top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

เคล็ดไม่ลับในการส่งเสริมทักษะพัฒนาสมองให้ลูก

ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นพ่อเป็นแม่ของลูกที่กำลังโต ย่อมเข้าใจดีว่าคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง ย่อมคาดหวังให้ลูกๆ หลานๆ เป็นเด็กดี มีความคิดสมวัย สามารถดูแลตัวเองและเอาตัวรอดได้ในสถานการณ์ต่าง ๆ แล้วจะทำอย่างไรละ ให้ลูกๆ หลานๆ ของเรากลายเป็นเด็กที่เติบโตสมวัย เมื่อเป็นผู้ใหญ่ก็เป็นคนที่มีคุณภาพของสังคม ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงขออาสาหาคำตอบมาให้คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง กันค่ะ



Executive Functions เคล็ด(ไม่)ลับ พัฒนาสมอง



Executive Functions หรือ EFs คือ ทักษะทางสมองที่สามารถทำให้ชีวิตประสบความสำเร็จได้ โดยเป็นการพัฒนากระบวนการทำงานของสมองส่วนหน้าของมนุษย์ ซึ่งเป็นส่วนที่ใช้ในการกำกับความคิด ความรู้สึกและการกระทำ เพื่อให้บรรลุสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยเป็นทักษะที่สำคัญยิ่งต่อความสำเร็จในการเรียน การงาน การอยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์การคิดสร้างสรรค์ และการจัดการทุกด้านตลอดชีวิต


ทั้งนี้ EFs เป็นการทำงานของสมองระดับสูง ที่เชื่อมโยงประสบการณ์ในอดีตกับสิ่งที่กำลังทำในปัจจุบัน สามารถช่วยในการควบคุมอารมณ์ ความคิด การตัดสินใจ และการกระทำ ส่งผลให้มีความมุ่งมั่นทำจนงานสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ (Goal directed behavior)



การศึกษา EFs นั้นเริ่มต้นในจากที่ Harlow J.M. ศึกษาผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุโดนเหล็กเสียบหัว จนส่งให้สมองส่วนหน้าเสียหาย J.M. พบว่า ผู้ป่วยมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปในทางที่แย่ลง คือ มีความบกพร่องด้านความจำระยะสั้น และความจำขณะทำงาน ขาดสมาธิ วางแผนงานไม่ได้ บกพร่องด้านการคิดเป็นเหตุเป็นผล ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ หงุดหงิดโมโหง่าย อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย และอาจมีภาวะซึมเศร้า ควบคุมพฤติกรรมตัวเองไม่ได้ ก้าวร้าว เอะอะโวยวาย พูดจาหยาบคาย เป็นต้น จึงนำมาซึ่งงานศึกษาทางสมองในยุคต่อๆ มา และได้คำตอบว่า สมองส่วนหน้าเป็นกุญแจสำคัญในการควบคุมความคิด อารมณ์ และพฤติกรรม อันนำมาซึ่งการศึกษาการพัฒนาเชิงบริหาร หรือ EFs นั้นเอง



โดยจากงานศึกษาของ D.W.Self และ J.K. Staley ในปี คศ. 2009 ได้สรุปว่า EFs มีองค์ประกอบทั้งสิ้น 9 ด้าน ได้แก่


1.Working memory หรือ ความจำที่นำมาใช้งาน คือ ความสามารถในการเก็บประมวล และดึงข้อมูลที่เก็บในคลังสมองของเราออกมาใช้ตามสถานการณ์ที่ต้องการ


2.Inhibitory Control หรือ การยับยั้งชั่งใจ คิดไตร่ตรอง คือ ความสามารถในการควบคุมแรงปรารถนาของตนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม จนสามารถหยุดยั้งพฤติกรรมได้ในเวลาที่สมควร


ความสนใจ จดจ่อ

3.Shift หรือ Cognitive Flexibility คือ ความสามารถในการยืดหยุ่นความคิด เปลี่ยนจุดสนใจ เปลี่ยนโฟกัส หรือ เปลี่ยนทิศทางให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น


4.Focus / Attention คือ ความสามารถในการใส่ใจจดจ่อมุ่งความสนใจอยู่กับสิ่งที่ทำอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาหนึ่งๆ โดยไม่วอกแวกไปตามปัจจัย ไม่ว่าภายนอกหรือภายในตนเองที่เข้ามารบกวน


