top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

มารู้จักโอตะ หรือ โอตาคุกันดีกว่า


AKB48

“การจะเขียนบอกเล่าเรื่องใดให้ได้ดี ควรที่จะต้องมีประสบการณ์ตรงกับสิ่งเหล่านั้นเสียก่อน” คำกล่าวนี้เป็นจริงเสมอ เพราะหลังจากที่ผู้เขียนเริ่มมีความสนใจ และมีโอกาสปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มผู้ชื่นชอบรวมถึงได้ลองร่วมงาน Event ของวงศิลปินหญิงล้วนของไทยวงหนึ่งซึ่งได้รับแนวคิด รูปแบบการสร้างวงด้านต่างๆ มาจากวงศิลปินไอดอล (Idol: ผู้เป็นแบบอย่าง ผู้ที่มีความโดดเด่น ผู้ที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจ) รุ่นพี่ คือ วง “AKB48” จากประเทศญี่ปุ่น ก็พบว่ามีความน่าสนใจอย่างมากที่จะหยิบยกมาเล่าและเขียนบทความนี้ขึ้นมาเล่าสู่กันฟัง


ก่อนอื่นอยากจะแนะนำผู้อ่านทุกท่านให้รู้จักกับคำว่า “โอตาคุ” (Otaku) โดยสังเขปเสียก่อน ซึ่งคงจะเดาได้ไม่ยากว่าศัพท์คำนี้มาจากทางประเทศญี่ปุ่นซึ่งใช้เรียก บุคคลที่มีความสนใจ หรือมีความหมกมุ่นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นพิเศษ โดยมีหลักฐานการถูกนำมาใช้ในช่วงแรกๆ กับผู้ที่มีความสนใจเกี่ยวกับเรื่องการ์ตูน อะนิเมชั่น เกมส์ และกลุ่มดาราศิลปินต่างๆ ก่อนที่จะถูกขยายและใช้กับกลุ่มคนที่มีความสนใจเฉพาะด้าน เช่น ผู้ที่มีความสนใจในเรื่องของการทหาร อาวุธ รถไฟ เครื่องบิน การเมือง คอมพิวเตอร์ ของสะสมต่างๆ ฯลฯ ก็อาจถูกเรียกว่าโอตาคุได้เช่นกัน

otaku

โดยในอดีตประเทศญี่ปุ่นเองมักมีทัศนคติ (attitude) ทางลบนิด ๆ ต่อผู้ที่ถูกเรียกว่าโอตาคุ รวมถึงผู้ที่เป็นโอตาคุเองก็ไม่อยากให้สังคมมองตัวเองว่าเป็นเช่นนั้นเท่าไหร่ เนื่องจากผู้ที่เป็นโอตาคุส่วนหนึ่งมักมีบุคลิกภาพแบบเก็บตัวสูง ทำให้เข้าสังคมไม่เก่ง มีความหมกมุ่นครุ่นคิดในเรื่องที่ตนเองสนใจอย่างมากจนบางครั้งอาจกลายเป็นการเสพติด (addicted) แยกตัวเองออกจากความเป็นจริง จนอาจแสดงออกถึงท่าทีที่ไม่สอดคล้องตามบรรทัดฐานของสังคมส่วนใหญ่ในรูปแบบของพฤติกรรมต่อต้านสังคม (anti-social) พฤติกรรมก้าวร้าว (aggressive) และพฤติกรรมที่เบี่ยงเบน (deviant) ต่างๆ เช่น การเฝ้าติดตามศิลปินที่ชื่นชอบ ทำเรื่องอนาจารหรือบุกเข้าไปทำร้ายเมื่อศิลปินทำสิ่งที่ตนเองไม่ชอบใจ โพสความเห็นเชิงด่าทออาฆาตต่อบุคคลอื่นในอินเตอร์เน็ต


