โปรดระวังเส้นบาง ๆ ระหว่าง “รักต่างวัย” กับ “โรคใคร่เด็ก”
- นิลุบล สุขวณิช
- Mar 26
- 1 min read

หลายคนคงจะคุ้นเคยกันดีกับคำว่า “รักต่างวัย” ซึ่งคำนี้มักจะทำให้เกิดภาพของคู่รักที่มีอายุแตกต่างกันหลายปี แน่นอนว่าความรักเป็นสิ่งที่สวยงามและการมีอายุที่แตกต่างกันมันก็ดูเหมือนไม่น่าจะเป็นปัญหาอย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงผู้เขียนพบว่ามันมีเส้นบาง ๆ ระหว่าง “รักต่างวัย” กับ “โรคใคร่เด็ก”
รวมไปถึงพฤติกรรมที่เรียกว่า “Child Grooming” ที่ผู้กระทำมีการตระเตรียมเป็นขั้นเป็นตอนโดยมีเป้าหมายเพื่อแสวงประโยชน์ทางเพศจากเด็กอย่างแยบยล และมักนำไปสู่การกล่าวโทษผู้ถูกกระทำ (Victim Blaming) ซึ่งสร้างความบอบช้ำทางใจให้กับผู้ถูกกระทำเป็นอย่างมาก ผู้เขียนจึงอยากชวนให้ผู้อ่านตระหนักและทำความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ไปด้วยกัน ดังต่อไปนี้
“รักต่างวัย” ไม่ใช่แค่เรื่องของความรักใคร่ แต่ต้องประกอบด้วยอายุที่ถูกกฎหมายและความยินยอมของทั้งสองฝ่าย
สมัยผู้เขียนยังเป็นเด็กมักจะได้ยินคำว่า “เลี้ยงต้อย” ที่หมายถึง “เลี้ยงมาตั้งแต่เล็กแต่น้อยจนเติบโตแล้วก็ยกฐานะขึ้นเป็นสามีหรือภรรยาของผู้เลี้ยงเอง” ซึ่งสมัยก่อนสังคมไทยจะมองว่ามันเป็นรักต่างวัยและไม่มีอะไรผิดปกติ
แต่ในความเป็นจริงแล้วก็พบว่ามีหลายครั้งที่มันไม่ใช่รักต่างวัยแต่มันคือ “Child Grooming” ที่ฝ่ายผู้ใหญ่มีการล็อคเป้าหมายและทำอย่างเป็นขั้นเป็นตอนเพื่อให้ตนเองสามารถแสวงประโยชน์ทางเพศจากเด็กที่เป็นเป้าหมายได้สำเร็จ การเลี้ยงต้อยจึงไม่ใช่รักต่างวัยแต่มันเป็นพฤติกรรมที่เข้าข่าย Child Grooming
ส่วน “รักต่างวัย” ตามนิยามที่ควรจะเป็นจริง ๆ นั้นจะต้องมีองค์ประกอบสำคัญก็คือความยินยอม (consent) และทั้งสองฝ่ายจะต้องเป็นผู้ที่มีอายุและความสามารถในการตัดสินใจอย่างเต็มที่ในการยินยอมเข้าร่วมกิจกรรมหรือความสัมพันธ์บางอย่าง โดยไม่มีการบังคับหรือการหลอกลวง
ทำไมความรักแบบชู้สาวที่ผู้ใหญ่มีต่อเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ถึงควรเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย?
อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า “รักต่างวัย” จะต้องเป็นความรักระหว่างผู้ที่มีอายุและความสามารถในการตัดสินใจอย่างเต็มที่ ซึ่งสมองส่วนคิดและตัดสินใจของมนุษย์จะพัฒนาเต็มที่เมื่อมีอายุ 25 ปี ขณะที่สมองส่วนที่ทำงานเกี่ยวกับความต้องการและอารมณ์รวมถึงอารมณ์ทางเพศจะเจริญเต็มที่ไวกว่าสมองส่วนที่ทำงานเกี่ยวกับการคิดไตร่ตรองตัดสินใจอย่างรอบคอบ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นต่อเด็ก ประเทศไทยจึงมีกฎหมายลงโทษการกระทำความผิดทางเพศต่อเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม
รักต่างวัย vs โรคใคร่เด็ก
ผู้เขียนขอย้ำว่าโรคใคร่เด็ก (Pedophilic Disorder) ไม่ถือว่าว่าเป็นรสนิยมทางเพศ และมันมีความแตกต่างจากรักต่างวัย โดยจากเกณฑ์การวินิจฉัยโรคใคร่เด็กที่ระบุอยู่ใน DSM-5-TR มีดังนี้
A. บุคคลต้องมีความต้องการทางเพศหรือแรงกระตุ้นทางเพศที่รุนแรงและต่อเนื่องกับเด็กที่ยังไม่ผ่านการพัฒนาเข้าสู่วัยรุ่น (โดยปกติแล้วจะเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี)
B. บุคคลต้องมีพฤติกรรมทางเพศกับเด็ก หรือมีความคิดหรือจินตนาการเกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศกับเด็ก หรือบุคคลมีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสมต่อเด็ก หรือพฤติกรรมเหล่านั้นเกิดขึ้นในระยะเวลานาน
C. บุคคลที่มีอาการเหล่านี้ต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 16 ปี และมีอายุมากกว่าผู้ที่อยู่ในวัยของเด็กอย่างมีนัยสำคัญ
D. ความต้องการทางเพศหรือแรงกระตุ้นทางเพศที่มีความสัมพันธ์กับเด็กนี้ทำให้บุคคลรู้สึกทุกข์หรือมีผลกระทบในด้านสังคม การทำงาน หรือการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน
ทั้งนี้ ตัวอย่างของโรคใคร่เด็กที่เห็นได้ชัดก็คือภาพยนตร์เรื่อง “Lolita” ที่พระเอกไม่สามารถมีอารมณ์ทางเพศกับแม่ของ Lolita ได้ จึงพยายามทุกทางเพื่อให้ไม่ต้องมีเพศสัมพันธ์กันแม้จะแต่งงานกันแล้ว แต่พระเอกกลับมีอารมณ์ทางเพศกับ Lolita ซึ่งเป็นลูกสาว โดยจากบทประพันธ์ที่แต่งขึ้นโดย Vladimir Nabokov ตัวละคร Lolita มีอายุเพียง 12 ปีเท่านั้น!
