top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

คุณกำลังทำให้ลูกกลายเป็น ‘Imposter Syndrome‘ โรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง อยู่หรือเปล่า?


Imposter Syndrome เป็นอาการที่เริ่มเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนวัยทำงานของยุคนี้ ที่หลายคนอาจจะกำลังคิดว่าตัวเองกำลังประสบกับอาการ Imposter Syndrome นี้อยู่ [หากคุณยังไม่รู้จักว่า Imposter Syndrome คืออะไร มีลักษณะอาการอย่างไร สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.istrong.co/single-post/imposter-syndrome] โดยคำในภาษาไทยที่ใช้ระบุคำว่า Imposter Syndrome ก็คือ “โรคคิดว่าตัวเองไม่ดีพอ” ซึ่งแม้ว่าในคำภาษาไทยจะใช้คำว่า “โรค” แต่คำว่าโรคในที่นี้ไม่ได้หมายถึงอาการป่วย แต่หมายถึงอาการแสดงของพฤติกรรมที่ปรากฏออกมาในลักษณะของการคิดว่าตัวเองไม่ดีพอ ซึ่งถ้าหากสังเกตดี ๆ จะเห็นว่าในภาษาอังกฤษใช้คำว่า “syndrome” ไม่ใช่ “disease” ซึ่งสิ่งที่จะพ่วงตามมาในขบวนของ Imposter Syndrome ก็คือ การมีระดับความภาคภูมิใจในตัวเองที่น้อย (Low Self-esteem) และความสงสัยในตนเอง (Self-doubt)


ก่อนที่จะไปดูสิ่งที่น่าจะเป็นแนวโน้มของการเป็น Imposter Syndrome คุณเชื่อหรือไม่ว่าแม้แต่ดาราดังของ Hollywood หลายคนก็ประสบกับ Imposter Syndrome อยู่ด้วยเหมือนกัน อย่าง Judie Foster เคยกล่าวไว้ในปีที่เธอได้รับรางวัล Oscar ว่าเธอมีความคิดว่าเธอได้รางวัลมาเพราะความฟลุค Imposter Syndrome จึงเป็นอาการที่สามารถเกิดกับใครก็ได้ที่เคยเผชิญกับประสบการณ์บางอย่างจนทำให้กลายเป็นคนที่มีอาการของ Imposter Syndrome ซึ่งจากการศึกษาของนักวิจัยมักพบว่าเพศหญิงจะมีโอกาสประสบกับ Imposter Syndrome มากกว่าเพศชาย โดยเฉพาะผู้หญิงเก่งที่ต้องทำงานอยู่ในสายงานที่สังคมมองว่าเป็นสายงานที่เหมาะกับเพศชาย


ทำไม Imposter Syndrome จึงเกิดขึ้น?


1. การเลี้ยงดูแบบที่พ่อแม่ไม่ชมลูกเลย


สิ่งที่คนเราถูกพร่ำสอนหรือบอกซ้ำ ๆ เกี่ยวกับสิ่งนั้น โดยเฉพาะจากพ่อแม่ จะกลายมาเป็นเสียงที่คอยหลอกหลอนอยู่ในหัวสมองซ้ำ ๆ เหมือนเพลงที่ถูกกดปุ่ม repeat แม้เสียงของพ่อแม่จะหยุดลงไปแล้ว แต่ประโยคเหล่านั้นก็จะยังคงดังอยู่ดี โดยเปลี่ยนเป็นเสียงของเราแทน


ยกตัวอย่างเช่น

“เอ้า!! ทำไมทำจานแตกล่ะ ไม่ได้เรื่องเลย ของแค่นี้ก็ยังทำไม่ได้ แล้วจะไปทำอะไรกิน”

“โอ้โห!! โง่จริงจริ๊ง เรื่องแค่นี้ใคร ๆ เค้าก็รู้ แกไม่รู้จริง ๆ เหรอ”

“พี่เอลูกป้าหนึ่งเค้าสอบติดหมอ แกล่ะอ่านหนังสือหนังหาหรือยัง วัน ๆ เห็นแต่ดูซีรีส์เกาหลี”


