top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

5 ความเข้าใจผิดกับการให้คำปรึกษาผู้เป็นซึมเศร้า



หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีคนที่คุณรักเป็นโรคซึมเศร้า เชื่อได้ว่าคุณย่อมอยากเห็นเขามีความสุขและหายจากอาการของโรคซึมเศร้าได้สักที ซึ่งหลายคนก็คงมีประสบการณ์ในการให้คำปรึกษาคนใกล้ชิดที่เป็นโรคซึมเศร้ากันมาแล้ว อย่างไรก็ตาม บางครั้งญาติหรือคนใกล้ชิดของคนที่เป็นโรคซึมเศร้าอาจจะเกิดความรู้สึกท้อใจจากการให้คำปรึกษาคนที่เป็นโรคซึมเศร้าขึ้นมาได้ เพราะแม้ว่าจะตั้งใจให้คำปรึกษาด้วยเจตนาดีมากแค่ไหน พยายามนำเสนอสิ่งดี ๆ ให้กับเขามากเท่าไหร่ แต่คนที่เป็นโรคซึมเศร้ากลับมองว่าเราไม่เข้าใจเขา ในบทความนี้มีคำตอบให้คุณว่ามันเป็นเพราะอะไร


คุณเคยทำสิ่งนี้กับคนที่เป็นโรคซึมเศร้าบ้างหรือเปล่า?


1. คุณพูดกับเขาในทำนองให้เขาสู้ชีวิต

อาจเพราะคนเป็นโรคซึมเศร้ามักมีอาการเหมือนไม่สู้ชีวิต เช่น ไม่อยากไปทำงาน ต้องการนอนทั้งวัน ไม่อยากพบเจอผู้คน ทำให้คนทั่วไปมองว่าทำไมไม่สู้ชีวิตบ้างเลย จึงพยายามที่จะพูดกระตุ้นให้ผู้ป่วยมีพฤติกรรมกระตือรือร้นบ้าง แต่ในความจริงนั้น สภาพจิตใจและร่างกายของผู้ป่วยไม่ได้เอื้ออำนวยให้มีพฤติกรรมกระตือรือร้นหรือร่าเริงเลย


ทำให้แม้แต่การลุกจากเตียงนอนไปแต่งตัวออกจากบ้านก็เป็นเรื่องที่ผู้ป่วยต้องต่อสู้กับตัวเองมากแล้ว ดังนั้น เมื่อคุณไปพูดในทำนองให้เขาสู้ชีวิต เช่น “ยังมีคนที่ชีวิตแย่กว่าเธออีกเยอะเลยนะ” “คนพิการเขายังไม่เคยคิดฆ่าตัวตาย” หรือแม้แต่คำพูดกันโดยทั่วไปอย่าง “สู้ ๆ นะ” ผู้ป่วยก็จะเกิดความรู้สึกว่า “ฉันสู้กับชีวิตจนเหนื่อยอยู่ทุกวันจนแทบจะทนต่อไปไม่ไหวแล้ว ทำไมคนอื่นถึงเอาแต่บอกให้ฉันสู้อีก”


2. คุณแสดงออกเหมือนไม่เชื่อว่าเขาเป็นโรคซึมเศร้าจริง ๆ

แม้จะถูกเรียกว่า “โรคซึมเศร้า” แต่อาการของคนที่เป็นโรคซึมเศร้าไม่ได้มีแค่เศร้าหรือซึม แต่ผู้ป่วยสามารถมีบางช่วงเวลาที่ร่าเริง มีความสุข ใช้ชีวิตได้ปกติ โดยเฉพาะในเวลาที่อาการสงบ ในอีกทางหนึ่งคือผู้ป่วยพยายามที่จะเก็บซ่อนใบหน้าที่เศร้าหมองเอาไว้เพราะไม่อยากทำให้คนรอบข้างเศร้าไปด้วยหรือไม่อยากเป็นภาระของคนอื่น จึงอาจทำให้คนทั่วไปเผลอพูดกับคนที่เป็นโรคซึมเศร้าว่า “นี่เธอเป็นโรคซึมเศร้าจริง ๆ เหรอ ไม่เห็นจะดูเศร้าเลย”


