top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

นักจิตวิทยาแนะนำ3 เทคนิคพัฒนาตนเองให้มีทักษะแบบเป็ด ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว


จากคำกลอนของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ที่ว่า “อันความรู้รู้กระจ่างแต่อย่างเดียว แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดคงเกิดผล” อาจจะไม่ได้เป็นจริง 100% แล้วในโลกที่เราต้องมีการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ซึ่งเราจะเห็นได้ชัดจากผลกระทบของ Covid – 19 ที่ทำให้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางหลากหลายแขนง ต้องประสบภาวะว่างงาน เช่น นักบิน เชฟ ไกด์ ศิลปิน นักแสดง แต่กับคนที่มีทักษะแบบเป็ด (Multipotentialite) คือ สามารถทำงานได้หลากหลายสาขา มีความรู้หลายอย่าง ถึงแม้ว่าจะไม่เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็ตาม รวมถึงมีความยืดหยุ่น มีการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ และพร้อมเรียนรู้จะสามารถเอาตัวรอดในสถานการณ์ที่ไม่มีความแน่นอนได้ดีกว่า


จากงานวิจัยทางจิตวิทยา หรือแนวคิดทางจิตวิทยาเอง ก็กล่าวว่า คนที่มีความยืดหยุ่นสูง พร้อมเรียนรู้ และมีความรู้ที่หลากหลาย สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ดีกว่า คนที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน


David Epstein ได้กล่าวในเวที Ted Talk เรื่องความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านไว้อย่างน่าสนใจว่า คนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ส่วนใหญ่จะฝึกความเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องมาตั้งแต่ยังเด็ก ภายใต้กฎที่เรียกว่า “10,000 ชั่วโมง” คือ เรามีความต้องการจะเชี่ยวชาญในด้านไหน ก็ต้องฝึกฝนด้านนั้น ๆ หรือหาความรู้ในด้านนั้น ๆ อย่างน้อย 10,000 ชั่วโมง และแน่นอนว่า ตัวอย่างบุคคลที่สำเร็จภายใต้กฎ 10,000 ชั่วโมง จะประกอบอาชีพนักกีฬา หรือนักหมากรุก เพราะทั้งการเล่นกีฬา และการเล่นเกมที่มีกฎชัดเจนอย่างหมากรุก จะเป็นการเรียนรู้ตามแนวคิดของนักจิตวิทยา ชื่อว่า Robin Hogarth ที่ว่า "สภาพแวดล้อมการเรียนรู้แบบอ่อนโยน" คือ ในการเล่นกีฬา เล่นเกม หรือทำอะไรก็ตามที่มีกฎชัดเจน มีวิธีการ กระบวนการซ้ำ ๆ เดิม ๆ เป็นรูปแบบชัดเจน ก็จะทำให้คุณเชี่ยวชาญในด้านนั้น ๆ ได้ไม่ยาก และความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของคุณก็จะส่งผลดีเลิศในสถานการณ์ที่แน่นอน ไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่กลับกัน หากคุณต้องใช้ชีวิตอยู่ในโลกความจริงที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางจะกลายเป็นอุปสรรคใหญ่ในการพัฒนาตนเองและการปรับตัวเพื่ออยู่บนโลกของคุณ


ด้วยเหตุนี้ ในโลกที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ ผู้เชี่ยวชาญจิตวิทยาจึงแนะนำว่า การพัฒนาตนเองให้มีทักษะแบบเป็ด (Multipotentialite) จะมีประโยชน์ และดีต่อสุขภาพจิตของเรามากกว่าการเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ซึ่งดิฉันได้รวบรวมแนวทางที่ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาแนะนำในการพัฒนาตนเองให้มีทักษะแบบเป็ด (Multipotentialite) ไว้ดังนี้ค่ะ


1. มองโลกในแง่ดี


ทักษะแรกที่ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาแนะนำว่าในการพัฒนาตนเองให้มีทักษะแบบเป็ด (Multipotentialite) ควรจะฝึกเป็นอย่างแรก คือ การมองโลกในแง่ดีค่ะ เพราะการมองโลกในแง่ดีจะช่วยปรับทัศนคติต่อการใช้ชีวิตของเราให้เป็นไปในเชิงบวก คือ มองเห็นโอกาสที่จะ “มีความสุข” อยู่เสมอ เช่น การพัฒนาตนเอง การช่วยเหลือผู้อื่น การแบ่งปันความรู้กับผู้อื่น การเรียนรู้จากสิ่งต่าง ๆ เป็นต้น


