top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

7 อาการของโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม (Antisocial Personality Disorder)


“บุคลิกภาพ (Personality)” เป็นสิ่งที่ทุกคนมี โดยบุคลิกภาพนั้นก็คือแบบแผนหรือลักษณะจำเพาะของแต่ละคนที่แสดงออกมาผ่านทางความรู้สึกนึกคิด การรับรู้ และพฤติกรรม ส่วนคำว่า “บุคลิกภาพผิดปกติ (Personality Disorder)” นั้นหมายถึงความเบี่ยงเบนทางพฤติกรรมอย่างชัดเจน โดยที่ผู้ป่วยไม่ได้รู้สึกกังวลต่อพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของตนเอง ผู้ป่วยมักปฏิเสธความช่วยเหลือทางจิตใจ และไม่ยอมรับว่าตนเองมีปัญหา ซึ่งต่างจากผู้ป่วยในกลุ่มโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล ดังนั้น ผู้ป่วยในกลุ่มโรคบุคลิกภาพผิดปกติจึงมักไม่เข้ารับการรักษา

คุณอาจจะเคยเห็นบุคคลในข่าวที่ถูกจับกุมหรือถูกหยิบยกขึ้นมาออกรายการตามสื่อต่าง ๆ เพราะว่าไปกระทำความผิด เช่น ฉ้อโกง หลอกลวง ลักขโมย หรือแม้แต่ฆ่าผู้อื่น โดยที่พวกเขาเหล่านั้นไม่มีแม้แต่แววตาหรือท่าทีที่สะทกสะท้านหรือสำนึกผิดแต่อย่างใด ตรงกันข้าม พวกเขากลับโกหกหน้าตาย ดูไร้จิตสำนึก และไม่สนใจความรู้สึกของผู้ถูกกระทำเลย ซึ่งหากดูเผิน ๆ แล้ว พวกเขาก็อาจจะเหมือนเป็นเพียงคนที่นิสัยเสียคนหนึ่ง แต่ก็พบว่าบางส่วนของคนที่มีลักษณะแบบนี้มีแนวโน้มของโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม (Antisocial Personality Disorder)


พฤติกรรมใดบ้างที่เข้าข่ายเป็นโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม?

พฤติกรรมหรืออาการที่แสดงถึงความโน้มเอียงที่จะเป็นโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคมนั้น มักปรากฏตั้งแต่บุคคลอยู่ในวัยเด็กและมักพบก่อนอายุ 15 ปี ซึ่งพฤติกรรมหรืออาการที่พบในช่วงวัยเด็กจนถึงอายุ 18 ปีจะเรียกว่า “Conduct disorder” ส่วนพฤติกรรมหรืออาการที่พบหลังจากบุคคลมีอายุ 18 ปีจะเรียกว่าโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม โดยเกณฑ์การวินิจฉัยตาม DSM-5 จะเป็นอาการ 3 ข้อจาก 7 ข้อดังต่อไปนี้


1. ไม่สามารถปฏิบัติตัวให้อยู่ในกฎหมายได้

ผู้ป่วยโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคมมักทำสิ่งที่ผิดกฎหมาย ซึ่งอาจมาจากการขาดความยับยั้งชั่งใจและความสามารถในการควบคุมตนเอง จึงมักพบว่าผู้ป่วยไม่สามารถปฏิบัติตัวให้อยู่ในกฎหมายได้


2. เสแสร้ง หลอกลวง โกหก เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง

ผู้ป่วยโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคมมักมีพฤติกรรมที่เรียกว่า “โกหกหน้าตาย” โดยผู้ป่วยสามารถทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนเองต้องการโดยปราศจากความเห็นอกเห็นใจว่าผู้อื่นจะรู้สึกอย่างไร


3. หุนหันพลันแล่น

ผู้ป่วยโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคมมักจะมีลักษณะ “อยากทำอะไรก็ทำเลย” โดยไม่มีการวางแผนเอาไว้ล่วงหน้า และไม่คิดไตร่ตรองถึงผลกระทบที่จะตามมา


4. หงุดหงิดง่าย ก้าวร้าว

ผู้ป่วยโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคมมักมีพฤติกรรมก้าวร้าว มีอารมณ์หงุดหงิดได้ง่าย หรือมีประวัติทำร้ายผู้อื่น


