top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

‘โรคซึมเศร้า’ ราคาที่ต้องจ่ายของผู้ประกอบการและนักธุรกิจ



คำว่า ‘นักธุรกิจ’ ‘เจ้าของกิจการ’ ‘เจ้าของธุรกิจ’ ‘ผู้ประกอบการ’ หรือ ‘ทำธุรกิจส่วนตัว’ กลายเป็นความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ในหมู่คนทำงาน และมักจะเป็นปลายทางความฝันของคนทำงานหลาย ๆ คน รวมทั้งนักศึกษาจบใหม่ในยุคนี้ ซึ่งในปี 2563 ผลการสำรวจอาชีพในฝันของเด็กไทยเอง อาชีพผู้ประกอบการก็ติดอันดับ 1 ใน 10 เช่นกัน แต่หารู้ไม่ว่าบางคนมีราคาที่ต้องจ่ายคือปัญหาสุขภาพจิต เช่น โรคซึมเศร้า


ด้วยภาพของไอดอลที่ประสบความสำเร็จถึงขีดสุดของผู้ประกอบการหลาย ๆ คน อย่าง Mark Zuckerberg, Elon Musk, Jeff Bezos, หรือบรรดาผู้ก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพทั้งหลายแหล่ ทำให้คนจำนวนมากใฝ่ฝันและวางแผนเส้นทางเพื่อเดินไปในถนนสายเดียวกันนั้นเช่นกัน เพื่อหวังว่าตัวเองจะกลายเป็นคนประสบความสำเร็จอย่างสูงคนต่อไป และร่ำรวยกลายเป็นมหาเศรษฐี แล้วได้เกษียณตัวเองในวัยหนุ่มสาว เพื่อออกไปทำตาม Passion ของตัวเองในช่วงชีวิตที่เหลือ … เท่และคูลเหลือเกิน


แต่ในความจริงแล้ว ทุกอย่างคือเหรียญสองด้าน การมองอาชีพผู้ประกอบการในทางโรแมนติค เท่ สวยงาม และประสบความสำเร็จเพียงด้านเดียวเป็นเรื่องอันตราย เพราะอาชีพนี้ก็มี “ราคาที่ต้องจ่าย” เช่นกัน


----------


"An entrepreneur is someone who jumps off a cliff and builds a plane on the way down." -- Reid Hoffman


“ผู้ประกอบการคือคนที่กระโดดลงจากหน้าผาสูงชันและต้องสร้างเครื่องบินให้ทันก่อนร่วงหล่นถึงพื้น” - รี้ด ฮอฟแมน นักลงทุน ผู้ประกอบการ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานบริหารของ Linkedin


----------


ด้วยเป้าหมายที่กดดัน การชี้วัดจากผลกำไรและตัวเลขการเติบโต รวมถึงบทบาทของผู้นำที่เข้มแข็งผู้นำทีมให้ฝ่าฟันอุปสรรคไปได้ รวมทั้งการให้ความสำคัญกับตรรกะและเหตุผล อาจเป็นเหตุให้บรรดาผู้ประกอบการทั้งหลายละเลยสัญญาณ อาการ และอารมณ์ความรู้สึกของตนเองไป พอรู้ตัวอีกทีทุกอย่างอาจย่ำแย่ลงในที่สุด


มีสถิติและการศึกษาที่น่าสนใจเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าและปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ ในผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเจ้าของธุรกิจ SMEs


ในปี 2015 มีงานวิจัยจาก Stanford, UC Berkeley, และ UC San Francisco สรุปว่า ผู้ประกอบการมากถึง 72% กำลังเผชิญปัญหาสุขภาพจิต และ 49% ที่ถูกวินิจฉัยว่ามีภาวะทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ และอื่น ๆ นั่นหมายถึงเกือบสามในสี่ของผู้ประกอบการที่กำลังต้องการความช่วยเหลือ


บทความใน forbes.com ได้บอกถึงตัวเลขความเสี่ยงที่น่าสนใจว่า อาชีพผู้ประกอบการมีความเสี่ยงในระดับ ...


