top of page

Heavenly Ever After: “รักยืนยาวเพราะเข้าใจ” ความเห็นอกเห็นใจคือกุญแจสำคัญของความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน

iSTRONG Heavenly Ever After: “รักยืนยาวเพราะเข้าใจ” ความเห็นอกเห็นใจคือกุญแจสำคัญของความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน

Heavenly Ever After หรือชื่อไทยว่า “ในสวรรค์นิรันดร” เป็นซีรีส์เกาหลีที่กำลังเป็นที่นิยมใน Netflix ว่าด้วยเรื่องของคู่รักคู่หนึ่งที่มีความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนจากวัยผู้ใหญ่สู่วัยชรา ที่แม้ความตายจะพรากพวกเขาจากกัน แต่ก็ได้กลับมาพบกันใหม่บน “สวรรค์”


แต่ปัญหามันดันเกิดตรงที่สวรรค์ใจดีให้ดวงวิญญาณที่เข้าสู่สวรรค์ได้เลือกว่าตนเองจะอยู่ในร่างของช่วงอายุไหน แล้วฝ่ายชายเลือกที่อยู่ในร่างอายุ 30 ปี แต่ฝ่ายหญิงดันเลือกที่จะอยู่ในช่วงอายุปัจจุบันของเธอ คือ 80 ปี จึงทำให้การกลับมาใช้ชีวิตร่วมกันของพวกเขาในครั้งนี้มีช่องว่างระหว่างวัยมาเป็นปัญหาใหญ่ในการใช้ชีวิตคู่


ซึ่งในบทความจิตวิทยานี้จะขอชวนคุณมาพูดคุยถึงแนวทางการแก้ปัญหาชีวิตคู่โดยใช้ตัวแบบจากคู่รักใน Heavenly Ever After หรือ ในสวรรค์นิรันดร ตามแนวคิดที่ว่า “ความเห็นอกเห็นใจคือกุญแจสำคัญของความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน” ค่ะ


ความเห็นอกเห็นใจ หรือ Empathy ถูกนำมาใช้ในหัวข้องานวิจัยและถูกกล่าวถึงในบทความจิตวิทยาเป็นอย่างมาก ซึ่งดิฉันเองก็ได้เคยเขียนบทความจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับความเห็นอกเห็นใจอยู่บ่อยครั้ง โดยตามทฤษฎีจิตวิทยา Theory of Mind ของ Wellman ได้กล่าวไว้ว่าคนเราจะเริ่มพัฒนาความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นตั้งแต่อายุ 4 – 5 ขวบแล้ว


นั่นหมายความว่าถ้าพ่อ แม่ หรือผู้ปกครอง ปลูกฝังให้เด็ก ๆ มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นตั้งแต่ช่วงนี้ ก็จะทำให้เด็ก ๆ มีความเห็นอกเห็นใจไปตลอดชีวิตได้ โดยทฤษฎี Hoffman’s Empathy Development Theory ของ Hoffman ก็ได้กล่าวเสริมว่า ความเห็นอกเห็นใจของคนเราจะถูกพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอนตั้งแต่เด็กน้อยจนถึงวัยผู้ใหญ่ โดยมีทั้งด้านอารมณ์ (affective empathy) และด้านการรับรู้ (cognitive empathy)


ซึ่งเมื่อเราสามารถพัฒนาความเห็นอกเห็นใจได้อย่างมีคุณภาพ เราจะสามารถพัฒนาความสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้าง หรือพัฒนาความสัมพันธ์กับคนรักให้สามารถเป็น “ความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน” ได้ตามทฤษฎี Carl Rogers’ Person-Centered Theory ของ Carl Rogers ได้ในที่สุดค่ะ


ทั้งนี้ ตามทฤษฎีจิตวิทยา เราสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนได้ตามคู่นักใน Heavenly Ever After หรือ ในสวรรค์นิรันดร ด้วย 5 เทคนิคจิตวิทยา ดังนี้ค่ะ


  1. การฟังอย่างตั้งใจ (Active Listening)

    Carl Rogers นักจิตวิทยาชื่อดัง กล่าวไว้ว่า การฟังอย่างตั้งใจ เป็นทักษะพื้นฐานในการสื่อสารที่ช่วยให้ผู้อื่นรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าและได้รับการเข้าใจ โดยการฟังอย่างตั้งใจคือการฟังด้วยหัวใจ ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจมุมมอง ความรู้สึก และประสบการณ์ของผู้พูดในระดับลึกซึ้ง โดยไม่รีบตัดสิน ไม่ขัดจังหวะ และไม่ชี้นำ


    โดยการฟังอย่างตั้งใจนั้น มีองค์ประกอบสำคัญ 3 องค์ประกอบ ได้แก่ ความเข้าใจอย่างเห็นอกเห็นใจ โดยในการฟังไม่ใช่เพียงแค่ฟังว่า “เขาพูดอะไร” แต่ต้องพยายามเข้าใจว่า “เขารู้สึกอย่างไร” องค์ประกอบต่อมา คือ การยอมรับโดยไม่มีเงื่อนไข โดยการแสดงท่าทีว่ายอมรับในสิ่งที่อีกฝ่ายพูด โดยไม่ตัดสินหรือวิจารณ์ เช่น การกล่าวตอบว่า “คุณไม่ผิดที่รู้สึกแบบนั้น มันเป็นสิทธิในการแสดงความรู้สึกของคุณ”


