top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

เครียดจากการทำงาน จัดการยังไงดี?



เชื่อว่าบนโลกใบนี้น่าจะไม่มีใครที่ไม่เคยเครียดกับงาน เพราะคนวัยทำงานแทบทุกคนจำเป็นต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตอยู่ในที่ทำงาน โดยบางคนอาจจะต้องใช้ชีวิตอยู่กับงานมากกว่าชีวิตส่วนตัวด้วยซ้ำ เพราะมีหลายอาชีพที่มีชั่วโมงการทำงานยาวนานกว่าปกติ เช่น ต้องทำโอที ต้องเข้าเวรแทนเพื่อนร่วมงาน หรือบางองค์กรก็คาดหวังให้พนักงานต้องทำงานแบบทุ่มเทอุทิศตนด้วยการทำงานเกินเวลาโดยไม่มีค่าตอบแทน ส่งผลให้หลายคนเกิดความเหนื่อยล้าไม่ว่าจะทางร่างกายหรือทางอารมณ์ ซึ่งเมื่อความเหนื่อยล้าเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องก็จะกลายเป็นความเครียดสะสมได้

สาเหตุยอดฮิตที่ทำให้เกิดความเครียดจากการทำงาน


1. ร่างกายปวดเมื่อยเหนื่อยล้า (Physical discomfort)

การทำงานในยุคใหม่มักเป็นการทำงานที่ต้องใช้หน้าจอและต้องอยู่ในท่านั่งเป็นเวลานาน ๆ ยิ่งช่วงไหนที่งานมีปริมาณมากหรือเป็นงานด่วน ก็ยิ่งทำให้คนทำงานขยับเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลงหรือไม่ได้เปลี่ยนอริยาบถเลยตลอดทั้งวัน ส่งผลให้ร่างกายเกิดอาการปวดเมื่อย โดยเฉพาะส่วนคอ บ่า ไหล่ ซึ่งจะเกิดอาการเกร็งเวลาที่คนทำงานมีความรู้สึกเครียด ในขณะที่อาการตึงปวดตามร่างกายก็ส่งผลให้คนทำงานรู้สึกไม่สบายตัวไม่สบายใจ ทำงานอย่างไม่มีความสุขด้วยเช่นกัน


2. ทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน (Multitasking)

คนทำงานหลายคนมีพฤติกรรมการทำงานแบบทำหลายอย่างในเวลาเดียวกัน (Multitasking) เช่น พิมพ์งานไปด้วย คุยโทรศัพท์กับลูกค้าไปด้วย หรือในยุคโควิด-19 ที่หลายองค์กรใช้การประชุมผ่านทางออนไลน์ก็จะมีบางคนที่เข้าประชุมออนไลน์พร้อมกันมากกว่า 1 ห้องในเวลาเดียวกัน


ซึ่งการทำหลายอย่างในเวลาเดียวกันจะต้องใช้พลังและการโฟกัสมากกว่าการจดจ่อกับสิ่งเดียว ทำให้สมองต้องทนกับสภาวะที่ซับซ้อน ต้องคิดและประมวลผลอย่างหนัก สมองกลีบหน้าจึงต้องการให้เลือดไหลเวียนไปยังสมองมากขึ้น ส่งผลให้คนที่ทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกันรู้สึกอ่อนเพลียง่ายกว่าปกติและเกิดความเครียด


3. การทำงานที่ไม่เป็นระบบขาดความชัดเจน (Disorganization)

แม้ว่าจะเป็นคนทำงานที่ทำงานของตัวเองได้ดี แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะทำงานอย่างเป็นระบบหรือมีการกำหนดแนวปฏิบัติที่ชัดเจน สัญญาณของการทำงานที่ไม่เป็นระบบขาดความชัดเจนมักสะท้อนผ่านพฤติกรรมการทำงาน เช่น เอกสารกองเต็มโต๊ะทำงานอย่างเรี่ยราด ส่งงานไม่ทัน deadline ไม่ได้กำหนดเป้าหมายและขั้นตอนของแต่ละงานเอาไว้


ใช้งบประมาณสิ้นเปลืองแต่ผลลัพธ์ออกมาไม่ดี ไม่มีการเตรียมข้อมูลก่อนการประชุม เป็นต้น ซึ่งการทำงานที่ไม่เป็นระบบขาดความชัดเจนจะทำให้การทำงานเป็นไปแบบ work hard แต่ไม่ work smart ทำให้คนทำงานเครียดเพราะต้องทำงานหนักแต่งานออกมาไม่ดี ในขณะเดียวกันคนทำงานที่เครียดก็จะมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการสิ่งต่าง ๆ แย่ลง


4. ปัญหาเรื่องคน (Interpersonal conflict)

แม้จะขึ้นชื่อว่าความเครียดจากการทำงาน แต่หากไปถามคนทำงานก็จะพบว่าเกือบทุกคนที่เครียดเรื่องงานมักจะเป็นความเครียดเรื่องคน หลายคนก็ประสบปัญหาแบบกลืนไม่เข้าคายไม่ออก คือใจนึงก็รู้สึกเนื้องานที่ทำมันก็โอเค ผลตอบแทนก็น่าพึงพอใจ แต่เพื่อนร่วมงานหรือเจ้านาย toxic มาก ซึ่งปัญหาเรื่องคนมักจะเป็นปัญหาที่รบกวนจิตใจและสร้างความเครียดให้กับคนทำงานเป็นอันดับต้น ๆ เลยก็ว่าได้


เครียดจากการทำงานจัดการยังไงดี?


