จะพูดกับลูกอย่างไรในวันที่ตัดสินใจหย่าร้าง

เชื่อว่าทุกคนที่เริ่มต้นเข้าสู่การสร้างครอบครัวเป็นของตัวเองก็ย่อมวาดหวังไว้ว่า ครอบครัวของตัวเองจะมีความสมบูรณ์ อยู่กันแบบพ่อ-แม่-ลูก เป็นครอบครัวที่มีความสุขตลอดไป
แต่ทั้งนี้ อนาคตก็เป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก บางครั้งจึงอาจเกิดเหตุการณ์ที่ไม่เป็นไปอย่างที่คาดหวังโดยที่ทุกคนก็ไม่อาจจะคาดเดาอนาคตได้ โดยหลายครอบครัวอาจประสบปัญหาที่ทำให้ไม่อาจไปต่อกับคู่ชีวิตได้อีกต่อไปด้วยเหตุผลส่วนตัวที่แตกต่างกันและมีความคิดที่จะหย่าร้างแยกทาง
แต่ก็รู้สึกคิดหนักเพราะกังวลว่าลูกจะกลายเป็นเด็กมีปัญหาขาดความอบอุ่นหรือไม่ อย่างไรก็ตาม การที่เด็กจะกลายเป็นคนที่มีปัญหา ไม่ได้เกิดจากการที่เป็นครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวโดยตรง ซึ่งจะสังเกตได้ว่าในชีวิตจริงนั้นก็มีคนที่มีปัญหาและมีประวัติพ่อแม่หย่าร้างแยกทางกันจริง ๆ แต่ก็มีหลายครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวที่สามารถเลี้ยงดูลูกให้ประสบความสำเร็จได้เหมือนกัน
เมื่อครอบครัวไม่อาจไปกันแบบพ่อ-แม่-ลูกได้อีกต่อไป จะคุยกับลูกยังไงให้ลูกไม่มีปัญหา?
สำหรับครอบครัวที่ตัดสินใจอย่างแน่วแน่แล้วว่าอยากจะยุติบทบาทการเป็นสามีภรรยาแต่ก็กลัวว่าลูกจะมีปัญหา วิธีการพูดคุยและปฏิบัติกับลูกถือว่ามีความสำคัญมากทีเดียว โดยวิธีการพูดคุยกับลูกเรื่องการหย่าร้างแยกทางของพ่อแม่มีดังนี้
1. พ่อแม่ต้องตกลงกันให้เรียบร้อยว่าจะเอายังไงกันต่อไป ก่อนที่จะเรียกลูกมาพูดคุย
เมื่อตัดสินใจแล้วว่าจะสิ้นสุดความเป็นสามีภรรยา คุณทั้งสองควรทำความเข้าใจและตกลงกันให้เรียบร้อยว่าหลังจากนี้มีแผนยังไงบ้าง เพื่อลดการทะเลาะกันต่อหน้าลูกอันเกิดจากการที่คุณทั้งสองยังตกลงกันไม่ได้ และสิ่งสำคัญมากก็คือการจัดการกับอารมณ์ของคุณทั้งสองโดยเฉพาะความโกรธ
จากนั้นก็กำหนดแผนขึ้นมาว่าคุณจะบอกลูกเมื่อไหร่และจะบอกกับลูกยังไง แต่ทั้งนี้ก็อย่าลืมเรื่องของระยะเวลา เพราะหากคุณปล่อยเวลาให้นานมากเกินไป ลูกของคุณอาจจะไปรู้จากคนอื่นก่อนที่คุณจะบอกลูก ซึ่งทำให้คุณต้องตามแก้ปัญหาเรื่องความรู้สึกของลูกเพิ่มขึ้นมาอีก
2. อยู่ด้วยกันพ่อ-แม่-ลูกในตอนที่บอกลูก
มันอาจจะยากมากสำหรับบางคู่โดยเฉพาะคู่ที่มีความบาดหมางกันจนไม่อยากเห็นหน้าอีกฝ่ายแล้ว แต่การอยู่ด้วยกันครบทุกคนตอนที่บอกลูกนั้นก็มีความสำคัญมาก เพื่อที่ลูกจะได้ฟังจากทั้งพ่อและแม่ในเวลาเดียวกัน