นอกจากนั้น ในความเป็นจริงยังพบว่ามีหลายกรณีที่คนที่เป็นโรคใคร่เด็กต้องการเลิกราหรือมีท่าทีเปลี่ยนไปเมื่อเด็กมีร่างกายจิตใจเข้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่ที่โตเต็มวัยแล้ว
ผลกระทบของความสัมพันธ์ที่อ้างว่าเป็นรักต่างวัยโดยมีฝ่ายหนึ่งอายุต่ำกว่า 15 ปี
ผลกระทบทางจิตใจและอารมณ์
เด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปีมักยังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาทางจิตใจและอารมณ์ การมีความสัมพันธ์ที่มีอายุกลุ่มผู้ใหญ่หรือคนที่มีประสบการณ์มากกว่าจะทำให้เด็กไม่สามารถเข้าใจหรือจัดการกับอารมณ์ได้อย่างเหมาะสม
อาจเกิดความสับสนหรือบาดแผลทางจิตใจ รวมถึงเด็กอาจสูญเสียความมั่นคงทางจิตใจและความมั่นใจในตัวเองจากการที่ถูกกระทำหรือควบคุมจากผู้ใหญ่ที่มีความตั้งใจที่จะใช้ประโยชน์จากพวกเขา
ผลกระทบทางร่างกาย
หากความสัมพันธ์นั้นเกี่ยวข้องกับการมีเพศสัมพันธ์ ความเสี่ยงต่าง ๆ เช่น การตั้งครรภ์หรือการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ (STIs) เป็นสิ่งที่เด็กไม่พร้อมที่จะรับมือ รวมถึงร่างกายและจิตใจยังไม่พัฒนาเต็มที่ การมีเพศสัมพันธ์ในช่วงนี้จึงอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพทางร่างกายได้ เช่น ปัญหาทางระบบสืบพันธุ์
ผลกระทบทางสังคม
ความสัมพันธ์ที่มีอายุห่างกันมาก โดยเฉพาะเมื่อฝ่ายหนึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี อาจทำให้เด็กตกอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกตัดสินจากสังคม และเด็กอาจเกิดความขัดแย้งกับครอบครัวโดยครอบครัวมักจะมีปฏิกิริยาต่อต้านความสัมพันธ์ดังกล่าวเพราะมองว่ามันไม่เหมาะสมและเป็นอันตรายต่อเด็ก
การถูกครอบงำหรือคุกคาม
เด็กอาจถูกผู้ใหญ่ในความสัมพันธ์ทำให้รู้สึกว่าไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือไม่สามารถพูดออกมาได้หากมีความไม่พอใจในความสัมพันธ์นั้น หรือถูกทำให้ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ ซึ่งอาจนำไปสู่การถูกควบคุมหรือการกระทำที่ไม่เหมาะสมทางเพศ
ทั้งนี้ ผู้เขียนขอเป็นอีกคนที่อยากสนับสนุนกำลังใจให้ทุกคนที่ตกเป็นเหยื่อของคนที่เป็นโรคใคร่เด็กและ Child Grooming โดยอีกฝ่ายอ้างว่ามันคือรักต่างวัย หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังเผชิญกับเรื่องนี้ขอให้รู้ไว้ว่าคุณไม่จำเป็นต้องเผชิญกับผลกระทบที่เกิดขึ้นตามลำพัง และหากคุณต้องการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตเพื่อรับการเยียวยาบาดแผลทางใจก็สามารถติดต่อผ่านทาง iSTRONG ได้นะคะ
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความที่เกี่ยวข้อง
Child Grooming การข่มขืนที่แยบยลจนเหยื่อกลายเป็นฝ่ายที่ถูกกล่าวโทษว่าสมยอม. https://www.istrong.co/single-post/child-grooming
อ้างอิง:
Courtney Telloian (2024). Age Difference in Relationships: How Much Is ‘Too Much’?. https://psychcentral.com/relationships/age-difference-in-relationships
มูลนิธิศานติวัฒนธรรม.
ธรรมนิติ. กฎหมายกับ “โรคใคร่เด็ก” ความผิดปกติทางจิตที่อาจสร้างความผิด.
American Psychiatric Association (2022). Pedophilic Disorder. DSM-5-TR
นายแพทย์ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ (2025).
ประวัติผู้เขียน
นิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) ประวัติการศึกษา: จบปริญญาโทสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีประสบการณ์ทำงานเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเป็นเวลา 11 ปี ปัจจุบันเป็นนักเขียนบทความให้กับ ISTRONG
Nilubon Sukawanich (Fern) Educational background: Master's degree in Counseling Psychology from Chiang Mai University, Bachelor's degree in Psychology from Chiang Mai University. With 11 years of experience working as a counseling psychologist at a university. Currently working as a content writer for ISTRONG.