top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

How to รู้ทันเกมของคนที่มีบุคลิกภาพแบบหลงตัวเอง (Narcissistic Personality Disorder)



คุณเคยเจอหรือเคยได้ยินปรากฏการณ์ที่เมื่ออยู่กับคน ๆ หนึ่งแล้วรู้สึกแย่อย่างบอกไม่ถูก ในบางครั้งคุณอาจจะเกิดความรู้สึกผิดต่อเขาขึ้นมาอย่างไม่แน่ใจว่าตัวเองทำผิดอะไร รู้สึกสับสนว่าตัวเองทำถูกหรือไม่ มีคำถามกับตัวเองว่า “ทำไมเราทำอะไรก็ผิดไปหมด” หรือบางครั้งอาจจะรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอไปเลย หากความรู้สึกเช่นนี้เกิดขึ้นแค่ในเวลาที่อยู่กับบางบุคคลเท่านั้น เช่น แฟนของคุณ เพื่อน เพื่อนร่วมงาน คนในครอบครัว คนใดคนหนึ่งไม่ใช่ทุกคน ก็อาจเป็นไปได้ว่าความรู้สึกที่เกิดขึ้นมานั้นมันเกิดขึ้นเพราะเกมของคนที่มีบุคลิกภาพแบบหลงตัวเอง (Narcissistic Personality Disorder)

คนที่มีบุคลิกภาพแบบหลงตัวเอง (Narcissistic Personality Disorder) มีลักษณะอย่างไร?

  • ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง เพราะคิดว่าตัวเองเหนือกว่าคนอื่น ดีกว่าคนอื่น คนอื่นจึงควรหมุนรอบตัวเขา ไม่ใช่เขาไปหมุนรอบตัวคนอื่น

  • ขาดความเห็นอกเห็นใจคนอื่น ไม่สนใจว่าคนอื่นจะคิดหรือรู้สึกอย่างไร

  • ต้องเป็นที่สนใจและจดจำจากคนอื่น

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดที่กล่าวไม่ใช่เกณฑ์การวินิจฉัยทางการแพทย์ แต่เป็นเพียงลักษณะโดยคร่าว ๆ เท่านั้น เพื่อให้เห็นภาพในเบื้องต้นของคนที่มีบุคลิกภาพแบบหลงตัวเอง ก่อนที่จะได้ไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับเกมของพวกเขา

เกมต่าง ๆ ของคนที่มีบุคลิกภาพแบบหลงตัวเอง (Narcissistic Personality Disorder)

1. Gaslighting “เกมปั่นประสาท”

คำนี้มาจากภาพยนตร์เรื่อง Gaslight ที่สามีได้ทำการปั่นประสาทภรรยาโดยใช้คำพูดกล่อมให้หลงเชื่อ และสับสนว่าอะไรคือความจริงอะไรคือความลวง เกมแบบ Gaslighting เป็นความตั้งใจของคนที่มีบุคลิกภาพแบบหลงตัวเองที่ต้องการปั่นประสาทให้อีกฝ่ายทำตามที่ตัวเองต้องการ


ยกตัวอย่างเช่น หากคุณจับได้ว่าแฟนของคุณมีคนอื่น เขาก็จะบอกกับคุณว่า “ทั้งหมดที่เกิดขึ้นมันเป็นเพราะคุณบกพร่องต่อเขา ทำให้เขารู้สึกขาดจนต้องไปหาคนอื่นมาชดเชยความรู้สึกขาดนั้น” โดยเกมแบบ Gaslighting ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในความสัมพันธ์แบบแฟนเท่านั้น แต่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกรูปแบบความสัมพันธ์ เช่น เจ้านาย-ลูกน้อง เพื่อนร่วมงาน


ยกตัวอย่างเช่น คุณถูกปฏิบัติเหมือนคุณเป็นคนที่ไม่ได้เรื่อง ทั้งที่คุณทำตามคำสั่งของเจ้านายทุกอย่างแต่เจ้านายก็ยังหมางเมินกับคุณโดยให้เหตุผลว่าคุณเป็นคนที่ไม่มีความสามารถเอาซะเลย เป็นต้น

Tips : หากคุณเริ่มรู้ตัวว่าตัวเองกำลังตกอยู่ในเกมนี้ ก่อนอื่นคุณอาจจะต้องหมั่นถามตัวเองว่าเวลาที่คุณเป็นฝ่ายผิด มันเป็นความผิดที่เกิดขึ้นจากคุณจริงหรือไม่ และหากเขาบอกว่าคุณเป็นคนที่แย่ คุณอาจจะลองให้คนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เขาช่วยสะท้อนหรือให้ feedback คุณว่าคุณเป็นคนแบบนั้นหรือเปล่า หากพบว่าในสายตาคนอื่นคุณไม่ได้ผิดและไม่ได้แย่ นั่นก็อาจเป็นไปได้ว่าคุณหลงไปในเกมของคนที่มีบุคลิกภาพแบบหลงตัวเองซะแล้ว

