top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

ของอร่อยเยียวยาจิตใจได้จริงหรือ? : กินอย่างไรสุขภาพใจได้อย่างนั้น



“ของอร่อยจะเยียวยาทุกสิ่ง” คำพูดนี้หลาย ๆ ท่านคงพูดบ่อยครั้งในยามที่เหน็ดเหนื่อยจากการใช้ชีวิต อ่อนล้าจากการฟันฝ่าอุปสรรคในชีวิต แต่หลายท่านก็คงแอบสงสัยว่า “ของอร่อยเยียวยาจิตใจได้จริงหรือ?” ในบทความจิตวิทยานี้มีคำตอบมาฝากทุกท่านกันค่ะว่าของอร่อยเยียวยาจิตใจได้จริง ๆ นะ


เพราะจากงานวิจัยเชิงจิตวิทยาทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศหลายชิ้นงาน ได้ยืนยันว่าบทบาทของโภชนาการต่อสุขภาพจิตมีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้นเลยทีเดียวค่ะ โดยผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาท่านแรกที่ได้รับฉายาว่า “ผู้บุกเบิกความรู้ด้านโภชนาการต่อสุขภาพจิต” ซึ่งก็คือ Drew Ramsey จิตแพทย์และผู้ช่วยศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University in the City of New York)


ได้กล่าวว่า อาหารที่ดีมีผลต่อสภาพจิตใจของเรา โดยเฉพาะในผู้ป่วยซึมเศร้าและผู้ป่วยกลุ่มโรควิตกกังวล หากได้รับอาหารที่มีโภชนาการที่ดี จะช่วยให้กระบวนการรักษาได้ผลดียิ่งขึ้น เพราะสารอาหารจะช่วยบำรุงสมอง และเยียวยาจิตใจนั่นเอง


ดังเช่นรายงานของ Lynus Pauling เจ้าของรางวัลโนเบลด้านเคมีถึง 2 ครั้ง และผู้ริเริ่มสาขาวิชาเคมีควอนตัมและอณูชีววิทยา ได้ค้นพบว่า บทบาทของโภชนาการต่อสุขภาพจิตมีความสัมพันธ์กัน เนื่องจากส่งผลต่อการทำงานของสมองและความอ่อนไหวทางจิตใจ รวมถึงความมั่นคงทางอารมณ์และความเข้มแข็งของสุขภาพจิต ซึ่งสอดคล้องกับรายงานของ WHO เมื่อปี 2563 ที่ว่า นอกจากความผิดปกติของสารเคมีในสมองจะส่งผลให้เกิดโรคซึมเศร้าแล้ว


การบริโภคอาหารก็มีผลต่อโรคซึมเศร้าได้มากถึง 30 – 50% เลยทีเดียว และงานศึกษาของนักโภชนาการต่างประเทศ พบว่า ปัจจัยทางด้านโภชนาการมีความเชื่อมโยงกับการเรียนรู้ พฤติกรรม และอารมณ์ของมนุษย์ อีกทั้งยังมีบทบาทในการป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพจิต


ด้วยความห่วงใยจาก iSTRONG จึงขอแนะนำเทคนิคการรับประทานอาหารที่มีโภชนาการเหมาะสม เพื่อดูแลสุขภาพจิตให้เข้มแข็งมาฝากกัน 5 เทคนิค ดังนี้ค่ะ


1. ควรมีผักและผลไม้เป็นเมนูประจำในทุกมื้อ


ในวันที่เรารู้สึกไม่สบายท้อง การขับถ่ายมีปัญหา หรือรู้สึกอืดท้อง แน่นท้อง เราจะไม่สบายตัว และหงุดหงิดไปทั้งวันเลยใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นทั้งนักจิตวิทยาและนักโภชนาการจึงได้แนะนำว่า ให้เรารับประทานผักและผลไม้ หรืออย่างใดอย่างหนึ่งในทุกมื้อ เพื่อช่วยเพิ่มกากใยซึ่งมีส่วนช่วยในการขับถ่าย เพิ่มวิตามิน และแร่ธาตุที่สมองและร่างกายต้องการ เพื่อให้ร่างกายมีสมดุล อีกทั้งการทานผลไม้สดยังทำให้เรารู้สึกสดชื่น สมองปลอดโปร่งอีกด้วย


2. รับประทานโปรตีนและไขมันดี


ในข้อนี้คงถูกใจสายเนื้อ ปิ้งย่าง และชาบู เพราะการรับประทานโปรตีนและไขมันดี เช่น อกไก่ สันในไก่ พืชตระกูลถั่ว ก็มีส่วนช่วยให้สุขภาพจิตของเราดีขึ้นได้ เนื่องจากโปรตีนและไขมันดีจะช่วยเพิ่มความสามารถในการคิด ควบคุมความรู้สึกได้เหมาะสม และยังช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง เมื่อร่างกายแข็งแรง การควบคุมความคิด อารมณ์ความรู้สึกดี เราจะมีทัศนคติในการมองโลกที่เหมาะสม และสามารถมองหาข้อดีของสิ่งรอบตัวได้ง่ายมากขึ้นค่ะ


