top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

3 วิธี ก้าวข้ามความรู้สึก “ดีไม่พอ” สำหรับคน Gen Z



Generation Z ถือเป็นกลุ่มคนที่กำลังมีบทบาทมากที่สุดของยุคนี้เลยก็ว่าได้ โดยคน Gen Z หมายถึงคนที่เกิดตั้งแต่ปี ค.ศ. 1996 เป็นต้นไป ซึ่งคนกลุ่มนี้ในปัจจุบันก็คือกลุ่มวัยรุ่นไปจนถึงวัยที่เริ่มต้นการทำงานนั่นเอง การเลี้ยงลูก Gen Z อาจจะมีความยากลำบากสำหรับพ่อแม่ไปสักหน่อย เนื่องจากพวกเขาเติบโตขึ้นมาท่ามกลางความเป็นดิจิทัลอย่างเต็มที่ ดังนั้น หากพ่อแม่ขาดความเข้าใจธรรมชาติของลูก Gen Z ก็อาจจะทำให้เกิดความขัดแย้งหรือไม่รู้ว่าจะช่วยเหลือลูกได้อย่างไรเวลาที่ลูกประสบปัญหาชีวิต


Gen Z กับสุขภาพจิต

จากข้อมูลของสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (American Psychological Association's (APA)) พบว่า Gen Z เป็นกลุ่มคนที่เข้ามาใช้บริการสุขภาพจิตมากกว่ากลุ่มคนรุ่นที่ผ่านมาอย่าง Millennials (ผู้ที่เกิดในช่วงปี ค.ศ. 1981 – 1996) เนื่องจากพวกเขามีมุมมองที่เปิดกว้างในเรื่องของปัญหาสุขภาพจิตมากกว่า โดยส่วนหนึ่งอาจจะมาจากการที่มี Influencer ในโลกออนไลน์หลายคนที่ออกมาเปิดเผยว่าตนเองกำลังเข้ารับบริการสุขภาพจิตอยู่ จึงทำให้คน Gen Z มีแบบอย่างในการเปิดกว้างต่อปัญหาสุขภาพจิตตามไปด้วย รวมไปถึงยังมีข้อมูลจากการสำรวจที่พบว่า 18% ของคน Gen Z เคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรควิตกกังวล และ 23% ของคน Gen Z ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าวก็อาจตีความได้ทั้งในแง่ที่ว่าคน Gen Z เป็นโรควิตกกังวลหรือโรคซึมเศร้ากันเยอะจริง ๆ หรือในแง่ที่ว่าเพราะคน Gen Z มีการตัดสินใจไปรับบริการสุขภาพจิตมากกว่าคน Gen อื่น ๆ ก็เลยทำให้รู้สึกว่าส่วนมากแล้วคนที่เป็นโรควิตกกังวลหรือโรคซึมเศร้ามักจะเป็นคน Gen Z ก็ได้ นอกจากนั้น การที่คน Gen Z มีทัศนคติที่ดีต่อการรับบริการสุขภาพจิตรวมไปถึงหลายคนก็มีประสบการณ์ในการเข้ารับบริการจิตบำบัด ทำให้คน Gen Z ค่อนข้างจะมีความรู้เกี่ยวกับสุขภาพจิตเป็นอย่างดี โดยบางคนอาจจะบอกแนวโน้มได้เลยว่าใครน่าจะมีปัญหาสุขภาพจิตและควรได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ


Gen Z กับชีวิตออนไลน์

ชีวิตของคน Gen Z ส่วนใหญ่มักอยู่ในโลกออนไลน์ ซึ่งก็คงจะสังเกตได้ไม่ยากเพราะว่าคน Gen Z มักจะติดหนึบอยู่กับอุปกรณ์เชื่อมต่อทางเทคโนโลยีอยู่เสมอ โดยจากการสำรวจพบว่าคน Gen Z จำนวน 74% บอกว่าตัวเองจะใช้เวลาว่างไปกับโลกออนไลน์ และ 25% บอกว่าตัวเองจะใช้เวลามากกว่า 5 ชั่วโมงในการใช้โทรศัพท์มือถือเข้าแอปพลิเคชันต่าง ๆ ซึ่งนั่นหมายความว่าพวกเขาจะมีเวลาน้อยมากในการที่จะได้มีปฏิสัมพันธ์แบบ face-to-face กับคนอื่น ๆ และก็หมายความว่าพวกเขามีแนวโน้มที่จะมีทักษะทางสังคมเวลาที่ต้องพบปะกับคนจริง ๆ น้อยลงไปด้วย


Gen Z กับความรู้สึก “ดีไม่พอ” “ทำไมถึงยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าคนอื่น”

ลักษณะเด่นของคน Gen Z ก็คือ คน Gen Z มักจะเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นโดยเฉพาะคนที่ประสบความสำเร็จมากกว่า เก่งกว่า ซึ่งลักษณะนี้อาจเป็นผลมาจากอิทธิพลของสื่อออนไลน์ที่มีผู้คนจำนวนมากสื่อสารชีวิตด้านดีของตัวเองออกมาสู่สาธารณะ ทำให้คน Gen Z ที่เติบโตขึ้นมาพร้อมกับโลกออนไลน์มีความรู้สึกหวั่นไหวเกี่ยวกับ “Self” ของตัวเองมากกว่าคนยุค Analog ที่ไม่ได้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารตลอดเวลา คน Gen Z จึงค่อนข้างรู้สึก “พัง” ง่าย จากการคิดว่าตัวเองดีไม่พอ หรือมีคำถามต่อตัวเองว่าทำไมถึงยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าคนอื่น