3. คุณเผลอตำหนิที่เขามีความคิดทางลบ

อาการหนึ่งที่เด่นชัดที่สุดของโรคซึมเศร้าคือการมองตนเอง โลก และผู้คนไปในทางลบ หากไม่เคยศึกษาปัจจัยของการเกิดโรคซึมเศร้าก็อาจจะทำให้อดไม่ได้ที่จะคิดว่าทำไมถึงคิดลบจัง ถึงแม้การคิดลบจะเป็นเหตุปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้ แต่ในทางกลับกันโรคซึมเศร้าก็ทำให้เกิดความคิดลบได้เหมือนกัน


ซึ่งในส่วนของการคิดลบนั้น ผู้ป่วยเองก็ตระหนักดีว่าตนเองเป็นคนที่มีความคิดทางลบแต่ก็ไม่รู้ว่าจะทำยังไงให้ไม่คิดแบบนั้น ดังนั้น การพูดว่า “เธอคิดไปเองทั้งนั้น” หรือ “หัดคิดบวกซะบ้างสิ” มันจึงเป็นการสะท้อนว่าผู้พูดไม่ได้เข้าใจสถานการณ์เลยว่าผู้ป่วยไม่รู้จะทำยังไงจริง ๆ ที่จะให้ตัวเองไม่คิดลบ


4. คุณไม่ได้ฟังอารมณ์ของเขา

คนที่เป็นโรคซึมเศร้ามักมีอารมณ์เกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะความรู้สึกผิดและความละอาย ซึ่งอารมณ์เหล่านี้เองที่มักนำไปสู่พฤติกรรมทำร้ายตัวเองและฆ่าตัวตาย หากคุณฟังเพียงเพื่อที่จะพูดอะไรความคิดเห็นของคุณตอบกลับไป คุณก็จะไม่ได้ฟังอารมณ์ของผู้ป่วย ซึ่งหมายความว่าคุณจะไม่สามารถเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของเขา และตรงนี้เองที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าคุณไม่ได้เข้าใจเขาเลย เช่น


ผู้ป่วย “วันนี้โดนหัวหน้าด่ามาอีกแล้ว ทำไมนะทำไมเราต้องมาเจออะไรแบบนี้ทุกวัน มันบั่นทอนเหลือเกิน”

คุณ “หัวหน้าด่าทุกวันอาจจะแปลว่าใส่ใจก็ได้นะ ลองมองในแง่บวกแล้วเอาคำด่ามาพัฒนาตัวเองสิ”


จากประโยคข้างบนมันก็เป็นข้อเท็จจริงนะ แต่มันไม่มีส่วนไหนเลยที่แสดงถึงความเข้าใจผู้ป่วย แต่หากคุณฟังอารมณ์ของเขาคุณก็จะรับรู้ได้ว่า เขาคงรู้สึกเสียใจน่าดู เป็นใครโดนด่าทุกวันก็คงจะไม่ไหว


5. คุณสอนสัจธรรมให้เขา

สัจธรรม แปลว่า ความจริงแท้ ซึ่งแน่นอนมันก็คือความจริงของชีวิต แต่สำหรับคนที่เป็นโรคซึมเศร้าแล้วเขายังไม่ได้ต้องการเข้าใจความจริงของชีวิตแต่เขาต้องการคนที่เข้าใจเขา หากคุณใจร้อนอยากให้ผู้ป่วยเข้าใจชีวิตก่อนที่จะให้ความเข้าใจผู้ป่วยด้วยการยกคำคมขึ้นมา เช่น "This too shall pass." “ชีวิตก็แบบนี้แหละ ปลงซะบ้างแล้วจะมีความสุข” หรือ “เดี๋ยวมันก็ผ่านไป” นอกจากจะไม่ช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้นแล้ว อาจยิ่งไปทำให้อาการของเขาแย่ลงอีกด้วย


