top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

5 ความลับของความรัก ที่ผู้เชี่ยวชาญจิตวิทยาและนักปรัชญาต้องขอบอก



เมื่อพูดถึงความรัก แน่นอนว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนาที่จะมีรักดี ๆ แบบในอุดมคติ แต่คุณรู้หรือไม่ว่า ความรักมีความลับซ่อนอยู่ ซึ่งนักปรัชญาและนักจิตวิทยา ต่างตามหาทฤษฎีจิตวิทยาความรัก ทฤษฎีจิตวิทยาความสัมพันธ์ และปรัชญาความรัก เพื่อมาอธิบายความลับของความรักมาหลายพันปีแล้ว ถึงแม้ว่าความพยายามในการอธิบายความลับของความรักจะมีมานานตั้งแต่สมัย Plato และ Aristotle แต่ทฤษฎีจิตวิทยาความรัก และปรัชญาความรักเหล่านั้นยังคงร่วมสมัย และนำมาใช้ในการพัฒนาทุกความสัมพันธ์ได้เสมอ ซึ่งในบทความจิตวิทยานี้จะขอนำ 5 ความลับของความรัก ตามทฤษฎีจิตวิทยาและปรัชญามาบอกเล่ากันค่ะ


  1. ความรักของมนุษย์ มี 3 รูปแบบ

ตามทฤษฎีปรัชญาความรัก สามารถแบ่งความรักของมนุษย์ออกเป็น 3 รูปแบบ คือ

  • ความรักแบบต้องการครอบครอง (Eros) หรือ ความใคร่ เป็นความรักที่มีเรื่องเพศสัมพันธ์ (Sex) เข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นความรักของคู่รัก ความรักของคนหนุ่มสาว ความรักที่ต้องการจะครอบครอง หรือเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของอีกฝ่าย

  • ความรักแบบปรารถนาดี (Philia) หรือ มิตรภาพ เป็นความรักที่ต้องการให้บุคคลที่เรารัก หรือผู้อื่นมีความสุข มีการให้เกียรติ เคารพซึ่งกันและกัน เป็นความรักในระดับครอบครัว เพื่อน หรือสถาบัน

  • ความรักแบบศรัทธา (Agape) เป็นความรักในระดับสูงสุดที่มนุษย์คนหนึ่งจะมีได้ เป็นความเลื่อมใส ศรัทธา ต่อบุคคล หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดจนนำมาเป็นแบบอย่าง หรือหมุดหมายในชีวิต ซึ่งความรักเช่นนี้จะพบได้ในผู้ที่เลื่อมใสในศาสนา หรือศาสดาของศาสนา 

  1. ความสัมพันธ์ มี 3 องค์ประกอบหลัก

ตามทฤษฎีจิตวิทยาความสัมพันธ์ของ Robert Sternberg ในชื่อทฤษฎี Triangular Theory of Love หรือ ทฤษฎีสามเหลี่ยมแห่งความรัก ได้กล่าวเอาไว้ว่า ความสัมพันธ์ของคนเรามีส่วนประกอบสำคัญ 3 องค์ประกอบ คือ 

  • ความสนิทสนม (Intimacy) คือ ความใกล้ชิด ความรู้จักกันอย่างลึกซึ้ง จนทำให้เกิดความผูกพัน ความเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจกัน ยิ่งมีความสนิทสนมมาก ความสัมพันธ์ก็ยิ่งแข็งแรงมาก

  • ความปรารถนา (Passion) หรือ ความสนใจในฝ่ายตรงข้าม หรือแรงดึงดูดทางเพศ องค์ประกอบนี้สำคัญมากในความสัมพันธ์แบบคู่รัก เนื่องจากจะทำให้คู่รักดึงดูดกัน แต่หากขาดอีก 2 องค์ประกอบ ความสัมพันธ์ก็ไม่ยืนยาว

  • ความผูกพัน (Commitment) คือ ความรู้สึกว่าอีกฝ่ายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ยิ่งใช้ชีวิตด้วยกันมาก ความผูกพันก็จะยิ่งมากขึ้นตามไปด้วย

  1. ความรักเป็นเรื่องของสารเคมีในสมอง

ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา ได้แบ่งการหลั่งของสารเคมีในสมองตามระดับของความรัก ออกมาเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน คือ

  • เมื่อเราเกิดความ “ปรารถนา” ในตัวใครสักคนหนึ่ง สมองจะหลั่งสารที่กระตุ้นแรงดึงดูดทางเพศ ได้แก่ ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ในเพศชาย และฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ในเพศหญิง ซึ่งถูกควบคุมโดยสมองส่วนไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) อีกที

  • เมื่อเราเกิดความชอบ ความหลงใหล หรือตกหลุมรัก สมองจะหลั่งสารโดปามีน (Dopamine) ออกมา ซึ่งเป็นสารแห่งความสุข มีการหลั่งอะดรีนาลีน (Adrenaline) ตื่นเต้น ควบคุมตัวเองไม่อยู่เมื่อเจอคนที่เราชอบ และหลั่งสารเซโรโทนิน (Serotonin) ที่ทำให้เรารู้สึกเคลิบเคลิ้ม ล่องลอยในความฝัน

  • เมื่อเรารู้สึกผูกพันกับใครสักคน สมองจะหลั่งสารออกซิโตซิน (Oxytocin) ซึ่งจะหลั่งออกมาเมื่อเราใกล้ชิดกับใครสักคนเป็นเวลานาน ๆ หรือมีปฏิสัมพันธ์กับใครสักคนบ่อยครั้ง และสมองจะหลั่งสารวาโสเปรสซิน (Vasopressin) เมื่อเรารู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของคนที่เรารัก และต้องการใช้ชีวิตด้วยกันไปจนวันสุดท้าย