1. สร้าง Pre-Work Ritual

อันที่จริงความเครียดจากการทำงานมันก็เริ่มต้นตั้งแต่ยังไม่ถึงที่ทำงานแล้วนะคะ เช่น ต้องรีบเตรียมอาหารและไปส่งลูกที่โรงเรียนให้ทันเวลาเข้างาน ต้องขับรถบนถนนที่เพื่อนร่วมทางปาดหน้าไปมาหรือรถติดกว่าจะถึงที่ทำงาน การสร้างช่วงเวลาก่อนเริ่มงานที่ช่วงลดความตึงเครียดระหว่างวันจึงสำคัญ


เช่น เมื่อตื่นขึ้นมาอย่าเพิ่งเข้าโลกออนไลน์เพราะมันมักจะเต็มไปด้วยข่าวสารที่สร้างความเครียด ตื่นเร็วขึ้นเพื่อใช้เวลาบริหารร่างกายด้วยท่ายืดเหยียด เดินรดน้ำต้นไม้ เปิดเพลงจังหวะเบา ๆ หรือฟัง podcast แนวสร้างเสริมกำลังใจคลอไประหว่างที่กำลังเตรียมตัวออกจากบ้านไปทำงาน


2. ตั้งเป้าการทำงานในแต่ละวัน

การทำงานที่ไม่รู้ว่าตัวเองมาทำงานไปทำไม ไม่รู้ว่างานที่ตัวเองทำนั้นมีความสำคัญหรือจะนำไปสู่อะไร มักทำให้เกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย ซึ่งความเบื่อหน่ายก็ทำให้รู้สึกเครียดได้เหมือนกัน ในขณะที่การตั้งเป้าการทำงานในแต่ละวันจะทำให้คนทำงานรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าความหมาย และเมื่อบรรลุเป้าการทำงานก็จะเกิดความรู้สึกว่าตัวเองทำได้ ตัวเองมีความสามารถ เกิดความเชื่อในความสามารถของตนเอง (self-efficacy) เมื่อการทำงานให้ความท้าทายก็จะรู้สึกสนุกกับงานทำให้มีความเครียดจากการทำงานน้อยลง


3. ฝึกตัวเองให้มีทักษะในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน

ความขัดแย้งระหว่างบุคคลมักเกิดจากการขาดทักษะในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน ทำให้เผลอไปสร้างความขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงานโดยไม่รู้ตัว เช่น ติดนิสัยพูดจาโผงผางวิจารณ์คนอื่นด้วยคำพูดรุนแรงโดยเชื่อว่านั่นคือการเปิดเผยตรงไปตรงมา ติดนิสัยชอบนินทาทำให้อยู่คนกับคนนี้ก็นินทาคนนั้นพออยู่กับคนนั้นก็นินทาคนนี้ทำให้บรรยากาศในการทำงานเต็มไปด้วยความไม่ไว้ใจซึ่งกันและกัน


ติดนิสัยมือไวชอบจับต้องเนื้อตัวของคนอื่นขาดความเข้าใจว่านั่นเป็นการคุกคามทางเพศ หรือติดนิสัยชอบรุกล้ำก้าวก่ายความเป็นส่วนตัวของคนอื่น ซึ่งล้วนแต่เป็นพฤติกรรมที่บั่นทอนความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานที่ในท้ายสุดแล้วผลของการทำพฤติกรรมไม่เหมาะสมก็จะย้อนกลับมาสร้างความเครียดให้กับตัวเอง เช่น ไม่มีใครอยากคบ เป็นที่รังเกียจของเพื่อนร่วมงาน คนทำงานจึงควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมดังกล่าวแล้วหันมาพัฒนาบุคลิกภาพของตัวเองให้เป็นคนที่น่าคบมากขึ้น


อย่างไรก็ตาม ความเครียดจากการทำงานในบางครั้งก็เกิดขึ้นแบบไม่รู้ตัว หากพบว่าตนเองเริ่มมีปัญหาการกินการนอนที่กระทบต่อสุขภาพและประสิทธิภาพการทำงาน มีความขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงานหรือเจ้านายบ่อยขึ้น มีอารมณ์หงุดหงิดง่าย รู้สึกไม่มีความสุขอย่างไม่ทราบสาเหตุ ก็ควรพบนักจิตวิทยาหรือนักให้คำปรึกษาเพื่อค้นหาสาเหตุและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่



 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

  • คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง:

[1] How to Manage Stress at Work. Retrieved from https://www.verywellmind.com/how-to-deal-with-stress-at-work-3145273

[2] ทักษะการทำงานหลายอย่าง (Multitasking skills). Retrieved from http://www.math.mut.ac.th/index.php/about-us/menu-articles-knowledgemanagement/70-math-articles-knowledgemanagement-611multitasking

[3] Disorganized Workplace Behavior: How To Recognize and Prevent It). Retrieved from https://www.indeed.com/career-advice/career-development/disorganized-behavior-workplace


บทความที่เกี่ยวข้อง

 

ประวัติผู้เขียน

นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) จบการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และระดับปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา(คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และเป็นนักเขียนของ iSTRONG


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page