6 พฤติกรรมของลูก ที่ต้องรีบพามาพบนักจิตวิทยา

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาดิฉันได้พูดคุยกับคุณแม่ 2 – 3 ท่าน เกี่ยวกับพฤติกรรมของลูกที่น่าเป็นห่วง และปิดท้ายด้วยคำถามที่ว่า “พฤติกรรมของลูกแบบไหนกันนะ ที่ควรพามาพบนักจิตวิทยา?” จึงเป็นที่มาของบทความจิตวิทยาบทความนี้ที่จะมาชี้จุดสังเกตสำคัญว่า พฤติกรรมของลูกแบบไหนกัน ที่ต้องไปพบนักจิตวิทยาโดยด่วนค่ะ
1. เก็บตัวอยู่ในห้อง ไม่ยอมพบคนในครอบครัว
โดยธรรมชาติของเด็กบางคนก็จะมีพฤติกรรมรักสันโดษ คือ ชอบอยู่คนเดียว ชอบทำกิจกรรมที่ทำเพียงลำพัง เช่น อ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง หรือทำงานประดิษฐ์ เงียบ ๆ ของเขาคนเดียว แต่ถ้าคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง สังเกตเห็นว่าเด็กเก็บตัวอยู่ตามลำพังอย่างผิดปกติ ไม่ออกมาทานข้าว ไม่ออกมาทำกิจกรรมกับคนในครอบครัว ไม่พบปะ พูดคุยเช่นปกติ แล้วยิ่งถ้าพฤติกรรมเก็บตัวนี้เกิดกับเด็กที่เคยร่าเริง ชอบสังคมแล้วละก็ ต้องมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นกับเด็ก ๆ แน่ ๆ ค่ะ เพราะฉะนั้นอย่าลังเลที่จะพาเด็ก ๆ มาพบนักจิตวิทยาเลยค่ะ
2. มีอารมณ์เศร้าแบบผิดปกติ
หากคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง สังเกตเห็นว่าลูก หลาน มีอารมณ์เศร้าง่ายแบบผิดปกติ เพียงแค่เรื่องเล็กน้อยก็สะเทือนใจ ร้องไห้ง่ายแบบไม่มีเหตุผล ซึม ไม่เล่น เบื่ออาหาร ไม่ทำกิจกรรมที่เคยชอบ พฤติกรรมของลูกแบบนี้ทิ้งไว้นานไม่ดีแน่ค่ะ ขอให้ลองพาเด็ก ๆ มาพบนักจิตวิทยาดูนะคะ เพราะการมีอารมณ์เศร้าที่ผิดปกติเช่นนี้เป็นสัญญาณบอกว่าเด็ก ๆ กำลังมีความผิดปกติทางใดทางหนึ่งอยู่แน่ ๆ หากมาพบนักจิตวิทยาเร็ว ก็สามารถช่วยเด็ก ๆ ได้เร็วค่ะ
3. อารมณ์แปรปรวนง่าย
สำหรับเด็กในช่วงอายุ 2 – 4 ขวบ การมีอารมณ์เหวี่ยง วีน งอแง เอาแต่ใจ โมโหร้าย ถือว่าเป็นเรื่องปกตินะคะ เพราะเป็นพัฒนาการในวัยของเขา แต่ถ้าลูก หลาน ของคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง มีอารมณ์แปรปรวนง่าย หรือมีอารมณ์ร้ายจนรบกวนการใช้ชีวิต เช่น เด็ก ๆ ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้จนทำร้ายเพื่อนหรือคนในบ้าน คุณพ่อ คุณแม่ ไม่กล้าพาเด็ก ๆ ออกจากบ้านเพราะไม่สามารถคุมอารมณ์ที่แปรปรวนของเด็ก ๆ ได้ หรือคนในบ้านเริ่มมีพฤติกรรมต่อต้านเด็ก ๆ จนทำลายสุขภาพจิตของคนในบ้าน ถ้ามีปัญหาเช่นนี้เกิดขึ้นขอให้พามาพบนักจิตวิทยาโดยด่วนนะคะก่อนที่ปัญหาจะใหญ่โต จนเกินแก้ไข
4. มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง ทำร้ายคน/สัตว์/สิ่งของ
