top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

กระแสแฟชั่น Y2K กับ 6 เทคนิคการสร้างความเข้มแข็งทางใจในวัยรุ่น



ว่ากันด้วยเรื่องแฟชั่นที่มาแรงในตอนนี้ ต้องยกให้กับกระแส “วัยรุ่น Y2K” ที่จริง ๆ แล้วต้องเรียกว่า เป็นกระแสที่เปรี้ยง ๆ เงียบ ๆ ไป ๆ มา ๆ หลายรอบ แต่ไม่เคยหายไปจากบ้านเราเลย ยิ่งในตอนนี้ที่ภาพยนตร์รักใส ๆ เรื่อง “เธอกับฉันกับฉัน” กำลังเข้าฉาย ก็ได้ปลุกกระแส Y2K ให้กลับมาฮอตฮิตติดชาร์ตอีกครั้ง


และเมื่อพูดถึงกระแส Y2K สิ่งที่เรานึกถึงอย่างเด่นชัด ก็คือ เพลงฮิต และสไตล์การแต่งตัวที่โดดเด่น แสดงถึงความเป็นวัยรุ่น นั่นก็คือ มีความเป็นตัวของตัวเองสูง แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องการการเป็นที่ยอมรับในสังคม เช่น ใส่เสื้อยืดพอดีตัว (พอดีตัวจริง ๆ ค่ะ แบบทาทา ยัง กับพี่มอสใส่ตอนสมัยวัยรุ่น) กับกางเกงทรงลุง หลวม ๆ ไม่ก็สไตล์ไทรอัมพ์ส คิงดอม ที่สาว ๆ ทุกคนแต่งตัวสไตล์โบว์ จ๊อยซ์ คือ สายเดี่ยว เกาะอก กระโปรงสั้น ซึ่งความโดดเด่นอีกอย่างหนึ่งของกระแสแฟชั่น Y2K ก็คือ จะเป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่นมาก ไม่ว่าน้อง ๆ จะเกิดไม่ทัน แต่ก็มีความอิน ประหนึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับผู้ที่เป็นวัยรุ่นใน ค.ศ. 1999 - 2000 เลยทีเดียว


ซึ่งนั้นไม่ใช่เรื่องผิด หรือเรื่องน่าประหลาดใจ เพราะการอินกับแฟชั่น การอยู่ในกระแสสังคม และการทำตัวโดดเด่นของเหล่าวัยรุ่นนั้น เป็นการสร้างความเข้มแข็งทางใจในวัยรุ่นตามทฤษฎีจิตวิทยาพัฒนาการ ที่ว่า วัยรุ่น หรือ Adolescence ที่อยู่ในวัยระหว่าง 12 – 18 ปี จะมีความเป็นตัวของตัวเองมาก และมีความต้องการรับผิดชอบตัวเอง มีความต้องการความรู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง มีการค้นหาตัวตนด้วยวิธีต่าง ๆ ซึ่งผู้ใหญ่ควรดูแลอยู่ห่าง ๆ อย่างห่วง ๆ เพราะถ้าไปดูแลใกล้ชิดเหมือนตอนเป็นเด็ก เขาจะอึดอัด และพยายามแยกตัวออกมา ซึ่งเป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำยากสำหรับพ่อ แม่ ที่ดูแลเขามาตั้งแต่ยังไม่คลอด ดิฉันในฐานะของคุณแม่ จึงขอนำเสนอ 6 เทคนิคจิตวิทยาสร้างความเข้มแข็งทางใจในวัยรุ่น โดยอิงไปกับกระแสที่วัยรุ่นชอบ อย่างเช่น Y2K มาฝากกันค่ะ


1. สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับวัยรุ่น และเพื่อน ๆ

ในช่วงเวลาของการเป็นวัยรุ่น คือ 12 – 18 ปี บุคคลที่สำคัญที่สุดของเขาไม่ใช่พ่อ แม่ หรือผู้ใหญ่อย่างเราค่ะ แต่เป็นแก๊งเพื่อนของเขา และเหล่าไอดอลที่เขาชื่นชม เพราะฉะนั้นการที่เราจะยังคงมีตัวตนอยู่ในช่วงชีวิตวัยรุ่นของเขาได้ เราก็ต้องทันกับกระแสที่เขานิยม ไม่ถึงขนาดต้องร่วมอินไปกับเขา แค่ขอให้รู้จักว่าสิ่งที่เขาพูดถึง สิ่งที่เขาแสดงออก หรือรูปแบบการแต่งตัวของเขานั้นมีที่มาจากอะไร แล้วสัมพันธภาพของเรากับเขาจะยังคงดีอยู่ และถ้าหากเราสามารถสนิทหรือรู้จักกับแก๊งของเขาได้จะยิ่งดีเลยค่ะ เพราะเมื่อเขามีปัญหา เขาก็กล้าที่จะมาปรึกษาเรา ไม่ตัดสินใจทำอะไรเองซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อเขาค่ะ


