top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

นักจิตวิทยาแนะนำ 3 วิธีรับมือกับด้านมืดของ Passion อย่าปล่อยให้ Passion ทำร้ายคุณ !


บนโลกนี้มีนักวิทยาศาสตร์ นักธุรกิจ นักกีฬา ผู้เชี่ยวชาญในสาขาอาชีพต่าง ๆ มากมายที่ประสบความสำเร็จ และในจำนวนนั้นมีไม่น้อยที่ต้องแลกมาด้วยความล้มเหลวของชีวิตส่วนตัว ครอบครัวที่แตกแยกไม่มีความสุข สุขภาพกาย สุขภาพจิตที่ย่ำแย่ทรุดโทรม หลายคนกลายเป็นโรคซึมเศร้า ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับผู้คนและสังคมได้ หลายคนใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยว ขาดความสุขทางใจ ทั้งที่ผลงานของพวกเขาสามารถเปลี่ยนแปลงโลกและวิถีชีวิตของผู้คนให้ดีขึ้นได้ ทำไมถึงเป็นแบบนั้น ?


พวกเราต่างรู้กันดีว่าความสำเร็จในสิ่งที่ทำเกิดจากองค์ประกอบหลายอย่าง ความคิดสร้างสรรค์ ความทุ่มเท การลองผิดลองถูกครั้งแล้วครั้งเล่า แต่จุดเริ่มแรกสุดของทุกสิ่งทุกอย่างนั้นอาจเกิดจากการมี Passion หรือความสนใจเป็นพิเศษจนเกิดเป็นแรงบันดาลใจให้คน ๆ นั้นอยากทำ จดจ่อ ครุ่นคิด ลงมือทำแม้จะต้องผ่านอุปสรรคมากมายจนพบกับเป้าหมายความสำเร็จได้ ดูจากตรงนี้ก็เหมือนกับว่าคำว่า Passion นั้นจะมีแต่ความหมายที่ดี ผลักดันให้คนบรรลุเป้าหมายได้ ถ้าอย่างนั้นคนเราควรมี Passion มาก ๆ จะได้มีแรงผลักดันตัวเอง ยิ่งมีมากยิ่งดีใช่หรือไม่ คำตอบคืออาจจะไม่ใช่ทั้งหมด


Passion ก็เหมือนกับทุกสิ่งบนโลกที่มีด้านตรงข้ามในตัวเอง ในบางกรณีการมี Passion ในเรื่องบางเรื่องมากจนเหลือล้นกลายเป็นความลุ่มหลงอาจจะเป็นอันตรายต่อตัวเจ้าของและคนรอบข้างได้หากไม่สามารถควบคุมให้มีความพอเหมาะพอดี เช่น ชื่นชอบจนถึงขั้นลุ่มหลงในการสะสมสิ่งผิดกฎหมาย การพนัน เกมส์การแข่งขัน ลุ่มหลงในการซื้อสินค้าบางชนิดมาเก็บไว้จนเบียดเบียนคุณภาพชีวิตตัวเองและครอบครัว โฟกัสงานประจำหรืองานอดิเรกจนละเลยสุขภาพ ขาดความสนใจในมิติด้านอื่น ๆ ของชีวิตจนเสียสมดุล หรือจดจ่อกับกิจกรรมด้วยความกดดันกลัวความล้มเหลวจนกลายเป็นความเครียดเรื้อรังและบุคลิกเปลี่ยนไป เหล่านี้เองที่เราเรียกว่าเป็น “ด้านมืดของ Passion” หรือ Obsessive Passion


นักจิตวิทยา Robert J. Vallerand เคยกล่าวถึงรูปแบบของ Dualistic Model of Passion ว่า Passion นั้นแบ่งออกเป็นสองประเภทหลัก ๆ คือ

  • Passion แบบหมกมุ่น (Obsessive Passion)

  • Passion แบบสมดุล (Harmonious Passion)

โดย Passion แบบสมดุลนั้นจะเป็นการทุ่มเทความสนใจและการกระทำไปในสิ่งที่เรารู้สึกว่าทำให้ชีวิตของเรามีความหมาย เป็นการกระทำเพื่อสร้างความสุขจากภายในของตัวเราเอง มองที่คุณค่าของสิ่งต่าง ๆ ในระยะยาว ทำให้รู้ว่าจะปรับสมดุลชีวิตอย่างไรให้เป้าหมายหลักที่เป็นองค์ประกอบของ Passion นั้นประสบความสำเร็จ สามารถกำหนดจังหวะตึงหรือผ่อนให้ตัวเองได้ สามารถหันไปบริหารจัดการชีวิตตัวเองในด้านอื่น ๆ นอกเหนือเวลาที่ทำตาม Passion ได้ อันจะส่งผลให้บุคคลนั้นพบกับความสุขความสำเร็จในชีวิต


