Thunderbolts*: จะทำอย่างไรเมื่อคุณรู้สึกว่าชีวิตไม่มีจุดหมายอีกต่อไป?
- Chanthama Changsalak
- May 15
- 2 min read

“จะทำอย่างไรเมื่อคุณรู้สึกว่าชีวิตไม่มีจุดหมายอีกต่อไป?” เป็นคำถามที่เป็นโจทย์ใหญ่ในชีวิตของใครหลาย ๆ คน ตามทฤษฎีจิตวิทยาได้อธิบายว่า หากบุคคลไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับบุคคลอื่น หรือไม่สามารถทำสิ่งที่มีความหมายได้ อาจรู้สึกถึง Stagnation หรือความซบเซาของชีวิต ส่งผลให้รู้สึกว่า “ชีวิตไม่มีจุดหมาย”
ซึ่งสามารถนำไปสู่ภาวะที่เรียกว่า Existential vacuum หรือ “สุญญากาศทางการดำรงอยู่” โดยจะแสดงออกในรูปแบบของความเบื่อหน่าย ความรู้สึกว่างเปล่า ชีวิตไม่มีจุดหมาย จนนำไปสู่ภาวะ Dead inside หรือภาวะว่างเปล่าทางความรู้สึก แบบอยู่ก็ได้ ตายก็ดี ใช้ชีวิตไปวัน ๆ เพื่อรอวันสุดท้ายที่ไม่รู้ว่าเมื่อไรจะมาถึง
การใช้ชีวิตภายใต้คำถามที่ว่า “จะทำอย่างไรเมื่อคุณรู้สึกว่าชีวิตไม่มีจุดหมายอีกต่อไป?” ถูกแสดงออกมาให้เราเห็นอย่างเป็นรูปธรรมผ่านภาพยนตร์เรื่อง Thunderbolts*ภาพยนตร์ของเราฮีโร่ตกชั้น แต่ต้องมารวมตัวกันเพื่อเอาชีวิตรอดจากสถานการณ์บีบบังคับ จนกลายเป็นทีมฮีโร่ Underdog ที่แต่ละคนชีวิตไม่มีจุดหมาย ใช้ชีวิตไปวัน ๆ อย่างไร้ค่า
ไม่ว่าจะเป็น Yelena น้องสาวบุญธรรมของ Black Widow ที่หลังจากสูญเสียพี่สาว ก็เหมือนว่าชีวิตเธอสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง หรือ Bob ชายหนุ่มปริศนาที่มีปัญหาครอบครัว แม่ป่วยเป็นจิตเภท พ่อชอบใช้ความรุนแรง ส่วนตัวเองก็ติดยาเสพติด รวมไปถึง John Walker หรือกัปตันอเมริกันก๊อปเกรด A ที่หลังจากถูกปลดฟ้าฝ่าจากตำแหน่ง U.S. Agent ชีวิตก็เสียศูนย์
และ Ava Starr หรือที่รู้จักในนาม Ghost สาวผู้มีพลังหายตัวได้ ซึ่งเกิดจากการทดลองผิดพลาดของคุณพ่อของเธอ ที่ทำให้เธอต้องกลายเป็นเด็กกำพร้าที่ดันได้พลังวิเศษมา แต่ก็ถูกผู้ใหญ่ใจร้ายหลอกให้ทำเรื่องผิด ๆ จนเป็นตราบาปที่กัดกินจิตใจเธอเรื่อยมา
ถึงแม้ว่าในทีม Thunderbolts* จะยังพอมีคนที่ดูจะมีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจอยู่บ้างอย่าง Bucky เพื่อนสนิทของกัปตันอเมริกัน ผู้ซึ่งพยายามหาที่ทางของตนเอง และพยายามหลุดพ้นจากตราบาปของการเป็น Winter Soldier ในอดีต และ Alexei หรือ Red Guardian คุณพ่อบุญธรรมของ Yelena ที่มุ่งหวังว่าสักวันจะกลับมายิ่งใหญ่ จะกลับมามีแสงในตัวเองอีกครั้ง
แต่ทั้ง Bucky และ Alexei ต่างก็ใช้ชีวิตแบบติดกับดักที่ว่า “ฉันดีไม่พอ” จนส่งผลให้ทั้งสองมักจะมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับผู้คนรอบข้าง เมื่อเหล่าคนว่างเปล่า เว้าแหว่ง กลวงโบ๋มารวมตัวกัน กลับกลายเป็นว่า ทั้ง 6 คนกลับเป็นส่วนที่ขาดที่มาเติมเต็มกันและกัน จนนำไปสู่คำตอบของคำถามที่ว่า “จะทำอย่างไรเมื่อคุณรู้สึกว่าชีวิตไม่มีจุดหมายอีกต่อไป?” ดังนี้
ฝึกสติและการยอมรับในสิ่งที่เป็น
สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยากล่าวว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ยากที่สุด แต่สำคัญที่สุดในการรักษาแผลใจ คือ การยอมรับต่อปัญหาที่เกิด เหมือนที่เหล่า Thunderbolts* ได้สูญเสียจนเสียศูนย์ เมื่อเราสามารถยอมรับได้ว่าชีวิตมีการเปลี่ยนแปลง แล้วให้เราค่อย ๆ อยู่กับมันอย่างมีสติ อยู่กับปัจจุบันขณะ
สำรวจสิ่งที่มีอยู่ และใช้ชีวิตโดยไม่ทำร้ายตนเองเพิ่ม รวมถึงตระหนักอยู่เสมอว่าชีวิตเรายังมีค่า ยังทำประโยชน์ต่อสวนรวมได้ เรายังมีชีวิตอยู่ เท่ากับเรายังมีโอกาสที่จะสร้างความสุขให้ตนเอง เราไม่สามารถย้อนเวลากลับไปแก้ไขอดีตได้ แต่เรายังมีปัจจุบันที่สามารถใช้อย่างคุ้มค่า เพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่าเดิมได้
ค้นหาความหมายของชีวิต
เหตุผลหลักที่ผู้คนรู้สึกว่าชีวิตไม่มีจุดหมาย เพราะเขาไม่เข้าใจความหมายของชีวิต มองไม่เห็นคุณค่าของการมีชีวิต ไม่รู้ว่าตัวเองอยู่เพื่ออะไร จึงกลายเป็นใช้ชีวิตไปวัน ๆ บางคนก็ใช้แบบไม่คำนึงถึงผลที่จะตามมาในอนาคต เพราะเขาไม่เห็นอนาคตของเขาเอง
โดย Viktor Frankl ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา เชื่อว่า ความทุกข์ของมนุษย์จะเบาลงได้ เมื่อเราค้นพบความหมายของมัน (Meaning) ดังนั้นเมื่อรู้สึกไร้จุดหมาย เราควรหันไปตั้งคำถามว่า “อะไรคือสิ่งที่ฉันให้คุณค่า” หรือ “อะไรคือสิ่งที่ทำให้ฉันมีค่า”
ทั้งนี้ การค้นหาความหมายของชีวิตไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งยิ่งใหญ่ แต่อาจอยู่ในความสัมพันธ์ การทำงาน หรือการช่วยเหลือผู้อื่น ดังที่ชาวแก๊ง Thunderbolts* ตัดสินใจใช้พลังของตัวเองในการปกป้องชาวเมืองเมื่อเกิดภัย รวมถึงปกป้องกันและกันด้วยพลังกายน้อยนิด แต่พลังใจอันยิ่งใหญ่ จนโลกปลอดภัยได้อีกครั้ง
มองหามุมบวกในชีวิต
ตัวละครที่บอบช้ำทางจิตใจมากที่สุดในบรรดา Thunderbolts* ต้องยกให้ Bob ชายที่คิดว่าชีวิตไม่มีอะไรจะเสีย จึงเสี่ยงตายไปเป็นหนูทดลองให้โครงการ Sentry แต่ด้วยความไม่สมบูรณ์ทางจิตใจ จึงทำให้แทนที่โลกจะมีซุปเปอร์ฮีโร่คนใหม่ กลายเป็นได้สุดยอดตัวร้ายที่ใครก็เอาไม่ลงมาแทน
แต่ถึงอย่างนั้น Bob ก็ยังพยายามที่จะใช้ชีวิต โดยการหามุมที่สงบที่สุดในจิตใจและตัดขาดจากโลกภายนอก ซึ่งวิธีการนี้กลับทำให้ปัญหามันกัดกร่อนจิตใจจนก่อให้เกิดโรคทางจิตเวชเรื้อรัง จึงทำให้เราเกิดคำถามว่า แล้ว “การมองบวก” ต้องเป็นแบบไหน
ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาก็ได้แนะนำว่า ชีวิตที่ดี (Flourishing) คือ ชีวิตที่ได้รับการเติมเต็มความรู้สึก มีจุดหมายผ่านการมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่มีคุณค่า และการเป็นส่วนหนึ่งของบางสิ่งที่ใหญ่กว่าตนเอง เช่น ครอบครัว ชุมชน หรืออุดมการณ์ เหมือนที่ Thunderbolts* กลายเป็นครอบครัวใหม่ของ Bob ที่ทำให้ Bob เกิดอุดมการณ์ที่จะปกป้องโลก และเป็นคนที่ดีกว่าเดิมขึ้นมา
สร้างความผูกพันกับบางคน หรือบางสิ่ง