2. สนับสนุนให้วัยรุ่นแสดงความสามารถ หรือแสดงตัวตนในทางที่เหมาะสม

ปัญหาหนึ่งที่เหล่าวัยรุ่นต้องพบเจอ และฝ่ายพ่อ แม่เองก็มองว่าเป็นปัญหาเช่นเดียวกัน ก็คือ การแสดงออกของวัยรุ่น ซึ่งบางคนมากล้นจนเกินไป เช่น สักเต็มตัว ทำสีผมเจิดจ้าท้ากฎสถานศึกษา หรือแต่งตัวที่พ่อ แม่เห็นแล้วใจหายใจคว่ำ แต่บางคนก็น้อยเกินไป เช่น เก็บตัวเองอยู่ในห้อง ไม่มีเพื่อน ไม่มีสังคม ซึ่งทั้งสองกรณีมีสาเหตุมาจากการที่เขาได้รับการสนับสนุนในการค้นหาตัวตนน้อยเกินไป ดังนั้น หากเราต้องการให้ลูกของเรา หรือวัยรุ่นในครอบครัวมีการแสดงออกที่เหมาะสม เราเองนี่ละค่ะต้องสนับสนุนเขา รู้ว่าเขาชอบอะไรก็ลองพาไปทำ และร่วมทำไปกับเขา เช่น ถ้าลูกอยากมีรอยสักเท่ ๆ แบบนักฟุตบอลที่ลูกชอบ พาไปหาข้อมูลเลยค่ะว่ารอยสักมีความหมายอย่างไร สักที่ไหน ราคาเท่าไร แล้วต้องให้เขาเห็นผลที่ตามมาด้วยว่า อาชีพในบ้านเราหลาย ๆ อาชีพมีเรื่องภาพลักษณ์เป็นสำคัญ อาจทำให้เขาหางานยาก ถ้าเขารับได้ พ่อ แม่รับได้ ก็ลุยเลยค่ะ


3. เสริมความรู้ ความสามารถในทางที่เขาชอบ

การที่วัยรุ่นได้ทำอย่างที่ใจของเขาต้องการ จะช่วยพัฒนาในเรื่อง Self – Efficacy คือ การรับรู้ และเชื่อมั่นความสามารถในตนเอง เชื่อว่าฉันทำได้ เขาจะกล้าแสดงออก กล้าลุย และมีความเข้มแข็งทางใจ ไม่กลัวอุปสรรค แม้จะผิดพลาดบ้าง โดนวิจารณ์ในทางไม่ดีบ้าง แต่ถ้าเราสนับสนุนเขา เชื่อมั่นในตัวเขาและความสามารถที่เขามี มันจะเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ให้เขามีแรงใจในการต่อสู้ชีวิตและความเข้มแข็งทางใจนี้จะตมติดเขาไปจนเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต


4. หาตัวแบบที่ดีให้เขาเห็น

ตามทฤษฎีจิตวิทยาสังคมของ Albert Bandura บอกไว้ว่า ในช่วงวับรุ่น การเรียนรู้ทางสังคมที่มีอิทธิพลมากที่สุด คือการเรียนรู้จากต้นแบบ หรือ role model เนื่องจากเมื่อวัยรุ่นได้เห็นใครก็ตามที่ทำในสิ่งที่เป้นความใฝ่ฝันของเขาได้สำเร็จ เช่น มีชื่อเสียง มีรูปร่างอย่างที่เขาต้องการ มีความสามารถโดดเด่นเป็นที่ยอมรับ วัยรุ่นจะมีการรับรู้ได้ว่า “ฉันก็ทำได้” ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้นแบบที่ดีของวัยรุ่นนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นคนดังระดับโลก หรือเป็นนักแสดงนักร้อง หรือไอดอล เพราะพ่อ แม่ หรือผู้ใหญ่ในบ้านเองก็สามารถเป็นต้นแบบที่ดีให้เขาได้ค่ะ


5. ส่งเสริมให้เขามีประสบการณ์ชีวิตที่ดี

Benjamin Franklin กล่าวไว้ว่า "บอกฉัน ฉันจะลืม สอนฉัน ฉันจะจำ แต่ถ้าให้ฉันได้ทำ ฉันจะเรียนรู้" หมายความว่า หากเราต้องการให้ใครสักคนมีทักษะติดตัวไปจนตลอดชีวิต วิธีให้เขาเรียนรู้ที่ดีที่สุด ก็คือ การให้เขาลงมือทำค่ะ ซึ่งในสมัยนี้ก็มีตัวเลือกในการสร้างเสริมประสบการณ์มากมาย ทั้งการออกแคมป์ การออกค่ายอาสา การท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ การทำงานพาร์ทไทม์ ต่างก็ช่วยให้วัยรุ่นของเรามีประสบการณ์ตรงที่ล้ำค่า สามารถนำมาพัฒนาตัวเขาต่อไปได้


