18 กลยุทธ์ที่ผู้ปกครองควรทำเมื่อลูกถูกกลั่นแกล้ง (Bullying)
เมื่อไม่นานมานี้ กรมสุขภาพจิตออกมาเปิดเผยว่าในปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีสถิติการกลั่นแกล้งในโรงเรียน (Bullying) สูงเป็นอันดับ 2 ของโลก ซึ่งสะท้อนถึงสถานการณ์การรังแกกันในโรงเรียน ว่าไม่ใช่ปัญหาเล็กน้อยอีกต่อไป และทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้มูลนิธิ path2health ยังได้ทำการเก็บข้อมูล นักเรียนในชั้นประถมศึกษา และมัธยมศึกษาจำนวน 5 แห่งในกรุงเทพ พบว่า เด็กที่ถูก Bully หรือโดนรังแก มักจะมีความอ่อนแอ ไม่สู้คน เรียนรู้ช้า มีความแตกต่างทางด้านรูปร่าง หรือเป็นเพศทางเลือก ซึ่งผลของ Bullying ทำให้พวกเขามีความเครียดสะสม เก็บกด เป็นโรคซึมเศร้า บางคนฆ่าตัวตาย หรือตอบโต้ด้วยวิธีรุนแรง ในขณะเดียวกันเด็กกลุ่มที่รังแกคนอื่น ก็มีผลกับการพัฒนาการด้านพฤติกรรม ทำให้พวกเขามักใช้วิธีการรุนแรงในการแก้ปัญหา และส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตเมื่อเติบโตขึ้น
แพรได้อ่านบทความจิตวิทยาเกี่ยวกับกลยุทธ์ในการรับมือการ bully จากงานวิจัยจำนวนมาก เขียนโดย Hara Estroff Marano และคิดว่าน่าจะมีประโยชน์ในการแบ่งปัน ดังต่อไปนี้ค่ะ
สิ่งที่เด็กต้องทำเมื่อเผชิญปัญหา Bullying
1.พยายามหลีกเลี่ยงการทะเลาะเบาะแว้ง เช่น เมื่อมีคนมาพูดจาข่มขู่ ให้เดินหนี หรือ หลีกหนีสถานการณ์ที่จะนำพาตัวเองไปโดยรังแก
-พยายามใช้อารมณ์ขัน เมื่อกำลังจะโดนแกล้ง เช่น “สมคิด ไม่เอาหน่า พอเถอะ ฉันไม่อยากให้เธอไปโรงเรียนสายนะ” เป็นต้น
-พยายามคุยกับคนที่มารังแกแบบมีเหตุมีผล และบอกให้เขาหยุดพฤติกรรมที่กำลังรังแกเรา เช่น “สมคิด เราคิดว่าการที่รังแกผู้หญิงเป็นเรื่องที่น่าอายมากๆ นะ เธอควรหยุดทำแบบนี้กับเราได้แล้ว” (นี่เป็นวิธีที่ดี โดยเฉพาะกับเด็กผู้หญิง)
-พยายามอยู่กับกลุ่มเพื่อน พยายามสร้างสัมพันธ์กับเด็กคนอื่น คนที่รังแกคนอื่น มักจะหาโอกาสรังแกคนที่มักอยู่คนเดียว หรือไม่มีเพื่อน
สิ่งที่ผู้ปกครองควรจะต้องทำเมื่อลูกถูก Bullying
1.พยายามสังเกตลูกว่า มีความสามารถที่จะปกป้องตัวเอง กล้าพูด กล้าแสดงความคิดเห็นของตัวเองหรือไม่ สิ่งที่จำเป็นมากๆ เพื่อที่จะเป็นเกราะป้องกันการถูกรังแก คือ ความมั่นใจในตัวเองของเด็ก
2.สร้างความรับรู้ให้กับครูและเด็ก รวมถึงลูกของเราว่า Bullying เป็นสิ่งที่ไม่ดี และผลกระทบที่เกิดขึ้น
3.ถามลูกอยู่เสมอว่า ได้รับการปฏิบัติจากเพื่อนอย่างไร โดนรังแกหรือไม่ โดยส่วนมากเด็กมักจะอาย และไม่กล้าที่จะบอกว่าโดนรังแก
4.สร้างทักษะการเข้าสังคมให้กับลูก เพื่อให้ลูกสามารถปรับทักษะการเข้าสังคมในสถานการณ์ที่แตกต่างได้
5.สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนในบ้าน
6.สร้างโอกาสในการสร้างทักษะมนุษยสัมพันธ์ให้กับลูก โดยเฉพาะ เด็กที่มักโดนรังแก โดยการชวนเพื่อนมาเล่นที่บ้านกับลูก สร้างกลุ่มเพื่อนให้กับลูก เป็นต้น