  • 2 เท่าของคนทั่วไปในการเผชิญกับภาวะซึมเศร้า (Depression)

  • 3 เท่าของคนทั่วไปในการเสพติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือการใช้ยาอื่น ๆ (Addiction)

  • 6 เท่าของคนทั่วไปในการเผชิญกับภาวะสมาธิสั้น (ADHD)

  • 11 เท่าของคนทั่วไปในการเผชิญกับโรคสองขั้ว (Bipolar Disorder)


ภาวะปัญหาทางสุขภาพจิตในผู้ประกอบการมีสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเริ่มเห็นเป็นเรื่องธรรมดากัน โดยมีคำเรียกในฝั่งตะวันตกว่า “Founder Depression” หรือโรคซึมเศร้าของผู้ก่อตั้ง นั่นเอง แต่สิ่งที่น่ากังวลก็คือ บรรดาผู้ประกอบการเองกลับไม่ตระหนักและไม่รู้ตัวว่าตนเองกำลังเผชิญภาวะเหล่านี้อยู่ จนทำให้อาจมีวิธีแสดงออก ระบาย และรับมือแบบผิด ๆ เช่น การระบายอารมณ์ไปใส่คนอื่น การดื่มหนักจนเสพติด เป็นต้น


สิ่งที่ทำให้สังเกตอาการตนเองได้ยาก อาจเป็นเพราะหลาย ๆ สัญญาณมักถูกตีความว่าเป็นอาการปกติของความเครียด และการรับมือกับงานที่กดดันสูงเป็นเวลานาน ๆ ทำให้มีแนวโน้มว่าจะเพิกเฉยไม่ใส่ใจต่อสัญญาณเหล่านั้น เช่น นอนไม่หลับ หลับไม่สนิท วิตกกังวลในเรื่องต่าง ๆ นาน ๆ กระวนกระวาย มองโลกในแง่ร้าย หงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย และหมดความสนใจในกิจกรรมต่าง ๆ ที่เคยชอบ รวมทั้งบางคนอาจเบื่ออาหาร หรือร้องไห้ได้ง่าย ๆ อีกด้วย


เพราะอะไรผู้ประกอบการถึงเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตสูง


ด้วยภาระหน้าที่บีบคั้นและความคาดหวังอันหนักหน่วง ชีวิตของผู้ประกอบการโดยเฉพาะช่วงเริ่มต้นก่อตั้งกิจการนั้น ให้อารมณ์เหมือนนั่งรถไฟเหาะตีลังกา ผู้ประกอบการต้องเผชิญภาวะเดี๋ยวดี เดี๋ยวแย่ เดี๋ยวดีใจ เดี๋ยวกังวล สลับกันไปมาแบบนี้ ซึ่งหากเปรียบเป็นเส้นกราฟอารมณ์ ก็อาจจะขึ้นสุดลงสุด สลับขั้วแบบนี้จนน่าเวียนหัว


ในบทความของ forbes.com เองก็พูดถึงสาเหตุของปัญหาสุขภาพจิตของนักธุรกิจไว้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น:

  • ภาวะการแข่งขันที่รุนแรง

  • การตัดสินใจที่ต้องรวดเร็ว ทันเวลา ที่อาจบีบคั้นอย่างมาก

  • การต้องสร้างความเติบโตของธุรกิจท่ามกลางความท้าทาย

  • การต้องควบคุมต้นทุนและสร้างผลกำไร

  • การถูกปฏิเสธทั้งจากนักลงทุนและลูกค้า

  • การสูญเสียลูกค้า และส่วนแบ่งการตลาด

  • ความเครียดอันเกิดจากการทำงานต่อเนื่องยาวนานเกินไป นำไปสู่ภาวะหมดไฟ (Burnout)

