top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

ผู้ให้คำปรึกษาควรระวัง! ผลกระทบจากบาดแผลทางใจมือสอง (Secondary Traumatization)



ผู้ให้คำปรึกษาหลายท่านมักจะพบเจอปัญหาว่า ผู้รับคำปรึกษามาพบด้วยปัญหาหนักอกหนักใจ และความเครียดมหาศาล แต่เมื่อเขาได้พูดคุยกับเรา เขาก็เบาใจ พบทางสว่าง และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขมากขึ้น เหมือนเรื่องจะจบด้วยดีใช่ไหมคะ แต่เดี๋ยวก่อน! แม้ว่าผู้รับคำปรึกษาจะ Move on ไปใช้ชีวิตของเขาแล้ว


แต่ผู้ให้คำปรึกษาอย่างเราที่แต่ละวันต้องให้คำปรึกษาอย่างน้อย 3 รายต่อวัน กลับจมอยู่ในความทุกข์ใจ ความเครียด ความเศร้า ทั้ง ๆ ที่ชีวิตส่วนตัวเราไม่ได้พบเจอความเดือดร้อนใด ๆ เลย นั่นแสดงว่าเรากำลังเผชิญหน้ากับของฝากจากผู้รับคำปรึกษาที่ชื่อว่า “แผลทางใจมือสอง” ค่ะ


โดยแผลทางใจมือสอง หรือในคำศัพท์จิตวิทยา เรียกว่า Secondary Traumatization ก็คือ

ความเครียดของผู้ให้คำปรึกษาที่เกิดจากการรับรู้ประสบการณ์ความเจ็บปวด หรือรับรู้บาดแผลทางใจของผู้รับคำปรึกษา จนก่อให้เกิดความรู้สึกกดดัน เศร้า วิตกกังวล ทุกข์ทรมานใจ โดยที่เราไม่รู้ตัว


และความรู้สึกทางลบที่เกิดขึ้นมาเหล่านั้นส่งผลให้เกิดปัญหาทางอารมณ์และพฤติกรรมตามมา เช่น ใจสั่น รับประทานอาหารไม่ลง มวนท้อง นอนไม่หลับ ฝันร้าย เป็นต้น ซึ่งตามตำราจิตวิทยานั้นได้ระบุอาการของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากบาดแผลทางใจมือสอง (Secondary Traumatization) ดังนี้


1. วิตกกังวลต่อบางเรื่องมากเกินไป

เมื่อเรารับรู้เรื่องราวที่กระทบจิตใจของผู้รับคำปรึกษาบางประการ เช่น การถูกทำร้ายร่างกาย การถูกทำร้ายจิตใจ ทั้งจากคนที่รู้จักก็ตาม หรือไม่รู้จักก็ตาม จะส่งผลให้เรามีความวิตกกังวลต่อความปลอดภัยในการใช้ชีวิต โดยมีความหวาดระแวงคนรอบข้าง และคนในครอบครัวโดยไม่รู้ตัว


2. สับสนทางความคิด

ผู้ให้คำปรึกษาหรือนักจิตวิทยาที่ได้รับผลกระทบจากบาดแผลทางใจมือสอง (Secondary Traumatization) บางครั้งจะแสดงออกโดยการไม่กล้าตัดสินใจในบางเรื่อง ทั้ง ๆ ที่โดยปกติจะสามารถตัดสินใจได้โดยง่าย นั่นก็เพราะเราเชื่อมโยงเหตุการณ์ที่เราตัดสินใจกับเรื่องราวร้าย ๆ หรือปัญหาหนักใจที่เราได้รับฟังมานั่นเอง


3. มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ

บ่อยครั้งที่ผู้ได้รับผลกระทบจากบาดแผลทางใจมือสอง (Secondary Traumatization) จะแสดงออกโดยการนอนไม่หลับ หลับไม่สนิท ฝันร้าย จนทำให้ร่างกายเหนื่อยล้า อ่อนเพลียโดยไม่ทราบสาเหตุ เมื่อสะสมมากเข้าก็จะทำให้เราเจ็บป่วยทางร่างกาย และเสียสุขภาพจิตในที่สุด


