top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

รู้จัก Burnout Boreout Brownout ภาวะเบื่องาน ที่คนยุคนี้กำลังเผชิญ


ในตอนนี้ทุก ๆ ออฟฟิศ ทุก ๆ สำนักงาน คงยกเลิก Work From Home แล้วกลับมาทำงาน แบบปกติกันเต็มที่แล้ว จึงทำให้หลายท่าน รวมถึงตัวดิฉันเองเกิดภาวะเบื่องานอยู่เป็นแน่ แต่ทราบไหมคะว่าภาวะเบื่องานมีหลายระดับ และแต่ละระดับก็ส่งผลต่อสภาวะจิตใจเราแตกต่างกัน ในบทความจิตวิทยานี้ จึงเชิญชวนคุณมาเช็กกันว่าในตอนนี้คุณมีภาวะเบื่องานอยู่ในระดับไหนกันนะ และแต่ละระดับส่งผลต่อเราอย่างไร รวมไปถึงมีเทคนิคจิตวิทยาเพื่อเพิ่มไฟในการทำงานมาฝากกันค่ะ


1. Burnout Syndrome


Burnout Syndrome หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อ “ภาวะหมดไฟในการทำงาน” คือ การขาดแรงจูงใจในการทำงาน ทำให้เราเกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย ไม่อยากทำงาน ไม่อยากมาทำงาน เซ็ง เบื่อ ทำงานช้า อืดอาด ยิ่งเมื่อเจองานเร่ง งานด่วน จะเครียด รู้สึกอึดอัด กดดัน จนส่งผลให้เกิดอาการทางกาย ก็คือ ปวดศีรษะ หายใจไม่ทั่วท้อง ซึ่งอาการเหล่านี้ก็ไปส่งผลให้ร่างกายเกิดความตึงเครียด และเป็นต้นเหตุของของโรคมากมาย เช่น Office Syndrome โรคไมเกรน โรคหัวใจ โรคกระเพาะอาหาร เป็นต้น ซึ่งสามารถเช็กตัวเองว่ามีภาวะ Burnout Syndrome ได้ดังนี้ค่ะ

  • รู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย

  • มองโลกในแง่ร้าย

  • เบื่องาน

  • ขาดแรงบันดาลใจในการทำงาน

  • คลื่นไส้ เวียนหัว อยากอาเจียน ปวดท้อง หรือมีอาการทางกาย เมื่อต้องมาทำงาน

  • อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย

  • ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง

  • ทำงานช้าลงมาก

  • คุณภาพของงานลดลง

  • ความสนใจในการทำงานลดลง

หากอาการข้างต้นตรงกับคุณผู้อ่านมากกว่า 8 ข้อขึ้นไป แสดงว่าคุณกำลังอยู่ในภาวะ Burnout Syndrome ค่ะ


2. Boreout Syndrome


Boreout Syndrome หรือที่เรียกว่า “ภาวะเบื่องาน” มีสาเหตุหลักมาจากความรู้สึกว่าเราใช้ศักยภาพในการทำงานได้ไม่เต็มที่ ไม่รู้ว่าที่ทำอยู่ทุกวันนี้ได้ประโยชน์อะไร เกิดความรู้สึกว่างานไม่ท้าทาย งานไม่เหมาะสมกับความสามารถ มีภาระหน้าที่รับผิดชอบน้อยเกินไป ภาระงานไม่ตรงกับความคาดหวัง ทำให้เกิดความเบื่อ ไม่อยากทำงานในที่สุด โดยคุณสามารถเช็กตัวเองว่ามีภาวะ Boreout Syndrome ได้ดังนี้ค่ะ

