top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

เสพข่าวที่เป็นลบมากเกินไปอาจกระทบต่อสภาพจิตใจจนเกิดความเครียดได้


หากคุณเป็นคนหนึ่งที่คอยอัพเดทข่าวสารเป็นประจำทุกวัน ไม่ว่าจะด้วยเพราะต้องการทันต่อเหตุการณ์ กลัวคุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง หรือเล่นโซเชียลแล้วมันเด้งขึ้นมาเองโดยที่ไม่ได้ตั้งใจอยากจะเห็นข่าวนั้นก็ตาม คุณก็จะได้เห็นความเป็นไปของโลกใบนี้ โดยเฉพาะในประเทศไทยของเราที่มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมายตั้งแต่อุบัติเหตุบนท้องถนน สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ราคาสินค้าค่าครองชีพที่สูงขึ้น ข่าวอาชญากรรมรอบโลก หรือข่าวดราม่าที่สร้างกระแสความเกลียดชัง ซึ่งข่าวที่เราถูกป้อนให้เห็นจากโลกออนไลน์ก็มักจะเป็นข่าวที่เป็นลบมากกว่าข่าวดี ดังนั้น ในยุคสมัยที่ทุกคนสามารถเข้าถึงข่าวสารได้อย่างง่ายดายมากขึ้น โอกาสที่จะเกิดความเครียดก็จะยิ่งมีมากขึ้นตามไปด้วย


หลายคนอาจยังไม่รู้ว่ามนุษย์เรานั้นสามารถเกิดความเครียดและมีบาดแผลทางใจได้แม้ว่าจะไม่ได้เผชิญกับเหตุการณ์เลวร้ายด้วยตนเอง ซึ่งสิ่งนี้เรียกว่า “vicarious traumatization” หรือบางแหล่งก็เรียกว่า “secondary trauma” หมายถึง บาดแผลทางใจจากการที่ได้ไปร่วมรับรู้เรื่องราวอันเจ็บปวดบอบช้ำของคนอื่นบ่อย ๆ มักจะเกิดขึ้นกับบุคลากรด่านหน้า เช่น แพทย์ พยาบาล หน่วยฉุกเฉิน นักจิตบำบัด และยังรวมไปถึงคนที่เสพข่าวเข้าไปเป็นจำนวนมากจนทำให้กลายเป็นเหมือนพยานรู้เห็นเหตุการณ์ทั้งหมด รวมไปถึงได้รับรู้ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้เสียหายแม้ว่าจะไม่เคยรู้จักกันเป็นส่วนตัวก็ตาม นอกจากนั้น หากข่าวที่เสพมีเนื้อหาเรื่องราวที่คล้ายคลึงกับประสบการณ์อันเจ็บปวดของตนเอง ข่าวดังกล่าวก็อาจจะกลายเป็นตัวที่ไปเปิดแผลเก่าขึ้นมาได้ ทำให้บาดแผลทางใจที่เคยจางลงไปบ้างแล้วกลับรู้สึกขึ้นมาอีกครั้ง


จะรู้ได้อย่างไรว่าตนเองเริ่มมีความเครียดจากการเสพข่าวที่เป็นลบมากเกินไป?

  • เริ่มรู้สึกเหนื่อยล้าทางอารมณ์

  • มีความวิตกกังวลและหดหู่ซึมเศร้า

  • รู้สึกสิ้นหวัง

  • เริ่มมองตัวเองในทางไม่ดี ตำหนิตัวเอง

  • มีปัญหาเกี่ยวกับการรับประทานอาหารและการนอนหลับ


ซึ่งหากคุณประเมินตนเองแล้วพบว่ามีอาการดังกล่าว สิ่งแรก ๆ ที่คุณสามารถทำได้ด้วยตนเองโดยทันทีมีดังนี้


1. จัดเวลาในการทำสิ่งต่าง ๆ สำหรับตนเอง

คุณควรจัดเวลาให้ตนเองได้มีโอกาสทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่หลากหลาย เพื่อไม่ได้ตนเองใช้เวลาไปกับโลกของข่าวสารมากเกินไป ทั้งนี้ ข้อมูลของ Computers in Human Behavior ที่ตีพิมพ์ในปี 2021 ได้ระบุว่า การเสพข่าวมากจนเกินไปนั้นมีความสัมพันธ์กับการเป็นโรคซึมเศร้ารวมไปถึงการเกิด secondary trauma ของผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองอู่ฮั่นในช่วงที่สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เกิดขึ้นอย่างหนัก