แต่ในปัจจุบันเมื่อมีการศึกษาในเรื่องนี้กันมากขึ้นทำให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับผู้ที่มีลักษณะของโอตาคุมากขึ้น จึงทำให้การมองในแง่ลบต่อผู้ที่เป็นโอตาคุลดลง เพราะเป็นปกติที่ในสังคมย่อมมีคนที่ดีและคนที่ไม่ดีปะปนกันไป


เมื่อย้อนกลับมาดูในประเทศไทยก็พบว่าผู้ที่มีลักษณะของโอตาคุก็อยู่ในสถานะไม่แตกต่างจากโอตาคุในอดีตของประเทศญี่ปุ่น คือ มักถูกมองในภาพลักษณ์ทางลบเนื่องจากถูกตัดสินจากสังคมผ่านพฤติกรรมของกลุ่มโอตาคุที่แสดงออกอย่างไม่เหมาะสมเพียงบางกลุ่ม และการนำเสนอด้านเดียวของสื่อต่างๆ ก็ทำให้เหมารวมว่าผู้ที่เป็นโอตาคุ ‘ทุกคน’ มีลักษณะไม่ดีเหมือนกันหมด แต่หลังจากที่ผู้เขียนมีความสนใจ มีการปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มคนที่ชื่นชอบกลุ่มศิลปินไอดอลที่เปรียบเสมือนน้องสาวของวง “AKB48” ในอินเตอร์เน็ตและงาน Event ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้แฟนๆ ของทางวงมีโอกาสชม Mini Concert และได้จับมือกับสมาชิกสาวๆ ของวง ตามคอนเซปของวงนี้ คือ ‘วงไอดอลที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้’ จึงได้ถึงบางอ้อว่าทำไมวงนี้กำลังเป็นกระแสมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงที่ผ่านมา


AKB48

หากมองในแง่ของโมเดลธุรกิจนั้นก็คงไม่แตกต่างจากวงศิลปินทั่ว ๆ ไป แต่มีการสร้างจุดเด่นและความแปลกใหม่ตรงที่เปิดโอกาสให้แฟนหรือผู้ที่ชื่นชอบวงนี้ได้เห็นพัฒนาการของศิลปินตั้งแต่แรกเริ่ม ทั้งในการออดิชั่น (Audition: กระบวนการคัดเลือกสมาชิกของวง) ที่ทำให้ได้สมาชิกที่มีบุคลิก character แตกต่างกันจำนวน 30 คน (แต่ในปัจจุบัน ณ วันที่เขียนบทความเหลือ 28 คน ซึ่งเยอะมาก สามารถแบ่งเป็นทีมย่อยในการทำงานได้หลายทีมทีเดียว) มีการแสดงขั้นตอนการฝึกซ้อม ความเป็นไปในชีวิตประจำวัน การบอกเล่าความรู้สึก การสื่อถึงความเปลี่ยนแปลงก้าวหน้าของสมาชิกแต่ละคนราวกับเป็นรายการ Reality มีการจัดรายการพูดคุยกันระหว่างสมาชิกในสถานที่ที่ทางผู้รับผิดชอบวงเตรียมไว้ให้ในลักษณะของห้องกระจก (มีชื่อเรียกเล่นๆ ว่าตู้ปลา) ที่ทำให้แฟนๆ มีโอกาสได้พบเจอสมาชิกตัวเป็นๆ ได้อย่างไม่ยากลำบากนัก บรรดาสาวกและแฟนๆ จึงสามารถเลือกที่จะติดตามหรือเอาใจช่วยสมาชิกของวงที่ตนเองรู้สึกว่าชื่นชอบ มีคุณลักษณะที่ตรงตาม ‘จริต’ ของตนได้อย่างใกล้ชิด