อย่างไรก็ตาม การดูแลคนที่เป็นโรคซึมเศร้านั้นไม่ง่ายเลย เพราะญาติหรือคนใกล้ชิดจะต้องปรับตัวและทำความเข้าใจผู้ป่วยให้มาก ซึ่งญาติและคนใกล้ชิดเองก็ยังคงเป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งที่ไม่ได้มีพลังชีวิตมากมายตลอด 24 ชั่วโมงสำหรับใช้ support ผู้ป่วย ดังนั้น สิ่งที่ควรตระหนักและให้ความสำคัญมากที่สุดในการให้คำปรึกษาก็คือการ ‘ดูแลจิตใจตัวเอง’ ฝึกการตระหนักรู้ในตนเองว่าขีดจำกัดมีอยู่แค่ไหน


ตอนนี้ตัวเองเครียดเกินกว่าที่จะให้คำปรึกษาหรือไม่ เพราะหากคุณไม่ตระหนักรู้ในตนเองและไม่ได้กำหนดขอบเขต (set boundary) ให้ตัวเองเลย คุณอาจจะเหนื่อยหรือเครียดเกินไปจนเผลอพูดหรือทำอะไรที่เป็นการทำร้ายจิตใจของผู้ป่วยออกมา นอกจากนั้น คุณเองก็สามารถสลับไปเป็นผู้รับการช่วยเหลือได้เหมือนกัน


หากคุณดูแลคนอื่นจนเครียดหรือทุกข์ใจก็สามารถมองหาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเพื่อรับการช่วยเหลือได้ เปรียบเสมือนคุณอยู่ในสภาวะไม่แข็งแรง หากกระโดดลงไปช่วยคนตกน้ำก็อาจจะทำให้แย่ทั้งคู่ จำเป็นต้องเรียก Lifeguard เข้ามาช่วยแทน


และหากคุณต้องการพัฒนาตนเองให้กลายเป็นที่ปรึกษาที่เข้าอกเข้าใจตนเองและผู้คนมากขึ้น เพื่อปรับใช้ในการทำงาน ครอบครัว และในชีวิตประจำวัน คุณสามารถสมัครเรียน "หลักสูตรนักให้คำปรึกษากับนักจิตวิทยา" จาก iSTRONG ได้ที่นี่

อ้างอิง



 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

[1] The Worst Things to Say to Someone Who Is Depressed. Retrieved from. https://www.verywellmind.com/worst-things-to-say-to-someone-who-is-depressed-1066982

[2] ปลดล็อกกับหมอเวช EP.270 โรคซึมเศร้ารักษาหายได้หรือไม่. Retrieved from. https://www.youtube.com/watch?v=mMqjUTJd7uI&t=2235s


บทความที่เกี่ยวข้อง

[1] ‘โรคซึมเศร้า’ ราคาที่ต้องจ่ายของผู้ประกอบการและนักธุรกิจ https://www.istrong.co/single-post/depression-entrepreneur

[2] 4 วิธีอยู่ร่วมกันกับเพื่อนร่วมงานเป็น ”โรคซึมเศร้า” อย่างเข้าใจ https://www.istrong.co/single-post/4-ways-to-live-together-with-coworkers-understandably-depression

[3] เราจะอยู่อย่างไร? กับคนเป็นโรคซึมเศร้าที่มีการทำร้ายตนเอง https://www.istrong.co/single-post/how-do-we-live-with-a-self-harming-depression

 

ประวัติผู้เขียน

นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) ปริญญาโทสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา (คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็น นักจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (พ.ศ. 2555 – ปัจจุบัน)

และเป็นนักเขียนของ iSTRONG


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page