    และองค์ประกอบสุดท้าย คือ ความจริงใจและสอดคล้องกันระหว่างความรู้สึกภายในกับพฤติกรรมที่แสดงออกมาภายนอก เช่น น้ำเสียง แววตา ท่าทาง ต้องสอดคล้องกัน ไม่รู้สึกฝืน


  2. เพิ่มพฤติกรรมทางบวก ลดพฤติกรรมทางลบ (Repair conflict and express appreciation regularly)

    ตามทฤษฎี Gottman’s Four Horsemen & Their Antidotes เสนอว่า ถ้าเราต้องการที่จะสร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน เราจะต้องลดพฤติกรรมทางลบให้ได้ 4 อย่างที่บั่นทอนความสัมพันธ์ ซึ่ง Gottman เรียก 4 พฤติกรรมทำลายความสัมพันธ์นี้ว่า “4 อาชาแห่งวันสิ้นโลก” (Four Horsemen of the Apocalypse) ซึ่งประกอบด้วย


    การวิจารณ์ เช่น การพูดว่า “ที่รักคุณทำอาหารแย่มาก” “ทำไมคุณถึงไม่มีเวลาให้ฉัน”

    การดูถูก เช่น การพูดว่า “ก็แน่นอนอยู่แล้วล่ะ เธอจะเข้าใจอะไร!”

    การตั้งกำแพง เช่น การพูดว่า “ฉันไม่ได้ทำอะไรผิดเลย เธอต่างหากที่เริ่มก่อน!”

    การตั้งรับแบบโต้กลับ เช่น การนิ่งเงียบ บึ้งตึง หลบหน้า


    โดย Gottman แนะนำว่าทุกคู่รักมีความขัดแย้งเป็นปกติ แต่ต้องลด 4 พฤติกรรมอันตรายข้างต้นแล้วแทนที่ด้วยพฤติกรรมในเชิงบวก ดังที่ Gottman ให้นิยามว่า “Successful couples know how to repair conflict and express appreciation regularly” แปลว่า “คู่รักที่มีความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน จะรู้จักวิธีประสานรอยร้าวเมื่อเกิดความขัดแย้ง และไม่ลืมที่จะชื่นชมกันอยู่เสมอ”


  3. สร้างความผูกพัน (Attachment)

    Attachment Theory เสนอว่า “ประสบการณ์ความผูกพันในวัยเด็กจะส่งผลต่อรูปแบบความสัมพันธ์ของเราตอนโต” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของความไว้วางใจ ความใกล้ชิด และการจัดการกับความขัดแย้ง โดยทฤษฎีได้แบ่งความสัมพันธ์ออกเป็น 4 รูปแบบ ได้แก่


    ความสัมพันธ์แบบปลอดภัย (Secure Attachment) ซึ่งเป็นเปิดเผยความรู้สึกได้ดี สื่อสารตรงไปตรงมา ไว้วางใจคนรัก ความสัมพันธ์แบบวิตกกังวล (Anxious Attachment) เป็นความสัมพันธ์ที่มีความกังวลว่าคนรักจะทอดทิ้งตลอดเวลา จึงต้องการการยืนยันบ่อยครั้ง

    ความสัมพันธ์แบบหลีกหนี (Avoidant Attachment) เป็นความสัมพันธ์ที่ตั้งอยู่บนความไม่สบายใจเมื่อใกล้ชิดมากเกินไป ชอบพึ่งพาตนเอง

    ความสัมพันธ์แบบสับสน (Disorganized Attachment) เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ชัดเจน บางครั้งก็อยากเข้าใกล้แต่ก็กลัวการถูกทำร้ายในขณะเดียวกัน


    ทั้งนี้ ทฤษฎีได้แนะนำวิธีการสร้างความผูกพันเพื่อความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน เอาไว้ 3 วิธี ได้แก่ การสร้าง “Safe Zone” ให้แก่กัน มีความเข้าใจธรรมชาติของตัวเองและคนรัก และต้องซ่อมแซมความสัมพันธ์ด้วยความเข้าใจ ไม่ใช่อารมณ์


  4. การยอมรับความรู้สึกของคนรัก (Emotional Validation)

    การยอมรับความรู้สึกของคนรัก เป็นทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (Interpersonal Effectiveness Skills) ตามทฤษฎีของ Linehan ในการรักษาความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน โดยการการยอมรับความรู้สึกของคนรักที่มีประสิทธิภาพนั้น ต้องประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ ได้แก่


    การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การอธิบายสถานการณ์โดยไม่ตีความ เช่น “วันนี้กลับช้าจัง เกิดอะไรขึ้นหรือเปล่า” การแสดงความรู้สึก เช่น “ฉันเป็นห่วงที่คุณกลับช้า” การขอสิ่งที่ต้องการอย่างตรงไปตรงมา เช่น “ถ้าคุณกลับช้า บอกฉันล่วงหน้าได้ไหม” เป็นต้น

    การรักษาความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้น โดยการแสดงความห่วงใยในขณะพูดคุยหรือมีปัญหา เช่น พูดอย่างสุภาพ นุ่มนวล ฟังอย่างใส่ใจ ยอมรับความรู้สึกของอีกฝ่าย และใช้น้ำเสียงนุ่มนวล ยิ้มแย้ม หรือแสดงความเป็นมิตร เป็นต้น

    การรักษาความเคารพต่อตนเอง เช่น เป็นธรรมต่อตัวเองและผู้อื่น ซื่อสัตย์ต่อตนเอง และพูดอย่างจริงใจ เป็นต้น


  5. การเปิดใจร่วมกัน (Mutual Vulnerability)

    การเปิดใจร่วมกัน ตามคำนิยามของ Brown คือ การที่คู่รักหรือผู้ที่มีความสัมพันธ์กันยอมเปิดเผยตัวตน แสดงความรู้สึก ความกลัว และความไม่สมบูรณ์แบบต่อกัน โดยที่ยังรู้สึกว่าปลอดภัย ไม่ถูกตัดสิน ซึ่งเป็นพื้นฐานของความไว้ใจ และการเชื่อมโยงที่ลึกซึ้งต่อกัน อันนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนในอนาคต


    โดยทฤษฎีนี้ได้แนะนำว่าการเปิดใจร่วมกันสามารถทำได้โดยการกล้ายอมรับว่าเราไม่สมบูรณ์แบบ ไม่จำเป็นต้องพยายาม “ดูดี” หรือ “ถูกเสมอ” มีการรับฟังด้วยความเมตตา เพื่อสร้าง Safe Zone ให้แก่กัน หมั่นแสดงความรู้สึกทางบวกต่อกันอย่างเปิดเผย และสร้างความไว้วางใจผ่าน “การเปิดเผยเล็กน้อยแต่สม่ำเสมอ” เพราะการแบ่งปันเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นจุดเริ่มของความสนิทใจ เช่น ความฝัน ความผิดพลาดในอดีต หรือแม้แต่ความกลัวในปัจจุบัน

จากเทคนิคจ้างต้นสามารถกล่าวได้ว่า ความเห็นอกเห็นใจเป็นทฤษฎีที่สามารถนำมาปรับใช้ในการใช้ชีวิตได้เป็นอย่างดี เพราะความเห็นอกเห็นใจสามารถยกระดับจิตใจให้เรามีความเป็น “มนุษย์” และยังช่วยทำให้เราเห็นคุณค่าของชีวิตรอบข้าง และสิ่งต่าง ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองที่ส่งผลให้เราสามารถสร้าง “ความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน” กับคนที่เรารักได้เหมือนคู่รักใน Heavenly Ever After หรือ ในสวรรค์นิรันดร ค่ะ

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa  

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS 

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

บทความแนะนำ

อ้างอิง

1. Brown, B. (2012).

Daring greatly: How the courage to be vulnerable transforms the way we live, love, parent, and lead. Gotham Books.


2. CoPLUS. (21 เมษายน 2568).

ชวนดู Heavenly Ever After ในสวรรค์นิรันดร 2025 ซีรีส์โรแมนติกแฟนตาซีจาก คิมฮเยจา x ซนซอกกู. [ออนไลน์].

สืบค้นเมื่อ 24 เมษายน 2568 จาก https://entertainment.trueid.net/detail/oWY6X0wQKVBa


3. Gottman, J. M., & Silver, N. (2015).

The seven principles for making marriage work: A practical guide from the country's foremost relationship expert (Revised ed.). Harmony Books.


4. Hoffman, M. L. (2000).

Empathy and moral development: Implications for caring and justice. Cambridge University Press.


5. Linehan, M. M. (2015).

DBT skills training manual (2nd ed.). Guilford Press.


6. Mikulincer, M., & Shaver, P. R. (2007).

Attachment in adulthood: Structure, dynamics, and change. Guilford Press.


7. Rogers, C. R. (1957).

The necessary and sufficient conditions of therapeutic personality change. Journal of Consulting Psychology, 21(2), 95–103. https://doi.org/10.1037/h0045357


8. Wellman, H. M. (2014).

Making minds: How theory of mind develops. Oxford University Press.

ประวัติผู้เขียน

จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตจิตวิทยาคลินิกจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้


iSTRONG ผู้ให้บริการด้านสุขภาพจิต Solutions ด้านสุขภาพจิต ให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง รวมถึงบทความจิตวิทยา

© 2016-2025 Actualiz Co.,Ltd. All rights reserved.

contact@istrong.co                     Call 02-0268949

  • Facebook Social Icon
  • YouTube Social  Icon
  • Instagram
  • Twitter
bottom of page