top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

7 เคล็ดลับในการสร้างความสุขในชีวิตจากผู้เชี่ยวชาญจิตวิทยา



ตามทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของ Maslow หรือ Maslow’s Hierarchy of Needs มีแนวคิดว่า ความต้องการสูงสุดของมนุษย์ทุกคน ก็คือ ความสุขในชีวิต หรือ Self-actualization ซึ่งหมายถึง ความต้องการพัฒนาศักยภาพของตน ต้องการที่จะบรรลุเป้าหมายชีวิต และต้องการความสมบูรณ์ของชีวิต ซึ่งคนเราทุกคนล้วนแสวงหาวิธีทางที่จะทำให้เรามีความสุขในชีวิตอย่างมั่นคง และดิฉันได้พบเข้ากับงานศึกษาทางจิตวิทยาเรื่องหนึ่งของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ที่ได้ทำการศึกษาชีวิตคนกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา จำนวน 2,000 คน หลากหลายเพศสภาพ หลากหลายวัย หลากหลายฐานะ หลากหลายสถานะ หลากหลายอาชีพ หลากหลายสีผิว หลากหลายศาสนา แต่ทุกคนมีเป้าหมายเดียวกันในชีวิต คือ “ความสุข” โดยเริ่มทำการศึกษาต่อเนื่องยาวนานมาตั้งแต่ ค.ศ. 1938 (ประมาณ 85 ปี) จนได้ผลออกมาเป็นเคล็ดลับที่จะทำให้เรามีความสุขในชีวิตอย่างแท้จริง โดยเคล็ดลับจากงานศึกษาจิตวิทยาดังกล่าว สามารถแบ่งออกมาเป็น 7 เคล็ดลับ ดังนี้ค่ะ


1. สร้างความสัมพันธ์ที่ดี

Robert Waldinger ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาผู้เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยข้างต้นของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในปัจจุบัน ได้กล่าวว่า ความสัมพันธ์เกี่ยวพันกับความสุขของคนเราอย่างแนบแน่น เช่น ถ้าเราเครียดจากงานมา แต่ไม่รู้ว่าจะคุยกับใคร ไม่รู้จะโทรหาใคร เราก็จะไม่มีความสุขในชีวิต มีแต่ความเครียด ความเศร้า แต่ถ้าเรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนในครอบครัว มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง เราจะรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัยในการใช้ชีวิต เพราะต่อให้เราบอบช้ำจากไหนมา เราจะมีที่พักพิงใจเสมอ ดังนั้นหากเราสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้างได้มากเท่าไร เราจะมีความมั่นคงทางใจมากขึ้นเท่านั้น เพราะเราจะมั่นใจได้ว่าเรามีครอบครัวที่ดี มีคนรักที่ดี มีเพื่อนที่ดีคอยอยู่เคียงข้าง


2. รักษาความสัมพันธ์ให้เข้มแข็ง

เมื่อเราสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้างได้แล้ว โจทย์ต่อมาที่จะทำให้ชีวิตของเรามีความสุข ก็คือรักษาความสัมพันธ์นั้นให้เข้มแข็งโดยการดูแล เอาใจใส่ ใส่ใจ และจริงใจต่อกัน เพราะทุกสายสัมพันธ์ทางสังคมจะเป็นทั้งเกราะป้องกันอันตรายจากคนที่คิดจะทำร้ายเรา เป็นทั้งยาที่รักษาแผลใจ เป็นทั้งแรงผลักดันให้เราก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง ดังนั้นยิ่งเรามีความสัมพันธ์กับคนรอบข้างที่เข้มแข็งมากขึ้น เราจะยิ่งมีความมั่นใจในการใช้ชีวิต มีความรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย และมีความสุขในชีวิตมากขึ้นค่ะ


3. มีชีวิตชีวา

ความรู้สึกมีชีวิตชีวา คือการที่เรามีความรู้สึกตื่นเต้นกับการใช้ชีวิต มีทัศนคติและมุมมองในการใช้ชีวิตว่าทุกสิ่งที่เราพบช่างใหม่อยู่เสมอ เมื่อเรามีมุมมองต่อโลกในเชิงบวก ในเชิงสดใส เราจะมีความต้องการที่จะเรียนรู้ มีไฟในการใช้ชีวิต และเรายังสามารถเผื่อแผ่แบ่งปันความสดใสไปถึงผู้คนรอบข้าง รวมถึงสรรพสิ่งรอบตัว ให้มีชีวิตชีวาเช่นเดียวกับเรา แล้วโลกของเราจะไม่น่าเบื่ออีกต่อไป


4. สุขภาพดีชีวิตมีความสุข

จากงานวิจัยที่ยาวนานกว่า 85 ปีที่กล่าวถึงข้างต้น ได้มีผลวิจัยหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าความสุขและสุขภาพมีความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก เพราะเมื่อเราไม่เจ็บไม่ป่วย มีสุขภาพที่ดีเราก็จะมีความสุข เมื่อเรามีความสุขเราจะแก่ช้าลง เมื่ออายุมากขึ้นก็จะเจ็บป่วยน้อย สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ยาวนานขึ้น และที่สำคัญคือมีอายุยืนยาวมากขึ้น


