top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

8 วิธีเยียวยาผู้ป่วย PTSD ผู้ตกเป็นเหยื่อเหตุการณ์ความรุนแรงตามคำแนะนำของนักจิตวิทยา

เมื่อเหตุการณ์ความรุนแรงไม่ว่าจะเป็นการสังหารหมู่ กราดยิง หรืออุบัติเหตุจบลง ยังคงมีกลุ่มคนไม่ว่าจะเป็นญาติ หรือครอบครัวผู้ตกเป็นเหยื่อที่ได้รับผลกระทบ ต้องจมอยู่กับอาการ PTSD หรือชื่อเต็ม ๆ ในวงการจิตวิทยาว่า “Post-Traumatic Stress Disorder” ซึ่งเป็นสภาวะที่ร่างกายยังคงมีอาการตอบสนองเสมือนว่ายังอยู่ในเหตุการณ์รุนแรง แม้ว่าเหตุการณ์นั้นจะผ่านไปแล้วก็ตาม เช่น นาย A รอดชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์ แต่นาย A ป่วยเป็น PTSD ถึงแม้ว่าอุบัติอเหตุจะผ่านไปเป็นเวลารวมเดือน นาย A ก็ยังคงฝันร้ายถึงเหตุการณ์นั้น กลัวการโดยสารรถทุกชนิด เพียงแค่ได้ยินเสียงรถเบรกก็ตกใจ ใจสั่น มือสั่น ควบคุมตัวเองไม่ได้ ซึ่งอาการเหล่านี้ทำให้ผู้ป่วยเป็นทุกข์มหาศาลเลยค่ะ เพราะเหมือนกับว่าเขาต้องเจอเหตุการณ์ร้ายซ้ำ ๆ อยู่ตลอดเวลา หรือญาติของเหยื่อที่ต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไป



ผู้ป่วย PTSD

ดังนั้นในบทความนี้จึงได้รวบรวมวิธีเยียวยาจิตใจของผู้ป่วย PTSD และผู้ที่ประสบเหตุการณ์รุนแรงตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา มาฝากกันค่ะ เผื่อคุณผู้อ่านที่มีคนใกล้ชิดเป็น PTSD หรือเป็นผู้ที่ประสบเหตุการณ์สะเทือนใจ จะสามารถนำไปใช้ดูแลจิตใจของคนใกล้ตัวได้ค่ะ


ในทางจิตวิทยาบอกไว้ว่า อาการที่ชี้ชัดว่าเราเป็น PTSD มีด้วยกัน 4 อาการด้วยกันค่ะ คือ

1.เห็นภาพหลอนของเหตุการณ์ร้ายแรงบ่อยครั้ง หรือฝันถึงเหตุการณ์ร้ายซ้ำ ๆ ทุกคืน

2.เมื่อคิดถึงเหตุการณ์ร้ายนั้นจะมีอาการตื่นตัว ควบคุมตัวเองไม่ได้ หงุดหงิด โมโหง่าย ก้าวร้าว นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ตกใจง่าย ใจสั่น ความดันโลหิตสูง ไม่มีสมาธิ เครียดง่าย

3.พยายามหลีกเลี่ยงที่จะกลับไปสู่สถานการณ์ที่ใกล้เคียงกับเหตุการณ์ร้าย เช่น กลัวการขับรถ เพราะเคยเจออุบัติเหตุรถชน กลัวเพศตรงข้าม เพราะเคยถูกข่มขืน กลัวการเดินห้างสรรพสินค้า เพราะเคยเจอเหตุการณ์กราดยิงในห้างสรรพสินค้า เป็นต้น

4. เกิดความรู้สึกทางลบ รู้ศึกเศร้า ไม่มีความสุข ไม่อยากมีชีวิตอยู่ เป็นทุกข์อย่างมาก



ดังนั้น เพื่อช่วยเหลือให้ผู้ป่วย PTSD สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติที่สุด และได้รับการเยียวยาจิตใจให้เข้มแข็งมากขึ้น ดิฉันจึงได้รวบรวมคำแนะนำสำหรับผู้ดูแลผู้ป่วย PTSD จากนักจิตวิทยามาให้อ่านกัน 8 วิธี ดังนี้ค่ะ



1. พร้อมรับฟังเสมอ

วิธีง่าย ๆ ที่สามารถแบ่งปันความทุกข์จากผู้ป่วย PTSD ได้ คือ การรับฟังค่ะ รับฟังด้วยความเข้าใจ รับฟังด้วยความรู้สึกที่อยากช่วย รับฟังอย่างเต็มใจ เชื่อหรือไม่ค่ะว่า ทุกครั้งที่ผู้ป่วย PTSD ได้เล่าความเจ็บปวด แล้วมีคนที่เปิดใจรับฟังเขา เขาก็รู้สึกอบอุ่นใจขึ้นมาทันที เขาจะรับรู้ได้ว่าไม่ได้อยู่คนเดียว แล้วยิ่งเราแชร์ความรู้สึก เช่น เราเข้าใจนะว่ามันเศร้ามาก เราเข้าใจนะว่ามันน่ากลัว เขาจะรู้สึกไม่โดดเดี่ยวค่ะ ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่นักจิตวิทยานิยมใช้ในการเข้าถึงเคสกันมากเลยค่ะ



