หึงหวงรุนแรงเกินไป อาจเข้าข่ายมีอาการของ Othello Syndrome
Othello Syndrome มีที่มาจากชื่อของตัวละครหลักของ William Shakespeare เรื่อง Othello, Moor of Venice ซึ่งตัวละครที่ชื่อ Othello ได้เกิดความรู้สึกหึงหวงหวาดระแวงว่าคนรักของตนจะแอบเป็นชู้กับชายอื่น จึงได้ทำการสังหารคนรักของตนเองและฆ่าตัวตายตามไป ทำให้เกิดการเรียกชื่อพฤติกรรมของบุคคลไม่ว่าหญิงหรือชายที่มีอารมณ์พฤติกรรมหึงหวงหวาดระแวงว่าคนรักจะนอกใจว่า Othello Syndrome
Othello Syndrome ในบางครั้งก็ถูกเรียกว่า Delusional Jealousy, Erotic Jealousy Syndrome, Morbid Jealousy, Othello Psychosis หรือ Sexual Jealousy ซึ่งหมายถึงการที่บุคคลมีจินตนาการขึ้นมาว่าคนรักของตนเองกำลังแอบนอกใจไปมีคนอื่น โดยเชื่อจินตนาการของตนเองอย่างหนักแน่นมากว่ามันคือความจริง ทำให้เกิดพฤติกรรมหึงหวงซึ่งในบางรายก็มีพฤติกรรมแบบหึงโหดถึงขั้นมีการลงไม้ลงมือกับคนรักหรือทำการฆาตกรรมเพราะความหึงหวง
อาการของบุคคลที่เข้าข่ายเป็น Othello Syndrome
มักชอบกล่าวหาว่าคนรักนอกใจไม่ซื่อสัตย์กับตน เมื่อเห็นคนรักทำดีกับคนอื่นก็จะคิดระแวงขึ้นมาทันที
รุกล้ำความเป็นส่วนตัว แอบสะกดรอยตาม (Stalking) ตรวจเช็คโทรศัพท์ว่าคนรักติดต่อกับใครบ้าง
มีพฤติกรรมหึงหวงรุนแรงและชัดเจน เช่น ไม่ยอมให้คนรักมีเพื่อนต่างเพศเลย
ขาดความสามารถในการควบคุมตนเอง เช่น คิดอะไรขึ้นมาก็พูดหรือทำออกมาเลย
พยายามหาหลักฐานมาพิสูจน์ว่าคนรักนอกใจ และแม้ว่าจะไม่เจอหลักฐานก็ยังคงเชื่อต่อไปว่าคนรักนอกใจ
ชอบจับผิดหาเรื่องคนรักบ่อย ๆ
ชอบพูดจารุนแรงทำร้ายจิตใจ หรือมีการลงมือทำร้ายร่างกายคนรัก
มีจินตนาการว่าคนรักนอกใจตนจึงพยายามแก้แค้นด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ทำร้ายตนเอง วางแผนที่จะฆ่าคนรัก
สาเหตุของอาการ Othello Syndrome
ในปัจจุบันยังไม่สามารถระบุได้ว่าอะไรคือสาเหตุที่แน่ชัดของอาการ Othello Syndrome อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญได้มีการสันนิษฐานเกี่ยวกับสาเหตุของอาการ ดังนี้
การมีบาดแผลทางใจในวัยเด็ก (Childhood Trauma) โดยอาจจะมีวัยเด็กที่ต้องอาศัยอยู่กับผู้เลี้ยงดูที่มีลักษณะเป็นคนเอาแน่เอานอนไม่ได้ ไม่มีความมั่นคงทางอารมณ์ เคยเห็นพ่อหรือแม่ของตนเองถูกนอกใจจนเกิดมีปากเสียงหรือทำให้ครอบครัวแตกแยกกัน เคยถูกผู้เลี้ยงดูทำร้ายทารุณ (Childhood Abuse) ทำให้เกิดความฝังใจและหวาดกลัวว่าตนเองจะต้องเผชิญกับคนรักที่ไม่มีความแน่นอนหรือมีพฤติกรรมนอกใจ
มีรูปแบบความผูกพันทางอารมณ์กับผู้เลี้ยงดูในวัยเด็กแบบไม่มั่นคง (Insecure Attachment Patterns)โดยอธิบายได้จากทฤษฎีความผู้พันทางอารมณ์ (Attachment Theory) [สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากบทความ 4 รูปแบบความผูกพันที่บ่งบอกว่าความสัมพันธ์คุณจะไปได้ดีแค่ไหน ซึ่งเป็นบทความที่อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างรูปแบบความผูกพันกับผู้เลี้ยงดูในวัยเด็กกับรูปแบบความสัมพันธ์กับคนรักเมื่อบุคคลเติบโตขึ้น]