5.Emotional Control คือ การควบคุมอารมณ์ คือ ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม จัดการกับความเครียด หงุดหงิด และแสดงออกแบบที่ไม่รบกวนผู้อื่น


6.Planning and Organizing คือ การวางแผนและการจัดระบบดำเนินการ เริ่มตั้งแต่การตั้งเป้าหมาย การเห็นภาพรวม จัดลำดับความสำคัญ จัดระบบโครงสร้าง จนถึงการดำเนินการ


7.Self -Monitoring คือ การตรวจสอบตนเอง รู้จักตนเอง รวมถึงการตรวจสอบ การทำงานเพื่อหาจุดบกพร่อง ประเมินการบรรลุเป้าหมาย รวมทั้งความสามารถกำกับติดตามปฏิกิริยาของตนเอง และดูผลจากพฤติกรรมของตนเองที่กระทบต่อผู้อื่น


8.Initiating คือ ความสามารถในการริเริ่มและลงมือทำงานตามที่คิดมีทักษะในการริเริ่ม สร้างสรรค์แนวทางในการทำสิ่งต่างๆเมื่อคิดแล้วก็ลงมือทำให้ความคิดของตนปรากฏขึ้นจริง


9.Goal-Directed Persistence ความพากเพียรมุ่งสู่เป้าหมาย เมื่อตั้งใจและลงมือทำสิ่งใดแล้ว ก็มีความมุ่งมั่นอดทน เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ไม่ว่าจะมีอุปสรรคใดๆก็พร้อมฝ่าฟันจนถึงความสำเร็จ



มีวิธีฝึก EFs ให้เด็กๆ อย่างไร?


จากงานวิจัยพบว่า ช่วงเวลาสำคัญที่สุดในการพัฒนา EFs คือ อายุ 3 - 6 ปี เพราะเด็กทุกคนเกิดมาพร้อมศักยภาพที่จะพัฒนา EFs ได้ แต่ระดับการพัฒนาขึ้นอยู่กับการฝึกฝนผ่านประสบการณ์ต่างๆ ตั้งแต่วัยทารก วัยเด็ก และวัยรุ่น โดยแบ่งองค์ประกอบที่สำคัญของ EFs ตามช่วงวัย ดังนี้



​วัย 2 ปี – 5 ปี 11 เดือน


1.ด้านการควบคุมอารมณ์และพฤติกรรม


การยั้งคิดและการยับยั้งชั่งใจ (Inhibitory Control)

คือความสามารถในการการยับยั้งตนเองไม่ให้แสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม การควบคุมตัวเองให้มีสมาธิจดจ่อในสิ่งที่กำลังทำ


การควบคุมอารมณ์ (Emotional Control)

คือการควบคุมอารมณ์ให้แสดงออกอย่างเหมาะสมเมื่อโกรธ ผิดหวัง เสียใจ มีอารมณ์มั่นคงแม้สถานการณ์หรือสิ่งแวดล้อม จะเปลี่ยนไปจากเดิม


การเปลี่ยนความคิดเมื่อเงื่อนไขเปลี่ยนไป (Shift)

เป็นความยืดหยุ่น ทางความคิดที่ช่วยให้ไม่ยึดติดกับความคิดและการกระทำแบบเดิมๆ การปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนใหม่ สิ่งแวดล้อมใหม่ และสถานที่ใหม่ๆ ได้โดยไม่มีปัญหา



2.ด้านการตระหนักรู้ และควบคุมกระบวนการรู้คิดของบุคคล


การจดจำ

ความจำขณะทำงาน (Working memory) คือ การจำข้อมูล จัดระบบแล้ว เก็บรักษาข้อมูลไว้ในคลังสมอง เมื่อถึงเวลาที่เราต้องการใช้งานสามารถนำข้อมูลในสมองออกมาใช้งานได้อัตโนมัติ มีการจดจำข้อมูลที่ได้จากประสบการณ์ที่มีความหมายในชีวิต สามารถเชื่อมโยงสัมพันธ์ กับประสบการณ์ เดิมได้


การวางแผนจัดการอย่างเป็นระบบ (Planning /Organization)