  • เบื่องาน

  • ไม่อยากมาทำงาน

  • ต้องฝืนตัวเองเพื่อมาทำงาน

  • รู้สึกว่าตนเองมีความสามารถสูงกว่างาน

  • รู้สึกไม่ภาคภูมิใจในการทำงาน

  • รู้สึกว่าตนเองไม่เหมาะสมกับงาน

  • ต้องฝืนใจในการทำงาน

  • มีส่วนร่วมกับงานของทีมน้อยลง

  • มองหางานใหม่อยู่ตลอดเวลา

  • พร้อมสละยาน

หากอาการข้างต้นตรงกับคุณมากกว่า 8 ข้อขึ้นไป แสดงว่าคุณกำลังอยู่ในภาวะ Boreout Syndrome ค่ะ


3. Brownout Syndrome


Brownout Syndrome หรือที่เรียกว่า “ภาวะหมดใจในการทำงาน” ซึ่งเป็นภาวะรุนแรงที่สุด จากทั้ง 3 ภาวะแล้ว โดยมีสาเหตุหลักมาจากหัวหน้ามีความคาดหวังต่อเราสูง และกดดันให้เราทำตามที่เขาต้องการ อยากได้ต้องได้ จะเอางานเดี๋ยวนี้ โดยไม่สนว่าเป็นวันหยุด หรือดึกดื่น เช้ามืดขนาด รวมไปถึงมีการเปรียบเทียบผลงานอย่างไม่เป็นธรรม หรือให้ผลตอบแทนทางการทำงานที่ไม่เป็นธรรม ไม่เหมาะสมกับสิ่งที่เราทุ่มเทไป โดยคุณสามารถเช็กตัวเองว่ามีภาวะ Boreout Syndrome ได้ดังนี้ค่ะ

  • ลาทุกวันลาที่มี

  • มาทำงานสายโดยตั้งใจ

  • ขาดงานโดยไม่รู้สึกผิด

  • รู้สึกเฉยชาต่อความกดดันในที่ทำงาน

  • ใครแรงมาพร้อมแรงกลับ

  • ดองงาน เทงานโดยเจตนา

  • ความรับผิดชอบในงานลดลงอย่างมาก

  • มาทำงานแบบไร้ชีวิตจิตใจ

  • ขาดการวางแผนในการทำงาน คิดเพียงว่ามาให้หมดวัน

  • พร้อมลาออกตลอดเวลา

หากอาการข้างต้นตรงกับคุณมากกว่า 8 ข้อขึ้นไป แสดงว่าคุณกำลังอยู่ในภาวะ Brownout Syndrome ค่ะ ซึ่งควรรับคำแนะนำหรือขอรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาโดยด่วนนะคะ


นักจิตวิทยาได้แนะนำเทคนิคการเติมไฟในการทำงานมา 7 ข้อ ดังนี้ค่ะ


1. ท้าทายตัวเอง


โดยการตั้งเป้าหมายในการทำงานเป็นรายวัน เช่น Mission สรุปการประชุม Mission ทำ Infographic เป็นต้น และทำให้สำเร็จตามเป้าหมายในแต่ละวัน เพื่อให้เราเกิดความรู้สึกว่าการทำงานมีจุดหมาย มีสิ่งให้รับผิดชอบ แล้วเราจะกระตือรือร้นขึ้นมาได้ค่ะ


2. ทำ Check list งาน


โดยทำลิสต์รายการที่ต้องทำในแต่ละวันหรือแต่ละสัปดาห์ไว้ แล้วพอทำเสร็จเราก็ติ๊กทีละข้อ เราก็จะได้มีกำลังใจในการทำงาน เห็นภาพรวมของงานว่าต้องทำอะไรบ้าง เพื่อเพิ่มไฟ และความตั้งใจในการทำงานค่ะ


3. ตั้งรางวัลไว้ล่อใจตัวเอง


ไม่ว่าจะเป็นการเลื่อนขั้น ขึ้นเงินเดือน หรือง่ายๆ แบบทำงานชิ้นนี้สำเร็จจะไปกินชาบูฉลองให้ตัวเอง หรือยังอยู่ทำงานจนครบเดือนจะซื้อของให้ตัวเองเป็นรางวัลแบบนี้ก็ได้ค่ะ เพื่อเสริมแรงใจในการทำงานให้อยู่รอดค่ะ


