top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

นักจิตวิทยาแนะนำ 6 วิธีหยุดความรุนแรงในครอบครัว


จากข่าวความรุนแรงในครอบครัว ที่ไรเดอร์ทำร้ายลูกสาวตัวเองอย่างรุนแรง เพราะได้ยินจากเพื่อนบ้านว่าลูกสาวไปมีเรื่องทะเลาะกับลูกของเพื่อนบ้านอีกที ซึ่งจากการให่สัมภาษณ์นักข่าว ไรเดอร์ได้ให้ข้อมูลว่า ตนเองก็ถูกพ่อกระทำมาเช่นนี้เหมือนกัน ซึ่งชัดเจนเลยค่ะว่า นี่คือการส่งต่อความรุนแรงในครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่น และเมื่อเรามาดูผลสำรวจความรุนแรงในครอบครัวครึ่งปี 2563 (มกราคม - มิถุนายน 2563) จากข่าว จำนวน 350 ข่าว โดยมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ สสส. พบว่า มีข่าวฆ่ากันในครอบครัว สูงถึง 201 ข่าว หรือคิดเป็น 57.43% มีข่าวทำร้ายกันในครอบครัว 51 ข่าว หรือคิดเป็น 14.57% มีข่าวล่วงละเมิดทางเพศในครอบครัว 31 ข่าว คิดเป็น 8.85% และข่าวการใช้ความรุนแรงในครอบครัวอื่น ๆ อีก 67 ข่าว หรือคิดเป็น 19.15%

ในทางจิตวิทยา การส่งต่อความรุนแรงในครอบครัวนั้น ไม่ใช่การส่งผ่านทางพันธุกรรม แต่เป็นการส่งผ่านทางการเลี้ยงดู ทำให้เกิดการเลียนแบบ เช่น ปู่เคยตีพ่อตอนพ่อยังเด็ก พ่อก็จำว่านั้นคือวิธีการสอนของพ่อ - ลูก ก็นำความรุนแรงนั้นมาส่งต่อถึงลูก ลูกถึงหลาน ไม่จบสิ้น และอาจจะขยายต่อไปถึงภรรยา/คู่สมรส และคนอื่น ๆ ในสังคม ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมากค่ะ นอกจากนี้ คนที่กระทำความรุนแรงในครอบครัว มักจะไม่รู้ตัวว่าสิ่งที่ตัวเองทำเป็นเรื่องที่ผิด และส่งต่อความคิด ความเชื่อนั้นจากรุ่นสู่รุ่นอีกต่างหาก เราขอนำข้อสังเกตจากนักจิตวิทยา เกี่ยวกับการกระทำความรุนแรงในครอบครัวมาฝากทุกคนเพื่อช่วยในการเช็กกันค่ะ


1. การไม่ยอมรับลูก (Rejecting)


ที่พบได้บ่อย ก็จะเป็นการไม่ยอมรับในเพศสภาพของลูก การไม่ยอมรับในการตัดสินใจของลูก โดยเฉพาะการเลือกสายการเรียน การเลือกคณะ การเลือกมหาวิทยาลัย หรือสถานบันการศึกษา รวมไปถึงการไม่ยอมรับในการเลือกอาชีพของลูก การแสดงออกอย่างชัดเจนของพ่อ แม่ ว่าไม่ยอมรับลูกนั้น เป็นการสร้างบาดแผลทางใจของลูกที่เจ็บปวดอย่างมาก และมักจะมีการแสดงออกในเชิงความรุนแรงในครอบครัวตามมา


2. การทำให้ลูกหวาดกลัว (Terrorization)


วิธียอดนิยมที่ทำให้ลูกหวาดกลัว ก็คือ การลงโทษด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ตี ด่าทอ ตะโกน ตะหวาด ขัง กักบริเวณ ซึ่งการลงโทษเหล่านี้ นอกจากจะเข้าข่ายกระทำความรุนแรงในครอบครัวแล้ว (ทำให้เกิดการบาดเจ็บทั้งทางร่างกายและจิตใจ) ยังเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดโรคทางจิตเวช หรือความผิดปกติทางบุคลิกภาพตามมา