คือ การที่เด็กรู้จักตั้งเป้าหมายและวางแผนการทำงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอน สามารถเริ่มต้นทำงานด้วยตนเอง สามารถติดตามและประเมินผลของงานของตนเองได้ เมื่อมีปัญหาสามารถคิดแก้ไขได้หลายวิธี ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรครู้จักมองภาพใหญ่ของงาน ไม่ติดกับรายละเอียดปลีกย่อยมากเกินไป รู้จักที่จะคาดการณ์ถึงผลกระทบที่จะตามมาจากการกระทำ



วัย 6 – 18 ปี

มีเพิ่มขึ้นมาอีก 2 ข้อ คือ


1.การริเริ่ม (Initiate)

คือ การเริ่มต้นทำงานได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องรอให้มีคนบอก


2.การติดตามตรวจสอบตนเอง (Self – monitoring)

คือ สามารถติดตามและประเมินผลของการกระทำ นำผลประเมินมาใช้ในการปรับปรุงการทำงานของตนเองให้ดีขึ้น



ทั้งนี้ จากการศึกษางานวิจัยทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ สามารถสรุปแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนา EFs ให้แก่ๆเด็กๆ 3 วิธีง่ายๆ ดังนี้



1. สังเกตพฤติกรรม

คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง ลองสังเกตดูสิว่าเด็กๆ มีจุดแข็ง จุดอ่อนในทักษะด้านใด เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาจุดแข็ง และ/หรือปรับปรุงจุดอ่อนของเด็กๆ



2. ฝึกฝนและพัฒนา

ในการพัฒนาทักษะ EFs นั้นสามารถทำได้หลายวิธี บางวิธีเกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เช่น สร้างวินัยในการเข้าคิวให้รู้จักการรอเพื่อฝึกการควบคุมตนเอง หรือ การร้องเพลง เล่นดนตรี วาดภาพ เล่นกีฬา การเล่นอย่างสร้างสรรค์ เพื่อฝึกสมาธิ ความใส่ใจจดใจจ่อ รู้จักการวางแผน ฝึกการคิด การวางเป้าหมาย สร้างจินตนาการให้แก่เด็กๆ เพื่อให้เด็กๆ สามารถนำไปปรับใช้ได้เมื่อเผชิญกับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ มีทักษะการเข้าสังคมที่เหมาะสม และมีทักษะในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น



3. ดูแลและใส่ใจ

นอกจากจะพัฒนาทักษะ EFs แล้ว คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง ควรต้องใส่ใจดูแลเรื่องอาหารการกิน การพักผ่อน ให้ความรักความอบอุ่น คอยเป็นกำลังใจอยู่เสมอ เพื่อให้เด็กมีประสิทธิภาพในการรับรู้ ทำให้เด็กๆ สามารถพัฒนาทักษะ EFs ได้อย่างเต็มที่ และที่สำคัญ คือ อย่าให้เด็กเครียด เพราะเมื่อเกิดความเครียดขึ้นสมองส่วนหน้าก็จะไม่ทำงานนั้นเอง



คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง คงเห็นแล้วว่าการส่งเสริมพัฒนา EFs ให้แก่เด็กๆนั้น มีความสำคัญอย่างไร เช่นนั้นแล้วอย่ารอช้านะคะ โดยเฉพาะเด็กๆ ในช่วงวัยทอง คือ อายุ 3 – 6 ปี ยิ่งต้องรีบพัฒนา เพื่อการเติบโตที่มีคุณภาพของเด็กๆ ที่รักของเราค่ะ

 

อ้างอิง :

1. Burnham, K.P. and Anderson, D.R. .2002. Model Selection and Inference A Practical Information-Theoretic Approach. 2nd Edition, Springer-Verlag, New York.

2.นวลจันทร์ จุฑาภักดีกุล. Executive Functions (การคิดเชิงบริหาร).

เอกสารประกอบการประชุมเชิงปฏิบัติการระดมสมองวางกรอบประเด็นและเนื้อหาหนังสือนิทานฯ โครงการ “หนังสือนิทานสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดสำหรับเด็กปฐมวัย”.

​3.D.W.Self and J.K. Staley(eds.). Behavioral Neuroscience of Drug Addiction, Current Topics in Behavioral Neurosciences 3. publish online 15 Sept.2009.

4.http://www.trueplookpanya.com/knowledge/content/55691/-blo-parpres-par-

facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page