7 วิธีเป็นพ่อแม่ที่ลูกไว้ใจและเล่าทุกอย่างให้ฟัง
จากประสบการณ์ตรงของผู้เขียนพบว่ามีพ่อแม่ผู้ปกครองหลายคนที่รู้สึกน้อยใจหรือเสียใจที่ลูกไม่เคยเล่าปัญหาของลูกให้ฟังเลย ผู้เขียนเคยได้ยินผู้ปกครองบางคนถามลูกว่า “ทำไมเอาปัญหาไปเล่าให้คนอื่นฟัง ทำไมไม่เล่าให้พ่อแม่ฟัง” ซึ่งผู้เขียนเองก็เป็นแม่และมีความเข้าใจว่าพ่อแม่ทุกคนก็อยากที่จะเป็นพ่อแม่ที่ดี และอยากเป็นคนที่ลูกไว้ใจและเล่าให้ฟังเป็นคนแรก ๆ แทนที่จะเป็นคนสุดท้ายที่รู้ว่าลูกต้องการความช่วยเหลือ ในบทความนี้จึงอยากจะถ่ายทอดวิธีการเป็นพ่อแม่ที่ลูกไว้ใจที่จะเล่าทุกอย่างให้ฟัง ดังนี้
1. สร้างความไว้ใจ
ความไว้ใจจะไม่เกิดขึ้นเองแต่จะต้องถูกสร้างขึ้นมา และหากอ้างอิงจากทฤษฎีพัฒนาการทางจิตสังคมของ Erik Erikson ความไว้ใจระหว่างพ่อแม่และลูกนั้นจะต้องสร้างตั้งแต่ลูกยังอยู่ในวัยทารกกันเลยทีเดียว นั่นหมายความว่าคน ๆ หนึ่งจะรู้สึกไว้ใจพ่อแม่และโลกใบนี้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับว่าตอนที่อยู่ในวัยทารกมีอะไรเกิดขึ้นกับชีวิตบ้าง
ซึ่งความไว้ใจจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทารกได้รับการดูแลเอาใจใส่จากผู้เลี้ยงดู เช่น เมื่อหิวก็มีคนช่วยให้อิ่ม เมื่อสกปรกก็มีคนมาช่วยเช็ดทำความสะอาดให้ เมื่อตกใจหรือหวาดกลัวก็มีคนเข้ามากอดปลอบใจ ฯลฯ ดังนั้น ถ้าหากพ่อแม่ต้องการที่จะให้ลูกรู้สึกไว้ใจก็ต้องดูแลเอาใจใส่ลูกตั้งแต่แรกเกิด ตรงข้าม ความรู้สึกไว้ใจต่อพ่อแม่จะสร้างยากหากเริ่มต้นสายเกินไป
นอกจากนั้นแล้ว สิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยก็จะช่วยส่งเสริมให้เกิดความไว้ใจมากขึ้นด้วย ดังนั้น หากลูกรู้สึกว่าบ้านเป็นเซฟโซน ลูกก็จะรู้สึกปลอดภัยและกล้าที่จะเล่าทุกอย่างให้พ่อแม่ฟัง อีกสิ่งที่สำคัญในการสร้างความไว้ใจก็คือ “การเก็บความลับ” เพราะบ่อยครั้งที่ลูกอาจจะเปิดใจเล่าทุกอย่างให้พ่อแม่ฟังแล้วพบว่าพ่อแม่เอาไปเล่าต่อให้คนอื่นฟัง ซึ่งการที่พ่อแม่ไม่เก็บความลับของลูกนั้นสามารถพังความไว้ใจของลูกได้อย่างที่อาจจะไม่สามารถสร้างมันขึ้นมาใหม่ได้อีกเลยโดยเฉพาะถ้าเรื่องที่พ่อแม่เอาไปเล่าต่อมันเป็นเรื่องที่สร้างความอับอายให้กับลูกเป็นอย่างมาก
2. สื่อสารกับลูกด้วยวิธี “Open Communication”