3. รับประทานแป้งคุณภาพ


นอกจากผัก ผลไม้ โปรตีน และไขมันดีที่ดูเป็นอาหารคลีนที่นักจิตวิทยาและนักโภชนาการแนะนำให้รับประทานเพื่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตแล้ว การรับประทานแป้งที่มีคุณภาพก็ให้ประโยชน์ต่อร่างกายและจิตใจเช่นกัน โดยแป้งคุณภาพที่ว่า ก็คือ ธัญพืชและแป้งไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท แป้งพาสต้าโฮลวีท โฮลวีททั้งหลาย ควินัว ข้าวโอ๊ต ข้าวสาลีบัลเกอร์ และป๊อปคอร์น ซึ่งให้กากใยสูง ช่วยในการขับถ่าย และยังให้สารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย


4. ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย


ในวันที่เราดื่มน้ำน้อยกว่าที่ร่างกายต้องการ นอกจากเราจะรู้สึกคอแห้ง แสบคอแล้ว เรายังรู้สึกหงุดหงิด ไม่มีสมาธิ กระวนกระวาย เพราะน้ำเป็นส่วนประกอบ 70% ของร่างกาย และน้ำยังเป็นส่วนประกอบ 85% ของสมองเลยทีเดียว หากขาดน้ำก็เหมือนสมองแห้งแล้ง คิดอะไรก็ติดขัด ร่างกายก็ห่อเหี่ยว เพราะฉะนั้นการดื่มน้ำในปริมาณที่เพียงพอในทุก ๆ วันจึงทำให้ร่างกายสดชื่น จิตใจแจ่มใส และถ้าเป็นน้ำเย็น หรือน้ำผลไม้คั้นสดแช่เย็นยิ่งเพิ่มความสดใสไปอีก


5. ส่งเสริมความเข้มแข็งทางใจด้วยการหาเพื่อนทานอาหาร


และข้อแนะนำสุดท้ายเกี่ยวกับโภชนาการต่อสุขภาพจิต ก็คือ นอกจากการหาอาหารดี ๆ มารับประทานแล้ว เราควรหาคนรู้ใจ หรือคนที่คุยถูกคอ คุยถูกใจมาเป็นเพื่อนร่วมรับประทานอาหารด้วย ลองนึกภาพวันที่เราต้องทานข้าวคนเดียวเทียบกับการนั่งทานข้าวไปเม้ามอยกับใครซักคน หรือหลาย ๆ คนไป ด้วย


บรรยากาศและความรู้สึกช่างแต่งต่างกันเหลือเกินใช่ไหมคะ เพราะการหาเพื่อนทานข้าวด้วยนั้นเป็นการบำบัดความทุกข์ในใจ และเสริมความสุขรูปแบบหนึ่งค่ะ ทำให้เราเกิดความรู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคม หรือกลุ่มเพื่อน หรือครอบครัว ทำให้เราสนิมกันมากขึ้น และยังทำให้เราทานข้าวช้าลง เคี้ยวมากขึ้น ซึ่งทำให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารได้มากขึ้นนั่นเอง


หากเรารับประทานอาหารที่ดีและมีประโยชน์ ร่างกายจะหลั่งสารเคมีในสมองที่ชื่อ Serotonin ซึ่งสามารถช่วยต้านโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลได้เป็นอย่างดี อีกทั้งการรับประทานอาหารในปริมาณที่พอเหมาะจะช่วยให้ร่างกายตื่นตัว มีความกระฉับกระเฉง มีสมาธิมากขึ้น และที่สำคัญคือ เมื่อเราได้รับประทานอาหารที่ดี มีคุณค่า และรสชาติถูกใจ สมองจะหลั่งสาร Endorphin ซึ่งช่วยลดความเจ็บปวดทั้งทางร่ายการและจิตใจ และยังหลั่งสาร Dopamine หรือสารแห่งความสุขออกมาอีกด้วย ดังนั้นจึงสามารถกล่าวได้วง่า “ของอร่อยเยียวยาจิตใจได้อย่างแท้จริง” ค่ะ



iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

  • คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง :

[1] AIA Vitality. (2561). รู้หรือไม่? การเลือกทานอาหารช่วยให้อารมณ์ดีได้. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2566 จาก https://campaigns.aia.co.th/vitality/th/articles/food-mood

[2] กรมสุขภาพจิต. (7 พฤษภาคม 2563). เจาะลึกอาหารกับอาการของคนซึมเศร้า อะไรควรกิน-ไม่ควรกิน. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2566 จาก https://dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=30316

[3] กลุ่มงานสุขศึกษา โรงพยาบาลบุรีรัมย์. (2563). 'วันสุขภาพจิตโลก' 2563 ชวนรู้จักอาหารช่วยต้าน 'โรคซึมเศร้า'. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2566 จาก https://www.brh.go.th/index.php/2019-02-27-04-12-21/384-1-7

[4] สุภาพร เชยชิด. (มปป.). อาหารสําหรับผู้ที่มีความผิดปกติทางด้านจิตใจ. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2566 จาก https://ecourse.christian.ac.th/data/nurse/nurse_th/file/TNUR3207_04.pdf


 

ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก อดีตนักจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก บัณฑิตจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page