4. ไม่ไว้วางใจบางคน หรือบางอาชีพโดยไม่มีเหตุผล

ในกรณีที่ผู้ให้คำปรึกษาต้องดูแลผู้รับคำปรึกษาที่ประสบเหตุคล้าย ๆ กันจำนวนมาก และต่อเนื่องเป็นเวลานาน เช่น ผู้ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกข่มขืน ข่มขู่ ทำร้ายจิตใจ ถูกกักขังหน่วงเหนี่ยว เราซึ่งเป็นผู้ให้คำปรึกษาจะเกิดความไม่ไว้วางใจ มีอคติทางลบต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง หรืออาชีพที่เกี่ยวข้องโดยไม่รู้ตัว


5. ขาดสมาธิ หรือไม่สามารถจดจ่อกับงานได้

เมื่อผู้ให้คำปรึกษารับเรื่องราวความทุกข์มาก ๆ เข้า จิตใจก็จะไปผูกอยู่กับเรื่องราวของผู้รับคำปรึกษาแต่ละคน จนทำให้ไม่สามารถตั้งสมาธิจดจ่ออยู่กับงานได้ ส่งผลให้การทำงานล่าช้า หรือผิดพลาดบ่อยกว่าปกติ


6. ดูแลตนเองลดลง หรือใส่ใจตนเองลดลง

การที่ผู้ให้คำปรึกษามีความ Sympathy หรือสงสารผู้รับคำปรึกษา มากกว่ามี Empathy คือ ความเห็นอกเห็นใจ จะส่งผลให้เราอินไปกับเรื่องราวของเขา ประหนึ่งว่าเป็นเรื่องราวของเราเอง จนทำให้เราสนใจเพียงแต่จะแก้ปัญหา หรือเยียวยารักษาเขา จนไม่ได้สนใจความเป็นอยู่ หรือดูแลตัวเองเท่าที่ควร


7. อารมณ์แปรปรวน มีพฤติกรรมก้าวร้าว

หากคุณซึ่งเป็นผู้ให้คำปรึกษาสังเกตตัวเองว่าคนรอบข้างเริ่มทิ้งระยะห่างจากคุณ หรือมีอาการหัวร้อนง่าย อ่อนไหวบ่อย มีอารมณ์แปรปรวน โมโหร้าย เกรี้ยวกราดมากกว่าปกติ อาจเป็นไปได้ว่าเป็นผลมาจากแผลทางใจมือสองที่ได้รับมาจากการทำงาน เพราะนั่นคือสัญญาณว่าร่างกายกำลังระบายของเสีย หรือความรู้สึกทางลบที่อัดแน่นในใจเราออกมา


8. ปวดหัว มวนท้อง คลื่นไส้ มีปัญหาเรื่องการรับประทานอาหาร

แผลทางใจมือสองสามารถส่งผลให้ผู้ให้คำปรึกษามีความเครียดสูงจนรับประทานอาหารไม่ลง หรือรับประทานอาหารมากขึ้น หรือมวนท้อง คลื่นไส้ มีอาการเจ็บป่วยทางกายโดยหาสาเหตุไม่ได้ หากผู้ให้คำปรึกษาไม่ทันสังเกตว่าสาเหตุมาจากการทำหน้าที่ของตนเอง ก็อาจคิดว่าเป็นโรคทางกายและไปรักษาไม่ถูกจุด


หากผู้ให้คำปรึกษาท่านใดมีอาการข้างต้นมากกว่า 5 ข้อขึ้นไป ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาก็ได้ให้คำแนะนำสำหรับการดูแลรักษาอาการจากผลกระทบจากบาดแผลทางใจมือสอง (Secondary Traumatization) ดังนี้