ซึ่งตอนนี้คุณต้องแสดงให้ลูกมั่นใจว่าถึงแม้พ่อและแม่จะหย่าร้างแยกทางแต่ลูกจะยังมีความเป็นอยู่ที่ปลอดภัย และพ่อแม่จะยังคงดูแลลูกต่อไปถึงแม้ว่าพ่อและแม่จะไม่ได้อยู่บ้านเดียวกันแล้ว และแม้คุณจะมีลูกหลายคนที่อยู่ในหลายวัย คุณก็สามารถบอกกับลูก ๆ ทุกคนในเวลาเดียวกันได้
โดยเน้นที่ลูกคนโตซึ่งคุณควรเข้าไปพูดคุยด้วยเพิ่มเติมหลังจากที่บอกเรื่องการหย่าร้างแยกทางต่อหน้าทุกคนเรียบร้อยแล้ว สำหรับสถานการณ์ที่ไม่อาจนำทุกคนมาพูดคุยพร้อมกันต่อหน้าได้ เช่น อีกฝ่ายมีพฤติกรรมอันตราย มีแนวโน้มที่จะมีความไม่ปลอดภัยเกิดขึ้น คุณอาจจะขอความช่วยเหลือจากคนอื่นรวมไปถึงผู้เชี่ยวชาญด้านปัญหาครอบครัว
3. พยายามไม่พูดในสิ่งที่ตำหนิหรือโทษอีกฝ่ายต่อหน้าลูก
แม้ว่าในความจริงแล้วมันเป็นความผิดของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชัดเจน เช่น พ่อหรือแม่มีชู้ แต่ความจริงไม่สำคัญต่อลูกเท่าการให้ความมั่นใจว่าพ่อแม่จะไม่ทอดทิ้งลูกแม้สถานการณ์ในครอบครัวจะเปลี่ยนไป
การที่คุณถกเถียงกันว่าการหย่าร้างแยกทางนี้เกิดจากใครกันแน่ต่อหน้าลูก มันจะทำให้ลูกตกอยู่ในสถานการณ์กดดันบีบคั้นเพราะคนหนึ่งก็เป็นพ่อส่วนคนหนึ่งก็เป็นแม่
ซึ่งเทคนิคที่จะช่วยลดความรู้สึกว่าลูกต้องเป็นกรรมการตัดสินผิดถูกของพ่อแม่จนเกิดความลำบากใจก็คือ ใช้คำว่า “เรา” เช่น “เรา(พ่อแม่) ตัดสินใจด้วยกันแล้วว่าจะหย่า เพราะทั้งพ่อและแม่พยายามปรับตัวหากันแล้วแต่ก็ทะเลาะกันทุกวัน” คำว่า “เรา” จะช่วยให้ลูกไม่ต้องเลือกว่าควรจะเข้าข้างใครดี ซึ่งมันจะช่วยลดความรู้สึกกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของลูกได้
4. บอกลูกให้เข้าใจว่าทำไมพ่อแม่ถึงหย่าร้างแยกทางกัน
หลายคนอาจคิดว่าทำไมต้องบอก? เพราะมันเป็นปัญหาของผู้ใหญ่ แต่อย่าลืมว่าการหย่าร้างแยกทางของคุณนั้นส่งผลกระทบต่อลูกด้วยเหมือนกัน เพราะไม่ว่าจะยังไงวิถีชีวิตของทั้งคุณและลูกก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปไม่เหมือนเดิม
อย่างน้อย ๆ ก็คือจากที่ลูกกลับบ้านมาได้เห็นหน้าของทั้งพ่อและแม่ แต่หลังจากนี้ลูกจะต้องเห็นเพียงพ่อหรือแม่เป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้ คุณไม่ควรที่จะลงรายละเอียดให้ลูกรู้ทั้งหมดอย่างแต่ควรบอกลูกในภาพรวมแทน เช่น “พ่อกับแม่ก็ยังรักลูกและยังอยากเป็นพ่อ-แม่ของลูกเหมือนเดิม แต่พ่อกับแม่ไม่ได้รักกันแบบแฟนแล้ว”
ซึ่งลูกก็อาจจะไม่สามารถเข้าใจเหตุผลได้ทั้งหมดแม้ว่าลูกจะรู้ความหรือฉลาดแค่ไหน แต่การบอกภาพรวมกับลูกว่าทำไมพ่อแม่ถึงไม่อยู่ด้วยกันแล้วมันจะเป็นการลดความสงสัยของลูกลงไปได้ โดยเฉพาะความสงสัยที่ว่า “เป็นเพราะฉันหรือเปล่าที่ทำให้พ่อแม่หย่าร้างแยกทางกัน”