2. Love bombing “ระเบิดความรักในช่วงโปรโมชัน”

เกมนี้อาจจะชัดเจนกว่าในความสัมพันธ์รูปแบบแฟน โดยพวกเขาจะทำให้คุณรู้สึกเหมือนได้รับระเบิดความรักในช่วงที่เพิ่งรู้จักกัน ไม่ว่าจะหยอดคำหวาน เรียกคุณว่า “แม่ของลูกผม” แม้จะเพิ่งคบกันได้ไม่กี่วัน หรือชื่นชมคุณแบบเกินไปมาก เช่น “ผมไม่เคยพบใครที่ดีกับใจผมเท่าคุณมาก่อนเลยในชีวิต” โทรหาคุณบ่อย ๆ พร้อมกับคอยดูแลเทคแคร์ อยากได้อะไรก็หามาให้ได้หมด หากคุณติดปัญหาอะไรเมื่อไหร่เขาก็จะมาช่วยคุณแก้ปัญหาโดยทันที ปฏิบัติราวกับเขาเป็นทาสรักของคุณ


แต่เมื่อคบกันไปสักระยะจนเขามั่นใจแล้วว่าคุณติดเบ็ดของเขาแล้วจริง ๆ เขาก็จะเริ่มมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นการทำตัวเหมือนเป็นเจ้าชีวิตคอยบงการให้คุณทำที่เขาต้องการ พยายามบอกให้คุณเลิกคบกับเพื่อนสนิทเพื่อที่จะได้อยู่กับเขาแค่คนเดียว ทำให้คุณรู้สึกผิดที่ไม่ได้รู้สึกว่าอยากจะตัวติดกับเขาเหมือนที่เขาอยากจะทำแบบนั้นกับคุณ

Tips : ก่อนที่จะตัดสินใจสานสัมพันธ์กับใครสักคนให้ลึกซึ้งมากขึ้น อาจจะต้องตั้งสติและฝึกเป็นคนที่อยู่กับความเป็นจริงให้มากที่สุด เพราะธรรมชาติตามปกติแล้วคนเราคงไม่ตัดสินใจรับใครมาเป็นพ่อหรือแม่ของลูกเพียงรู้จักกันแค่ไม่นาน หรือคิดจริงจังไปถึงขั้นขอแต่งงานทั้งที่ยังไม่ได้ศึกษาดูใจกันมาก่อนเลย แม้การได้รับการปฏิบัติราวกับเป็นเจ้าหญิงเจ้าชายจะทำให้รู้สึกดีมากแค่ไหน แต่ในโลกของความเป็นจริงคุณอาจจะต้องไตร่ตรองให้มากว่าความสุขเหมือนในนิทานมันมีโอกาสเป็นความจริงได้จริง ๆ หรือเปล่า

3. Ghosting “อยู่ดี ๆ ก็เป็นเหมือนผีล่องหนหายไป”

ทั้งที่คุณกับเขาก็อยู่ในความสัมพันธ์ที่ไม่ได้มีปัญหา ไม่เคยกระทบกระทั่ง และดูปกติเหมือนที่เคยเป็นมา แต่จู่ ๆ เขาก็หายตัวไปไม่มีการติดต่อกับคุณอีกเลย โดยเกมนี้สามารถเกิดขึ้นได้จากปัจจัยหลายอย่าง เช่น เขาหมดความสนใจต่อคุณและไม่อยากจะคบกับคุณอีกต่อไปแล้ว


หรือเขาใช้การหายไปของตัวเองเป็นเครื่องมือในการควบคุมให้คุณทำตามที่เขาต้องการจึงสร้างเกมเลิกกัน (Break-up-game) ขึ้นมา และหากจะถามว่า “แล้วเขาจะกลับมาไหม?” คำตอบคือเขาจะกลับมาหากพบว่าเขาต้องการบางอย่างจากคุณ แต่หากพบว่าคุณไม่มีประโยชน์อะไรกับเขาแล้วเขาก็จะไม่กลับมา

Tips : การตระหนักในคุณค่าของตัวเองจะมีส่วนช่วยได้มาก เพราะหากคุณเชื่อว่าตัวเองมีค่าพอ คุณก็จะพบว่ามันเสียเวลาและเสียพลังงานชีวิตโดยใช่เหตุที่จะต้องอยู่กับความสัมพันธ์ที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ และรับรู้ได้ว่าหากแฟนของคุณทำเหมือนคุณเป็นของตายนั่นก็หมายความว่าความสัมพันธ์ในครั้งนี้มันเป็นแค่เกมแต่ไม่ใช่ความรัก

4. Triangulation “ยกบุคคลที่สามมาอ้าง”

ก็คือการยกเอาคนอื่นมาเปรียบเทียบหรือการอ้างถึงความคิดเห็นของบุคคลที่สาม ก็เป็นอีกเกมที่เขาใช้เพื่อควบคุมให้อีกฝ่ายยอมทำตามความต้องการของเขา หรือลวงให้คุณไปทำอะไรก็ตามที่ตัวเขาเองไม่อยากเป็นคนลงมือทำแต่อยากได้รับประโยชน์จากการกระทำนั้น ยกตัวอย่างเช่น เขาต้องการให้เพื่อนสนิทที่ห่วงใยคุณไปให้พ้นทาง เขาอาจจะพยายามสร้างเรื่องขึ้นมาให้คุณเชื่อว่าเพื่อนสนิทของคุณชอบมายุ่มย่ามกับชีวิตรักของคุณกับเขามากเกินไปเพราะว่าเพื่อนสนิทของคุณมีนิสัยขี้อิจฉาไม่อยากเห็นใครดีกว่า


