top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

เทคนิคเพิ่มแรงจูงใจในการทำงานด้วยการกำหนด Deadline หลอกให้ตัวเอง



สุภาษิตโบราณว่า “ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา” ฉันใด “Deadline ไม่มา งานก็ไม่เกิดฉันนั้น” แล้วเพราะอะไร เราถึงมักจะขยันไฟลุกตอนใกล้ Deadline หรือกำหนดส่งงาน นั่นก็เพราะในงานศึกษาทางจิตวิทยา พบว่า เมื่อเราทำงานใกล้ Deadline เราจะมีแรงจูงใจเพิ่มขึ้นมามหาศาลอย่างไม่น่าเชื่อ


เนื่องจากร่างกายของเราจะหลั่งสารอะดรีนาลีน (Adrenaline) จากต่อมหมวกไต ส่งผลให้ร่างกายตื่นตัวอย่างเต็มที่ สามารถทำสิ่งที่ทำไม่ได้จนสำเร็จได้ เช่น อ่านหนังสือทั้งเล่มก่อนสอบในคืนเดียว หรือทำงานที่เคยใช้เวลาครึ่งวัน ให้เสร็จในครึ่งชั่วโมง เป็นต้น แต่ถ้าถามเรื่องคุณภาพงานก็อาจจะไฟลุก หรือลวก ๆ แต่กับคุณภาพชีวิตการทำงานแล้วละก็ต้องบอกเลยว่าย่ำแย่


เพราะการทำงานภายใต้ภาวะกดดันสูงเช่นนี้จะส่งผลให้ร่างกายตึงเครียด กล้ามเนื้อหลอดเลือดหัวใจทำงานหนักเกินไป หัวใจบีบตัวถี่ อัตราการเต้นของหัวใจพุ่งสูง ความดันเลือดทะลุเกณฑ์วัด ถ้าเป็นเช่นนี้นาน ๆ โรคหัวใจ โรคความดัน โรคเครียดก็จะตามมา


ถ้าการทำงานใกล้ Deadline ส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจขนาดนั้น แล้วเพราะอะไรเราถึงยังต้องรออานุภาพแห่ง Deadline ถึงจะทำงาน นักจิตวิทยาก็ได้ไปค้นหาคำตอบมาค่ะ ว่า เพราะคนเรามีนิสัยหนึ่งที่มีอยู่ในตัวของเราทุกคน คือ “นิสัยผัดวันประกันพรุ่ง” หรือศัพท์ทางจิตวิทยาเรียกว่า Procrastination คือ พฤติกรรมที่เรารู้สึกว่าสิ่งที่ต้องทำยังไม่จำเป็นต้องทำตอนนี้ จึงเลื่อนวัน เวลาในการทำงานไปเรื่อยจนถึง Deadline ที่ต้องส่งงานแล้วจึงจะขยันและลงมือทำแบบไม่ลืมหูลืมตาจนเสร็จในครั้งเดียว


นั่นจึงเป็นที่มาของการรออภินิหารแห่ง Deadline ซึ่งได้มีผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยากลุ่มหนึ่งได้ทำการทดสอบพลังแห่ง Deadline โดยการแบ่งผู้เข้าทดสอบเป็น 2 กลุ่ม ให้ทำงานชิ้นหนึ่งด้วยระยะเวลาเท่ากัน โดยกลุ่มหนึ่งกำหนด Deadline ครั้งเดียว คือ เมื่อจบการทดลอง ส่วนอีกกลุ่มแบ่งงานออกเป็นภารกิจย่อย ๆ และมี Deadline หลอกเป็นระยะ ผลการทดลอง พบว่า กลุ่มที่มี Deadline หลอกทำงานได้ดีกว่ากลุ่มที่มี Deadline เดียว เพราะกลุ่มที่มี Deadline เดียวจะขยันทำงานตอนใกล้จบ Deadline เท่านั้น ส่งผลให้งานที่ออกมาไม่มีคุณภาพเท่าที่ควร


และจากการทดลองทางจิตวิทยา ของ Kristen Berman ร่วมกับ Platform ชื่อ kiva.org ซึ่งเป็น Platform สำหรับกู้ยืมสำหรับธุรกิจขนาดย่อม (SME) โดยการให้ผู้ยื่นกู้ กรอกแบบฟอร์มที่มีความยาว 8 หน้า โดยกลุ่มหนึ่งระบุ Deadline ชัดเจน แต่อีกกลุ่มไม่มี Deadline ผลการทดลองพบว่า กลุ่มที่ไม่กำหนด Deadline กรอกแบบฟอร์มสำเร็จเพียง 20% แต่กลุ่มที่มี Deadline สามารถกรอกสำเร็จได้ถึง 44% ด้วยเหตุนี้จากหนังสือ The Deadline Effect ทำงานสำเร็จได้ก่อนเดดไลน์เสมอ ของ Christopher Cox จึงได้แนะนำเทคนิคเพิ่มแรงจูงใจในการทำงานด้วยการกำหนด Deadline หลอกให้ตัวเอง ด้วย 6 เทคนิค ดังนี้


1. เรียงลำดับงานตามความเร่งด่วน

หากคุณมีหลายงานที่ต้องทำ อันดับแรกสุดเลย คือ แบ่งงานตามความเร่งด่วน ว่างานไหนส่งหลังสุด งานไหนต้องทำด่วน ด่วนมาก ด่วนที่สุด เพื่อที่เราจะได้กำหนด Deadline ได้อย่างเหมาะสม และจะได้ส่งงานได้ทันตามกำหนดที่แท้จริง


