top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

7 วิธีเยียวยาตัวเองเมื่อเกิดภาวะหมดแรงจากความสงสาร (Compassion fatigue)


แน่นอนว่าความเห็นอกเห็นใจหรือการที่เราได้รับรู้เรื่องราวความทุกข์ใจของคนอื่นแล้วเรารู้สึกสงสารนั้นเป็นสิ่งที่ดี เพราะมันคือสิ่งที่แสดงว่าเรายังมีหัวใจของความเป็นมนุษย์อยู่ แต่ในบางครั้ง คนเราก็สามารถได้รับผลกระทบทางใจจากการได้รับรู้บาดแผลของผู้อื่นแม้ว่าจะไม่ได้ประสบเหตุสะเทือนขวัญนั้นโดยตรงได้ด้วยเหมือนกัน โดยปรากฏการณ์นี้เรียกว่าบาดแผลจากความเห็นอกเห็นใจหรือภาวะหมดแรงจากความสงสาร (Compassion fatigue) ซึ่งในเรื่องนี้ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง บาดแผลทางใจและเวชปฏิบัติทางจิตเวชศาสตร์ ได้ยกตัวอย่างของตนเองไว้ในหนังสือดังกล่าวว่า “เมื่อผู้เขียนได้ประสบเหตุกราดยิงที่จังหวัดนครราชสีมา ผู้ประสบเหตุเล่าว่าบุคลากรทางสาธารณสุขที่เข้าไปช่วยเหลือทางจิตใจในระยะแรกซึ่งทำงานหนักมาก บางท่านร้องไห้ไปกับเรื่องราวของผู้ประสบเหตุมากกว่าตัวผู้ประสบเหตุเองเสียอีก”


เหตุการณ์สะเทือนขวัญบางอย่าง เช่น เหตุกราดยิง การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ฯลฯ สามารถถ่ายทอดผลกระทบบาดแผลทางใจให้กับชุมชนหรือผู้ที่ได้รับรู้เรื่องราวได้เป็นวงกว้างได้อย่างไม่น่าเชื่อ การดูแลสภาพจิตใจหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญจึงไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การดูแลสภาพจิตใจของผู้ประสบเหตุโดยตรง แต่ผู้ที่ได้รับรู้เรื่องราวเสมือนเป็นพยานรับรู้ในเหตุการณ์ก็จำเป็นต้องดูแลสภาพจิตใจให้ฟื้นคืนจากภาวะหมดแรงจากความสงสารด้วยเช่นกัน โดยวิธีที่แนะนำมีดังต่อไปนี้


1. อย่าลืมว่า self-care ไม่ใช่ selfish

การเห็นอกเห็นใจคนอื่นเป็นสิ่งที่ดีและควรทำ แต่หากคุณเริ่มจะกลายเป็นคนที่รู้สึกผิดที่จะกินอิ่มนอนอุ่นในวันที่มีข่าวร้าย คุณรู้สึกผิดที่จะลงรูปตัวเองไปเที่ยวคาเฟ่ในวันที่ฟีดเต็มไปด้วยเรื่องราวของเหตุการณ์สะเทือนขวัญ คุณอาจจะต้องกลับมาทบทวนมุมมองของตนเองแม้มันจะแอบขัดกับความรู้สึกตัวเอง เพื่อเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ว่าการที่เราดูแลตัวเองให้กินอิ่มนอนอุ่นนั้นมันคือ self-care ไม่ใช่ selfish และมันก็ไม่ได้หมายความว่าเราเป็นคนที่เห็นแก่ตัวหากจะใช้เวลาไปกับการดูแลการกิน การนอน การออกกำลังกาย การทำงานอดิเรก ในวันที่คุณเกิดภาวะหมดแรงจากความสงสาร


2. ดูแลใส่ใจกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นมา

ในช่วงที่มีเหตุการณ์สะเทือนขวัญเกิดขึ้น มันเป็นธรรมดาที่ทุกคนจะอยู่ในภาวะโศกเศร้า หากคุณเองก็เป็นคนหนึ่งที่เกิดความรู้สึกหดหู่ขึ้นมาในช่วงที่เหตุการณ์สะเทือนขวัญเพิ่งเกิดขึ้น ก็ขอให้คุณให้เวลากับตัวเองเพื่อทำการดูแลใส่ใจอารมณ์ต่าง ๆ ของตนเองที่เกิดขึ้นโดยไม่ละเลยมัน


