top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

อุปกรณ์ดิจิตอล VS ลูก อันตรายเงียบ ในมือเด็กเล็ก


บทความนี้ผมมีความตั้งใจในการเขียนเพื่อเป็นประโยชน์กับผู้ปกครองที่มีลูกหรือหลานที่มีอายุอยู่ในช่วงประมาณ 2-7 ขวบ เนื่องจากปัญหานี้สามารถส่งผลกระทบถึงพัฒนาการในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ของบุตรหลานในทุกช่วงวัยหากไม่ได้รับการใส่ใจหรือแก้ไขอย่างทันท่วงทีครับ ผมสามารถบอกได้เลยว่าเป็นเรื่องที่เราทุกคนอาจจะเคยมีประสบการณ์กับตนเอง คือ “การที่พบเห็นเด็กตัวเล็กๆ กำลังนั่งมองมือถือหรือแทปเลทอยู่ในมือและตั้งใจดูอย่างจดจ่อมากเสียจนไม่สนใจสิ่งต่างๆ รอบข้างเลยว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น” โดยส่วนตัวแล้วผมพบเห็นได้จนชินตาเวลาที่ขึ้นรถไฟฟ้า หรือเวลาที่ไปนั่งรับประทานอาหารตามร้านอาหาร หรือแม้กระทั่งเวลาที่ผู้ปกครองกำลังยุ่งวุ่นวายกับการทำงานประจำหรือทำงานบ้านแล้วอยากให้เด็กอยู่นิ่ง ๆ ไม่ต้องดูแลหรือใช้ความสนใจกับพวกเค้า เรียกว่าเป็นวิธีที่ใช้ในการหยุดเด็กน้อยไว้กับที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากเลยล่ะครับ แต่ทราบหรือไม่ครับว่า สิ่งที่ผู้ปกครองทำนั้นสามารถส่งผลกระทบได้อย่างมากมายมหาศาลในระยะยาวต่อพัฒนาการในช่วงวัยต่อ ๆ ไปของเด็กได้เลยนะครับ


จากการสังเกตพฤติกรรมของเด็กเล็กที่ใช้อุปกรณ์ดิจิตอล เราจะสามารถพบพฤติกรรมที่เด็กกลุ่มนี้จะมีร่วมกันคือ ไม่ค่อยนิ่ง อยู่ไม่สุข กระดุกกระดิก กระสับกระส่าย รอไม่ค่อยได้ เอาแต่ใจ ไม่ค่อยระวังตัว ของหายบ่อย ลองสำรวจดูพฤติกรรมของลูกหลานของเราดูนะครับ โดยผลของการใช้อุปกรณ์ดิจิตอลในเด็กสามารถกระตุ้นปัจจัยเสี่ยงของพัฒนาการได้เช่น


  1. เสี่ยงเป็นโรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder; ADHD) ซึ่งเป็นโรคทางที่พบได้ในเด็กอายุ 4-5 ปีขึ้นไป ซึ่งอาจมีปัญหาการเรียน เช่น ไม่ค่อยมีสมาธิ เรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง ทำงานที่ได้รับมอบหมายไม่เสร็จ หรือมีปัญหาด้านพฤติกรรม เช่น อยู่นิ่งไม่ค่อยได้ เล่นด้วยความรุนแรง

  2. เสี่ยงเป็นโรคออทิสติก (Autism Spectrum Disorders: ASD) โดยจะพบว่ามีปัญหาในเรื่องของพัฒนาการทางการใช้ภาษา ทักษะการเข้าสังคมหรือว่าการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างของเด็ก และมีปัญหาด้านพฤติกรรมเช่น ชอบเรียงของ มีพฤติกรรมชอบทำสิ่งเดิม ๆ ซ้ำ ๆ อย่างเช่น การกินอาหารเมนูเดิม ๆ ได้หลาย ๆ มื้อโดยไม่เบื่อ หรือชอบใส่เสื้อผ้าชุดใดชุดหนึ่งซ้ำ ๆ

  3. เสี่ยงเป็นโรคการเรียนรู้บกพร่อง หรือ LD ย่อมาจากคำว่า Learning disorder เรียกได้ว่าเป็นความผิดปกติของกระบวนการเรียนรู้ด้านการอ่าน การเขียน การสะกดคำ การคำนวณและการใช้เหตุผลเชิงคณิตศาสตร์


มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ชี้ให้เห็นว่าอุปกรณ์ดิจิตอลนั้น ช่วยส่งเสริมโรคทั้ง 3 อย่างมาก เพราะพฤติกรรมการใช้อุปกรณ์ดิจิตอลนั้น เน้นการตอบสนองอย่างรวดเร็วระหว่างผู้ใช้กับอุปกรณ์ดิจิตอล และภาพที่เห็นก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สิ่งเหล่านี้เร้าให้สมองเกิดการเรียนรู้ที่จะไม่ต้องรอ หรือร่นระยะเวลาในการรอให้สั้นลงเรื่อย ๆ อีกทั้งการใช้อุปกรณ์ดิจิตอลเป็นการสื่อสารเพียงทางเดียวจึงทำให้เด็กขาดการเรียนรู้ที่จะสื่อสารเบื้องต้นไป ทำให้เด็กพูดแทรกโดยไม่ทราบว่าจังหวะไหนควรพูดแทรกประโยคสนทนาหรือควรรอจนกว่าผู้อื่นจะพูดจนจบใจความสำคัญ เนื่องจากเด็กไม่ได้เรียนรู้ที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลจริง ๆ ดังนั้นแล้วเราควรทำอย่างไรเพื่อให้เด็ก ๆ สามารถใช้อุปกรณ์ดิจิตอลได้อย่างเหมาะสม โดยมีแนวทางดังต่อไปนี้ครับ

1. คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองต้องเป็นตัวอย่างที่ดี ในการใช้อุปกรณ์ดิจิตอล

ตามทฤษฎีการเรียนรู้ผ่านตัวแบบของ Albert Bandura กล่าวว่าบุคคลสามารถเรียนรู้ได้ผ่านการเลียนแบบตัวอย่าง เช่น คุณพ่อคุณแม่ชอบทานผัก เด็ก ๆ บ้านนั้นก็จะชอบทานผักไปด้วย หรือภาษาท่าทาง ตลอดจนปฏิกริยาการตอบสนองต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ท่าทางการพูด ท่าทางการเดิน ท่านั่ง หรือท่านอน เรียกว่าถอดคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองมาเหมือนเป๊ะ เราทำได้โดยใช้อุปกรณ์ดิจิตอลอย่างจำเป็นในบ้าน หรือไม่หยิบอุปกรณ์ดิจิตอลขึ้นมาเล่นบนโต๊ะอาหาร มีหยิบขึ้นมาเล่นแก้เบื่อต่อหน้าลูก ใช้อุปกรณ์ดิจิตอลเฉพาะในเวลาที่จำเป็นเท่านั้นครับ เราจะเห็นเด็กแสดงท่าทางโทรศัพท์เพื่อเลียนแบบเราเวลาที่เราใช้โทรศัพท์ นั้นคือภาพจำที่เด็กจำได้และเลียนแบบครับ


2. กำหนดระยะเวลา ที่ให้ลูกได้ใช้อุปกรณ์ดิจิตอลดูอย่างเหมาะสม

เช่น 30 นาที หรือ 1 ชั่วโมงโดยทำข้อตกลงร่วมกันในการใช้อุปกรณ์ดิจิตอล และห้ามใจอ่อนนะครับ กฎต้องเป็นกฎ หากเราไม่มีข้อตกลงร่วมกันก็จะไม่สามารถกำหนดขอบเขตของการใช้อุปกรณ์ดิจิตอลของเด็ก ๆ ได้เลยครับ และการที่เรายืดหยุ่นให้สิ่งนี้ทำให้เด็กรู้ว่าขอบเขตไม่มีอยู่จริงสามารถฝ่าฝืนได้ตามพลังในการต่อรอง


3. ชวนเล่นหรือทำกิจกรรมร่วมกัน

การที่เด็กเรียกร้องที่จะใช้อุปกรณ์ดิจิตอลคือเวลาที่เค้าไม่มีกิจกรรมอะไรจะทำหรือกิจกรรมที่ทำอยู่ไม่น่าสนใจหรืออาจจะไม่ค่อยเกี่ยวข้องอะไรกับเค้า ถูกหรือไม่ครับ ดังนั้นเราจึงควรหากิจกรรมที่น่าสนใจทำร่วมกันในครอบครัวครับ เช่น ช่วยกันทำอาหาร ช่วยกันทำความสะอาดบ้าน ช่วยกันล้างรถ ออกไปเดินออกกำลังกายในสวน สำรวจธรรมชาติรอบตัว หรือพาไปทำกิจกรรมนอกบ้านเช่น ไปสวนสัตว์ สวนสนุก ไปต่างจังหวัด


4. คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองต้องอยู่ด้วยแล้วมีความสุข มากกว่าการเล่นอุปกรณ์ดิจิตอล

เป็นเรื่องท้าทายมากเลยนะครับที่จะปรับตัวให้เข้ากับเด็กได้อย่างเข้าอกเข้าใจ และเป็นธรรมชาติ ลองสร้างบ้านจากลังกระดาษแล้วเล่นบทบาทสมมุติดูก็สนุกมากเลยนะครับ เล่นกันได้หลายชั่วโมงเล่นกันไม่เบื่อ หรือการสร้างปราสาทจากกล่องกับกระดาษสี ก็ช่วยส่งเสริมจิตนาการของเด็ก ๆ ได้ดีครับ หรือจะชวนเล่นเกมกระดานง่าย ๆ กันก็ได้นะครับ ทราบหรือไม่ครับว่าการเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่น่าเบื่อสำหรับเด็กเป็นอย่างไร ผู้ใหญ่ที่น่าเบื่อคือ ผู้ใหญ่ที่ออกคำสั่งว่า หนูต้องทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ หรือสิ่งนี้ทำไม่ได้ห้ามทำ เราในฐานะที่เป็นหัวหน้าก๊วนเด็กเราต้องพูดคุยกันกับเด็กด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ชวนเล่นหรือชักชวนเล่นในแบบที่สนุกและมีประโยชน์สำหรับเด็กครับ ใส่ใจในความต้องการของเด็กและพยามที่จะเป็นเพื่อนกันกับเด็กในฐานะที่เท่าเทียมกันครับ ลองทำตัวเป็นเด็กบ้างก็สามารถช่วยให้เราผ่อนคลายความเครียดได้ดีนะครับ


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง

 

ประวัติผู้เขียน : สิทธิเดช คุ้มมณี นักจิตวิทยาพัฒนาการและศิลปะบำบัด ผู้เชี่ยวชาญการอ่านและวิเคราะห์ภาษากาย ผู้เชี่ยวชาญการตรวจและกระตุ้นพัฒนาการในเด็กและการบำบัดแบบครอบครัว การใช้ศิลปะบำบัดเพื่อการเข้าใจตนเอง



Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page