เมื่อบรรดาแฟนของวงนี้พูดกันปากต่อปากและนำเสนอความชอบของตนเองตนเองให้กับผู้อื่นก็จะช่วยกระตุ้นให้คนที่ยังไม่รู้จักวงนี้อยากหาข้อมูลและมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น จนเพิ่มจำนวนมากขึ้นคล้ายกับการใช้เทคนิค “ลูกบอลหิมะ” (Snowball: คือ การแพร่ขยายของสิ่งใดสิ่งหนึ่งผ่านการแนะนำต่อๆกันไปเรื่อยๆ เหมือนลูกบอลหิมะที่กลิ้งไปก็จะหอบเอาหิมะตามทางมาพอกพูนทำให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ) นอกจากนี้ยังมีการตั้งกลุ่มทาง Social Network ที่รวมตัวของผู้ที่ชื่นชอบของสมาชิกแต่ละคน มีการออกจำหน่ายของที่ระลึกที่เป็นตัวแทนของสมาชิกแต่ละคนในลักษณะของ ‘ของสะสม’ เช่น การ์ดรูปภาพ เข็มกลัด เสื้อยืด ตามโอกาสต่างๆ พร้อมกับของแถมพ่วงเป็นสิทธิพิเศษต่างๆ ในการทำกิจกรรมร่วมกับสมาชิกของวง ซึ่งช่วยกระตุ้นให้แฟนๆ ของวงเข้าถึงศิลปินได้โดยง่ายตาม Concept อีกทั้งได้สะสมและแลกเปลี่ยนสินค้าสะสม เพิ่มการปฏิสัมพันธ์ของกลุ่มผู้ที่มีความสนใจเรื่องเดียวกัน และเป็นการโปรโมต Event ต่างๆ ของทางวงตามไปด้วย

BNK48

เท่าที่ผู้เขียนสังเกตดูบรรดาแฟนๆ และกลุ่มโอตาคุ (บางคนเรียกสั้นๆ ว่าโอตะ) ของศิลปินวงนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายซักประมาณ 65% และเป็นผู้หญิงประมาณ 35% (ถือว่าสัดส่วนผู้หญิงค่อนข้างมากสำหรับการติดตามศิลปินหญิง) ส่วนมากกำลังอยู่ในวัยมัธยมปลายจนถึงมหาวิทยาลัย แต่ก็พบคนที่อยู่ในวัยทำงานหรือแม้แต่มีอายุร่วมสนใจด้วยจำนวนไม่น้อยเหมือนกัน การแสดงออกส่วนมากที่พบในการเข้าร่วม Event นั้นมีความเรียบร้อยเกินคาด เช่น มีการต่อคิวเข้าแถวซื้อของที่ระลึก การต่อคิวเพื่อตรวจ ณ จุดรักษาความปลอดภัย การต่อคิวเพื่อเข้าพบปะสมาชิกของวงที่ตนเองชื่นชอบ (ซึ่งยาวมาก แต่คนที่อยู่ในแถวก็รออย่างสงบ) ทั้งๆ ที่มีคนอัดอยู่ในสถานที่จำกัดเป็นพันคน แต่กลับมีการกระทบกระทั่งกันน้อยมาก ในทางตรงกันข้ามกลับมีการให้ความร่วมมือในการกระทำตามกฎที่ทางผู้จัดกำหนดไว้ หรือแม้แต่กฎทางสังคมที่แต่ละคนรับรู้กันเองว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ มีการช่วยเหลือเกื้อกูล มีความพยายามในการสร้างบรรยากาศทางบวก อารมณ์ร่วม (sentiment) ที่สนุกสนาน เต็มไปด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ แสดงออกอย่างน่ารักจนผู้เขียนคิดว่าแต่ละคนที่อยู่ใน Event ด้งกล่าวพยายามจะแสดงออกทางบวกเพื่อลบคำครหาและน่าจะช่วยลบภาพลักษณ์ทางลบของโอตาคุในความคิดของผู้พบเห็นหลายๆ คนไปได้อย่างแน่นอน


