8 สิ่งที่คุณจะได้เรียนรู้จากการเป็นนักให้คำปรึกษา
แม้ว่าการเป็นนักให้คำปรึกษาจะดูเหมือนเป็นอาชีพของการเป็นผู้ให้ แต่ในความจริงแล้ว นักให้คำปรึกษาก็ได้รับอะไรมากมายอยู่เหมือนกัน ในบทความนี้ผู้เขียนจะขอแชร์ประสบการณ์จากการทำงานเป็นนักให้คำปรึกษาว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาผู้เขียนได้เรียนรู้และได้รับประสบการณ์ทางใจอะไรบ้าง ดังนี้ค่ะ
1. Privacy สำคัญมาก
ในการจะเป็นนักให้คำปรึกษามืออาชีพนั้น สิ่งแรกที่ต้องคำนึงคือการรักษาความเป็นส่วนตัวให้กับผู้รับการปรึกษา ไม่มีใครชอบที่จะถูกเอาไปเม้าท์ต่อ หรือเอาเรื่องราวส่วนตัวของเขาไปเล่าให้ใครต่อใครฟัง ดังนั้น จงให้เกียรติทั้งผู้รับการปรึกษาและทั้งตัวนักให้คำปรึกษาเองด้วยการรักษา privacy หรือความเป็นส่วนตัว/ความลับของผู้รับการปรึกษา
2. อย่า 'เผลอ' ไปดูถูกใคร
บางทีเราอาจจะไม่ตั้งใจ แต่ใจเราอาจจะแอบตัดสินคนอื่นไปแล้วว่า เขารู้น้อยกว่าเรา เขาไม่เก่งอย่างเรา เขามีประสบการณ์น้อยกว่าเรา หรือเขาอายุน้อยกว่าเรา จงเคารพทุกคนว่าทุกคนมีความรู้และประสบการณ์ในแบบฉบับของตัวเอง แทนที่จะไปบอกว่าคนอื่นยังทำอะไรได้ไม่ดี เขาตรงไหนแย่ หรือเขาตรงไหนด้อย ก็ชวนให้เขาค้นหาดีกว่าว่าเขามีดีอะไร แล้วพากันดึงสิ่งนั้นออกมาใช้ให้ชีวิตมันดีขึ้น
3. ผู้รับการปรึกษาคือเจ้าของชีวิตที่แท้จริง
ไม่ว่าจะเป็นปัญหา ผลกระทบจากการเลือก ประสบการณ์เฉพาะตน หรือใด ๆ ก็ตาม ผู้รับการปรึกษาคือเจ้าของชีวิตของเขาเองทั้งหมด นักให้คำปรึกษาไม่ควรใช้มุมมอง ประสบการณ์ หรือความเชื่อของตัวเองไปสวมให้เขาโดยเด็ดขาด เพราะต่อให้เรามีชั่วโมงบินสูงแค่ไหน เราก็ไม่มีวันที่จะดีพอที่จะไปกะเกณฑ์ชีวิตใครว่าเขาต้องทำแบบนั้นแบบนี้
เราทำได้มากที่สุดคือชวนเขามองหลายๆ มุม ชวนกันทบทวน สำรวจ ไตร่ตรอง ว่าอะไรมันควรจะเป็นสิ่งที่น่าเลือกที่สุดสำหรับเค้าในตอนนี้ และถ้าเขาจะเลือกทางที่เราเห็นต่างก็ต้องเคารพในการตัดสินใจของเขา เพราะเขาคือเจ้าของชีวิต
4. งานนี้ไม่ใช่งาน hero
ในมุมมองของเราอาจจะดูน่าผิดหวังสำหรับผู้อ่าน แต่เราคิดว่างานนักให้คำปรึกษาไม่ใช่งาน hero ที่จะมาพลิกชีวิตใคร แม้ว่าการที่จะฟื้นตัวจากสภาพจิตใจที่ย่ำแย่จากปัญหาหรือแม้แต่โรคจิตเวชนั้น ส่วนหนึ่งจะมาจากผู้รักษาก็จริง แต่ส่วนหลักมันก็มาจากตัวผู้รับการปรึกษาเองด้วย การจะดีขึ้นมันต้องอาศัยความร่วมมือกันมาก ๆ
ถ้าผู้รับการปรึกษาไม่ร่วมมือ เราก็ไม่สามารถจะทำอะไรไปได้มากกว่านั้น ดังนั้น ขอให้อย่าเจ็บปวดเวลาที่เราไม่สามารถช่วยบางคนได้ แม้ว่าบางเคสเราจะล้มเหลวหรือไม่สามารถช่วยเหลือเขาได้ แต่ก็เป็นความล้มเหลวที่ผ่านการทำจนสุดแล้วในส่วนของเรา
5. เราไม่ได้ดีไปกว่าใคร
อันนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากหลวงปู่ชา ท่านบอกว่า "อย่าเป็นคนดีไปถึงขั้นนั้นเลย เพราะถ้าเป็นแล้ว ก็จะรำคาญคนอื่นไปหมด" คือถ้าเราตั้งตนเป็นคนทรงศีลทรงธรรม จิตใจดีงาม เราจะสูญเสียความสามารถในการเข้าใจคนที่ผิดพลาดหรือทำพฤติกรรมที่ไม่ดี ซึ่งมันจะทำให้เราทำงานยากขึ้น