5. บอกลูกว่าต่อไปนี้ครอบครัวจะเป็นยังไงต่อไป
ธรรมชาติคนเรามักกลัวความไม่แน่นอน คุณควรบอกลูกให้รู้ว่าหลังจากนี้จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปและอะไรจะยังเหมือนเดิมบ้าง เพื่อลดความกังวลของลูกลง รวมถึงควรบอกให้ลูกรู้ล่วงหน้าว่าพ่อหรือแม่ที่จะเป็นคนที่ย้ายออกไปจากบ้าน
6. หัวใจสำคัญคือการสร้างความมั่นใจให้กับลูก
อีกสิ่งที่คนเรากลัวไม่แพ้กันก็คือความไม่มั่นคง คุณควรเน้นย้ำให้ลูกมั่นใจได้ว่าหลังจากนี้พ่อ-แม่จะยังคงเลี้ยงดูลูกต่อไปไม่ทอดทิ้ง เช่น ลูกจะยังได้เรียนหนังสือเหมือนเดิม
7. ยอมรับปฏิกิริยาของลูกว่ามันเป็นธรรมดาในช่วงนี้
เป็นธรรมดาที่ลูกจะเกิดความรู้สึกไม่พอใจหรือเจ็บปวดจากการตัดสินใจของพ่อแม่ โดยลูกอาจจะแสดงความกังวลหรือโกรธออกมาอย่างชัดเจน ในช่วงที่ลูกยังทำใจยอมรับไม่ได้นี้ให้คุณมองว่ามันเป็นธรรมดาของคนที่เสียใจ ไม่ควรเร่งรีบให้ลูกต้องยอมรับได้ อนุญาตให้ลูกรู้สึกแบบที่เขารู้สึกจริง ๆ เช่น ให้ลูกร้องไห้ออกมาโดยมีคุณคอยอยู่เคียงข้างและปลอบโยน
อย่างไรก็ตาม การหย่าร้างแยกทางไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะผ่านไปได้ ต้องอาศัยการปรับตัวปรับใจอยู่มาก หากคุณไม่สามารถที่จะข้ามผ่านเรื่องนี้ไปได้ด้วยตนเอง และพบว่าเรื่องนี้ได้รบกวนชีวิตประจำวันของตัวเองหรือลูกเป็นอย่างมาก เช่น นอนฝันร้ายทุกคืนจนพักผ่อนไม่เพียงพอ ลูกซึมจนเห็นได้ชัด ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านครอบครัวหรือสุขภาพจิต เช่น จิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักจิตบำบัด หรือนักให้คำปรึกษา เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหามันลุกลามจนยากที่แก้ไขได้
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
อ้างอิง
[1] How to Tell Your Kids You’re Getting a Separation or Divorce
It’s important to talk to your kids before they hear it from someone else. Retrieved from. https://www.psychologytoday.com/us/blog/better-divorce/202002/how-tell-your-kids-you-re-getting-separation-or-divorce
บทความที่เกี่ยวข้อง
ประวัติผู้เขียน
นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) ปริญญาโทสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา (คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็น นักจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (พ.ศ. 2555 – ปัจจุบัน)
และเป็นนักเขียนของ iSTRONG