ซึ่งประโยคที่ลูกได้ยินซ้ำ ๆ จากพ่อแม่ มักจะกลายมาเป็นความเชื่อของตัวเขาเองว่าเขาเป็นแบบนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าพ่อแม่ไม่ชมลูกเลยเวลาลูกทำสิ่งที่ดี หรือชอบนำลูกไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ลูกก็จะเกิดการเรียนรู้ว่า ไม่ว่าจะทำดีแค่ไหนก็ไม่มีวันที่จะดีพอ ไม่ว่าจะเก่งยังไงก็จะเป็นคนไม่เคยถูกมองเห็นอยู่ดี แต่จะเป็นคนที่ไม่ดีไปเลยก็ไม่ได้ เพราะจะเกิดความรู้สึกว่า “ขนาดฉันเป็นคนที่ดีพ่อแม่ยังมองไม่เห็นฉันเลย แล้วถ้าไม่ทำตัวไม่ดีล่ะ ฉันจะโดนหนักขนาดไหน”


2. การเลี้ยงดูแบบที่พ่อแม่ชมลูกมากเกินไป


การชมย่อมดีกว่าการด่า โดยเฉพาะการชมเพื่อสนับสนุนให้กำลังใจ แต่บางคนการชมกลับทำให้เขารู้สึกอึดอัดกดดันมากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะคนที่ถูกชมมากเกินไป เพราะมันเป็นงานที่หนักที่ต้องคอยรักษาคุณลักษณะที่ดีเอาไว้เพื่อไม่ให้พ่อแม่ผิดหวัง


ยกตัวอย่างเช่น

“ลูกของแม่เก่งที่สุดเลย ได้เกรด 4 ทุกวิชาเลย แม่ภูมิใจในตัวลูกที่สุดในโลกเลย”

ซึ่งมันจะยิ่งแย่ลงถ้าหากวันหนึ่งลูกไม่ได้เกรด 4 ทุกวิชาแล้วคุณเผลอทำสีหน้าผิดหวังออกไปแม้เพียงเสี้ยววินาที แต่ถ้าหากลูกของคุณสังเกตเห็นสีหน้านั้น เขาจะมองว่าตัวเองกำลังทำให้พ่อแม่ผิดหวัง และอาจเลยเถิดไปถึงการมีความคิดว่าตัวเองเป็นลูกที่แย่ก็ได้ เพราะสำหรับบางคนการเป็นแชมป์อาจไม่ยากเท่ากับการรักษาตำแหน่งแชมป์


3. สิ่งที่ครอบครัวถือเป็นคุณค่าหรือค่านิยม


เราปฏิเสธไม่ได้ว่าครอบครัวเป็นหน่วยย่อยของสังคม ดังนั้น เหนือครอบครัวขึ้นไปย่อมมีสังคมที่ส่งอิทธิพลลงมา ไม่ว่าจะเป็นค่านิยมทางสังคมวัฒนธรรม ความเชื่อ ประเพณีธรรมเนียมปฏิบัติของท้องถิ่น


ยกตัวอย่างเช่น

“มีลูกผู้หญิงเหมือนมีส้วมอยู่หน้าบ้าน”

“ลูกคนแรกควรเป็นลูกชาย เพราะลูกชายสืบสกุลได้”

“หัวหน้าครอบครัวคือพ่อ ดังนั้น ผู้ชายจึงเป็นช้างเท้าหน้า”

“ลูกผู้ชายต้องไม่อ่อนแอ ห้ามร้องไห้ออกมาโดยเด็ดขาด”

“ลูกผู้ชายต้องดูแลปกป้องลูกผู้หญิง พี่ชายต้องปกป้องน้องสาว น้อยชายต้องปกป้องพี่สาว”