5. ไม่สนใจความปลอดภัยของตนเองและผู้อื่น

ผู้ป่วยโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคมอาจมีพฤติกรรมเสี่ยงที่สามารถพาตนเองและผู้อื่นไปสู่สถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัย โดยที่ผู้ป่วยไม่สนใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับตนเองและผู้อื่นหากทำสิ่งดังกล่าวลงไป


6. ไม่รับผิดชอบ ไม่ทำตามที่ตกลงกันไว้

ผู้ป่วยโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคมจะมีลักษณะที่ไม่รับผิดชอบ ไม่ทำตามที่ตกลงกันไว้ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่บางคนเรียกว่า “ดื้อตาใส” หมายถึง ดูเผิน ๆ แล้วก็เหมือนว่าผู้ป่วยจะรับปากและจะทำตามที่ตกลงกัน แต่เมื่อถึงเวลาผู้ป่วยกลับเพิกเฉยไม่ทำตามที่รับปากไว้


7. ไม่มีความรู้สึกผิด ไม่คิดถึงจิตใจผู้อื่น

ผู้ป่วยโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคมมักไม่มีความรู้สึกผิดแม้ว่าจะทำร้ายผู้อื่น มีลักษณะขาดความเห็นอกเห็นใจ (Lack of empathy) ไม่คิดถึงจิตใจผู้อื่น พยายามหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง และขาดมโนธรรม


สาเหตุ

  • พันธุกรรม

เช่น มีญาติสายตรงเป็นโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม

  • การเลี้ยงดู

รูปแบบการเลี้ยงดูสามารถมีผลได้มากกับการเกิดขึ้นของโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคมได้ เช่น การถูกทารุณกรรมและการปล่อยปละละเลย หรือถูกเลี้ยงดูแบบตามใจเป็นอย่างมาก

  • การทำงานของสมอง

ปัจจัยหนึ่งที่เป็นสาเหตุให้เกิดการทำงานของสมองที่ผิดปกติ ได้แก่ การสูบบุหรี่หรือความเจ็บป่วยระหว่างตั้งครรภ์ โดยข้อมูลจากการศึกษาพบว่าผู้ป่วยโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคมมีการทำงานของสมองส่วนหน้า (frontal lobe) ที่แตกต่างไปจากคนส่วนใหญ่ ซึ่งสมองส่วนหน้าเป็นสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนและการตัดสินใจ ส่งผลให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีลักษณะหุนหันพลันแล่นและมีปัญหาในการตัดสินใจ



การรักษา

  • จิตบำบัด เช่น จิตบำบัดแบบปรับความคิดพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy: CBT) จิตบำบัดแบบกลุ่ม หรือจิตบำบัดแบบมุ่งเน้นให้เกิดการรับรู้สภาพจิตใจและอารมณ์ (Mentalization-Based Therapy: MBT)

  • การใช้ยาเพื่อลดอาการวิตกกังวล ก้าวร้าว และซึมเศร้า ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีการใช้สารเสพติด ฉะนั้นควรระมัดระวังในการใช้ยา บางครั้งอาจใช้ยากันชักเพื่อควบคุมพฤติกรรมก้าวร้าวโดยเฉพาะกลุ่มที่มีคลื่นไฟฟ้าสมอง (Electroencephalogram: EEG) ผิดปกติ

แม้ว่าโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคมจะเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่มีความซับซ้อน แต่หากผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้รับการรักษาจากจิตแพทย์หรือนักจิตบำบัดก็มีโอกาสที่อาการจะดีขึ้นได้


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

อ้างอิง

[1] จิตเวชศาสตร์ รามาธิบดี ฉบับเรียบเรียงครั้งที่ 4. มาโนช หล่อตระกูล, ปราโมทย์ สุคนิชย์ บรรณาธิการ

[2] โรค Antisocial personality disorder คืออะไร ในซีรีส์ It’s OK to not be OK | หมอจริง DR JING https://www.youtube.com/watch?v=nLMv5p46JaA

[3] What Is Antisocial Personality Disorder (ASPD)?. Retrieved from. https://www.verywellmind.com/antisocial-personality-disorder-2795566


บทความที่เกี่ยวข้อง

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

  • คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

ประวัติผู้เขียน

นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) ปริญญาโทสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา (คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็น นักจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (พ.ศ. 2555 – ปัจจุบัน)

และเป็นนักเขียนของ iSTRONG

facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page