top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

กระแส "เพลงชุดโกโกวา" กับ 6 เทคนิคจิตวิทยาการจำฉบับเร่งด่วน



“มาแล้วลูกจ๋า ชุดโกโกวาที่หนูอยากได้ โกโกวาที่หนูอยากใส่ โกโกวาคิมิซึนิดา” เชื่อแน่ว่าในช่วงนี้หลายท่านคงได้ยินเพลง “ชุดโกโกวา” ดังอยู่ในหัวแม้ไม่ได้ฟังเพลงแล้วก็ตามใช่ไหมคะ ซึ่งดิฉันเองก็เป็นหนึ่งคนที่อยู่ในวังวนเพลงชุดโกโกวาเช่นกัน ทั้งนี้ สภาวะ “ติดหู” หรือ “Earworm” ของเพลงชุดโกโกวา ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้นกับพวกเราใช่ไหมคะ ก่อนหน้านั้นก็มีหลายเพลงที่แม้เราจะเปิดฟังเพียงครั้งเดียว แต่ก็ติดอยู่ในหู ดังอยู่ในหัววนเวียนกันมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเพลง “Baby Shark” เพลงเด็กที่ผู้ใหญ่หลายคนนำไปเต้น Cover หรือเพลง “ชิพกับเดล” ที่ทำให้เราร้องวน ตามเพลงที่ดังในหัวกันไม่หยุดอยู่พักหนึ่ง ซึ่งทำให้มานึกสงสัยว่า จะดีหรือไม่หากเราจะมีเทคนิค “การจำ” อย่างรวดเร็วเช่นที่เราจำเพลงที่สร้างสภาวะ “Earworm” ให้เราได้ เพราะ “การจำ” เป็นสิ่งจำเป็นต่อชีวิตของเรามากทั้งในชีวิตประจำวัน การเรียน และการทำงาน เช่น การจำเส้นทางไปสถานที่ต่าง ๆ การจำสูตรอาหาร การจำบทเรียนไปสอบ การจำข้อมูลเพื่อเข้าประชุม เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ชี้ขาดชะตาชีวิต เช่น การสอบปลายภาค การสอบหัวข้อวิทยานิพนธ์ การสอบสัมภาษณ์ การชี้แจงในที่ประชุม ล้วนแล้วแต่ต้องอาศัยความจำฉบับเร่งด่วนเป็นส่วนใหญ่ ด้วยเหตุนี้ ดิฉันจึงไปตามหาเทคนิคจิตวิทยาที่ช่วยให้เราจำได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว เช่นเดียวกับที่เราจำเพลงชุดโกโกวามาฝากกันค่ะ


1. จำทีละอย่าง


จากเพลงชุดโกโกวา ที่เราจำได้เป็นอย่างแรก ก็คือ เนื้อเพลงท่อน Hook ก่อนจะไปจำทำนอง จำท่าเต้น จำเนื้อเพลง จำเนื้อหา MV และบางท่านที่ถูกใจอย่างมากก็จำรายละเอียดได้ถึงเสื้อผ้าหรือท่าทางของตัวละครใน MV เลยทีเดียว เพราะฉะนั้นหากเราต้องการที่จำแบบเร่งด่วน นักจิตวิทยาจึงแนะนำว่าให้เราจำทีละอย่างค่ะ เช่น ต้องสอบหลายวิชา ก็จำทีละวิชา ต้องเข้าประชุมสำคัญ ก็จำทีละประเด็น เป็นต้น เมื่อเราสร้างความจำทีละอย่างแล้ว ถึงแม้ว่าเราจะอ่านทั้งหมดไม่ทัน หรือจำเนื้อหาไม่ได้ทั้งหมด แต่สิ่งที่เราจำไปแล้วจะเป็นการจำเชิงลึก ที่ทำให้เราตอบได้ละเอียด จนได้คะแนนดี หรือสามารถกู้ชีพเราจากคำถาม หรือประเด็นอื่น ๆ ได้ค่ะ