อย่างไรก็ตามก็มีประเด็นที่น่าเป็นห่วงอยู่เล็กน้อย เนื่องจากหากมองในเชิงของจิตวิทยาแล้วผู้ที่มีความสนใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างจริงจังแล้วในช่วงระยะเวลาหนึ่งจะมีอาการคล้ายๆ กับการเสพติดสารเสพติด แต่ในที่นี้คือการเสพติดพฤติกรรม คือ มุ่งความสนใจไปยังสิ่งที่เป็นเป้าหมายโดยเฉพาะ ใช้เวลาคลุกคลีอยู่กับสิ่งนั้นค่อนข้างมาก โดยเฉพาะผู้ที่อาจขาดความสุขในการดำเนินชีวิตปัจจุบัน มีความไม่สบายใจอยู่ หรือมีปัญหาด้านความสัมพันธ์ การปรับตัวกับผู้อื่น การได้มีสิ่งที่ตนเองสนใจหรือทำแล้วรู้สึกมีความสุข มีผู้อื่นที่ชอบสิ่งเดียวกับตนและเข้าใจตนเองอยู่ก็จะมีความรู้สึกปลอดภัย (secure) ทางความรู้สึก ไม่ได้รู้สึกว่าตนเองมีความผิดปกติหรือแปลกแยก เหมือนเป็นการใช้กลวิธานทางจิตป้องกันตัวเอง ก็อาจทำให้มีความหลงใหลในสิ่งเหล่านั้นมากขึ้นเรื่อยๆ จนอาจทำให้กระบวนการคิด หรือการแสดงออกหลุดไปจากความเป็นจริง หรือบรรทัดฐานของสังคมที่ดีงามก็อาจสร้างความเดือดร้อนให้กับตนเองและบุคคลรอบข้างได้ เช่น การลงทุนเสียเงินซื้อสินค้าสะสมของศิลปินอย่างไม่ประมาณตนจนเป็นหนี้สินทำให้ตนเองและคนรอบข้างเดือดร้อน การแสดงความก้าวร้าวรบกวนต่อศิลปินหรือบุคคลอื่นหรือแม้แต่พยายามหลีกหนีจากสังคมจริงๆ และอาจลืมเอาใจใส่สิ่งรอบๆ ตัวไปจนกลายเป็นปัญหาในสังคมมากขึ้น ก็จะส่งผลทำให้ภาพลักษณ์ที่สังคมมองคนกลุ่มนี้ในทางลบเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วยอย่างแน่นอน จากที่ผู้เขียนได้กล่าวมาในข้างต้นยาวยืดจนถึงตรงจุดนี้ ก็ทำให้ผู้เขียนอดคิดไม่ได้ว่าตนเองน่าจะเริ่มเป็นโอตาคุ หรือ “โอตะ” ฝึกหัด (ในเรื่องใดให้ผู้อ่านเดากันเอง) ไปเรียบร้อยแล้วก็เป็นได้ อิๆ


“ลุงพุงป่อง” 21 พฤศจิกายน เวลา 20.37 น.


 

References

Kitabayashi, K. (2004). The Otaku group from a business perspective: Revaluation of enthusiastic consumers. NRI Papers, 84(1), 1-10.

Galbraith, P. W., & Schodt, F. L. (2009). The Otaku Encyclopedia: An insider's guide to the subculture of Cool Japan (p. 90). Tokyo: Kodansha International.

Galbraith, P. W. (2011). Otaku consumers. In Japanese consumer dynamics (pp. 146-161). Palgrave Macmillan UK.

Ito, M., Okabe, D., & Tsuji, I. (Eds.). (2012). Fandom unbound: otaku culture in a connected world. Yale University Press.

Xie, W. (2014). Japanese Idols in Trans-Cultural Reception: The Case of AKB48. Virginia Review of Asian Studies, 16, 74-101.

Grassmuck, V. (2016). I'm alone, but not lonely. Retrieved November 21 2017, from http://www.vgrass.de/wp-content/uploads/2011/01/901200_Otaku-alone_Mediamatic.pdf.

Kiuchi, Y. (2017). Idols You Can Meet: AKB48 and a New Trend in Japan's Music Industry. The Journal of Popular Culture, 50(1), 30-49.

facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page