  • ความขัดแย้งกับหุ้นส่วน นักลงทุน และทีมงาน

  • การสูญเสียอำนาจการควบคุม

  • ปัญหาที่ต้องเจอทุกวัน

บางครั้งคุณสมบัติและนิสัยของผู้ประกอบการเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่กระตุ้นปัญหาสุขภาพจิตเสียเอง การมุ่งผลสำเร็จ การขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย การกล้าเสี่ยง การรับมือกับความท้าทาย การกล้าตัดสินใจ และการวางแผนให้บรรลุตามเป้าหมาย เหล่านี้ทำให้ผู้ประกอบการประสบความสำเร็จ แต่ในอีกด้านหนึ่งคือนิสัยที่กระตุ้นความเครียด ความวิตกกังวล ภาวะสมาธิสั้น และภาวะซึมเศร้า


วิธีการรับมือ


จุดเริ่มต้นของการรับมือกับปัญหาที่ว่านี้ก็คือ หมั่นสังเกตตัวเอง เพื่อการตระหนักรู้ว่าขณะนี้ตนเองมีภาวะอารมณ์ พฤติกรรม และวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ โกรธง่ายขึ้นหรือไม่ เศร้ามากขึ้นหรือเปล่า เครียดนานเกินไปหรือไม่ มีความคิดในเชิงลบมากไปหรือเปล่า


จากนั้น ลองมาดูวิธีการป้องกันและรับมือกับปัญหาสุขภาพจิต ดังนี้


  1. สร้างวิถีชีวิตของคนสุขภาพดี เรียกว่า ทำให้ตนเองมี healthy lifestyle ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ การนอนหลับที่เพียงพอ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และสารอาหารที่เพียงพอ หลีกเลี่ยงอาหารที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ เช่น อาหารที่มันเกินไป เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาหารที่มีน้ำตาลสูง เป็นต้น การดื่มน้ำในปริมาณที่มากพอในแต่ละวัน รวมถึงการออกกำลังกายทุกสัปดาห์ ซึ่งการที่ผู้ประกอบการจะทำเช่นนี้ได้ ต้องวางแผนตารางเวลาชีวิตให้ดี จัดสรรเวลาให้กับสิ่งเหล่านี้เสมอ เพื่อป้องกันปัญหาในระยะยาว

  2. เรียนรู้วิธีการจัดการอารมณ์อย่างเหมาะสม เพราะในแต่ละวันผู้ประกอบการเองต่างต้องเจอกับอารมณ์ที่หลากหลาย ทั้งดีใจ ตื่นเต้น ตกใจ กังวล โกรธ เศร้า ผิดหวัง ฯลฯ หากผู้ประกอบการไม่หาวิธีบริหารจัดการตนเอง อาจทำให้เกิดระดับความเครียดที่สูงเกินไป นานเกินไป จนทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตตามมา อย่างน้อยก็คือภาวะหมดไฟหรือ burnout ซึ่งการจัดการอารมณ์คือส่วนหนึ่งของความฉลาดทางอารมณ์ ที่ผู้ประกอบการต้องมีทักษะเหล่านี้ไว้ เช่น เมื่อรู้สึกเครียดเกินไป ก็ต้องหยุดพัก แล้วพาตัวเองไปในที่สถานที่ที่ผ่อนคลาย และงดสื่อสารเรื่องงานซักพัก

  3. ปรับระดับความคาดหวังต่อตัวเองอย่างพอดี แน่นอนว่า ผู้ประกอบการที่จะประสบความสำเร็จต้องตั้งเป้าหมายการเติบโตให้กับทั้งธุรกิจและตัวเองที่สูงมาก แต่ก็มาพร้อมกับความคาดหวังที่สูง และเสี่ยงต่อความผิดหวังอย่างมากด้วยเช่นกัน ดังนั้นการปรับมุมมองให้ผ่อนปรน เตรียมแผนสำรอง และอนุญาตให้ตนเองได้พลาดเป้าไปบ้าง จะช่วยประคองและเรียกคืนกำลังใจให้กลับมาสู้ใหม่ได้ดี อย่าลืมว่าคุณไม่ใช่ซูเปอร์แมนที่ต้องเก่งอยู่ตลอดเวลา คนเราก็มีผิดพลาดได้บ้าง ล้มเหลวได้บางครั้ง เหมือนกับผู้ยิ่งใหญ่ระดับโลกหลาย ๆ คนก็เคยผ่านมาแล้วทั้งนั้น