2. พร้อมเป็นเพื่อนทุกที่ทุกเวลา

การไม่ปล่อยให้ผู้ป่วย PTSD อยู่ตามลำพัง เป็นวิธีป้องกันการฆ่าตัวตาย และป้องกันโรคซึมเศร้าแทรกซ้อนได้ดีทีเดียวค่ะ เพราะการปล่อยให้ผู้ป่วย PTSD อยู่คนเดียว ก็เท่ากับการที่เราปล่อยให้เขาทำร้ายตัวเองด้วยความคิด ด้วยภาพหลอนของเหตุการณ์ร้าย ด้วยความรู้สึกผิด และด้วยอะไรก็ตามที่ทำให้เขาไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อ เพราะฉะนั้น ถ้ารักเขาโปรดใช้เวลาอยู่กับเขาให้มากที่สุดเถอะค่ะ



3. แสดงออกให้เขารู้ว่าเรารักเขา

บ่อยครั้งที่ผู้ป่วย PTSD ทำร้ายตัวเองเพราะความรู้สึกว่าเขากำลังเผชิญเหตุการณ์เลวร้ายโดยลำพัง ดังนั้น หากเราซึ่งเป็นคนใกล้ตัวแสดงให้เขาเห็นว่าเรารักเขา เราพร้อมอยู่เคียงข้างเขา และทำให้เขามั่นใจว่าจะมีเราอยู่เสมอ เราจะเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจไม่ให้เขาทำร้ายตัวเอง และเราจะเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาอยากใช้ชีวิตอยู่ต่อค่ะ



4. คอยช่วยเหลือให้เขาก้าวผ่านสถานการณ์เลวร้าย

การก้าวผ่านเหตุการณ์เลวร้าย แล้วกลับไปใช้ชีวิตตามปกติของผู้ป่วย PTSD เป็นเรื่องที่ยากลำบากค่ะ แต่ถ้าเราแสดงจุดยืนชัดเจนว่า เฮ้ย! เราจะอยู่กับเธอนะ เราจะไม่ทิ้งเธอไปไหน ไม่ว่าเธอจะเหวี่ยงใส่เรา วีนใส่เรา อารมณ์ร้ายกับเรา ร้องไห้ ตกใจ ควบคุมตัวเองไม่ได้แบบไม่มีเหตุผล เราก็จะอยู่กับเธอนะ การที่จะหายขาดจาก PTSD และกลับไปใช้ชีวิตตามปกติก็ไม่ยากเกินไปนักค่ะ เพียงแต่เราต้องอดทน และเข้มแข็งมากพอที่จะเป็นหลักให้เขาค่ะ



5. ช่วยชี้ข้อดีของการมีชีวิต

หลังจากรอดชีวิตจากเหตุการณ์เลวร้ายมา ดวงตาของผู้ป่วย PTSD ก็มองเห็นโลกเป็นสีเทาเข้ม ไม่ก็ดำจัด ๆ ทำให้ความรู้สึกที่หม่นอยู่แล้ว ดำดิ่งลงไปอีก ดังนั้นเราที่อยู่ใกล้ชิดเขา ต้องคอยบอกให้เขาเห็นค่ะว่า โลกมันยังมีอะไรอีกเยอะแยะให้เราเรียนรู้ ให้เราสัมผัส อาจจะพาเขาไปพักผ่อนในที่ที่ทำให้เขาสบายใจ พาเขาไปทำกิจกรรมที่ทำให้ผ่อนคลาย พาเขาไปคุยกับคนที่ผ่านเหตุการ์เลวร้ายมาแล้วและกลับมาใช้ชีวิตปกติ ถ้าเราช่วยเปิดตาให้เขา เขาก็จะค่อย ๆ เปิดใจ และกลับมามองโลกด้วยดวงตาคู่เดิมที่เขาเคยเป็นได้ค่ะ