2. แบ่งชุดข้อมูลในการจำ


การแบ่งชุดข้อมูลในการจำ ก็เหมือนกับที่เราจำเพลงจากการแบ่ง part ที่เป็นท่อน Intro ท่อน Hook ท่อน Outro นั่นเองค่ะ เพราะหากเราตะลุยจำข้อมูลทั้งชุด ที่แน่นอนว่ามีปริมาณเยอะมาก เราจะไม่ได้คุณภาพ ก็คือจำไม่ครบถ้วน หรือจำได้แต่ไม่เข้าใจ ดังนั้น การแบ่งชุดข้อมูลในการจำจะช่วยให้เราสร้างความจำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งเทคนิคนี้เรามักจะใช้ในการจำข้อมูลที่เป็นชุดตัวเลข เช่น หมายเลขโทรศัพท์ (061 234 6789 หรือ 06 1234 6789) หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน (1 1234 1234 1234) รหัสประจำตัว (123 123 123) เป็นต้น


3. ใช้วิธีกระตุ้นประสานสัมผัสหลายอย่าง ๆ พร้อมกัน


วิธีการนี้ เพลงที่สร้างสภาวะ “Earworm” เช่นเพลงชุดโกโกวา Baby Shark หรือ ชิพกับเดล สามารถนำมาอธิบายได้อย่างเห็นภาพเลยค่ะ นั่นก็เพราะเพลงดังกล่าวได้กระตุ้นประสาทรับเสียง (หู) ด้วยเนื้อเพลงที่โดดเด่น ทำนองที่ไม่เหมือนเพลงอื่น กระตุ้นประสาทสัมผัสทางกาย (ร่างกาย) โดยท่าเต้น สุดปัง ที่ทำให้เราอดเต้นตามไม่ได้ และกระตุ้นประสาทสัมผัสการมองเห็น (ตา) โดย MV ที่กดข้ามไม่ได้ ทั้งแสง สี และท่าเต้น ดังนั้น หากเราต้องการให้เกิดความจำแบบเร่งด่วน เราเองก็ต้องสร้างชุดข้อมูลที่กระตุ้นประสาทสัมผัสหลาย ๆ อย่างพร้อมกัน เช่น การอัดเสียงมาฟังอีกครั้งพร้อมอ่านข้อมูลตามไปด้วย การทำ Infographic การใช้สีในการเน้นข้อมูล เป็นต้นค่ะ


4. สร้างความสะดุดใจ


นอกจากเพลงติดหูจะใช้วิธีการกระตุ้นประสาทสัมผัสหลาย ๆ อย่างดังเช่นที่กล่าวไปในข้อก่อนหน้าแล้ว สิ่งที่ทำให้เราเกิด “Earworm” อีกเหตุผลหนึ่ง ก็คือ การสร้างความสะดุดใจ ด้วยความโดดเด่น หรือความแปลกค่ะ ทั้งเนื้อเพลง ทำนอง ท่าเต้น หรือความแหวกของ MV เองก็ตาม ต่างก็มีส่วนช่วยให้เราเกิด “ความจำ” แบบติดตรึงต่อเพลง ๆ นั้น ดังนั้น หากเราต้องการจะจำสิ่งใดสิ่งหนึ่งแบบรวดเร็ว เราต้องสร้างความสะดุดตา สะดุดใจให้กับเราเอง เช่น ท่องเป็นทำนองเหมือนบทกลอน บทเพลง วาดภาพประกอบ ใส่สีข้อความเน้น ๆ เป็นต้น แล้วการสะดุดนี่เองค่ะจะสร้างความจำให้กับเราเอง เช่นฉากหนึ่งในภาพยนตร์หมอเจ็บ (ขออภัยที่ยกตัวอย่างภายนตร์เก่าไปนิดนะคะ) ที่พระเอกแต่งครอสเพลย์เป็นหนู แล้วเต้นเพลง “โรคฉี่หนู” ทำให้ชาวบ้านจำได้ และเมื่อมีคนในหมู่บ้านมีอาการ ก็พามาโรงพยาบาลได้ทันนั่นเองค่ะ