3 วิธี ก้าวข้ามความรู้สึก “ดีไม่พอ”


1. เลือกเส้นทางชีวิตด้วยตนเอง

ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ทุกคนย่อมมีศักยภาพในการเลือกเส้นทางชีวิตของตนเอง คุณไม่จำเป็นที่จะต้องเดินทางเส้นทางของคนอื่นที่ประสบความสำเร็จไปก่อนแล้ว ในทางกลับกัน คุณ “ดีพอ” เสมอ แม้ว่าคุณจะเลือกเส้นทางที่แตกต่างและมีความสุขในแบบฉบับของคุณเอง แต่ก่อนอื่นคุณจะต้องเชื่ออย่างลึกซึ้งให้ได้ว่า “คุณดีพอ” แม้ว่าคุณจะไม่สมบูรณ์แบบเหมือนใคร ๆ แต่คุณก็ดีพอ มองหาความสามารถ ศักยภาพ หรือจุดแข็งของตัวเองให้เจอ แล้วโฟกัสกับสิ่งที่คุณมีแทนที่จะมองหาแต่สิ่งที่คุณขาด


2. ทบทวนหรือจดบันทึกสิ่งที่คุณทำได้ดีในแต่ละวัน

ในแต่ละวันทุกคนย่อมมีทั้งสิ่งที่ทำพลาดและสิ่งที่ทำได้ แน่นอนว่าไม่มีใครที่สมบูรณ์แบบไร้ที่ติบนโลกใบนี้ หากคุณมัวแต่จมอยู่กับความผิดพลาดหรือข้อบกพร่องของตัวเองก็จะทำให้คุณไม่ทันได้สังเกตว่าตัวคุณเองมีดีอะไร นอกจากนั้น มันจะยิ่งทำให้คุณรู้สึกผิดหวังหรือไม่ชอบตัวเองมากขึ้นไปอีก ทั้งที่คุณเองก็มีสิ่งที่สามารถทำได้และทำได้ดีด้วย การทบทวนหรือจดบันทึกสิ่งที่คุณทำได้ดีในแต่ละวันจะช่วยให้คุณเห็นมันอย่างชัดเจนมากขึ้น รวมถึงคุณยังสามารถกลับมาเปิดดูในวันที่คุณรู้สึกแย่กับตัวเองอีกด้วย


3. นิยามคำว่า “Perfect” ซะใหม่

หากคุณมักจะรู้สึกว่าตัวเองล้มเหลว ก่อนที่จะกล่าวโทษตัวเองว่าทำไมถึงยังดีไม่พอ ขอให้คุณลองทบทวนคำว่าดีพอใหม่อีกครั้ง เพราะหากคำว่าดีพอหมายถึงต้อง Perfect และคำว่า Perfect หมายถึงต้องไม่มีผิดพลาดเลย มันก็จะเท่ากับคุณตั้งความคาดหวังเอาไว้ให้ตัวเองไปถึงสิ่งที่มันเป็นไปไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น หากคุณยังเป็นนักเรียนแล้วคุณตั้งเป้าหมายว่าเทอมนี้คุณจะต้องได้ A เป็นส่วนใหญ่แต่ผลปรากฏออกมาว่าคุณได้ B และ C ไปหลายวิชา ซึ่งคุณรู้สึกผิดหวังกับตัวเองมากจนตัดสินตัวเองว่าคุณไม่สมควรที่จะเรียนที่นี่อีกต่อไปแล้ว คุณทำให้พ่อแม่ผิดหวัง ซึ่งการคิดในลักษณะนี้เป็นการคิดที่จะนำไปสู่อารมณ์ทางลบ เช่น เศร้า หดหู่ รู้สึกผิด เครียด ฯลฯ ดังนั้น อยากชวนให้คุณทบทวนและตั้งนิยามของคำว่า “Perfect” ซะใหม่ และพยายามตั้งเป้าหมายในสิ่งที่เป็นไปได้ เพื่อสร้างความรู้สึกว่าตัวเองทำได้ (Self-efficacy) และความภาคภูมิใจในตนเอง (Self-esteem) เพื่อเอาชนะความรู้สึกว่าตัวเองยังดีไม่พอ

สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

อ้างอิง

[1] Gen Z Understands First-Hand the Importance of Mental Health and It Will Make Them Great Parents. Retrieved from. https://www.parents.com/parenting/better-parenting/gen-z-understands-first-hand-the-importance-of-mental-health-and-it-will-make-them-great-parents/


[2] สำรวจสุขภาพจิตของมนุษย์ Gen Z | ปรับก่อนป่วย | คนสู้โรค. Retrieved from. https://www.youtube.com/watch?v=HdEQbeUQX0I


[3] 'I Am (Not) Good Enough': Three Ways to Battle This Feeling. Retrieved from. https://www.psychologytoday.com/us/blog/now-is-everything/201002/i-am-not-good-enough-three-ways-battle-feeling



บทความที่เกี่ยวข้อง


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

ประวัติผู้เขียน

นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) ปริญญาโทสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา (คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็น นักจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (พ.ศ. 2555 – ปัจจุบัน)

และเป็นนักเขียนของ iSTRONG


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page