2. กำหนด Deadline ก่อนวันส่งงานจริง 1 - 2 วัน

ในการสร้างแรงจูงใจในการทำงานเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ และมีคุณภาพ เราควรที่จะตั้ง Deadline ไว้ก่อนกำหนดส่งงานจริงอย่างน้อย 1-2 วัน หรือหากสามารถแบ่งงานออกเป็นภารกิจย่อย ๆ ได้ ก็ลองแบ่งออกตามความเหมาะสม และตั้ง Deadline ของแต่ละภารกิจงานไว้ เพื่อให้มีแรงจูงใจในการทำงานมากยิ่งขึ้น


3. หาผู้คุมงาน/ผู้ตรวจงานก่อนส่งงานจริง

สิ่งที่สามารถเพิ่มแรงจูงใจให้แก่สายชิว สายสบาย สายไม่เร่งรีบมากที่สุด ก็คือ การมีผู้คุมงาน หรือผู้ตรวจงานก่อนส่งงานจริง เมื่อมีคนคอยคุมงาน หรือการที่เรารู้สึกว่ามีคนรอตรวจงานจากเรา เราจะมีพลังในการทำงานให้เสร็จตามเวลาที่ตั้งไว้อย่างมาก


4. ทำงานให้เสร็จทีละชิ้นงาน

สำหรับเทคนิคการทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุดที่นักจิตวิทยาแนะนำ ก็คือ ทำงานทีละชิ้นงานให้เสร็จไปเป็นงาน ๆ เพื่อให้เราใส่ใจ และทุ่มเทพลังให้งานใดงานหนึ่งเพียงอย่างเดียว เพราะจากประสบการณ์ตรงที่สังเกตทั้งตัวเองและเพื่อนร่วมงานมา หากรับงานซ้อน ทำงานพร้อมกันหลายอย่างทีไร เละทุกทีค่ะ งานออกมาทันเวลา แต่ไม่มีคุณภาพสักงาน


5. ทำอย่างสม่ำเสมอ

เคล็ดลับต่อมาที่เราจะสามารถเอาชนะ Deadline โดยการทำงานส่งก่อนกำหนดอย่างมีคุณภาพ ก็คือ การทำตามเทคนิคที่แนะนำข้างต้น ได้แก่ เรียงลำดับงานตามความเร่งด่วน กำหนด Deadline ก่อนวันส่งงานจริง 1 - 2 วัน หาผู้คุมงาน/ผู้ตรวจงานก่อนส่งงานจริง และทำงานให้เสร็จทีละชิ้นงาน อย่างสม่ำเสมอ แล้วเราจะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพเช่นนี้เป็นความเคยชิน กลายเป็นมาตรฐานในการทำงานของเราค่ะ


6. ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง

และเทคนิคสุดท้ายที่ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาแนะนำ ก็คือ ต้องไม่ผัดวันประกันพรุ่งค่ะ เพราะความไม่รีบร้อน และความนิ่งนอนใจว่ากำหนดส่งยังอยู่อีกนาน ก็จะทำให้เราวางงานไว้ทำทีหลัง กว่าจะนึกขึ้นได้ก็เส้นตายอีกแล้วจ้ะ เพราะฉะนั้นหากเราไม่อยากเป็นคนไฟลุกในวัน Deadline ก็อย่าได้ผัดวันเลยค่ะ


การกำหนด Deadline หลอกให้ตัวเอง แท้จริงแล้วเราก็อาศัยพลังแห่ง Deadline หรืออานุภาพแห่งเส้นตายที่เราคุ้นชินมาปรับใช้นั่นเอง เพราะการกำหนดเส้นตายก็เหมือนกับเป็นการกำหนดจุดมุ่งหมาย (Set Goal) ในการทำงานให้กับตัวเราเอง เมื่อเรามีเป้าหมาย เราก็จะมีแรงจูงใจที่จะผลักดันตัวเองให้พุ่งชนงานจนสำเร็จได้ก่อน Deadline ค่ะ


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

  • คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

บทความแนะนำ :


อ้างอิง :

1. ณภัค ภูมิชีวิน. (2565, 30 มิถุนายน). ว่าด้วยพลังของ 'DEADLINE' ไม่เห็นเส้นตาย สมองไม่มา. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 6 กรกฎาคม 2566 จาก https://www.altv.tv/content/pr/62bb58f074fa8bd56bcaf2d1

2. Christopher Cox. (2006).The Deadline Effect ทำงานสำเร็จได้ก่อนเดดไลน์เสมอ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ อมรินทร์ How To.

3. Reeracoen. (2002, 3 August). พลังแห่ง DEADLINE มีอยู่จริง หรือเราแค่ติดนิสัยผัดวันประกันพรุ่ง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 6 กรกฎาคม 2566 จาก https://www.reeracoen.co.th

4. Salary Investor. (2020, 15 กรกฎาคม). พลังแห่ง “Deadline” เพื่อความก้าวหน้าและพัฒนาตัวเอง!!!. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 6 กรกฎาคม 2566 จาก https://www.facebook.com/salaryinvestor/posts/1642104759272216/

 

จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page