ส่วนคนที่มี Passion แบบหมกมุ่นนั้นนอกจากจะเป็นกลุ่มคนที่ลุ่มหลงในเรื่องบางเรื่องจนเกินพอดี ไม่สามารถควบคุมความต้องการและการกระทำของตัวเองได้แล้ว ยังมีความหมายรวมถึงคนที่ทุ่มแรงลงไปเพื่อเป้าหมายบางอย่างที่จะทำให้คนรอบข้างพึงพอใจ เช่น ตั้งหน้าตั้งตาเรียนอย่างหนักเพราะถูกกดดันจากครอบครัวให้เรียนตามที่พ่อแม่ต้องการหรือต้องเรียนให้เก่งเหมือนญาติ ๆ หมกมุ่นกับการฝึกซ้อมกีฬาบางชนิดเพื่อให้เป็นที่ยอมรับและสามารถเข้าสังคมกับที่ทำงานได้ หรือต้องเรียนภาษา เรียนดนตรี เรียนทักษะเพิ่มเติมอย่างหนักหน่วงเพื่อให้เป็นที่ชื่นชอบของคนรอบข้าง แม้จะเป็นการทุ่มเทความสนใจและเวลาไปในกิจกรรมคล้ายกับคนที่มี Passion คนอื่น ๆ แต่เป็นการทำไปด้วยความกดดัน ความสำเร็จที่ได้มาจากภายนอกตัวคือการยอมรับจากคนอื่น ๆ ที่เราไม่สามารถควบคุมได้ จึงมีโอกาสสูงที่คน ๆ นั้นจะทำสำเร็จแต่ไม่มีความสุขในสิ่งที่ทำเพราะเป็นการเอาเป้าหมายไปฝากไว้ที่คนอื่น ต้องเห็นคนอื่นยิ้ม ตบมือ พยักหน้า ชมเชย ถึงจะรู้สึกได้ว่าทำได้สำเร็จ และความคาดหวังของคนรอบข้างครั้งต่อ ๆ ไปก็เปลี่ยนไปหรือยกระดับสูงขึ้นได้อย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับทรัพยากรและเวลาที่เราทุ่มเทลงไปทั้งหมด บุคคลที่มี Obsessive Passion จึงมีชีวิตที่หาความสมดุลและมีความสุขทางใจได้ยากกว่า


การสร้าง Harmonious Passion และควบคุม Obsessive Passion ให้ได้จึงเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างความสมดุลในชีวิต คือทำให้สิ่งที่เราทำมีความหมายมีคุณค่าอย่างที่ใจเราต้องการ ขณะเดียวกันก็ต้องลดละเลิกการกดดันตัวเองด้วยการนำความสุขไปฝากไว้ที่คนอื่น แม้ในทางปฏิบัติอาจทำไม่ได้ 100% ในทุกสถานการณ์ แต่หากเราตระหนักรู้ได้บ่อยขึ้นและพยายามควบคุมสมดุลชีวิตให้ได้ ก็จะทำให้คุณภาพชีวิตและความสุขทางใจของเรากลับมา ลดความเครียดและโอกาสเกิดการเจ็บป่วยทางใจลง ต่อไปนี้เป็น 3 คำแนะนำที่อาจช่วยให้ผู้ที่กำลังพยายามปรับสมดุลของ Passion อยู่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นครับ


1. ลดความคาดหวังที่จะได้รับการชื่นชมยอมรับจากผู้อื่นลงบ้าง


จริงอยู่การได้รับการยอมรับชื่นชมเป็นสิ่งที่เราควรได้รับหลังผ่านการพยายามทุ่มเทมาอย่างหนัก แต่เนื่องจากเป็นปัจจัยภายนอกที่เราไม่สามารถควบคุมได้ การนำความสุขของเราไปฝากไว้ที่การยอมรับชื่นชมจากคนอื่นจึงเป็นสิ่งที่ทำให้เราทุกข์ใจได้แม้ว่าจะได้ลงมือทำอย่างเต็มที่แล้ว เพราะหลายครั้งมุมมองความสำเร็จของเรากับของคนอื่นมีความแตกต่างกัน ในกรณีนี้ขอให้เปลี่ยนมายึดมุมมองความสำเร็จในมุมของเราดีกว่า มีความสุขกับการได้ทำในสิ่งที่เราชื่นชอบไม่ว่าจะไปถึงปลายทางหรือไม่ ภูมิใจที่ได้เห็นตัวเองเรียนรู้มีทักษะเพิ่มขึ้นทุกวัน เป็นคนคนเดิมที่ดีขึ้นกว่าตัวเองในเมื่อวานโดยที่ไม่ต้องเปรียบเทียบหรือเป็นไปตามความคาดหวังของใคร การแคร์คนรอบข้างและความหวังของคนรอบข้างน้อยลงคือหนึ่งในการดูแลจิตใจตัวเองที่ดีที่สุดครับ