  1. 4 ปัจจัยสำคัญในการทำให้คนเราสนิทกัน

การทำความรู้จักกับใครสักคนไม่ใช่เรื่องยาก แต่การรักษาสัมพันธภาพจนสนิทและผูกพันกันนั้นต้องอาศัยความลับของความรัก เรื่องปัจจัยสำคัญในการทำให้คนเราสนิทกัน 4 ปัจจัย ได้แก่  

  • บุคลิกภาพของแต่ละบุคคล หากบุคลิกภาพของฝ่ายหนึ่งโดนใจอีกฝ่ายหนึ่ง การทำความรู้จักก็สามารถนำไปสู่การรู้ใจได้ แต่ถ้าหากบุคลิกของอีกฝ่ายทำให้เกิดความกลัว เกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัย อย่าว่าแต่ทำความรู้จักเลยค่ะ แค่จะเดินเฉียดใกล้ยังยาก

  • กระบวนการคิด การใช้เหตุผล หากคำพูดจาของเราแสดงออกถึงแนวคิด กระบวนการคิด การใช้เหตุผลที่สอดคล้องไปในแนวทางเดียวกันกับอีกฝ่าย การขยับสถานะความสัมพันธ์ไม่ใช่เรื่องยากเลยค่ะ และในทางตรงข้ามกัน หากความคิดของเราขัดแย้งกับความคิดของอีกฝ่าย ก็สานต่อกันยากแล้วค่ะ

  • การแสดงออกทางความรู้สึก หากการแสดงออกทางความรู้สึกของเราถูกจริตกับอีกฝ่าย ก็สามารถพูดคุยกันต่อได้อย่างถูกคอ และสานสัมพันธ์ทำความรู้จักกันต่อไปได้ แต่ถ้าหากการแสดงออกทางความรู้สึกโดยธรรมชาติของเราไม่ถูกใจอีกฝ่าย ก็เป็นการลำบากที่จะสร้างความสนิทสนมกันมากขึ้นในอนาคต    

  • การตอบสนองความต้องการของอีกฝ่าย หากการทำความรู้จัก หรือสร้างสัมพันธภาพกับเราสามารถตอบสนองความต้องการของอีกฝ่ายได้ เช่น มีความปลอดภัยมากขึ้น มีความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตมากขึ้น มีความสบายใจในการใช้ชีวิตมากขึ้น การที่จะรักษาความสัมพันธ์ก็สามารถทำได้ยาว ๆ เลยค่ะ แต่ถ้าหากการสร้างสัมพันธภาพของเราไม่ได้ตอบสนองความต้องการในชีวิตเขา ก็เป็นการยากที่อีกฝ่ายจะให้ความสำคัญ 

  1. 3 ปัจจัยที่ใช้ในการกำหนดคุณภาพของความสัมพันธ์

 ตามทฤษฎีจิตวิทยาความรัก ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้คนเรารักกัน หรือเกลียดกันนั้น สามารถกำหนดได้ด้วยปัจจัย 3 ประการ ได้แก่

  • ความต้องการทางร่างกาย หากความสัมพันธ์สามารถส่งเสริมให้การใช้ชีวิตเป็นไปด้วยดีและมีคุณภาพ เช่น มีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์ มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน สามารถใช้ชีวิตได้อย่างสุขสบายมากขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ก็สามารถส่งเสริมให้สัมพันธภาพคงทนและยืนยาวได้

  • ลักษณะเฉพาะบุคคล ความดึงดูดใจ หรือเสน่ห์เฉพาะตัวก็เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ความสัมพันธ์ราบรื่น และน่าสนใจ เพราะหากคนที่เราคุยด้วยไม่ตรงสเปก ไม่ถูกใจ คุยนานเท่าไรก็เป็นได้แค่คนคุย

  • สังคมและวัฒนธรรม การได้รับการเลี้ยงดูส่งผลอย่างมากต่อความเชื่อ เพราะฉะนั้นสังคมที่เราเติบโตมา และวัฒนธรรมที่หล่อหลอมเรา ล้วนส่งผลอย่างมากต่อชุดความคิด และการแสดงออกของเรา จึงไม่น่าแปลกใจที่คนที่เติบโตมาต่างกัน หรือต่างวัฒนธรรมกัน จะมีความเข้าอกเข้าใจน้อยกว่าคนที่มีพื้นฐานชีวิตเช่นเดียวกัน


ถึงแม้ความรักจะเป็นเรื่องเข้าใจยาก แต่ถ้าเรารู้ความลับของความรักผ่านทฤษฎีจิตวิทยาความสัมพันธ์ และปรัชญาความรัก ก็จะทำให้เราเข้าใจถึงหัวใจของการสร้างและรักษาความสัมพันธ์ ซึ่งเราสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในทุกความสัมพันธ์ของเราได้เลยค่ะ

สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa  

  • คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS 

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

บทความแนะนำ :


อ้างอิง :

1. Yoom. (2562, 12 กรกฎาคม). Philosophical Love นักปรัชญาพูดถึงความรักว่ายังไงกันบ้างนะ. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 3 มกราคม 2567 จาก https://www.mangozero.com/philosophical-love/

2. โรงพยาบาลเพชรเวช. (2021, 12 กุมภาพันธ์). Theory of love จิตวิทยาของความรัก. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 3 มกราคม 2567 จาก https://www.petcharavejhospital.com/en/Article/article_detail/Theory-of-love

3. สุรพล พยอมแย้ม. (2548). จิตวิทยาสัมพันธภาพ. กรุงเทพฯ : บางกอก - คอมเทค อินเตอร์เทรด.

 

จันทมา  ช่างสลัก บัณฑิตจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้ 


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page