2. อย่าลืมฟังเสียงร่างกายตัวเองบ้าง

บ่อยครั้งที่คนเราไม่รู้ตัวว่ากำลังมีความเครียด เพราะอาจจะไม่ทันสังเกตว่าช่วงนี้มีเรื่องเครียดอะไรบ้าง หรือหมดเวลาไปกับการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ จนไม่ได้ดูแลจิตใจตนเองเลย แต่แม้จิตใจจะไม่ได้บอกตรง ๆ ว่ากำลังมีความเครียดเกิดขึ้นแล้ว แต่ร่างกายจะคอยช่วยส่งสัญญาณเตือนอยู่เสมอ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ เหงื่อออกมากผิดปกติ ฯลฯ ถ้าหากร่างกายส่งสัญญาณมาแล้ว ก็หมายความว่าคุณควรเริ่มต้นหันมาดูแลตนเองได้แล้ว


3. ให้อารมณ์ระบายออกมาผ่านพฤติกรรมที่สร้างสรรค์

นอกจากคนส่วนใหญ่จะไม่รู้ตัวว่าตนเองกำลังมีความเครียดแล้ว ยังอาจไม่รู้ด้วยว่าตนเองกำลังมีความรู้สึกนึกคิดอย่างไร จึงทำให้กลายเป็นความหงุดหงิดแบบไม่มีเหตุผล ดังนั้น คุณควรหมั่นสังเกตตัวเองว่าคุณกำลังมีอารมณ์อะไรเกิดขึ้นอยู่ เช่น โกรธ เบื่อหน่าย รำคาญ ไม่พอใจ จากนั้นก็หาช่องทางให้อารมณ์ต่าง ๆ เหล่านั้นได้มีพื้นที่ระบายออกมาผ่านพฤติกรรมที่สร้างสรรค์ เช่น เขียนออกมาในลักษณะของไดอารี เป็นต้น


4. ในกรณีที่บุตรหลานของคุณเกิดความเครียดจากการเสพข่าว

  • หมั่นสังเกตพฤติกรรมการเสพข่าวของบุตรหลานให้อยู่ในสายตา

  • ชวนให้บุตรหลานใช้โซเชียลมีเดียเป็นเวลา โดยคุณเองก็ต้องเป็นตัวอย่างให้แก่บุตรหลานด้วยเช่นกัน

  • สร้างสัมพันธ์ที่ดีกับบุตรหลาน เป็นผู้ฟังที่ดีและหมั่นพูดคุยกับบุตรหลานเกี่ยวกับข่าวที่เขากำลังสนใจ

5. ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ

หากคุณมีอาการต่าง ๆ ตามด้านล่างนี้ และพบว่าอาการที่เกิดขึ้นมีผลกระทบต่อสภาพจิตใจและการใช้ชีวิตประจำวันของคุณ โปรดอย่าละเลยและไม่ควรนิ่งนอนใจ แต่ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

  • การรับประทานอาหารเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยรับประทานมากขึ้นหรือน้อยลง

  • พลังงานหรือปริมาณกิจกรรมที่ทำในแต่ละวันเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

  • มีอาการปวดศีรษะ ปวดท้อง ปวดเมื่อย หรือมีผื่นขึ้นตามร่างกาย

  • รู้สึกโมโห เศร้า กลัว กังวล ไม่สบายใจ หรือไม่มีความรู้สึกยินดียินร้าย

  • มีปัญหาในการตั้งสมาธิ หรือการตัดสินใจแย่ลง

  • มีปัญหาในการนอนหลับ หรือฝันร้าย

  • มีความต้องการดื่มสุรา สูบบุหรี่ หรือใช้สารเสพติดมากขึ้นกว่าเดิม

  • ป่วยเรื้อรัง หรือป่วยบ่อยขึ้น


การเสพข่าวนั้นอาจช่วยให้คุณไม่ตกข่าวและมีความรู้เพิ่มเติมขึ้นมาได้ แต่ในขณะเดียวกันก็อย่าลืมเลือกประเภทของข่าวสารที่คุณจะเสพ รวมไปถึงจัดแบ่งเวลาในการเสพข่าวสารและการใช้โซเชียลมีเดียอย่างพอดี เพื่อที่จะได้ห่างไกลจากความเครียด และลดโอกาสการเกิดบาดแผลทางใจแบบ “vicarious traumatization” หรือ “secondary trauma” ที่อาจกระทบต่อสภาพจิตใจจนเกิดความเครียดได้

สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง



บทความที่เกี่ยวข้อง

 

ประวัติผู้เขียน

นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) ปริญญาโทสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา (คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็น นักจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (พ.ศ. 2555 – ปัจจุบัน)

และเป็นนักเขียนของ istrong


Commenti


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page