1. Trauma - focused cognitive behavioral therapy (TF-CBT)

เป็นการรักษาบาดแผลทางใจที่ใช้หลักการของ Cognitive Behavioral Therapy (CBT) ระยะสั้น คือ การทำจิตบำบัดเพื่อให้เข้าใจถึงความคิด ความเชื่อ หรือการรับรู้ของตนเองที่อาจผิดเพี้ยนไปจากความจริง และสามารถจัดการสภาวะอารมณ์และกระบวนการคิดที่เป็นปัญหา ก่อนจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้กลับมาเป็นปกติ


2. Trauma release exercise (TRE)

TRE เป็นการทำจิตบำบัดโดยการออกกำลังกายเพื่อช่วยให้ร่างกายผ่อนคลายกล้ามเนื้อที่ตึงอันเนื่องมาจากความเครียดจากบาดแผลทางใจมือสอง โดยเป็นการออกกำลังกายเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้ออย่างเป็นธรรมชาติ อีกทั้งยังช่วยให้สมองหลั่งสารโดพามีน (Dopamine) ซึ่งช่วยให้จิตใจรู้สึกดี และ ทำให้ร่างกายกลับสู่ภาวะสมดุลอย่างรวดเร็ว


การเป็นผู้ให้คำปรึกษานั้นเป็นหน้าที่ที่สำคัญต่อการรักษาสุขภาพจิตและสมดุลชีวิตของผู้รับคำปรึกษา เพราะเราสามารถสร้างความหวัง นำพาเขาจากที่แคบสู่ที่กว้าง จากที่มืดสู่ที่สว่าง แต่ก็ควรระวังความเสี่ยงในอาชีพที่อาจเกิดขึ้นได้ คือ ผลกระทบจากบาดแผลทางใจมือสอง (Secondary Traumatization) โดยการสังเกตตนเองตามข้อมูลที่ได้นำเสนอข้างต้น และรักษาสุขภาพกายและใจของตนเอง เพื่อที่จะได้ทำมีแรงกายแรงใจมาช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป


หากคุณต้องการพัฒนาตนเองให้กลายเป็นที่ปรึกษาที่เข้าอกเข้าใจตนเองและผู้คนมากขึ้น เพื่อปรับใช้ในการทำงาน ครอบครัว และในชีวิตประจำวัน คุณสามารถสมัครเรียน "หลักสูตรนักให้คำปรึกษากับนักจิตวิทยา" จาก iSTRONG ได้ที่นี่



หรือหากคุณต้องการพัฒนาภาวะผู้นำ สู่การเป็นผู้นำที่ใช้ "หัวใจ" ทาง iSTRONG ก็ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของอนาคตของผู้นำ จึงได้ออกแบบ "คอร์ส Heart-to-Heart Leadership" ที่จะพัฒนาให้คุณเป็น "ผู้นำ" ที่ใช้ "หัวใจ" อย่างแท้จริง


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

  • คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

บทความแนะนำ :


อ้างอิง :

1. A day bulletin. (11 สิงหาคม 2564). Explore to Trauma สำรวจบาดแผลภายใน เพื่อก้าวผ่านความทุกข์ใจไปสู่ความสุขสม. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 15 มิถุนายน 2566 จาก https://adaybulletin.com/know-health-and-heart-explore-to-trauma/59587

2. The National Child Traumatic Stress Network. (n.d.). Secondary Traumatic Stress. [Online]. From : https://www.nctsn.org/trauma-informed-care/secondary-traumatic-stress

3. ศูนย์สุขภาพจิต เดอะดอว์น เชียงใหม่. (มปป.). บาดแผลทางใจในวัยเด็ก สาเหตุ, อาการ และวิธีการบำบัดรักษาที่จะช่วยให้เราเดินก้าวไปข้างหน้าได้. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 15 มิถุนายน 2566 จาก https://thedawnwellnesscentre.co.th/blog/childhood-trauma/

 

จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page