top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

5 ทริคจากนักจิตวิทยา สร้างความสุขในชีวิตด้วย Empathy


“ความสุข” คำง่าย ๆ สั้น ๆ ที่ทุกคนอยากที่จะให้เกิดขึ้นในชีวิต แต่การที่เราจะสร้างความสุข หรือทำให้ความสุขยั่งยืนนั้นเป็นเรื่องที่ยากถึงยากมาก ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ทัศนคติในการมองโลกและนิสัยใจคอของแต่ละบุคคล ซึ่งในทางจิตวิทยา “ความสุข” ถือว่าเป็นสุดยอดอารมณ์ทางบวกที่ทุกคนปรารถนา ให้เกิดในชีวิตของตัวเองค่ะ


ทำอย่างไรพวกเราถึงจะมีความสุขในชีวิต?


คำถามข้อนี้มีคนไปหาคำตอบมาให้เราไว้แล้วค่ะ โดยคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้บรรยายไว้ในงานวันเกียรติยศนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 รุ่น 28 โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 เกี่ยวกับการสร้างความสุข ไว้อย่างน่าสนใจ ว่า “สังคมเราเน้นที่ตัวเองมากขึ้น เราเอาตัวเราเองเป็นที่ตั้งความต้องการของเราเป็นที่ตั้ง ความสุขของตัวเราเป็นที่ตั้ง แต่สังคมที่ดีและมีความสุขแบบยั่งยืนนั้น น่าจะเป็นสังคมที่ทุกคนช่วนกันดูแลกันและกัน แบ่งปันความสุขให้กันและกัน” โดยคุณชัชชาติได้อ้างอิงถึงงานวิจัยของ ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ที่พบว่า ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนามีค่านิยมยอดฮิตที่พ่อ แม่ นำไปสอนลูก 3 ข้อ คือ (1) เชื่อฟังผู้ใหญ่ (2) มีระเบียบวินัย และ (3) เรียนหนังสือให้สูง


แต่เมื่อมาพิจารณาในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว พบว่าค่านิยม 3 ข้อที่พ่อ แม่ นิยมสอนลูก ก็คือ (1) เคารพสิทธิสาธารณะ (2) รับฟังคนอื่น และ (3) ช่วยเหลือผู้อื่น นั้นแสดงให้เห็นว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วมีมุมมองว่าการสร้าง “ความสุข” ต้องมาจากความเข้าใจความรู้สึกของคนอื่น หรือการมี Empathy เพราะเมื่อเรามี Empathy จะทำให้เรามีความเห็นอกเห็นใจ หรือ Compassion และความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ หรือ Kindness ซึ่งจะส่งผลให้สังคมน่าอยู่มากขึ้น มีความปลอดภัยในชีวิตมากขึ้น มีอิสระในการใช้ชีวิตมากขึ้น แล้วเราจะมีความสุขมากขึ้นค่ะ


คำถามสำคัญต่อมา ก็คือแล้วจะทำอย่างไรให้เราเกิด Empathy เพื่อทำให้เรามีความสุขในชีวิต? นักจิตวิทยาได้แนะนำเอาไว้ดังนี้ค่ะ


1. สร้าง Self awareness


Self awareness ในทางจิตวิทยา หมายถึง การตระหนักรู้ในตัวเอง โดยรู้ตัวว่าตัวเราเองคิดอะไร รู้สึกอะไร รู้ว่าอะไรที่ทำให้เราเกิดอารมณ์ หรือความรู้สึกนั้น ๆ เมื่อเราเกิดความตระหนักรู้ในตนเอง หรือเท่าทันความคิด อารมณ์ ความรู้สึกในขณะนั้นของเราเอง เราจะสามารถยับยั้งอารมณ์ทางลบได้ทัน และยังสามารถจัดการอารมณ์ทางลบได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ถ้าเราทะเลาะกับเพื่อร่วมงาน ซึ่งยังต้องทำงานด้วยกันต่อไปอีกยาว หากเราไม่มี Self awareness เราก็อาจจะเปิดศึกกับเพื่อนจนแตกหัก ไม่สามารถทำงานด้วยกันได้อีก แต่ถ้าเราตระหนักรู้ในตัวเอง เราก็จะรู้แล้วนะว่าตอนนี้เราโกรธอยู่ เราก็จะสามารถจัดการกับตัวเองได้โดยการพาตัวเองออกจากสถานการณ์นั้นให้ใจเย็นก่อนค่อยมาคุยกันใหม่ เมื่อเราสามารถจัดการกับอารมณ์ได้ เราก็สามารถรักษาสัมพันธภาพกับเพื่อนร่วมงานคนนั้นไว้ได้ ซึ่งจะทำให้เรามีความสุขในชีวิตโดยการไม่สร้างศัตรูนั่นเองค่ะ