การแกล้งกันขำ ๆ สำหรับเด็ก ๆ สามารถเกิดขึ้นได้เป็นปกติ แต่ถ้าแกล้งกันเลยเถิด จนมีคนได้รับบาดเจ็บ แบบนี้ไม่ดีแน่ค่ะ หรือคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองสังเกตเห็นว่าสัตว์เลี้ยงในบ้าน กลัวเด็ก ๆ แบบผิดปกติ หรือเด็ก ๆ โมโหร้าย ทำลายข้าวของ หรือทำลายของในบ้านเพื่อความสนุก พฤติกรรมของลูกเหล่านี้เป็นสัญญาณที่ไม่ดีเลย ขอให้รีบพามาพบนักจิตวิทยาเพื่อประเมิน พฤติกรรมและสุขภาพจิต รวมถึงวางแผนการรักษาเพื่อปรับพฤติกรรมของเด็ก ๆ ก่อนเกิดปัญหาใหญ่ จะดีกว่าค่ะ
5. มีพฤติกรรมประหลาดไป หรือมีพฤติกรรมทางลบแบบต่อเนื่อง
หากลูก หลาน ซึ่งเคยเป็นเด็กดีของเรา อยู่ ๆ ก็มีพฤติกรรมทางลบ เช่น ขโมยของ พูดโกหก แต่งเรื่อง ฯลฯ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้นอกจากจะทำให้คุณพ่อ คุณแม่ร้อนใจแล้ว ยังอาจทำให้หัวร้อน และเดือดร้อนต้องตามไปแก้ปัญหาให้ถึงที่โรงเรียน หรือที่โรงพักในกรณีที่คู่กรณีไม่ยอมความ ดังนั้นแล้ว เพื่อลดความร้อนของคุณพ่อ คุณแม่ลง ขอให้มาพบนักจิตวิทยาเพื่อหาทางออกของปัญหา อย่างยั่งยืนกันดีกว่าค่ะ
6. อายุเกิน 6 ขวบแล้ว แต่ยังซน อยู่ไม่นิ่ง รอคอยไม่ได้
ข้อบ่งชี้หนึ่งของโรคสมาธิสั้นในเด็ก คือ อายุเกิน 6 ขวบแล้ว แต่ยังมีความซนมาก อยู่ไม่นิ่ง ขาดสมาธิ รอคอยไม่ได้ ควบคุมตัวเองไม่ได้ ใจร้อน พูดไม่หยุด เล่นกับคนอื่นไม่เป็น ดังนั้นแล้ว หากคุณพ่อ คุณแม่พบเห็นพฤติกรรมของลูกดังเช่นที่กล่าวมาเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 เดือน และพฤติกรรมเหล่านั้นทำให้การใช้ชีวิตของเด็ก ๆ มีปัญหา เช่น เข้ากับเพื่อนไม่ได้ ไปโรงเรียนไม่ได้ ออกนอกบ้านไม่ได้ ฉะนั้นแล้ว ขอให้มาพบนักจิตวิทยาเพื่อรักษาอาการให้ทุเลาลง จะสามารถช่วยให้เด็ก ๆ สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติค่ะ
บทความแนะนำ “9 สัญญาณเตือน ควรพบจิตแพทย์ด่วน”
พฤติกรรมหลาย ๆ อย่างของเด็ก ๆ ก็เป็นผลมาจากพัฒนาการตามวัยของเด็ก ๆ แต่สำหรับพฤติกรรมทางลบที่ก่อให้เกิดปัญหา อย่าทิ้งไว้นานเลยค่ะ เพราะส่วนใหญ่แล้วมักจะไม่หายไปเอง และยังทำให้เด็ก ๆ โตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่สร้างปัญหาให้แก่สังคมอีก ดังนั้น หากเด็ก ๆ มีพฤติกรรมเข้าข่าย 6 ข้อ ที่กล่าวมา ขอให้พาไปพบนักจิตวิทยาเพื่อวางแผนการรักษา ให้พฤติกรรมเหล่านั้นหายไปโดยเร็วที่สุดนะคะ
iSTRONG ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและครอบครัว
บริการให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง
สามารถเลือกคุยทางโทรศัพท์หรือการพูดคุยแบบส่วนตัว (Private Counseling)
และคอร์สออนไลน์ | Classroom Workshop รวมถึงบทความจิตวิทยาอีกมากมาย
Contact : https://www.istrong.co/service
ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก
บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัย ด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการ ที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยา ในการปฏิบัติงานมากว่า 6 ปี
Tags: