top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

9 คุณลักษณะผู้นำที่ดีตามทฤษฎีจิตวิทยา ที่โลกยุคใหม่ต้องการ



คุณลักษณะผู้นำที่เด่นมีความคล้าย ๆ กัน คือ เปิดกว้าง เข้าอกเข้าใจผู้อื่น ทำงานได้กับทุกคน มีแนวคิดว่าทุกคน "เท่าเทียม" กัน และที่สำคัญคือ กล้าที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง

โดย Nadler กับ Tushman ได้เสนอแนวคิดคุณลักษณะผู้นำที่สอดคล้องกับ เทรนด์ผู้นำข้างต้น ผ่านแนวคิดชื่อ "ผู้นำ 3 มิติ" หรือ 3 Dimensions of Leaders เอาไว้ว่าผู้นำที่ดีควรมี 9 คุณลักษณะผู้นำ ใน 3 มิติ ดังนี้ค่ะ


มิติที่ 1 การสร้างวิสัยทัศน์ (Envision)

1. พัฒนาและเปลี่ยนแปลงวิสัยทัศน์ (Changing Vision)

ผู้นำที่ดีตามทฤษฎีจิตวิทยา ต้องมีคุณลักษณะผู้นำที่สำคัญ คือ การพัฒนาและเปลี่ยนแปลงวิสัยทัศน์ของตนเอง โดยวิสัยทัศน์แปลตามภาษาบ้าน ๆ ก็คือ มุมมองที่เรามีต่อสิ่งต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น มุมมองต่อตนเองในอนาคต ว่าเราอยากเห็นตัวเองในอนาคตอย่างไร หรือเรามีมุมมองว่าอยากเห็นสิ่งต่าง ๆ เป็นอย่างไรในอนาคต ซึ่งโลกของเรานั้นมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา ผู้นำที่ดีจึงควรต้องพัฒนามุมมองทั้งต่อตนเองและสิ่งต่าง ๆ ให้ทันสมัย และก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกค่ะ

2. ตั้งความคาดหวังกับตนเองไว้สูง (Setting High Expectations)

โดยปกติแล้ว "ผู้นำ" จะถูกตั้งความหวังจากผู้อื่นไว้สูงอยู่แล้ว แต่สำหรับผู้นำที่ดีนั้น ต้องตั้งความหวังต่อตนเองเอาไว้สูงเช่นกัน เพื่อผลักดันให้ตนเองสามารถทำตามนโยบายที่ตนเองเคยให้ไว้ สามารถทำตามหลักการขององค์การได้ และสามารถขับเคลื่อนการทำงานภายใต้อำนาจหน้าที่ของตนเองให้สำเร็จ และบรรลุตามความคาดหวังของผู้อื่น และของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพค่ะ

3. เป็นตัวอย่างที่ดี (Leading by Example)

ในคุณลักษณะผู้นำในการเป็นตัวอย่างที่ดีนั้น ถือว่าเป็นคุณลักษณะที่สำคัญทางจิตวิทยาที่ส่งผลโดยตรงต่อความนิยมในตัวของผู้นำค่ะ เพราะถ้าหากผู้นำออกกฎ ออกระเบียบ ออกนโยบายให้ผู้อื่นปฏิบัติตาม แต่ตนเองไม่สามารถทำได้ หรือเพิกเฉย ไม่สนใจจะทำ กฎ ระเบียบ นโยบาย รวมถึงตัวผู้นำเองก็ด้อยค่า และเสื่อมความนิยมในที่สุด เพราะฉะนั้นแล้ว หากต้องการที่จะเป็นผู้นำที่ดี ต้องทำตัวให้เป็นตัวอย่างที่ดีเสียก่อนค่ะ


มิติที่ 2 การสร้างแรงจูงใจ (Motivate)

4. แสดงออกถึงความกระตือรือร้น (Enthusiasm)