6. คอยย้ำให้เขารู้ว่าชีวิตของเขามีคุณค่า

เพราะการรอดชีวิตจากเหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากของผู้ป่วย PTSD ทำให้เขาโทษตัวเองว่าเขาเห็นแก่ตัวที่รอดมาได้ หรือเฝ้าคิดว่าทำไมคนที่เขารักถึงไม่รอด เพื่อดึงให้เขาใช้ชีวิตต่อไปได้ นักจิตวิทยาเลยแนะนำว่าให้คนใกล้ชิดคอยย้ำเตือนว่าชีวิตของเขามีค่า เขายังมีโอกาสใช้ชีวิต ยังมีโอกาสได้ทำสิ่งดี ๆ อีกมาก และยิ่งเขารู้สึกผิดที่มีชีวิตมาก เราต้องใช้เรื่องความรับผิดชอบเข้ามาจูงใจค่ะ ว่าการที่เขามีชีวิตอยู่นี่แหละที่ทำให้เขาได้ตอบแทนคนที่จากไป ด้วยการทำความดีแทนคน ๆ นั้น ได้ใช้ชีวิตแทนคน ๆ นั้น ถึงแม้เขาจะยังใช้ชีวิตได้ไม่เหมือนเดิม แต่ก็จะมีกำลังใจ มีใจที่จะใช้ชีวิตต่อไปได้ค่ะ



7. ช่วยให้เขาใช้ชีวิตได้ตามปกติที่สุด

หน้าที่สำคัญอีกข้อหนึ่งของคนใกล้ชิด PTSD ที่นักจิตวิทยาแนะนำ ก็คือ การช่วยให้เขาสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติค่ะ ไม่ว่าจะตื่นเวลาปกติ กินอาหารตามปกติ ไปทำงาน ไปทำกิจกรรมตามปกติ พูดง่าย ๆ ก็คือ เป็นผู้จัดการส่วนตัวที่คอยกระตุ้นให้เขาใช้ชีวิตตามปกติอย่างที่เขาควรจะเป็นค่ะ เพราะไม่อย่างนั้นแล้ว ผู้ป่วย PTSD จะยิ่งขังตัวเองอยู่กับเหตุการณ์ร้ายเดิม ๆ พาตัวเองหนีออกจากสังคม และสุดท้ายก็จำไม่ได้แล้วว่า “ความปกติ” คืออะไร



8. จับมือสู้ความเจ็บปวด

ถึงแม้ความจริงจะเจ็บปวด แต่การไม่รับรู้ความจริง แล้วหลอกตัวเองไปเรื่อย ๆ ว่าวันหนึ่งมันจะดีขึ้น แล้วไม่ยอมไปบำบัดรักษา ยังรู้สึกผิด ยังฝันถึงเหตุการณ์นั้น ยังคงไม่สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนเดิม มันทรมานกว่ามากค่ะ ดังนั้นแล้ว หากเรารักเขา เราต้องพาเขาเข้ารับการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา ซึ่งก็จะเริ่มโดยการยอมรับความจริง ย้อนกลับไปที่เหตุการณ์นั้นอีกครั้งเพื่อหาสาเหตุ ของอาการ PTSD ก่อนจะเลือกวิธีการบำบัดรักษา แล้วค่อย ๆ ถอยออกมาจากความรู้สึกแย่ทั้งหลาย ก่อนที่จิตใจของเขาจะเข้มแข็งมากพอที่จะยอมรับ เข้าใจ และใช้ชีวิตต่อไปอย่างที่ควรจะเป็นค่ะ





สำหรับคนที่ป่วยเป็น PTSD นักจิตวิทยาต้องแนะนำให้คนใกล้ตัวดูแลอย่างใกล้ชิดค่ะ เพราะการที่เขายังมีชีวิตอยู่ไม่ใช่รางวัลของเขา แต่เขากลับรู้สึกว่าการมีชีวิตคือการถูกลงโทษ แล้วยิ่งในกรณีที่เจอเหตุการณ์พร้อมครอบครัว หรือคนรัก แล้วรอดชีวิตคนเดียว จะเป็นอะไรที่ทรมานมากสำหรับเขาค่ะ เมื่อเรายังมีชีวิต มันยากแค่ไหน ก็ต้องใช้ชีวิตนะคะ และแน่นอนค่ะว่าเรายังมีคนที่รัก เราไม่ได้อยู่ตามลำพัง หากต้องการคนรับฟัง และต้องการปรึกษาด้านจิตใจ แต่ไม่รู้จะไปหาใคร การรับพูดคุยนักจิตวิทยา ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งจะจะช่วยคุณได้อย่างดีนะคะ

 

istrong.co ผู้ให้บริการด้านสุขภาพจิตและครอบครัว


บริการให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง

สามารถเลือกคุยทางโทรศัพท์หรือการพูดคุยแบบส่วนตัว (Private Counseling)


และคอร์สออนไลน์ | Classroom Workshop

รวมถึงบทความจิตวิทยาอีกมากมาย


 

อ้างอิง : แสงศุลี ธรรมไกรสร. PTSD ภาวะป่วยทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง (PTSD ตอนที่ 1). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2563 จาก https://med.mahidol.ac.th.

facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page