การสร้างความผูกพันกับบางคน หรือบางสิ่งค่อนข้างเป็นดาบสองคม ดังที่เกิดขึ้นกับ Yelena ที่เธอยึด Natasha Romanoff พี่สาวบุญธรรมของเธอเป็นทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต เมื่อมีพี่เธอพยายามเป็นคนที่ดีกว่าเดิม แต่เมื่อเธอเสียพี่ไปเธอจึงหมดสิ้นทุกอย่าง
นั่นจึงทำให้ Yelena ต้องสร้างความผูกพันใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม ผ่านการเป็น Thunderbolts* ที่มีบทบาทในการปกป้องโลก และเยียวยาจิตใจสมาชิกทีมไปพร้อมกัน ดังที่ Erik Erikson เจ้าพ่อทฤษฎีจิตวิทยาพัฒนาการ อธิบายไว้ว่า
หากบุคคลไม่สามารถสร้างความผูกพันกับผู้อื่น หรือไม่มีความรู้สึกว่าตนได้ “ก่อเกิดสิ่งที่มีความหมาย” (Generativity) จะเกิดความรู้สึกว่างเปล่า ส่งผลให้ชีวิตเดียวดายและใช้ชีวิตอย่างไร้คุณค่า
ขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น
แม้ว่าสมาชิกของ Thunderbolts* ต่างคนต่างแบกปัญหาหนักอึ้งไว้เต็มบ่า จนมันกดทับจิตใจ แต่ทุกคนก็ไม่เคยไปขอความช่วยเหลือจากใคร ปล่อยให้ความรู้สึกถูกทำร้ายแบบเรื้อรัง จนเกิดเป็นบุคลิกภาพต่อต้านสังคม (Antisocial Personality Disorder)
จนเมื่อมารวมทีมเป็น Thunderbolts* โดยไม่ได้นัดหมาย การเป็นว่าคนบกพร่อง 6 คนมาแบ่งปันความเจ็บปวด มาแชร์ประสบการณ์โหดร้าย และได้เจอคนที่มีประสบการณ์ร่วมคล้าย ๆ กัน ได้เปิดใจพูดคุยกัน และกล้าที่จะยอมรับบาดแผลใจของตนเองและเพื่อนร่วมทีม จนเกิดเป็นประโยคที่แสนจะซึ้งใจว่า “เธอไม่ได้โดดเดี่ยว”
เมื่อกลับมาพิจารณาคำถามที่ว่า “จะทำอย่างไรเมื่อคุณรู้สึกว่าชีวิตไม่มีจุดหมายอีกต่อไป?” โดยส่วนตัวมองว่าเป็นคำถามที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะใช้ชีวิต แม้จะเกิดวิกฤตในการหาเป้าหมายชีวิตไม่เจอ
แต่ก็ยังพยายามแก้ไขปัญหาโดยการตั้งคำถามเพื่อให้ชีวิตไปต่อไปได้ ในนามของ iSTRONG ขอเป็นกำลังใจและส่งบทความจิตวิทยานี้เป็นตัวแทนในการเคียงข้างให้ผู้ที่กำลังค้นหาจุดหมายในชีวิต พบแสงสว่างและมีความสุขในการใช้ชีวิตต่อไปนะคะ
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความแนะนำ
อ้างอิง
1. American Psychological Association. (2023).
Seeking therapy. https://www.apa.org/topics/psychotherapy/seek
2. Erikson, E. H. (1968).
Identity: Youth and crisis. W. W. Norton & Company.
3. Frankl, V. E. (1985).
Man’s search for meaning (Rev. ed.). Washington Square Press.
4. Hayes, S. C., Strosahl, K. D., & Wilson, K. G. (2012).
Acceptance and commitment therapy: The process and practice of mindful change (2nd ed.). Guilford Press.
5. Seligman, M. E. P. (2011).
Flourish: A visionary new understanding of happiness and well-being. Free Press.
ประวัติผู้เขียน
จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตจิตวิทยาคลินิกจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้