ผู้นำที่ดีที่สามารถสร้างแรงจูงใจให้ผู้อื่นได้ ต้องมีความกระตือรือร้นที่จะลงมือทำสิ่งต่าง ๆ ให้สำเร็จ หรือพัฒนาสิ่งต่าง ๆ ให้ดีขึ้นกว่าเดิม และที่สำคัญก็คือ ต้องสามารถแสดงออกถึง "ความกระตือรือร้น" นั้น ให้ผู้อื่นรับรู้ เพื่อส่งพลังให้ผู้อื่น หรือผู้คนรอบข้างลุกขึ้นมาลงมือทำ หรือพัฒนาสิ่งต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน เพื่อเติมไป ส่งพลัง และร่วมแรงร่วมใจกันทำองค์การให้น่าอยู่ ผลักดันองค์การให้ประสบความสำเร็จค่ะ

5. แสดงออกถึงความเชื่อมั่นในตนเอง (Confidence)

คนที่ได้ขึ้นมาเป็นผู้นำทุกคนย่อมมีความเชื่อมั่นในตนเองอยู่แล้ว ว่าเราเจ๋ง เราเก่ง เรามีดี แต่ความยากของการเป็นผู้นำที่ดี ก็คือ จะทำอย่างไรถึงจะแสดงออกถึงความเชื่อมั่นในตนเองได้อย่างพอดี เพราะถ้าแสดงออกมากไป ก็จะกลายเป็นอวยตัวเอง หลงตัวเอง สร้างกระแสเชิงลบตีกลับมาอีก แต่ถ้าแสดงออกน้อยไป ก็จะกลายเป็นลดความน่าเชื่อถือของตนเอง ทำให้เสียภาพลักษณ์ไปอีก ดังนั้นผู้นำที่ดีจึงต้องรู้จักจุดพอดีของการแสดงออกถึงความเชื่อมั่นในตนเองค่ะ เช่น ลงมือทำสร้างผลงานให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ หรือให้คำปรึกษาแก่ผู้อื่นเมื่อมีโอกาสค่ะ

6. แสดงออกถึงความมุ่งมั่น (Celebrating)

อีกคุณลักษณะผู้นำหนึ่งที่ดีที่สามารถสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้อื่น ก็คือ ผู้นำที่แสดงออกถึงความมุ่งมั่น เช่น แสดงออกว่าอยากทำงาน อยากจะพัฒนางาน มีความต้องการอย่างแรงกล้าที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง เป็นต้น โดยการแสดงออกถึงความมุ่งมั่นนั้น จะสามารถช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้อื่นในการลงมือทำสิ่งต่าง ๆ ร่วมมือกันทำงาน ทำสิ่งต่าง ๆ ได้สำเร็จนั่นเอง


มิติที่ 3 มีความสามารถในการร่วมกับผู้อื่น ( Enabling)

7. สนับสนุนผู้อื่น (Personal Support)

การได้เป็นผู้นำนั้นต้องอาศัยแรงสนับสนุนจากหลาย ๆ ฝ่าย จึงจะสามารถขึ้นมาเป็นผู้นำได้ แต่ผู้นำที่ดีนั้น นอกจากจะรับการสนับสนุนจากผู้อื่นมาผลักดันตนเองแล้ว ต้องสามารถผลักดันผู้อื่น โดยการสนับสนุนผู้อื่นในทางที่ถูก ที่ควร ที่เหมาะสมทั้งกับตัวเขาและส่วนร่วม เพราะเราไม่สามารถอยู่ในตำแหน่งผู้นำได้ตลอดกาล เราต้องสร้างผู้นำที่ดีและมีคุณภาพขึ้นมาแทน ไม่เช่นนั้นแล้วองค์การจะตายจากไปพร้อมเราค่ะ

8. เห็นอกเห็นใจผู้อื่น (Empathizing with Others)

คุณลักษณะผู้นำเด่นอีกประการของผู้นำที่ดี ก็คือ การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เพราะผู้นำที่เห็นอกเห็นใจผู้อื่น จะเข้าใจถึงความลำบากในการทำงาน ความลำบากในการใช้ชีวิต และรับรู้อย่างลึกซึ้งถึงความคาดหวังที่จะเปลี่ยนแปลงองค์กร รวมถึงการรับรู้นั้นมาเป็นนโยบาย เป้าหมาย จุดประสงค์ในการทำงาน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อื่นและองค์กรให้ดีขึ้นค่ะ

