top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

6 สิ่งที่จะช่วยให้การให้คำปรึกษามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น



คุณเคยไหมคะ...เวลาที่ให้คำปรึกษาไปแล้วมันเกิดการติดขัด ไม่ราบรื่น หรือบางครั้งอาจทำให้ผู้รับการปรึกษารู้สึกแย่ไปกว่าเดิม หรือในทางกลับกัน คุณไปปรึกษาใครบางคนแล้วเขาแนะนำให้คุณทำบางสิ่งบางอย่างจนทำให้รู้สึกว่าเขาเข้าใจคุณจริง ๆ ไหมนะ ปรากฏการณ์เหล่านี้มักเกิดจากการที่ผู้ให้คำปรึกษารู้เทคนิคและทฤษฎีแต่ขาดส่วนเสริมที่จะเข้ามาเติมเต็มให้เทคนิคการให้คำปรึกษามีประสิทธิภาพมากขึ้นก็คือการดูแลตัวเอง (Self-care)


ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยที่มีชื่อว่า “Dear Mental Health Practitioners, Take Care of Yourselves: a Literature Review on Self-Care” โดย Kirsten Posluns และ Terry Lynn Gall ได้ระบุว่า ความเครียด ภาวะหมดไฟ เป็นสิ่งที่พบได้บ่อยในคนทำงานด้านสุขภาพจิต ซึ่งสภาวะเหล่านี้ล้วนแต่ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานถูกบั่นทอนลง การดูแลตัวเอง (Self-care) จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับคนที่ทำงานด้านสุขภาพจิต เพราะการดูแลตัวเองจะนำไปสู่การเป็นคนที่มีสุขภาวะที่ดี โดยการดูแลตัวเองนี้มีความหมายครอบคลุมทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ดังนี้


1. ฝึกการตระหนักรู้ (Awareness)

คนทำงานด้านสุขภาพจิตหรือผู้ให้คำปรึกษาควรฝึกให้ตัวเองเป็นคนที่มีการตระหนักรู้ โดยเฉพาะการตระหนักรู้ว่าตนเองกำลังอยู่ในสภาวะใด เช่น กำลังอยู่ในช่วงหมดไฟ กำลังมีความเครียดเกิดขึ้น หรือมีความเข้าใจว่าตนเองมีความต้องการอะไรบ้าง การทำ Self-reflection เพื่อสะท้อนตัวเองทั้งภายในและภายนอกจะช่วยให้มีการตระหนักรู้ที่เพิ่มมากขึ้น โดยเริ่มจากการสังเกตตัวเองในช่วงเวลาที่ผ่านมาแล้วลองถามตัวเองว่าอะไรที่ทำให้ตัวเองเกิดสภาวะแบบนั้น ซึ่งอาจจะใช้วิธีจดบันทึกหรือวิธีอะไรก็ได้ที่จะช่วยทำให้ตนเองเกิดการสำรวจทบทวนและเห็นภาพของตัวเองทั้งภายนอกและภายในชัดเจนขึ้น


2. รักษาสมดุลของชีวิต (Balance)

ในบางครั้งอาการเครียด เหนื่อยล้า หรือหมดไฟ ก็สามารถเกิดขึ้นได้จากการที่ผู้ให้คำปรึกษาไม่ได้รักษาสมดุลของชีวิต โดยอาจจะไม่ได้กำหนดขอบเขตในการทำงานของตัวเอง หลงลืมไปว่าชีวิตนั้นมีมากมายหลายด้านทำให้ทุ่มเทโฟกัสไปกับการทำงานจนละเลยชีวิตส่วนอื่นไป การพักผ่อนหรือการทำงานอดิเรกที่ไม่เกี่ยวข้องกับการให้คำปรึกษาหรือการช่วยเหลือคนอื่นซึ่งเป็นการดูแลตัวเองแบบหนึ่งจึงเป็นสิ่งสำคัญที่คนทำงานด้านสุขภาพจิตหรือผู้ให้คำปรึกษาควรจัดเวลาและหาโอกาสให้กับตัวเองอยู่เสมอ


3. ความยืดหยุ่น (Flexibility)

คนทำงานด้านสุขภาพจิตหรือผู้ให้คำปรึกษามักจะต้องเผชิญกับความท้าทายมากมายหลายอย่างจากการทำงาน หลายสิ่งก็เป็นอะไรที่คาดเดาไม่ได้เลย เช่น ไม่รู้ว่าผู้รับคำปรึกษาจะมาด้วยปัญหาแบบไหน มีโจทย์อะไรในชีวิต และเขาคาดหวังจะได้รับอะไรจากการปรึกษาในแต่ละครั้ง และแน่นอนว่าผลลัพธ์ที่ออกมามันอาจจะไม่สมบูรณ์แบบไปตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ ความยืดหยุ่นจะช่วยให้ปรับตัวต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปมาได้มากขึ้น และช่วยให้ไม่ยึดติดกับความสมบูรณ์แบบ เพราะการเติบโตบางอย่างนั้นจะเกิดขึ้นผ่านความล้มเหลว


หากไม่มีความยืดหยุ่นก็อาจจะทำให้จมไปกับรู้สึกล้มเหลว ซึ่งการเติบโตบางอย่างจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเคยผ่านความล้มเหลวหรือเหตุการณ์ตึงเครียด หากมัวยึดติดอยู่กับเป้าหมายหรือความสมบูรณ์แบบก็จะมีแต่บั่นทอนกำลังใจตัวเองเมื่อต้องเจอกับสถานการณ์ที่ไม่เป็นไปดั่งใจ และอาจทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงไปได้ การฝึกตัวเองให้มีความยืดหยุ่นจึงนับว่าเป็นการดูแลตัวเองด้วยเหมือนกัน