ซึ่งการมองโลกในแง่ดีจะช่วยรักษาและเยียวยาจิตใจของเราเมื่อเราต้องพบเจออุปสรรค หรือต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก และในการพัฒนาตนเองให้มีทักษะแบบเป็ด(Multipotentialite) การมองโลกในแง่ดีจะทำให้เรามีกำลังใจอย่างมากในการเป็นเป็ด เพราะเราจะมีภูมิคุ้มกันต่อการถูกกล่าวหาว่า “ไม่เก่ง” และจะสามารถมองเห็นข้อดีของการเป็นเป็ดได้ไม่ยากเลยค่ะ

2. มีการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ


ถึงแม้ว่าการมีทักษะแบบเป็ด (Multipotentialite) จะต้องรู้ลึกถึงระดับผู้เชี่ยวชาญ แต่ต้องรู้ให้เยอะ รู้ให้รอบด้าน รู้ให้หลากหลาย และรู้ให้มากพอที่จะสามารถทำงานตามทักษะนั้น ๆ ให้สำเร็จได้ ซึ่งการที่จะมีทักษะ ความรู้เช่นนี้ได้ ต้องอาศัยการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ เช่น การเข้าคอร์สฝึกอบรมในสิ่งที่ตัวเองสนใจ การลงเรียนออนไลน์ในวิชาที่จำเป็นต่องาน การลงเรียนเพิ่มเติมในความรู้ หรือทักษะที่ไม่ถนัดแต่จำเป็นต้องใช้ ซึ่งในสมัยนี้การเข้าเรียน หรืออบรมในการพัฒนาตนเองทำได้ไม่ยาก และใช้เงินทุนไม่เยอะเลยค่ะ คอร์สเรียนฟรีก็มีมากมาย เพียงต้องอาศัยความขยัน การจัดสรรเวลา และการบริหารชีวิตที่เหมาะสมค่ะ


3. มีความรับผิดชอบในสิ่งที่ทำ


อีกแนวทางหนึ่งที่จะทำให้เราพัฒนาตนเองให้มีทักษะแบบเป็ด (Multipotentialite) และกลายเป็นซุปเปอร์เป็ด ก็คือ การมีความรับผิดชอบค่ะ นั่นก็คือ มีความพยายามทำให้งานที่ตัวเองรับผิดชอบสำเร็จ ถึงแม้ว่าจะยาก หรือมีอุปสรรคก็ตาม โดยการมีความรับผิดชอบจะเป็นคุณสมบัติหนึ่งที่จะให้เรามีความน่าเชื่อถือในสายงาน เป็นเป็ดที่ควรให้เกียรติ และสามารถทำให้เรามีความภาคภูมิใจในความเป็นเป็ดของเรา เพราะถึงแม้ว่าเราจะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่เราก็มีทักษะที่หลากหลายจนสามารถทำงานได้สำเร็จและมีประสิทธิภาพค่ะ



การมีทักษะแบบเป็ด (Multipotentialite) สามารถตอบโจทย์นักศึกษาจบใหม่ที่อาจต้องทำงาน ไม่ตรงสายได้เป็นอย่างดี เพราะถึงแม้ว่าจะมีความรู้มาในสายงานหนึ่ง แต่ถ้าหากเรามีการมองโลกในแง่ดี มีการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ และมีความรับผิดชอบในสิ่งที่ทำ เราก็สามารถใช้ความเป็นเป็ดในการสร้างสรรค์งานให้ออกมาดีเยี่ยมได้ค่ะ ซึ่งหากคุณเลื่อนอ่านประวัติของดิฉัน ก็จะเห็นได้ว่าดิฉันเองก็เป็นเป็ดเช่นเดียวกันค่ะ จบจิตวิทยาคลินิก มาทำงานนักสังคมสงเคราะห์ ที่มีเนื้องานแบบนักวิเคราะห์นโยบายและแผน แถมมีงานพิเศษเป็นเขียนบทความจิตวิทยาอีก เพราะฉะนั้น ใครที่เป็นเป็ด จะไม่เหงาเพราะเราเพื่อนกันค่ะ


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง :

1. David Epstein. February 2020. Why specializing early doesn't always mean career success. [Online]. Form https://www.ted.com

2. นุช สัทธาฉัตรมงคล และ อรรถพล ธรรมไพบูลย์. 2559. ผู้นำการเปลี่ยนแปลงในยุคโลกาภิวัฒน์สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน. วารสาร ธุรกิจปริทัศน์. ปีที่ 8 ฉบับที่ 1 (มกราคม - มิถุนายน 2559). 177.

3. Kasikornthai. ข้อดีของคนเป็น “เป็ด” และวิธีอัปสกิลให้เป็น “เป็ดขั้นเทพ”. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 18 มิถุนายน 2564 จาก https://www.afterklass.com/post/detail/6050

 

ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก

บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัยด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ ที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาในการปฏิบัติงานมากว่า 6 ปี

facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page