ซึ่งการที่ครอบครัวมีค่านิยมเช่นนี้ อาจส่งผลต่อมุมมองที่ลูกมีต่อตัวเขาเอง โดยคนที่เติบโตขึ้นไปแล้วมีอาการของ Imposter Syndrome มีแนวโน้มว่าจะมีมุมมองต่อตนเองในเชิงลบ ไม่มีคุณค่าพอที่จะได้รับการใส่ใจจากคนอื่น ต้องเป็นผู้เสียสละอยู่เสมอ เพราะถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่ไม่เสียสละหรือทำตัวต่อต้านขึ้นมา พ่อแม่จะจะแสดงทีท่าว่าจะไม่รักขึ้นมาทันที ทำให้พวกเขาเรียนรู้ที่จะต้อง “วิ่งไขว่คว้าความดี” และ “สวมใส่หน้ากากเทวดานางฟ้า” อยู่เสมอ ส่งผลให้ลึก ๆ ข้างในรู้สึกว่างเปล่า ยิ่งนานวันยิ่งรู้สึกว่าตัวเองปลอมเปลือกจนรู้สึกแย่กับตัวเองเป็นอย่างมาก


4. พ่อแม่เองก็เป็น Imposter Syndrome เหมือนกัน


กล่าวกันว่า “ลูกคือภาพสะท้อนของพ่อแม่” โดยมากแล้วลูก ๆ จะมีพฤติกรรมการแสดงออกที่ไม่หนีไปจากสิ่งที่พ่อแม่เป็นสักเท่าไหร่ ซึ่งในบทความนี้ยังไม่ได้ศึกษาลึกลงไปถึงระดับ DNA จึงไม่อาจจะกล่าวได้ว่าการที่ลูกมีอาการของ Imposter Syndrome มาจากการได้รับถ่ายทอดมาทางพันธุกรรม แต่มองในเชิงการเรียนรู้ทางสังคมมากว่า กล่าวคือ พ่อแม่ก็คือสังคมแรกของลูกที่ลูกจะซึมซับเรียนรู้วิธีคิด วิธีพูด วิธีการแสดงออก ซึ่งหากพ่อแม่เองก็เป็น Imposter Syndrome ก็มีแนวโน้มว่าลักษณะของวิธีคิด วิธีการมองโลกมองตัวเอง จะถูกถ่ายทอดไปสู่ลูกได้ผ่านการเรียนรู้ทางสังคมของลูก


ทำอย่างไรถึงจะเป็นพ่อแม่ที่ไม่ทำให้ลูกมีอาการของ Imposter Syndrome

1. เป็นผู้ฟังที่ดี รับฟังลูกเวลาที่ลูกมีปัญหาและต้องการปรึกษาคุณ


2. ฝึกฝนให้ตนเองเป็นพ่อแม่ที่ตระหนักรู้ เช่น รู้ว่าเป้าหมายชีวิตของตนเองคืออะไร


3. เดินทางสายกลาง ไม่ตึงเกินไป ไม่ปล่อยเกินไป ไม่เข้มงวดจนเกินไป และไม่ตามใจจนเกินไป


และสำหรับพ่อแม่ที่มีอาการของ Imposter Syndrome ก็อาจจะลองไปพบผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการบำบัดเยียวยาสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตของตนเอง เพื่อลดโอกาสในการที่ถ่ายทอดความเป็น Imposter Syndrome ให้กับลูกผ่านการเรียนรู้ทางสังคมของลูก รวมไปถึง การพบกับผู้เชี่ยวชาญจะทำให้คุณทราบเทคนิคในการจัดการกับ Imposter Syndrome ซึ่งคุณสามารถนำไปประยุกต์ใช้เองที่บ้าน เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกกลายเป็นคนที่มีอาการของ Imposter Syndrome ได้


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง

[1] Managing the Imposter Syndrome in Academia: How to Overcome Self-Doubt by Moira Killoran, PhD

[2] Imposter Syndrome by by Adrienne Isaac

[3] ทำไมฉันไม่เคยเก่งพอ Imposter Syndrome / Have a nice day EP.75 by นิ้วกลม


บทความแนะนำ



 

ประวัติผู้เขียน : นิลุบล สุขวณิช

จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาจิตวิทยา(คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และระดับปริญญาโท สาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีประสบการณ์ด้านการจิตวิทยาการปรึกษากว่า 7 ปี ปัจจุบันเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และเป็นผู้เขียนบทความของ iSTRONG

facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page