4. ลดการเปรียบเทียบตัวเรากับคนอื่น


ในเมื่อเราต้องถูกหัวหน้างานเปรียบเทียบเรากับคนอื่นในที่ทำงานอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นโปรดอย่าเพิ่มความเครียด โดยการนำตัวเราไปเทียบกับคนอื่นอีกเลยค่ะ แต่ให้พยายามหาข้อดีของเรา และลดจุดด้อยเพื่อพัฒนาการทำงานจะดีกว่าค่ะ


5. หา Idol ไว้เป็นตัวแบบในการทำงาน


Idol ในที่นี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นดาวเด่นในที่ทำงาน หรือระดับผู้บริหารหน่วยงาน แต่อาจจะเป็นเพื่อนร่วมงานที่เราสนิทด้วย เพื่อนร่วมงานที่อยู่ด้วยแล้วสบายใจ หรือคุณป้าแม่บ้านที่แสนขยัน ก็สามารถเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจในการทำงานให้เราได้ค่ะ


6. มีน้ำใจกับเพื่อนร่วมงาน


เช่น ช่วยถือของ ช่วยทำงานเมื่อเพื่อนร้องขอ กล่าวอวยพรในวันสำคัญ เป็นต้น เพื่อให้รู้สึกว่าที่ทำงานยังน่าอยู่ ยังมีเพื่อนที่ดี ซึ่งเมื่อเรามีเพื่อนร่วมงานที่ดี บรรยากาศในการทำงานก็จะดีไปด้วย ทำให้เรามีความสบายใจในการทำงานขึ้นมาได้บ้างค่ะ


7. ยิ้มให้ง่าย ทักทายให้ไว มือไม้อ่อน


ถ้างานมันเป็น Toxic กับชีวิต และบางทีก็เจอ Toxic People ในที่ทำงาน เราก็ทำตัวให้เป็น Positive People เข้าไว้ค่ะ ไม่ใช่คนที่พร้อม “บวก” แต่เป็นคนที่ยิ้มแย้ม อัธยาศัยดี คิดบวก มองโลกในแง่ดี เพื่อให้เป็นบุคคลที่เพื่อน ๆ อยากเข้าหา เมื่อเรารู้สึกว่าเราเป็นที่รักของเพื่อน เราจะลดความเครียดในที่ทำงานลงๆได้ค่ะ


ภาวะเบื่องาน เป็นภาวะที่จะมาสิงสู่อยู่ในตัวเราแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว รู้อีกทีก็เบื่องาน ไม่อยากทำงานเสียแล้ว ดังนั้นหากคุณผู้อ่านเริ่มรู้ตัวว่าอยู่ในภาวะ Burnout Syndrome หรือ Boreout Syndrome ลองนำเทคนิคที่นักจิตวิทยาแนะนำไปเติมไฟในการทำงานก่อนที่จะเข้าสู่ภาวะ Brownout Syndrome กันดูนะคะ


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

บทความแนะนำ :

พฤติกรรมมาสาย หายบ่อย อาจบอกว่าคุณกำลังเป็น Burnout Syndrome (https://www.istrong.co/single-post/burnout-syndrome)


อ้างอิง :

[1] ลงทุนแมน. 19 กันยายน 2564. รู้จัก Burnout Boreout Brownout ภาวะเบื่องาน ที่คนยุคนี้กำลังเผชิญ. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 29 เมษายน 2565 จาก https://www.longtunman.com/32542

[2] ลงทุนแมน. 2 มิถุนายน 2564"Brownout" ภาวะหมดใจในการทำงาน ที่รุนแรงกว่า Burnout. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 29 เมษายน 2565 จาก https://www.longtunman.com/29964

 

ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก

บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัย ด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ ที่มีประสบการณ์ในการนำศาสตร์จิตวิทยามาใช้ในการดูแลครอบครัว มากว่า 6 ปี อีกทั้งยังประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาในการใช้ชีวิต และมีความสุขกับการเขียนบทความจิตวิทยา


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page