2. เรียนรู้ที่จะ “ให้”


นอกจากการตระหนักรู้ในตัวเองแล้ว ก็ยังมีการ “ให้” เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการสร้าง Empathy เพราะ Empathy เป็นความรู้สึกที่เราต้องการจะให้ความช่วยเหลือแก่ผู้อื่น ดังนั้นการรู้จักที่จะให้จึงเป็นการช่วยเหลือเบื้องต้นที่เราสามารถฝึกกันได้ค่ะ ทั้งการให้ในรูปแบบสิ่งของ เงินทอง การบริจาค การให้ในรูปแบบความช่วยเหลือ รวมไปถึงการให้ในรูปแบบของโอกาส ซึ่งการให้จะช่วยทำให้เราเห็นใจ เข้าใจถึงความทุกข์ ความลำบากของคนที่เราต้องการให้ความช่วยเหลือ โดยการให้ถือว่าเป็นประตูที่เปิดพาเราก้าวข้ามความสงสาร หรือความเห็นใจ ไปสู่ความรู้สึกอีกแบบที่เรียกว่า “ความเข้าอกเข้าใจ” ซึ่งความเข้าอกเข้าใจกันนี่เองที่เป็นหัวใจสำคัญของ Empathy ที่จะพาเราไปเจอความสุขที่มาในรูปแบบของความ “อิ่มใจ”


3. คิดถึงคนอื่น


การคิดถึงคนอื่น เป็นแนวคิดที่สำคัญของการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รวมถึงเป็นการผสมผสาน การแสดงออกจาก 2 วิธีข้างต้น คือ การสร้าง Self awareness และการเรียนรู้ที่จะให้ เพราะในการที่เราตระหนักรู้ในตนเองได้ นั่นก็เพราะเราคิดถึงผลกระทบของการกระทำของเราที่มีต่อคนอื่น เช่น ถ้าเราทะเลาะกับคนรัก แล้วเราแสดงความโกรธออกไป คนรักจะต้องเสียใจ และอาจทำให้ความรู้สึกที่เรามีต่อกันไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปก็ได้ จึงทำให้เราระวังที่จะแสดงพฤติกรรมในทางลบ เช่นเดียวกับการให้ ที่เราให้อะไรก็ตามแก่คนอื่น เพราะเราคิดถึงประโยชน์ที่คนอื่นจะได้รับจากเรา เช่น เราให้ของขวัญเพื่อนด้วยความคิดถึงว่าเพื่อนจะมีความสุข เราบริจาคของให้เด็ก ๆ ในบ้านพักเด็กด้วยคิดถึงว่าเด็ก ๆ จะได้มีของที่จำเป็นกิน มีของจำเป็นใช้ ไม่เดือดร้อนนั้นเพราะ “การคิดถึงคนอื่น” ทำให้เราเกิด Empathy และมีความต้องการที่จะลงมือช่วยเหลือ หรือพัฒนาชีวิตของเขาให้ดีขึ้น ซึ่งเมื่อเขาดีขึ้นหรือมีความสุข เราก็จะมีความสุขใจไปด้วยเช่นกันค่ะ