มีความภาคภูมิใจในตนเองน้อย (Low Self-esteem)
มีความมั่นใจในตนเองน้อย (Low Self-confidence)
มีการใช้สารเสพติดมากจนเกินไป ส่งผลให้การทำงานของสมองผิดปกติ
มีอาการเจ็บป่วยทางจิตเวชอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น โรคจิตเภท โรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบก้ำกึ่ง
การรักษาอาการ Othello Syndrome
Othello Syndrome ไม่ได้เป็นชื่อโรคที่มีระบุไว้ในคู่มือการวินิจฉัยโรคทางจิตเวช (DSM-5) อย่างไรก็ตาม อาการหึงหวงมากจนเกิดความหวาดระแวงว่าคนรักจะนอกใจทั้งที่ไม่ได้เป็นความจริงนั้น มีความคล้ายคลึงกับอาการหลงผิด (Delusional) ซึ่งเป็นอาการหนึ่งของโรคจิต (Psychosis) โดยผู้ที่มีอาการมักไม่อยู่ในโลกความเป็นจริง และไม่ยอมเปลี่ยนแปลงความคิดของตนเองแม้จะมีหลักฐานมาแย้งก็ตาม
อาการ Othello Syndrome อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ โดยบุคคลที่มีอาการหลงผิดหวาดระแวงและเกิดจินตนาการขึ้นมาอย่างรุนแรงว่าคนรักกำลังนอกใจตน อาจมีการทำร้ายตนเองหรือผู้อื่นได้ ซึ่งในการรักษาจำเป็นที่จะต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต เช่น จิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักจิตบำบัด เข้ามาให้ความช่วยเหลือ ดังนี้
รักษาด้วยยา จิตแพทย์จะทำการวินิจฉัยอาการและสั่งจ่ายยาให้แก่ผู้ป่วย เพื่อลดอาการหลงผิดหวาดระแวงลง รวมถึงให้การรักษาอื่น ๆ ตามดุลพินิจของจิตแพทย์
รักษาด้านจิตสังคม การบำบัดด้านจิตสังคมเป็นส่วนสำคัญของการรักษา เพราะแม้ว่าผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นบ้างแล้ว แต่ปัญหาทางด้านสังคมอาจยังคงอยู่ จึงจำเป็นที่จะต้องให้การรักษาด้านจิตสังคมควบคู่กันไป ได้แก่
จิตบำบัด (Psychotherapy) เช่น ช่วยให้ผู้ป่วยตั้งเป้าหมายตามที่เป็นจริงและนำทักษะใหม่ ๆ ที่ได้รับจากการทำจิตบำบัดไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ ให้ความช่วยเหลือแบบประคับประคอง ช่วยผู้ป่วยค้นหาว่าความเครียดหรือความกดดันอะไรที่เขามักทนไม่ได้ เป็นต้น
การให้คำแนะนำแก่ครอบครัว (Psychoeducation หรือ Family Counseling) เป็นการให้คำแนะนำแก่ญาติหรือสมาชิกในครอบครัวของผู้ป่วยเกี่ยวกับอาการ ให้ความรู้เรื่องโรค สิ่งที่ญาติควรปฏิบัติต่อผู้ป่วย สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงเพราะจะเป็นการเพิ่มความเครียดหรือความกดดันแก่ผู้ป่วย เป็นต้น
กลุ่มบำบัด (Group Therapy) เป็นการจัดกิจกรรมแบบกลุ่มเพื่อส่งเสริมให้ผู้ป่วยรู้สึกว่ามีเพื่อน มีคนเข้าใจ ไม่โดดเดี่ยว มีการช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาและให้คำแนะนำต่อกัน ฝึกทักษะทางสังคม เน้นการสนับสนุนให้กำลังใจ
