบค้นจาก https://bangkokmentalhealthhospital.com/th/anhedonia/
ประวัติผู้เขียน
จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตจิตวิทยาคลินิกจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้