9. เชื่อมั่นในผู้อื่น (Confidence in Others)

ผู้นำจะเป็นผู้นำได้ ต้องมีผู้อื่นเชื่อมั่น และยอมทำตาม ซึ่งผู้นำที่ดีนั้น นอกจากจะได้รับความเชื่อมั่นแล้ว ต้องเปิดใจและกล้าที่จะเชื่อมั่นผู้อื่น มองผู้อื่นอย่างเท่าเทียม มองเห็นจุดดี จุดเด่น จุดแข็งของผู้อื่น และให้โอกาสผู้อื่นได้ลงมือทำ ได้เปลี่ยนแปลง ได้พัฒนา หากผู้นำมีความเชื่อมั่นในผู้อื่นแล้ว องค์การจะมีความเข้มแข็ง เป็นปึกแผ่น มีความมั่นคง พร้อมสู้ พร้อมลุย พร้อมชนทุกอุปสรรคค่ะ

การมี "ภาวะผู้นำ" หรือ Leadership นั้น ใคร ๆ ก็สามารถมีได้ แต่การเป็น "ผู้นำ" หรือ Leader โดยเฉพาะการเป็นผู้นำที่ดีนั้น ไม่ใช่ว่าใคร ๆ ก็เป็นได้ เพราะฉะนั้นแล้ว หวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อมูลคุณลักษณะผู้นำที่ดีข้างต้นที่ได้นำเสนอไปนั้น จะสามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็นแนวทางให้คุณผู้อ่านกลายเป็นผู้นำที่ดีได้ในอนาคตนะคะ


และหากคุณต้องการพัฒนาตนเองให้กลายเป็นที่ปรึกษาที่เข้าอกเข้าใจตนเองและผู้คนมากขึ้น เพื่อปรับใช้ในการทำงาน ครอบครัว และในชีวิตประจำวัน คุณสามารถสมัครเรียน "หลักสูตรนักให้คำปรึกษากับนักจิตวิทยา" จาก iSTRONG ได้ที่นี่


หรือหากคุณต้องการพัฒนาภาวะผู้นำ สู่การเป็นผู้นำที่ใช้ "หัวใจ" ทาง iSTRONG ก็ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของอนาคตของผู้นำ จึงได้ออกแบบ "คอร์ส Heart-to-Heart Leadership" ที่จะพัฒนาให้คุณเป็น "ผู้นำ" ที่ใช้ "หัวใจ" อย่างแท้จริง


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

บทความแนะนำ : 4 เหตุผลตามทฤษฎีจิตวิทยาที่ทำให้ "โจ ไบเดน" เป็นผู้นำที่มีเสน่ห์ (https://www.istrong.co/single-post/transformational-leadership)


อ้างอิง :

[1] ชูศักดิ์ เอกเพชร. (มปป.). แนวคิดพื้นฐานเรื่องผู้นำและภาวะผู้นำ (Leaders and Leadership). เอกสารประกอบหลักสูตรปริญญาโท สาขาการบริหารการศึกษา. มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี: สุราษฎร์ธานี.

[2] พรสรัญ รุ่งเจริญกิจกุล. (10 สิงหาคม 2564).โลกต้องการ “ผู้นำที่สร้างการเปลี่ยนแปลง”. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 22 พฤษภาคม 2564 จาก https://www.moneyandbanking.co.th/article/the-guru/the-guru-executive-coaching-moneyandbanking-august-10082021

[3] Brian Carney and Isaac Getz. (10 September 2018). Give Your Team the Freedom to Do the Work They Think Matters Most. Harvard Business Review.

 

ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัย ด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ ที่มีประสบการณ์ในการนำศาสตร์จิตวิทยามาใช้ในการดูแลครอบครัว มากว่า 7 ปี อีกทั้งยังประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาในการใช้ชีวิต และมีความสุขกับการเขียนบทความจิตวิทยา


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page