3. การเพิกเฉยไม่ใส่ใจ (Ignoring)


การไม่เลี้ยงดู การไม่ให้ความดูแล การไม่ใส่ใจ ต่างก็กระทำให้เกิดบาดแผลในใจ รวมถึงอาจทำให้เกิดอันตรายต่อเด็ก หรือบุคคลในครอบครัวได้ เพราะบางครั้งบุคคลในครอบครัวก็ต้องการการดูแล หรือต้องการความช่วยเหลือจากเรา แต่เมื่อเราเพิกเฉย ไม่ใส่ใจ นอกจากจะทำให้บุคคลในครอบครัวไม่ได้รับการช่วยเหลือแล้ว สถานการณ์อาจเลวร้ายขนาดทำให้บุคคลในครอบครัวมีอันตราย ถึงชีวิตเลยก็เป็นได้ค่ะ


4. การแยกลูกออกจากสังคม (Isolation)


ถึงแม้ว่าการกระทำบางอย่างของพ่อ แม่ จะแฝงด้วยความห่วงใย แต่บางครั้งก็อาจไปทำร้ายจิตใจลูก เช่น ห้ามลูกคบเพื่อน เพราะเห็นว่าเป็นกลุ่มเพื่อนที่ไม่เหมาะสมกับลูก ย้ายโรงเรียนลูกโดยไม่ถามความเห็น หรือไม่บอกล่วงหน้า ย้ายบ้านบ่อย ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้เด็กมีปัญหาในการเข้าสังคมขาดทักษะในการเข้าหาคนอื่น มีแนวโน้มสูงว่าจะมีความสัมพันธ์กับคนอื่นไม่ยืนยาว และอาจสร้างการไม่ไว้วางใจในครอบครัวตามมา


5. การเอาเปรียบลูก (Corruption)


การเอาเปรียบเด็ก เช่น การให้ลูกทำงานหาเลี้ยงครอบครัว การบังคับให้ลูกทำงานเกินเวลาการใช้งานลูกโดยที่ลูกไม่เต็มใจ สิ่งเหล่านี้ทำให้ลูกรู้สึกอึดอัด คับข้องใจ ไม่มีความสุขที่จะอยู่ในครอบครัว และอาจสร้างปัญหา หรือความรุนแรงในครอบครัว หรือสร้างสถานการณ์ที่บีบให้พ่อ แม่ต้องใช้ความรุนแรงในครอบครัว เพราะลูกเองไม่ต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวอีกต่อไป


นักจิตวิทยาแนะนำวิธีหยุดวงจรการส่งต่อความรุนแรงในครอบครัวไว้ ดังนี้ค่ะ


1. รับฟังกันให้มากขึ้น


ก่อนจะลงโทษลูก หรือทำร้ายกันในครอบครัว ไม่ว่าคุณจะหัวร้อนเรื่องอะไร ขอให้สูดลมหายใจเข้า - ออกช้า ๆ รับฟังกันเสียหน่อยว่าเรื่องราวมันเป็นยังไง หรือก่อนที่เราจะตัดสินใจแทนลูก ขอให้รับฟังเสียหน่อยว่าลูกคิดอะไร รู้สึกอย่างไร มีการวางแผนชีวิต หรือลูกอยากจะทำอะไร หากมันไปคนละทาง ก็มาหาตรงกลางร่วมกัน ถึงผลลัพธ์จะไม่ตรงใจ แต่ก็ออกมาดีกว่าใช้ความรุนแรงในครอบครัวแน่นอนค่ะ


2. อย่าด่วนตัดสินคนในครอบครัว


เมื่อคุณได้ยิน ได้ฟังเรื่องราวของคนในครอบครัวมาจากคนอื่น ไม่ว่าจะเป็น สามีมีชู้ ลูกแอบไปเที่ยวกับผู้ชาย ขอให้ระลึกไว้ว่า “ไม่มีใครรู้จักคนในครอบครัวดีเท่าเรา” ค่ะ เพราะคนอื่นเห็นคนในครอบครัวเราเพียงแค่ชั่วครู่ แต่เราอยู่กับลูกมาตั้งแต่ลูกเกิด อยู่กับสามีมาจนมีครอบครัวด้วยกัน โปรดอย่าด่วนตัดสินอะไรเพียงเพราะได้ยินเขาว่ามา