  4. เข้าหาเครือข่ายผู้ประกอบการที่สนับสนุนกันและกัน เพื่อนหรือเครือข่ายที่เข้าใจกัน พูดภาษาเดียวกันรู้เรื่อง จะช่วยผู้ประกอบการที่กำลังรู้สึกหว้าเหว่ โดดเดี่ยว เครียด และวิตกกังวลได้มาก เมื่อรู้สึกหาทางออกไม่ได้กับปัญหาเฉพาะทางบางอย่าง เครือข่ายนั่นเองที่มักจะเป็นผู้ที่นำแสงสว่างแห่งคำตอบมาให้ และมักเป็นเพื่อนคู่คิดในเรื่องที่คุณเคยคิดไม่ตกมานาน ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรเข้าหาเครือข่ายผู้ประกอบการด้วยกันบ้าง

  5. มองหาตัวช่วย หากรู้สึกว่า เริ่มจัดการอารมณ์และความคิดของตนเองไม่อยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้ประกอบการจะมองหาตัวช่วยอย่างผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง อย่างจิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือนักให้คำปรึกษา ที่จะช่วยสะท้อนความคิด อารมณ์ความรู้สึก และมุมมองที่ตนเองอาจมองไม่เห็น รวมทั้งสามารถช่วยเยียวยาและบำบัดจิตใจให้ผู้ประกอบการได้ ซึ่งปัจจุบันมีช่องทางที่เข้าถึงความช่วยเหลือที่หลากหลายและสะดวกสบาย เช่น การคุยทางออนไลน์ ลองเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ www.istrong.co/service


ในมุมมองส่วนตัวของผู้เขียน ยังมองว่าการเป็นผู้ประกอบการเป็นอาชีพที่น่าสนใจและได้ใช้ศักยภาพในระดับที่สูง รวมทั้งมีอิสระในการตัดสินใจและออกแบบเส้นทางของตัวเองได้มากกว่า นอกจากนั้นโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนก็ได้ในปริมาณที่มากกว่า แต่ก็ต้องตระหนักเช่นกันว่า เหรียญมีสองด้าน หากคุณผลักดันตัวเองอย่างมากในแต่ละวันแล้ว อย่าลืม มีช่วงเวลาที่ผ่อนปรน และผ่อนคลายจากความกดดันเหล่านั้นบ้าง ซึ่งสุขภาพกายและสุขภาพใจของผู้ประกอบการซึ่งถือเป็นบุคคลหลักของธุรกิจนั้นสำคัญอย่างยิ่งยวด


หากคุณต้องการพัฒนาตนเองให้กลายเป็นที่ปรึกษาที่เข้าอกเข้าใจตนเองและผู้คนมากขึ้น เพื่อปรับใช้ในการทำงาน ครอบครัว และในชีวิตประจำวัน คุณสามารถสมัครเรียน "หลักสูตรนักให้คำปรึกษากับนักจิตวิทยา" จาก iSTRONG ได้ที่นี่


หรือหากคุณต้องการพัฒนาภาวะผู้นำ สู่การเป็นผู้นำที่ใช้ "หัวใจ" ทาง iSTRONG ก็ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของอนาคตของผู้นำ จึงได้ออกแบบ "คอร์ส Heart-to-Heart Leadership" ที่จะพัฒนาให้คุณเป็น "ผู้นำ" ที่ใช้ "หัวใจ" อย่างแท้จริง


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

References:

 

ประวัติผู้เขียน:

พิชาวีร์ เมฆขยาย


ผู้บริหาร iSTRONG Mental Health ที่ปรึกษาด้านจิตวิทยาองค์กร (M.Sc./B.Sc. Organizational & Industrial Psychology) ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาศักยภาพและ Mindset และ Positive Psychology Certified

facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page