ถ้ามีผู้รับการปรึกษาคนไหนที่เรารู้สึกไม่ไหวกับเขาจริง ๆ เราเกิด bias ขึ้นอย่างหนักหนาสาหัส ก็ควรส่งต่อ (refer) ให้คนอื่นมาให้การปรึกษาเขาแทนเรา ดีกว่าที่เราจะให้การปรึกษาไปแบบแย่ ๆ ซึ่งเราเองก็ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าเราพูดหรือแสดงอะไรออกไป แต่ว่าเขาก็เจ็บปวดไปแล้วจากคำพูดหรือการกระทำของเรา
6. สิ่งที่เราต้องมีให้มากพอๆ กับเทคนิคและทักษะ counseling คือ self-awareness
หมั่นรู้ตัว หมั่นสำรวจ ถ้าเราคุยกับใครแล้วมันมีบางอย่างแปลก ๆ โผล่มาในใจ เมื่อใดที่เรามีเวลาแล้ว เราก็ควรที่จะเอาประสบการณ์ของเราที่เกิดขึ้นในระหว่างให้การปรึกษามาทำ reflection เพื่อสำรวจตนเองว่าทำไมเราถึงรู้สึกแบบนั้น มันมาเชื่อมอะไรกับส่วนของเรา หรือมันเป็น “countertransference” รึเปล่า
7. คนเดียวหัวหาย
นักให้คำปรึกษาจะต้องมีกัลยาณมิตรที่หลากหลาย เพื่อจะได้มีคนที่เข้ามาช่วยสะท้อน ให้ความเห็น ตักเตือน ปลอบโยน ซึ่งควรจะเป็นความสัมพันธ์ในลักษณะ give & take คือต่างฝ่ายต่างเกื้อกูลกัน พยายามเก็บ feedback ทุกอย่างที่ได้รับมา และเอามาปรับใช้เพื่อพัฒนาตนเอง หรืออาจจะแอบลอกเลียนแบบเทคนิคของผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการให้คำปรึกษาเชิงจิตวิทยา
ไม่ว่าจะเป็นนักให้คำปรึกษาด้วยกันเอง จิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือนักจิตบำบัดที่เป็นไอดอลของเราก็ได้ ซึ่งไอดอลของเราหลาย ๆ คนก็เป็นคนรุ่นหลังที่อายุน้อยกว่าเราด้วยซ้ำ เพราะเราพบว่าผู้เชี่ยวชาญในด้านการให้คำปรึกษาเชิงจิตวิทยาที่อายุน้อยบางคนมีความคิดอ่านดีมาก ดังนั้น ฟังไว้ไม่เสียหลาย
8. ความรู้สึกประสบความสำเร็จและความภาคภูมิใจ
เป้าหมายของการให้คำปรึกษาก็คือเพื่อช่วยเหลือคนที่ประสบกับความทุกข์ทางใจให้สามารถมีพลังใจเพิ่มขึ้น สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุขมากขึ้น ดังนั้น เมื่อนักให้คำปรึกษาได้มีประสบการณ์ในการได้เห็นใครสักคนสามารถฟื้นฟูสภาพจิตใจขึ้นมาจากคนที่ขาดแรงจูงใจในการดำเนินชีวิต พลังชีวิตหดหายจนแทบจะลุกไปทำกิจวัตรประจำวันไม่ไหว ค่อย ๆ มีพลังใจเพิ่มขึ้น อาการทางลบต่าง ๆ ค่อย ๆ ลดลงตามลำดับ
มันก็แอบทำให้นักให้คำปรึกษาเกิดความรู้สึกว่า “เราทำได้” ซึ่งก็คือการมี self-efficacy และself-esteemเพิ่มมากขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ต้องระมัดระวังด้วยนะคะ เพราะหากเราไม่ระมัดระวัง เราก็อาจจะเผลอใช้การให้คำปรึกษาเป็นตัวเติมอาหารใจให้ตนเองเมื่อไหร่ มันก็จะขัดกับวัตถุประสงค์ของการให้คำปรึกษาที่เป็นไปเพื่อช่วยเหลือผู้รับการปรึกษา ส่วนความสำเร็จและความภาคภูมิใจนั้นมันเป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้นเอง
หากคุณต้องการพัฒนาทักษะด้านจิตวิทยา เพื่อปรับใช้ในการทำงาน ครอบครัว ความสัมพันธ์และในชีวิตประจำวัน สามารถดูคอร์สเรียนจาก iSTRONG ได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความที่เกี่ยวข้อง
ประวัติผู้เขียน
นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) ปริญญาโทสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา (คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็น นักจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (พ.ศ. 2555 – ปัจจุบัน)
และเป็นนักเขียนของ iSTRONG
Comments