3. ระลึกไว้ว่าคนในครอบครัวไม่ใช่ที่ระบายอารมณ์


ไม่ว่าเราจะหงุดหงิดเรื่องงาน หัวร้อนเรื่องนอกบ้าน เราก็ไม่มีสิทิไประเบิดอารมณ์ใส่คนในครอบครัว แน่นอนค่ะว่าต่อให้เราทำร้าย กระทำความรุนแรงในครอบครัว คนในครอบครัวเขาก็จะทนเรา แต่ไม่มีความสุข และอยู่อย่างหวาดระแวง เพราะฉะนั้นแล้ว เห็นแก่ความรักของคนในครอบครัว ที่มีให้เรา โปรดระลึกไว้ว่า “คนในครอบครัวไม่ใช่ที่ระบายอารมณ์”


4. มีปัญหากันให้รีบพูด


หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว ก็คือ การสะสมความเครียด ความโกรธ ความไม่พอใจ ที่คนในครอบครัวมีต่อกัน ซึ่งส่วนใหญ่มักสะสมมาจากเรื่องเล็ก ๆ เช่น คำพูดบางคำที่แทงใจ การกระทำบางอย่างที่ไม่คิดถึงความรู้สึกกัน แล้วก็มาระเบิดกับเรื่องเล็ก ๆ เช่นกัน อย่างในข่าวที่เราเคยเห็น เพราะฉะนั้น เมื่อมีปัญหา เปิดใจพูดกันโดยเร็วจะดีกว่าค่ะ


5. หาวิธีแก้ไขปัญหาร่วมกัน


วิธีนี้เป็นผลพลอยได้มาจากข้อก่อนหน้าค่ะ เมื่อมีปัญหาแล้วเราเปิดใจคุยกัน เราก็สามารถมองเห็นปัญหาร่วมกันอย่างเป็นระบบ ทั้งต้นเหตุของปัญหา การเกิดขึ้นของปัญหา ผลกระทบของปัญหา และเราจะสามารถมองไปถึงวิธีการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมได้ในที่สุดค่ะ


6. ใส่ใจกันให้มากขึ้น


เมื่อความรุนแรงในครอบครัวเกิดมาจากการไม่ใส่ใจกัน เพราะฉะนั้นวิธีแก้ก็คือ การใส่ใจกันให้มากขึ้น เช่น ถามไถ่ควมรู้สึกกันบ้าง ถามสารทุกข์สุขดิบว่าในแต่ละวันเป็นอย่างไร ชีวิตสุขสบายดีไหม มีปัญหาอะไรหรือเปล่า เมื่อเราคุยกันมากขึ้น รู้จักกันมากขึ้นกว่าเดิม เราจะดูแลกันได้ดีขึ้นค่ะ


“ครอบครัว” ควรจะเป็น Safe Zone หรือสถานที่ปลอดภัยที่สุดของทุกคน ควรเป็นที่เสริมสร้างกำลังใจ สนับสนุนให้สมาชิกครอบครัวมีชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ควรจะเป็นที่สร้างบาดแผลทางใจ หรือกระทำความรุนแรงในครอบครัวรูปแบบใด ๆ ที่ทำลายชีวิตของคนในครอบครัวเสียเอง


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

บทความที่เกี่ยวข้อง :


อ้างอิง : Thai PBS. (สิงหาคม 10, 2563). เปิดสถิติความรุนแรงในครอบครัว "แม่ - เมีย" ถูกทำร้ายสูงขึ้น. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ธันวาคม 1, 2021 จาก https://news.thaipbs.or.th/content/295351

 

ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก

บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัย ด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ และคุณแม่ของลูก 1 คน แมว 1 ตัว ที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาในการใช้ชีวิต


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page