แม้จะอยู่ในบทบาทของการเป็นพ่อแม่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องวางตัวอยู่เหนือลูกตลอดเวลา การที่พ่อแม่ให้โอกาสลูกได้แสดงความคิดเห็น ได้พูดในมุมของลูก และได้พูดคุยกับพ่อแม่อย่างเปิดเผยจริงใจต่อกันโดยที่ลูกไม่ต้องกลัวว่าสิ่งที่ลูกเล่าออกมาจะถูกพ่อแม่ตำหนิหรือตัดสิน จะช่วยให้ลูกรู้สึกปลอดภัยและเกิดความมั่นใจว่าเมื่อลูกเล่าทุกอย่างให้พ่อแม่ฟังแล้วจะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นไม่ใช่แย่ลง
3. ใส่ใจรับฟังลูก
การฟังคือเครื่องมือสำคัญในการสร้างความไว้วางใจ แต่การฟังที่จะสร้างความไว้วางใจได้นั้นต้องเป็นการฟังในระดับที่ไม่ใช่แค่เพื่อจะพูดสิ่งที่ตัวเองคิดออกไป พ่อแม่ที่ลูกไว้วางใจมักจะฟังลูกอย่างแท้จริงคือตั้งใจฟัง แสดงพฤติกรรมการใส่ใจรับฟัง เช่น วางทุกอย่างลงเพื่อตั้งใจฟังลูกเล่า สบตา แสดงภาษากายที่บ่งบอกว่าพ่อแม่อยากฟังลูกเล่าจริง ๆ
ซึ่งคนที่ตั้งใจฟังเพื่อที่จะเข้าใจอีกฝ่ายมักจะสังเกตได้ว่าอีกฝ่ายมีความรู้สึกยังไงต่อเรื่องที่เล่าให้ฟัง การตั้งใจฟังแม้เรื่องนั้นจะเป็นเรื่องที่เล็กน้อยหรือเรื่องสัพเพเหระโดยไม่ด่วนตัดสินหรือตำหนิจะเป็นการเสริมแรงให้ลูกรู้สึกว่ามีอะไรก็อยากมาเล่าให้ฟังทุกเรื่อง
4. เป็นพ่อแม่ที่ลูกเข้าถึงง่ายและพึ่งพาได้
ทำให้ลูกรู้สึกว่าพ่อแม่พร้อมที่จะรับฟังลูกอยู่เสมอ และเมื่อลูกเล่าปัญหาให้ฟังก็ให้ความช่วยเหลือตามความเหมาะสม เช่น หากเป็นเด็กเล็กก็เข้าไปช่วยเหลือจัดการมากหน่อย หากลูกเป็นวัยรุ่นก็ใช้วิธีระดมสมองคิดขั้นตอนในการแก้ไขปัญหาไปด้วยกัน
5. แสดงให้ลูกเห็นเป็นตัวอย่างถึงการเคารพให้เกียรติกันและกัน
พ่อแม่ที่ดีนั้นไม่ใช่เพียงสอนให้ลูกเคารพให้เกียรติพ่อแม่ แต่พ่อแม่ก็จะต้องแสดงความเคารพให้เกียรติลูกด้วยเช่นกัน ลูกที่เติบโตในบรรยากาศครอบครัวที่มีการเคารพให้เกียรติกันจะมีความรู้สึกไว้วางใจพ่อแม่มากกว่า ยิ่งลูกวัยรุ่นยิ่งต้องแสดงให้เห็นว่าพ่อแม่เคารพในตัวตนความคิดเห็นและความเป็นส่วนตัวของลูก ตรงกันข้าม หากพ่อแม่ไปละลาบละล้วงพื้นที่ส่วนตัวของลูกก็จะทำให้ลูกรู้สึกไม่ปลอดภัยและไม่ไว้ใจพ่อแม่
6. เปิดเผยจริงใจกับลูกอยู่เสมอ
แน่นอนว่าการเปิดเผยจริงใจกับลูกอย่างตรงไปตรงมาควรคำนึงถึงวัยของลูกด้วย แต่การที่พ่อแม่ไม่ปิดบังโกหกลูกตั้งแต่ลูกยังเป็นเด็กก็จะช่วยสร้างความไว้ใจให้ลูกได้มากขึ้น พ่อแม่ที่ดีจึงไม่ควรโกหกหรือบิดเบือนความจริง รวมไปถึงรักษาคำพูดและไม่ผิดสัญญาที่ให้ไว้กับลูกด้วย
7. หลีกเลี่ยงการตอบสนองแบบ “Overreacting”