5. เป็นตัวของตัวเองอย่างมีคุณภาพ

ชีวิตที่ดีคือชีวิตที่มีความสุข ชีวิตที่มีความสุขคือชีวิตที่เป็นไปตามธรรมชาติของเรา คือใช้ชีวิตตามที่ใจเราต้องการโดยไม่ทำให้ใครเดือดร้อน เช่น เรียนในสายวิชาที่ชอบ ทำกิจกรรมที่เรามีความสุข ทำอาชีพที่เราใฝ่ฝัน เมื่อเราได้ทำในสิ่งที่รัก ทำในสิ่งที่ชอบ ใช้ชีวิตอย่างที่เราควรเป็น อยู่ในที่ที่เราควรอยู่ เราจะรู้สึกสบายใจ รู้สกอิ่มเอมใจกับการใช้ชีวิต รู้สึกว่าชีวิตมีเป้าหมายที่ต้องการจะบรรลุ แล้วเราจะอยากมีชีวิตอยู่ต่อไปยาวนานเพื่อสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ด้วยสิ่งที่เรามี สิ่งที่เราเป็นค่ะ


6. อยู่กับปัจจุบันขณะ

ต้องยอมรับว่าดิฉันเองบ่อยครั้งก็ไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน เพราะบางทีก็จมอยู่กับความทุกข์ในอดีต จนไม่มีความสุขกับปัจจุบัน หรือบ่อยครั้งก็กังวลเกี่ยวกับอนาคตจนทำให้ปัจจุบันไม่มีความสุขไปด้วย ซึ่งดิฉันเชื่อว่ายังมีอีกหลาย ๆ คนที่เป็นเช่นเดียวกัน ดังนั้นหากเราสามารถปรับความสนใจของเรามาอยู่ที่ปัจจุบันได้ เราจะพุ่งสมาธิไปที่สิ่งที่เรากำลังทำเพียงอย่างเดียว ความคิดก็จะจดจ่อกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ความรู้สึก รวมถึงอารมณ์ก็จะสอดคล้องกับสิ่งที่เราทำ ส่งผลให้เราสามารถควบคุมความคิดและจัดการกับอารมณ์ ความรู้สึกได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น


7. ให้ความสำคัญกับความรู้สึก

และเคล็ดลับสุดท้ายที่จะทำให้เรามีความสุขอย่างยั่งยืน ก็คือการใส่ใจความรู้สึกของตัวเราเอง ว่าเรารู้สึกอย่างไร พอใจกับชีวิตตอนนี้หรือไม่ หากคำตอบคือไม่ เราก็ต้องมาหาสาเหตุและวิธีแก้กันทีละเรื่อง เพื่อให้เรามีความสุขมากขึ้นนั่นเอง นอกจากนี้แล้วเราก็ควรจะต้องให้ความสำคัญกับความรู้สึกของคนรอบข้าง และคนอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน เพราะเราไม่ได้ใช้ชีวิตเพียงคนเดียวบนโลก โลกไม่ได้หมุนรอบเรา แต่เราหมุนไปพร้อมกับโลกค่ะ


เคล็ดของความสุขในชีวิตข้างต้นนั้น นอกจากจะสอดคล้องกับทฤษฎีของ Maslow แล้ว ยังสอดคล้องกับแนวคิดจิตวิทยาเชิงบวกสมัยใหม่ของ Martin Seligman นักจิตวิทยาชาวอเมริกันที่ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งจิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology) โดย Seligman ได้เสนอทฤษฎี PERMA ที่กล่าวถึง 5 องค์ประกอบของความสุขในชีวิตที่ยั่งยืน ได้แก่ (1) P : Positive Emotion คือ การมีอารมณ์เชิงบวก (2) E : Engagement คือ การดื่มด่ำในสิ่งที่ทำ (3) R : Relationships คือ การรักษาความสัมพันธ์ (4) M : Meaning คือ การค้นหาความหมายของชีวิต และ (5) A : Accomplishment คือ การบรรลุถึงเป้าหมาย


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่



 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

  • คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

บทความแนะนำ :


อ้างอิง :

1. OFFICE OF KNOWLEDGE MANAGEMENT AND DEVELOPMENT. (2564, 28 พฤษภาคม). “ทฤษฎีมีสุข” สูตรลับสร้างความสุขในการทำงานและการใช้ชีวิต. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 29 พฤษภาคม 2023 จาก https://www.okmd.or.th/okmd-kratooktomkit/4131/

2. Robert Waldinger. (2023, มกราคม). The secret to a happy life — lessons from 8 decades of research. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 29 พฤษภาคม 2023 จาก

https://www.ted.com/talks/robert_waldinger_the_secret_to_a_happy_life_lessons_from_8_decades_of_research/c

 

ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก อดีตนักจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก บัณฑิตจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page