5. ย้ำจุดเน้น


จุดเน้น หรือข้อมูลสำคัญ เป็นสิ่งแรกที่เราควรจะจำให้ได้ เพราะในสถานการณ์ที่จำเป็นต้องใช้ข้อมูล ต่อให้เราจำที่ไปที่มาไม่ได้ แต่เราจำใจความสำคัญของข้อมูลได้ เราก็เอาตัวรอดได้ค่ะ เพราะฉะนั้นเราต้องย้ำจุดเน้นบ่อย ๆ เหมือนที่เราจำท่อน Hook ของเพลงได้ เพราะนักร้องเขาร้องบ่อย ๆ หรือเราจำชื่อยี่ห้อของสินค้าจากการภาพยนตร์โฆษณา หรือเพลงโฆษณาได้ เพราะเขาย้ำชื่อยี่ห้อบ่อย ๆ ค่ะ ซึ่งมีโฆษณาของขึ้นชื่อของจังหวัดหนึ่งที่เข้ากับเทคนิคจิตวิทยาสร้างการจำในข้อนี้ และดิฉันชื่นชอบเป็นพิเศษ ก็คือ “ลำไยลำพูน ลำพูนลำไย อยากกินลำไยต้องไปลำพูน” เพราะทำให้เราเกิดความจำทั้งชื่อจังหวัดและของขึ้นชื่อได้ในทีเดียวนั่นเอง


6. เชื่อมโยงสิ่งที่ต้องการจำกับสิ่งที่เราคุ้นเคย


บ่อยครั้งที่เรามักสังเกตเห็นว่าเพลงที่เราชอบฟัง ภาพยนตร์ที่เราชอบดู หนังสือที่เราชอบอ่าน สิ่งที่ทำให้เราเกิด “ความชอบ” ก็เพราะเราอินกับสิ่งนั้น หรือมีประสบการณ์ร่วมกับเรื่องราวที่สื่อต่าง ๆ ข้างต้นเล่าให้เราฟัง เพราะฉะนั้น หากเราสามารถอินกับข้อมูล หรือสร้างความคุ้นเคยกับข้อมูล หรือสามารถเชื่อมโยงข้อมูลกับกับเรื่องราวในชีวิตของเราได้ เราก็สามารถจำข้อมูลนั้นได้เป็นอย่างดีค่ะ และความจำนั้น ก็ไม่ใช่เพียงความจำระยะสั้นเท่านั้นนะคะ เราจะจำได้ในระยะยาวกันเลยทีเดียว

“การจำ” เป็นเรื่องมหัศจรรย์พอ ๆ กับ “การลืม” เลยค่ะ เพราะบางเรื่องเราก็จำได้ไม่ลืม แต่บางเรื่องเราก็ลืมไม่เคยจำ แต่ในสถานการณ์ที่ต้องใช้การจำแบบเร่งด่วน ก็หวังว่าเทคนิคข้างต้นทั้ง 6 ข้อ จะสามารถช่วยคุณผู้อ่านในการเพิ่มประสิทธิภาพความจำแบบเร่งด่วนได้นะคะ พบกันใหม่บทความหน้าค่ะ


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

บทความแนะนำ :


อ้างอิง : จุฑามาศ ภิญโญศรี. (2564, 19 กุมภาพันธ์). 8 เทคนิคช่วยจำ. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 2565, 9 กุมภาพันธ์ จาก https://www.msu.ac.th/msumagaz/smain/readpost.php?mid=31

 

ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก

บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัย ด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ และคุณแม่ของลูก 1 คน แมว 1 ตัว ที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาในการใช้ชีวิต


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page