7.สร้างกิจกรรม หรืองานอดิเรกที่เป็นประโยชน์ให้กับเขา เช่น สนับสนุนให้ลูกเล่นกีฬาที่เขาชอบ เพื่อที่จะให้เขาได้เจอเพื่อนที่ชอบทำกิจกรรมที่คล้ายกัน มีความคล้ายคลึงกับเขา
8.ลดเวลาในการเล่มเกมส์หรือดูทีวี เพื่อให้เขาหากิจกรรมที่มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ
9.แสดงความเข้าอกเข้าใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น และให้พวกเขาตระหนักถึงความรู้สึกของการถูกรังแก เพื่อที่จะไม่ไปรังแกคนอื่นในอนาคต
10.ช่วยลูกในการหาคำพูด เพื่อตอบโต้ หรือป้องกันตัวเองเมื่อถูกรังแก
11.พยายามสร้างความเข้าใจให้กับลูกว่า การทำกิจกรรมกับเพื่อนเป็นกลุ่ม ทำให้เรามีงานอดิเรกที่ดี และได้ใช้เวลากับเพื่อนที่มีความสนใจคล้ายกัน นอกจากนี้ยังลดโอกาสการโดนรังแก เพราะคนที่ Bully คนอื่นมักจะเลือกรังแกคนที่ไม่มีกลุ่มเพื่อน
12.ไม่สอนลูกให้ตอบโต้โดยการใช้กำลัง
13.อย่าคาดหวังว่าลูกจะจัดการปัญหา Bullying โดยตัวของเขาเองแค่คนเดียว
14.พยายามมีบทบาทในการแก้ปัญหา Bullying ให้กับลูก เนื่องจากผู้ใหญ่มีบทบาทที่สำคัญในการสร้างสังคมให้กับเด็ก และพยายามสร้างความเข้าใจในกลุ่มเด็กว่า Bullying เป็นพฤติกรรมที่ไม่ดี และไม่เป็นที่ยอมรับ
15.พยายามพูดคุยกับครูเพื่อทำความเข้าใจ สภาพแวดล้อมของลูกที่โรงเรียน
16.พยายามพูดคุยกับผู้ปกครองคนอื่นๆ ที่ถูกรังแกเช่นกัน
17.พูดกับกับโรงเรียน และร้องขอให้มีการจัดการปัญหา #Bullying เพราะเด็กทุกคนมีสิทธิที่จะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย
18.ถ้าทำในหลายๆ วิธีแล้ว ไม่สำเร็จ ก็อาจจะพิจารณาที่จะย้ายโรงเรียนให้กับลูก เพราะเด็กอาจจะมีความสุขในสิ่งแวดล้อมของโรงเรียนอื่น ก็เป็นได้
ปัญหา #บูลลี่ เป็นปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไข ในฐานะผู้ปกครองเราควรที่จะต้องใส่ใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับลูก เพราะผลกระทบทางจิตใจ อาจส่งผลในการพัฒนาขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่สามารถจัดการกับปัญหาและดำเนินชีวิตอย่างสงบสุขกับลูก และหากพบว่าลูกกำลังประสบกับปัญหาโรคซึมเศร้า หรือปัญหาเชิงพฤติกรรม การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเช่น นักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์ก็เป็นอีกหนึ่งทางออกที่ดีนะคะ
คุณสามารถนัดหมายเพื่อปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญได้เลย โดยไม่ต้องรอคิว >> ที่นี่ค่ะ
iSTRONG ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและครอบครัว
บริการให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง
สามารถเลือกคุยทางโทรศัพท์หรือการพูดคุยแบบส่วนตัว (Private Counseling)
และคอร์สออนไลน์ | Classroom Workshop
รวมถึงบทความจิตวิทยาอีกมากมาย
ดูบริการของ iSTRONG ได้ที่นี่ https://www.istrong.co/service
Comments