4. ดูแลสุขภาพร่างกาย (Physical health)

44% ของคนทำงานด้านสุขภาพจิตต้องเผชิญกับอาการนอนไม่หลับ ความเครียดที่เกิดขึ้นจากการพักผ่อนไม่เพียงพอหรือการหลับที่ไม่มีคุณภาพ การอดนอนจะนำไปสู่ระดับความเครียดที่เพิ่มขึ้น เสี่ยงต่อการเกิดภาวะหมดไฟ อาการเหนื่อยล้าอ่อนแรง อารมณ์แปรปรวน ปวดคอ ปวดหลัง ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการดังกล่าว คนทำงานด้านสุขภาพจิตหรือผู้ให้คำปรึกษาจึงควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ พยายามจัดเวลาในการเข้านอนให้ตรงกันในแต่ละวัน หมั่นสังเกตคุณภาพและพฤติกรรมการนอนของตนเองว่ามีอะไรที่ผิดปกติไปหรือไม่


รวมไปถึงจัดเวลาให้ตัวเองได้มีโอกาสในการออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน เพราะหากร่างกายเจ็บป่วยไม่แข็งแรงก็จะส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง การดูแลสุขภาพร่างกายจึงเป็นการดูแลตัวเองที่สำคัญไม่แพ้การดูแลตัวเองด้านจิตใจ


5. เข้าหาการสนับสนุนทางสังคม (Social Support)

ในการทำงานด้านสุขภาพจิตหรือการเป็นผู้ให้คำปรึกษานั้นมีความจริงอย่างหนึ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้คือ คุณจะไม่สามารถทำงานอยู่อย่างโดดเดี่ยวได้ เพราะไม่ว่าคุณจะเก่งในทางเทคนิคทฤษฎีมากเพียงใด ในบางครั้งคุณก็จำเป็นที่จะต้องพูดคุยกับเพื่อนร่วมวิชาชีพเพื่อเปิดมุมมองใหม่ ๆ ให้มุมมองของตัวเองมีความหลากหลายมากขึ้น การได้พูดคุยแลกเปลี่ยนหรือได้รับการ “supervision” อยู่เป็นประจำจะช่วยขยายมุมมองออกไป


ซึ่งนั่นหมายถึงคุณจะมีวิธีในการช่วยเหลือดูแลผู้รับการปรึกษาได้มากขึ้นตามไปด้วย นอกจากนั้น การเข้าหาการสนับสนุนทางสังคมไม่ว่าจะในรูปแบบของการสนทนาอย่างไม่เป็นทางการหรือการทำ supervision จะช่วยลดความรู้สึกตึงเครียดจากการทำงานลงได้ ลดความรู้สึกโดดเดี่ยวต้องแบกรับอยู่ตามลำพัง การเข้าหาการสนับสนุนทางสังคมจึงถือเป็นการดูแลตัวเองที่สำคัญมากทีเดียว


6. พัฒนาด้านจิตวิญญาณ (Spirituality)

การพัฒนาด้านจิตวิญญาณที่เริ่มเป็นที่นิยมเพราะหลายคนมองเห็นความสำคัญของมันก็คือ “Mindfulness” ซึ่งในคำแปลตรงตัวตามภาษาไทยอาจจะแปลว่า “การฝึกสติ” แต่ mindfulness โดยแท้จริงนั้นมีความหมายถึงการตระหนักรู้อย่างเต็มเปี่ยมต่อสภาวะที่เกิดขึ้นในปัจจุบันขณะ เป็นการมองปัจจุบันอย่างที่มันเป็นอย่างไม่ตัดสินและทำในขณะที่จิตใจสงบ ซึ่งจากการศึกษาพบว่าการฝึก mindfulness จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะหมดไฟของคนทำงานด้านสุขภาพจิตหรือผู้ให้คำปรึกษาลงได้


แม้ว่าเทคนิคการให้คำปรึกษา เช่น การฟัง การสะท้อน การสรุป ฯลฯ จะมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง แต่หากปราศจากส่วนเสริมดังกล่าวแล้ว การให้คำปรึกษาก็อาจจะยังมีประสิทธิภาพที่ไม่ดีนัก เพราะในการให้คำปรึกษานั้น เครื่องมือที่สำคัญที่สุดก็คือตัวของผู้ให้คำปรึกษาเอง การดูแลตัวเองจึงมีความสำคัญมาก เพราะหากผู้ให้คำปรึกษาเองยังขาดการดูแลตัวเอง มันก็คงจะยากที่จะไปดูแลคนอื่นให้มีสุขภาวะที่ดี


และหากคุณต้องการพัฒนาตนเอง ให้กลายเป็นที่ปรึกษาที่เข้าอกเข้าใจตนเองและผู้คนมากขึ้น เพื่อปรับใช้ในการทำงาน ครอบครัว และในชีวิตประจำวัน คุณสามารถสมัครเรียน "หลักสูตรนักให้คำปรึกษากับนักจิตวิทยา" จาก iSTRONG ได้ที่นี่

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS

.

สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง

[1] Dear Mental Health Practitioners, Take Care of Yourselves: a Literature Review on Self-Care. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7223989/


บทความที่เกี่ยวข้อง

 

ประวัติผู้เขียน

นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) นักจิตวิทยาการปรึกษาประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และเป็นนักเขียนของ ISTRONG


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page