4. ยืดหยุ่น


ความยืดหยุ่น หรือ Flexible เป็นวิธีการปรับใจ หรือมุมมองที่เรามีต่อสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นกลาง โดยไม่มีการตัดสินบุคคล หรือสถานการณ์ แต่เป็นการพิจารณาบุคคล หรือสถานการ์ก่อนปรับตัวเข้าหากัน เช่น เรามีเพื่อนร่วมงานที่มีอาการสมาธิสั้น คือ จดจ่ออะไรได้ไม่นาน ทำงานไม่เรียบร้อย หลุกหลิก ส่งงานช้า เราก็จะไม่ตัดสินว่าเขาไม่มีความรับผิดชอบ หรือขี้เกียจ แต่ให้เราลองปรับจูนกัน โดยการคุยกันว่าตอนนี้งานของเขามีปัญหาอย่างไร แล้วมาหาทางออกร่วมกันว่าจะแก้ไขอย่างไรได้บ้าง หรือเราสามารถช่วยเหลืออะไรเขาได้บ้าง เพื่อให้งานสามารถเดินหน้าต่อไปได้ หรือเราเจอปัญหาน้ำท่วมถนนออกไปทำงานไม่ได้ หากเราตัดสินสถานการณ์ว่า “ชวย” เราก็จะเจอเรื่องซวยทั้งวันเลยค่ะ เพราะไม่ว่าเกิดอะไรขึ้นที่ไม่ถูกใจเราก็จะโทษว่าน้ำท่วมพาซวย แต่ถ้าเราไม่โทษสถานการณ์ แต่หาทางแก้ไข เราก็อาจแจ้งที่ทำงานว่าขอ Work from Home และส่งงานทางไลน์ หรือเมล์แทน เราก็จะทำงานอยู่ที่บ้านอย่างสบายใจมากขึ้นค่ะ

5. เปิดกว้าง


วิธีสร้าง Empathy ข้อสุดท้ายที่นักจิตวิทยาแนะนำ ก็คือ การเปิดกว้างค่ะ ซึ่งการเปิดกว้างเป็นผลพลอยได้มาจาก “ความยืดหยุ่น” เพราะเมื่อเรามีความยืดหยุ่น ปรับใจให้เป็นกลาง และสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ หรือบุคคลรอบข้างได้ เราจะเจอว่า เราได้รับมุมมองใหม่ ๆ จากความยืดหยุ่นของเรา ซึ่งมุมมองที่ได้นั้นสามารถช่วยให้เรามีความสุขมากขึ้นได้ด้วยค่ะ เพราะความยืดหยุ่นทำให้เรา “เปิดกว้าง” เมื่อเราเปิดกว้าง เราจะมองเห็นมุมบวก หรือข้อดีของบุคคลรอบตัวเรา หรือสถานการณ์ที่เราเผชิญอยู่ ทำให้เราเกิด Empathy ต่อตัวเอง ว่าเรามีความรู้สึกนี้ขึ้นมาเพราะอะไร เราเกิดความคิดนี้ขึ้นมาเพราะอะไร รวมถึงเรายังมี Empathy ต่อคนอื่น ๆ ซึ่งจะทำให้เราไปเบียดเบียนเขาน้อยลง ให้ความเกื้อกูล หรือช่วยเหลือกันมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เรามีชีวิตที่สงบ และเป็นสุขมากขึ้นไปด้วยค่ะ



การ Empathy นอกจากจะช่วยทำให้เรามีความสุขดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังสามารถทำให้เราเจริญเติบโตทั้งวุฒิภาวะ และจิตใจ หรือที่เรียกว่า “การงอกงาม” เพราะการมองโลกที่เปลี่ยนไปจากการมี Empathy นั่นเองค่ะ


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ

iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง :

1. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์. 31 มีนาคม 2564. บทบรรยายงานวันเกียรติยศนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 รุ่น 28 โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 2 เมษายน 2564 จาก https://www.facebook.com/chadchartofficial/

2. ธานี ชัยวัฒน์. 3 มิถุนายน 2019. ความดี คนดี และความขี้โกง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 2 เมษายน 2564 จาก https://www.stock2morrow.com/

 

ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก

บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัยด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการ ที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาในการปฏิบัติงานมากว่า 6 ปี

facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page