ข้อนี้ผู้เขียนนำมาจากประสบการณ์ตรงซึ่งพบว่ามีหลายคนที่ไม่อยากเล่าปัญหาให้พ่อแม่ฟัง เพราะเคยเล่าแล้วพ่อแม่แสดงอาการตื่นตระหนกหรือกังวลอย่างมาก บางคนบอกว่า “พอเล่าไปแล้วเห็นพ่อแม่เครียดก็ยิ่งเครียดไปกว่าเดิม” เพราะการตอบสนองของพ่อแม่ต่อเรื่องที่ลูกเล่าทำให้ลูกรู้สึกว่าตัวเองเอาความเครียดไปให้พ่อแม่ ครั้งต่อไปจึงเลี่ยงที่จะเล่าปัญหาของตัวเองให้พ่อแม่ฟังและเลือกที่จะโกหกพ่อแม่ว่าตัวเอง “สบายดี”
การเป็นพ่อแม่ที่ดีนั้นจะเป็นไปได้ยากหากต้องการเป็นพ่อแม่ที่ดีอย่างสมบูรณ์แบบ แต่หากตั้งเป้าหมายว่าจะเป็นพ่อแม่ที่ดีพอ การเป็นพ่อแม่ที่ดีนั้นก็จะเป็นไปได้จริง ผู้เขียนขอเป็นกำลังใจให้กับพ่อแม่ทุกคนนะคะ
หากคุณต้องการพัฒนาทักษะด้านจิตวิทยา เพื่อปรับใช้ในการทำงาน ครอบครัว ความสัมพันธ์และในชีวิตประจำวัน สามารถดูคอร์สเรียนจาก iSTRONG ได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความที่เกี่ยวข้อง
12 วิธีการสร้างความสัมพันธ์จากความไว้ใจ https://www.istrong.co/single-post/relations-that-come-from-trust
อ้างอิง:
[1] Parents who build unshakeable trust with kids have 7 things in common. Retrieved from https://karacarrero.com/building-trust-between-child-parent/
[2] เทคนิคสร้างความไว้วางใจกับลูกด้วย 8ขั้นบันได. Retrieved from https://www.thaihealth.or.th/%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%84%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%84%E0%B8%A7%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%83-2/
[3] Learning to trust: Essential for baby’s development. Retrieved from https://news.sanfordhealth.org/parenting/learning-to-trust-essential-for-babys-development/
ประวัติผู้เขียน
นิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) มีประสบการณ์ทำงานเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาในมหาวิทยาลัยและเป็นวิทยากรเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต/การพัฒนาตนเองให้แก่นักศึกษาเป็นเวลา 11 ปี ปัจจุบันเป็นแม่บ้านในอเมริกาที่มีความสนใจเกี่ยวกับ childhood trauma และยังคงมีความฝันที่จะสื่อสารกับสังคมให้เกิดการตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต
Nilubon Sukawanich (Fern) has work experiences as a counseling psychologist and speaker in university for 11 years. Currently occupation is a housewife in USA who keep on learning about childhood trauma and want to communicate to people about mental health problems awareness.
Comentarios