6. เคารพในตัวเขา แล้วเขาจะเคารพตนเอง

ก่อนที่วัยรุ่นจะเกิด Self – Esteem หรือ ความเคารพในตนเองขึ้นมา ผู้ใหญ่ในบ้านต้องให้ความเคารพต่อเขาก่อน เพราะไม่ว่าลูกของเราจะเป็นเด็ก หรือจะเป็นวัยรุ่น หรือจะโตเป็นผู้ใหญ่ เขาก็คือสมาชิกในบ้าน ทุกความคิดเห็น ทุกความรู้สึกของเขาสำคัญและส่งผลต่อ “บ้าน” เสมอ เมื่อคนในบ้านให้พื้นที่เขาได้พูดสิ่งที่เขาคิด ได้แสดงออกตามความรู้สึก และสนับสนุนในตัวตนของเขา เขาจะเห็นคุณค่าในตนเอง เกิดความเข้มแข็งทางใจ เมื่อเขาต้องไปอยู่นอกบ้าน เขาจะสามารถปรับตัวได้เหมาะสม มีความเข้มแข็งพอที่จะสู้กับอุปสรรคที่เขามา และกล้าที่จะแบ่งปันความรู้สึกไม่ดีต่อคนในบ้าน แล้วเขาจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุข


การสร้างความเข้มแข็งทางใจเป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างมากสำหรับวัยรุ่น แม้แต่เรื่องที่ดูไม่น่าจะเกี่ยวกันอย่างเช่นกระแสแฟชั่น Y2K เองก็เป็นเทคนิคจิตวิทยาที่ทำให้วัยรุ่นเกิดความเข้มแข็งทางใจขึ้นมาได้ และบุคคลสำคัญที่สุดที่มีอิทธิพลต่อวัยรุ่นอย่างมาก แม้วัยรุ่นจะไม่แสดงออกมา ก็คือ ผู้ใหญ่ในบ้านของเขาค่ะ โปรดอย่ามองว่าสิ่งที่เขาทำไร้สาระ โปรดอย่ามองว่าสิ่งที่เขาแสดงออกคือความเพ้อฝัน เพราะในวันรุ่นคือคนพัฒนาประเทศ วัยรุ่นจะเป็นเจ้าของบ้าน คุณต้องการอนาคตแบบไหน โปรดมอบอนาคตแบบนั้นให้เขานะคะ


iSTRONG.co ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและครอบครัว


บริการให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง

สามารถเลือกคุยทางโทรศัพท์หรือการพูดคุยแบบส่วนตัว (Private Counseling)

และคอร์สออนไลน์ | Classroom Workshop

รวมถึงบทความจิตวิทยาอีกมากมาย


 

บทความแนะนำ :


อ้างอิง :

[1] คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (4 มีนาคม 2559). การเห็นคุณค่าในตนเอง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2566 จาก https://shorturl.asia/A6dbH

[2] จิดาภา พงษ์ชุบ. (2549). การพัฒนาความเชื่อมั่นในตนเอง สำหรับนักเรียนช่วงชั้นที่ 3 โครงการโรงเรียนสองภาษาโดยใช้กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์. กรุงเทพมหานคร : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร. หน้า 100 -106.

[3] ตนุภัทร โลหะพงศธร และณัฐมน สุนทรมีเสถียร. (4 พฤษภาคม 2564). พลังของ Self-Efficacy หากเชื่อมั่นว่าตัวเองเก่งและมีความสามารถ ย่อมทำสิ่งนั้นได้สำเร็จ. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2566 จาก https://becommon.co/life/heart-self-efficacy/

[4] นงพงา ลิ้มสุวรรณ. (มปป.). พัฒนาการทางจิตใจ. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2566 จาก https://www.rama.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/child/06242014-1920

[5] ปิยนันท์ สวัสดิ์ศฤงฆาร. (25 มิถุนายน 2560). การสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2566 จาก https://drpiyanan.com/2017/06/25/article1-2/


 

ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก คุณแม่ของลูก 1 คน แมว 1 ตัว ที่พยายามใช้ความรู้ทางจิตวิทยาที่ร่ำเรียนมาและประสบการณ์การทำงานด้านจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก มาสร้างความสุขในการใช้ชีวิต ดูแลครอบครัว และการทำงาน รวมถึงมีความสุขกับการได้เห็นว่าบทความจิตวิทยาที่เขียนไปมีประโยชน์ต่อคนอ่าน


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page