2. ตระหนักว่า Passion ไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต


มันคือสิ่งที่คุณสนใจทำเป็นพิเศษเท่านั้น คุณยังมีชีวิตด้านอื่น ๆ อีกมากมาย มีเพื่อน มีครอบครัว มีสัตว์เลี้ยง มีงานอดิเรกและกิจกรรมอื่นอีกมากมายที่รอคุณอยู่ การจัดแบ่งเวลาให้กับกิจกรรมอื่นไปด้วยจะทำให้คุณปลดล็อกตัวเองจาก Passion ที่ขังตัวเองไว้ หลายครั้งที่การจ่อมจมหมกมุ่นในสิ่งที่หลงใหลก็ไม่ได้ทำให้เราพบทางออกหรือความสำเร็จ การใช้ชีวิตอย่างสมดุลและมองเห็นโลกภายนอกในบางครั้งก็สามารถหยิบยื่นคำตอบและทางออกให้เราได้ดีกว่า ไม่มีกฎตายตัวใด ๆ



3. เลิกกดดันตัวเองด้วยคำว่า “ความสำเร็จ”


การลงมือทำตาม Passion ไม่ได้แปลว่าคุณจะประสบความสำเร็จ 100% แม้ว่ากิจกรรมเดียวกันหากมีคนสองคนที่มี Passion กับไม่มี Passion ลงมือทำพร้อมกัน คนที่มี Passion มากกว่าอาจจะมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องทำสำเร็จตั้งแต่ครั้งแรกหรือทุกครั้งต้องสำเร็จเสมอไป การนำความคิดตัวเองไปผูกติดว่าฉันต้องสำเร็จเท่านั้นจะกลายเป็นการบีบบังคับกดดันตัวเอง ซึ่งทำให้เกิดสภาวะเครียด วิตกกังวล และยอมรับไม่ได้หากผลลัพธ์ยังไม่เป็นไปตามที่หวัง ไม่ควรวาง Passion ไว้ที่ภาพความสำเร็จปลายทางมากเกินไป แต่ควรวางไว้ที่ความสุขที่ได้ลงมือทำระหว่างทางด้วย แค่ได้ลองทำและเห็นความก้าวหน้าของงานและตัวเองก็สุขใจ


และอีกสิ่งหนึ่งที่อยากสื่อไปยังทุกคนคือ การที่เรายังค้นพบ Passion ของตัวเราเองไม่เจอไม่ใช่เรื่องผิด ไม่มีใครกำหนดว่าคนเราต้องค้นพบ Passion ของตัวเองที่ไหนเมื่อไหร่อย่างไรทั้งสิ้น และไม่มีใครกำหนดว่าคนเราต้องมี Passion กับอะไร ต้องมี Passion กี่อย่างในชีวิต หากยังไม่พบก็คือยังไม่พบ อย่ากดดันตัวเอง การไม่มี Passion ไม่ใช่เรื่องผิดใด ๆ เลย เราสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้ตามปกติของเราแบบมนุษย์คนหนึ่ง ส่วนคนที่ค้นพบก็คือคุณโชคดีที่มันช่วยให้ชีวิตมีสีสัน มีความหมายมากขึ้น และสำหรับผู้ที่มี Passion อยู่แล้วและสามารถควบคุมได้ไม่ให้ลุ่มหลงจนเกินพอดี สามารถบริหารเวลา สร้างสมดุลในชีวิต ก็ขอแสดงความยินดีเพราะมันจะทำให้คุณมีสุขภาพจิตที่ดีและมีโอกาสประสบความสำเร็จในสิ่งที่รักมากขึ้นได้ ขอให้ทุกท่านโชคดีครับ


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

**ท่านที่สนใจสามารถอ่านบทความวิชาการที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมได้ที่

 

ผู้เขียน ธเนศ เหลืองวิริยะแสง

M.Sc. (Industrial and Organizational Psychology), Kasetsart University.

HRD Specialist, วิทยากร และอาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัย


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page