และเมื่อคุณโต้แย้งไปว่าเพื่อนสนิทของคุณทำไปเพราะความเป็นห่วง เขาก็จะยกบุคคลที่สามอีกคนขึ้นมา เช่น “แต่อเล็กซ์ก็คิดเหมือนกับผมนะ เขาเพิ่งจะบอกผมแบบนี้เมื่อวานเลย” เมื่อหลงกลเกมของเขาแล้วคุณก็จะเกิดความคลางแคลงใจขึ้นมาจนอาจจะเกิดความขัดแย้งกับเพื่อนสนิทของคุณและแตกหักกันไปตามที่เขาต้องการ

Tips : ฟังหูไว้หู ถึงแม้ว่าเขาจะเป็นแฟนหรือเป็นใครก็ตามที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคุณมาก ๆ และคุณก็รักเขามาก ๆ แต่ก็อย่าเพิ่งปักใจเชื่ออะไรโดยไม่พิสูจน์ หากคุณมีความสับสนเกิดขึ้น เช่น คุณเริ่มไม่มั่นใจว่าเพื่อนของคุณเป็นแบบนั้นจริงหรือเปล่า คุณอาจจะไปถามกับเพื่อนคนนั้นโดยตรงพร้อมกับลองถามคนอื่น ๆ เพื่อหาหลักฐานให้มั่นใจว่าอะไรกันแน่ที่คุณควรเชื่อ

5. Playing the victim “รับบทเหยื่อ”

คนที่มีบุคลิกภาพแบบหลงตัวเองเวลาที่มีความรู้สึกก็มักจะรู้สึกขึ้นมาอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะเวลาที่ถูกวิจารณ์หรือสะท้อนให้เห็นตัวเอง ก็จะรู้สึกเจ็บปวดมากและไม่ต้องการที่จะยอมรับความจริง เพราะมันกระเทือนความเชื่อที่เขามีต่อตัวเอง


ดังนั้น สิ่งที่พวกเขามักจะทำเมื่อรู้สึกไม่มั่นคงก็คือ สลับไปรับบทเหยื่อ ไม่ว่าจะเป็นการพยายามบอกว่าคนอื่นต่างหากที่กระทำต่อเขาตลอดมาจนทำให้เขาเป็นแบบนี้ หรือบอกว่าตัวเองถูกคนอื่นกลั่นแกล้งใส่ความ ที่เขาทำลงไปก็เป็นเพราะเขาเกิดมาขาดแคลนและโชคร้าย เป็นต้น

Tips : หากคุณเริ่มรู้ตัวแล้วว่าเขามักจะรับบทเหยื่อทุกครั้งไป นั่นก็หมายความว่าคุณควรจะเริ่มบอกกับตัวเองได้แล้วว่าคุณกำลังตกอยู่ในเกมของคนที่มีบุคลิกภาพแบบหลงตัวเองซะแล้ว ซึ่งหลังจากที่คุณรู้ตัวแล้วทั้งหมดนี้มันเป็นเกม คุณก็ควรต้องเลือกแล้วว่าคุณจะอยู่ในเกมนั้นต่อหรือจะออกจากเกมนั้นไป

ทั้งนี้ คนที่มีบุคลิกภาพแบบหลงตัวเอง มักไม่รู้ว่าตัวเองเป็นแบบนั้น และเพราะไม่สามารถใช้การสะท้อนให้พวกเขาเห็นตัวเองในมุมมืดได้ จึงทำให้เขาเชื่อว่าตัวเองก็ปกติดี คนอื่นต่างหากที่ไม่ปกติ หากพบว่าคนใกล้ชิดมีลักษณะเช่นนี้แต่คุณยังมีความห่วงใยและอยากจะอยู่ในความสัมพันธ์ต่อ ก็อาจจะไปลองคุยกับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาคลินิกก่อนก็ได้ว่าวิธีการอยู่ร่วมกับคนที่มีบุคลิกภาพแบบหลงตัวเองอย่างที่คุณเองไม่ต้องเจ็บปวดหรือตกเป็นเครื่องมือในเกมของเขามันมีวิธีอย่างไร


รวมถึงอาจจะปรึกษากับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาคลินิกก็ได้ว่าหากจะนำเขาเข้าสู่กระบวนการรักษาพอจะมีทางไหนบ้างที่คุณพอจะทำได้ ซึ่งจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาคลินิกก็จะเป็นผู้เชี่ยวชาญที่สามารถให้คำแนะนำต่าง ๆ ได้ดี

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง


บทความที่เกี่ยวข้อง

 

ประวัติผู้เขียน

นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) การศึกษา: ปริญญาโทสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา (คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

การทำงาน: พ.ศ. 2555 - ปัจจุบัน นักจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

และเป็นนักเขียนของ istrong


Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page