อย่างไรก็ตาม การรักษาอาการ Othello Syndrome นั้นขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของความหึงหวง หากคุณหรือคนใกล้ชิดมีลักษณะขี้หึงแต่ได้มีพฤติกรรมรุนแรงต่อตนเองและผู้อื่นไม่รุนแรง ก็อาจไม่ถึงขั้นมีอาการหลงผิดแบบ Psychosis แต่อาจเกิดจากความเครียดหรือความกดดันอื่น ๆ รวมไปถึงเหตุการณ์ในชีวิตที่อาจกระตุ้นเร้าให้มีพฤติกรรมหึงหวง ทั้งนี้ แม้ว่าจะไม่ได้มีอาการหลงผิดหวาดระแวงเกิดขึ้น แต่หากความรู้สึกหึงหวงที่เกิดนั้นเริ่มกระทบต่ออารมณ์ ความคิด และความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ก็สามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตได้เช่นกัน
หากคุณและคู่ของคุณรู้สึกว่าความสัมพันธ์ของคุณกำลังประสบปัญหาหรือต้องการความช่วยเหลือ การเข้ารับคำปรึกษาสำหรับคู่รัก (Couple counseling) อาจเป็นทางเลือกที่ดีในการพัฒนาและเสริมสร้างความสัมพันธ์ของคุณให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ด้วยการช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ คุณและคู่ของคุณจะได้รับเครื่องมือ คำแนะนำ และกลยุทธ์ที่เป็นประโยชน์ในการเพิ่มพูนความเข้าใจ ทักษะการสื่อสาร และความแน่นแฟ้นในความสัมพันธ์ เพื่อจับมือก้าวข้ามอุปสรรคต่าง ๆ ไปด้วยกัน และมุ่งสู่ความสัมพันธ์ในฝันที่มั่นคงและยั่งยืน
ตัวช่วยเรื่องความสัมพันธ์จาก iSTRONG
• รายละเอียด Couple counseling : https://bit.ly/3xGGAdc • ทำแบบประเมิน สุขภาพความสัมพันธ์คุณและคนรัก : https://bit.ly/4b059jy
• บทความฟรี !! เรื่องความสัมพันธ์ ความรัก : https://bit.ly/3xEmQqm
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
ประวัติผู้เขียน
นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) ปริญญาโทสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา (คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็น นักจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (พ.ศ. 2555 – ปัจจุบัน)
และเป็นนักเขียนของ iSTRONG
อ้างอิง
[1] 14 ความผิดปกติทางจิตและร่างกายตั้งชื่อตามตัวละครในโลกวรรณกรรม. Retrieved from. https://www.praphansarn.com/home/content/1585
[2] Medical Definition of Othello syndrome. Retrieved from. https://www.medicinenet.com/othello_syndrome/definition.htm
[3] Othello Syndrome – Pathological Jealousy. Retrieved from. https://copecentre.org/othello-syndrome-pathological-jealousy/
[4] What is Othello Syndrome? | Causes, Disorder & Analysis. Retrieved from. https://study.com/learn/lesson/othello-syndrome-causes-disorder-analysis.html
[5] จิตเวชศาสตร์ รามาธิบดี
Comments