3. หมั่นสังเกตสัญญาณความผิดปกติ

คอยสังเกตว่าตัวคุณเองหรือคนใกล้ชิดมีสัญญาณความผิดปกติที่มาเตือนว่ากำลังประสบปัญหาทางด้านอารมณ์จิตใจ เช่น กินไม่ได้นอนไม่หลับ ห่วงกังวลความปลอดภัยของลูกหลานมากจนคอยตามติดไม่ห่าง มีการแสดงอารมณ์ที่เข้มข้นมากขึ้น วิตกกังวลอย่างมาก หวาดผวาว่าจะเกิดอันตรายกับตัวเองหรือคนใกล้ชิด รวมไปถึงการโพสต์ข้อความใน social media ที่แสดงถึงสภาวะทางอารมณ์ที่น่าเป็นห่วง หากสังเกตพบสัญญาณเหล่านี้ คุณควรหาทางแก้ไขโดยด่วน เช่น หาทางพูดคุยระบายกับคนที่ไว้ใจได้ ไปพบจิตแพทย์ เป็นต้น


4. ลดการเห็นหรือการรับรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่เพิ่งเกิดขึ้น

การรับรู้เรื่องราวหรือการได้เห็นภาพอันน่าสะเทือนใจเกี่ยวกับเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่เกิดขึ้น สามารถทำให้เกิดบาดแผลทางใจ อาการ PTSD และภาวะหมดแรงจากความสงสารขึ้นมาได้ แม้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเหตุการณ์ที่ควรรับรู้และแสดงความเสียใจ แต่การรับรู้เรื่องราวและการได้เห็นภาพอันน่าสะเทือนใจอย่างต่อเนื่องก็อาจส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของคุณได้ ดังนั้น คุณควรจำกัดเวลาในการดูข่าวหรือพยายามที่จะไม่ดูภาพที่กระตุ้นเร้าอารมณ์ความรู้สึก รวมถึงไม่แชร์ภาพดังกล่าวต่อ เพราะมันอาจเป็นการส่งต่อบาดแผลทางใจให้กับคนอื่น และที่สำคัญคือมันผิดกฎหมาย


5. ติดต่อกับคนในครอบครัวหรือเพื่อนอยู่เสมอ

การติดต่อกับคนในครอบครัวหรือเพื่อนอยู่เสมอ จะช่วยให้คุณมีคนคอยให้กำลังใจ มี emotional support ที่ช่วยดึงอารมณ์ของคุณขึ้นมาจากความรู้สึกหดหู่เศร้าโศก และพาคุณออกจากช่วงเวลาอันเลวร้ายนี้ไปได้


6. โฟกัสกับสิ่งที่คุณมี

พยายามฝึกให้ตัวเองโฟกัสกับสิ่งที่มี เช่น มีคนที่คอยอยู่เคียงข้าง มีสิ่งที่ช่วยทำให้คุณรู้สึกว่าชีวิตมีความหมายคุณค่า หากคุณรู้สึกแย่จากเหตุการณ์ที่ได้รับรู้มา คุณอาจลองทำบางสิ่งบางอย่างโดยนำเอาศักยภาพของคุณขึ้นมาใช้ เช่น ให้กำลังใจผู้ประสบเหตุ ทำสมาธิภาวนาส่งใจให้กับผู้ที่สูญเสีย เป็นต้น เพื่อฟื้นฟูตัวเองจากภาวะหมดแรงจากความสงสาร


7. ขอความช่วยเหลือจากคนอื่น

การขอความช่วยเหลือจากคนอื่นมีความสำคัญมาก เพราะบางครั้งคุณอาจอยู่ในภาวะหมดแรงจากความสงสารจนไม่เหลือพลังชีวิตมาขับเคลื่อนตัวเองให้อยู่ในสภาวะกระปรี้กระเปร่า ซึ่งนอกจากคนใกล้ชิดแล้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต เช่น จิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักจิตบำบัด และนักให้คำปรึกษา ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่คุณสามารถขอความช่วยเหลือได้หากต้องการ


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

อ้างอิง

[1] COPING IN THE AFTERMATH OF A SHOOTING. Retrieved from. https://www.counseling.org/knowledge-center/coping-in-the-aftermath-of-a-shooting

[2] Are you experiencing compassion fatigue?. Retrieved from. https://www.apa.org/topics/covid-19/compassion-fatigue

[3] นวนันท์ ปิยะวัฒน์กูล (2565). บาดแผลทางใจและเวชปฏิบัติทางจิตเวชศาสตร์. ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น


บทความที่เกี่ยวข้อง

[1] 8 วิธีเยียวยาผู้ป่วย PTSD ผู้ตกเป็นเหยื่อเหตุการณ์ความรุนแรงตามคำแนะนำของนักจิตวิทยา. https://www.istrong.co/single-post/_ptsd

[2] ครอบครัวพากันเดินทางไกลเพื่อเยียวยาความเศร้าจากการสูญเสีย. https://www.istrong.co/single-post/walking-grief-healing

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

ประวัติผู้เขียน

นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) ปริญญาโทสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา (คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็น นักจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (พ.ศ. 2555 – ปัจจุบัน)

และเป็นนักเขียนของ iSTRONG


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page