top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

5 ผลกระทบระยะยาวของการมีความสัมพันธ์กับคนโรคจิต (Psychopath)


เมื่อพูดถึงคำว่า “โรคจิต” หลายๆ คนอาจนึกถึงคนที่มีบุคลิกภาพภายนอกดูเย็นชา ไม่ยินดียินร้ายกับสิ่งรอบข้าง ไม่มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และถึงแม้ว่าบุคคลเหล่านั้นจะมีลักษณะนิสัยที่ไม่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แต่คนโรคจิตก็ยังแสดงท่าทีที่มีเสน่ห์และไม่อาจต้านทานได้ เช่น พูดคุยเก่ง มีอารมณ์ขัน และมีคารมดี จึงทำให้ใครหลายคนอาจตกหลุมรักโรคจิตได้อย่างง่ายดาย ดังเช่นตัวละครที่ชื่อว่า เดวิด พระเอกในภาพยนตร์เรื่อง Fear (1996) ที่มองภายนอกดูเป็นหนุ่มหล่อพูดจาดี เป็นสุภาพบุรุษแสนดี ให้เกียรตินางเอกและยอมทำเพื่อนางเอกได้ทุกอย่าง ทำให้นางเอกหลงรักเขาตั้งแต่แรกเห็น จนได้คบกันเป็นแฟนโดยที่นางเอกไม่รู้เลยว่าความจริงแล้วเบื้องลึกเบื้องหลังของเดวิดนั้นมีด้านมืดอยู่มาก


Psychopath หรือที่เราเรียกกันว่าคนโรคจิต เป็นภาวะที่บุคคลมีลักษณะเฉพาะคือขาดความเห็นอกเห็นใจ เอาตัวเองเป็นจุดศูนย์กลาง ไม่แสดงออกทางอารมณ์และไม่มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดี โดยไซโคพาธจัดเป็นความผิดปกติที่อยู่ในกลุ่มบุคลิกภาพต่อต้านสังคม (Antisocial Personality Disorder: ASPD)


Psychopath มีลักษณะอย่างไร

Psychopath เป็นความผิดปกติที่สามารถวินิจฉัยได้โดยใช้แบบทดสอบ Hare Psychopathy 20 ข้อ ซึ่งได้รับการพัฒนาขึ้นในปี 1970 โดย Robert Hare นักวิจัยชาวแคนาดา โดยแต่ละข้อจะมีเกณฑ์การให้คะแนน คือ ไม่ใช่ = 0 คะแนน , ค่อนข้างใช่ = 1 คะแนน , และ แน่นอน = 2 คะแนน สำหรับโรคจิตทางคลินิกคือผู้ที่ได้ 30 คะแนนขึ้นไป โดยฆาตกรต่อเนื่องที่มีชื่อว่า Ted Bundy ได้คะแนนสำหรับการวินิจฉัย 39 คะแนน


ผู้ที่เข้าข่ายเป็นโรคจิต มีลักษณะดังต่อไปนี้

  1. มีความโลดโผน และมีเสน่ห์แบบผิวเผิน

  2. ประเมินตัวเองสูงเกินจริง หรือมีอีโก้สูง

  3. ต้องการการกระตุ้นที่มากกว่าปกติ และมีแนวโน้มที่จะเบื่อง่าย

  4. โกหกเก่ง โกหกตลอดเวลา

  5. มีไหวพริบและเจ้าเล่ห์ ชอบบงการ

  6. ขาดความสำนึกผิดหรือไม่รู้สึกผิด

  7. มีการตอบสนองทางด้านอารมณ์แบบผิวเผิน

  8. ใจแข็ง ขาดความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่น

  9. ชอบใช้ชีวิตแบบกาฝาก หลอกคนอื่นเพื่อผลประโยชน์

  10. ถูกควบคุมพฤติกรรมที่ไม่ดี

  11. มีเพศสัมพันธ์เป็นครั้งคราวบ่อยครั้งกับหลายคนโดยไม่เลือกคู่นอน

  12. มีปัญหาด้านพฤติกรรมเบื้องต้น

  13. ขาดเป้าหมายระยะยาวที่สามารถทำให้เป็นจริงได้

  14. อารมณ์ฉุนเฉียว หุนหันพลันแล่น

  15. ขาดความรับผิดชอบ

  16. ไม่รับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง

  17. รักษาใครไว้ไม่นาน มีชีวิตคู่แบบสั้น ๆ หรือเปลี่ยนคู่บ่อย

  18. มีประวัติการก่ออาชญากรรมในวัยเด็ก

  19. เคยติดทัณฑ์บนหรือโดนควบคุมความประพฤติ

  20. เก่งในด้านการก่ออาชญากรรม

แม้จะมีการประเมินว่ามีโรคจิตอยู่เพียงร้อยละ 1 ของประชากรทั่วไป ซึ่งพบในเพศชายและร้อยละ 0.3 - 0.7 ของเพศหญิง แต่บุคคลอาจแสดงลักษณะที่เกี่ยวข้องกับโรคจิตในระดับสูงโดยที่ไม่เข้าข่ายเป็นโรคจิตก็เป็นได้ ดังนั้นแล้วการวินิจฉัยว่าบุคคลใดเข้าข่ายเป็นโรคจิตหรือไม่ ควรดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตจะดีที่สุด


Psychopath เกิดขึ้นเมื่อไหร่ และเกิดจากอะไร

บุคคลอาจแสดงลักษณะเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับโรคจิตเภทในระยะเริ่มต้น ซึ่งเรียกว่า “ลักษณะที่จิตใจแข็งและไม่แสดงอารมณ์” ตั้งแต่วัยเด็กช่วงก่อนอายุ 10 ปี และอาจได้รับการวินิจฉัยอย่างเป็นทางการ เช่น ความผิดปกติของพฤติกรรม อย่างไรก็ตาม การแสดงอาการทางจิตในวัยเด็กไม่ได้หมายความว่าคน ๆ นั้นจะต้องกลายเป็นโรคจิตในวัยผู้ใหญ่

Psychopath เกิดจากลักษณะทางจิตที่ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากลักษณะพันธุกรรม หากคนในครอบครัวมีลักษณะอาการของไซโคพาธ อาจส่งต่อลักษณะนี้ไปยังสมาชิกคนอื่นในครอบครัวได้โดยมีการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ได้สังเกตเห็นสัญญาณของการทำงานที่ผิดปกติของสมองส่วนใดส่วนหนึ่ง เช่น Amygdala ในผู้ที่มีลักษณะเป็นโรคจิต รวมถึงปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม การอบรมเลี้ยงดู และประสบการณ์ที่เลวร้ายในวัยเด็ก เช่น การถูกทอดทิ้ง การถูกทำร้ายร่างกายหรือจิตใจ การใช้ความรุนแรงในครอบครัว พ่อแม่หย่าร้าง พบเห็นการก่ออาชญกรรมจากคนในครอบครัวหรือคนในชุมชน รวมถึงการคบเพื่อนที่มีพฤติกรรมรุนแรง ถือเป็นปัจจัยภายนอกที่มีส่วนในการส่งผลให้เด็กมีบุคลิกภาพแบบไซโคพาธได้


ผลกระทบที่ตามมาของการมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับโรคจิตเป็นอย่างไร

จากการศึกษาโดย Adelle Forth นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย Carleton ในแคนาดา เขาและทีมวิจัยได้คัดเลือกผู้เข้าร่วมจำนวน 457 คนที่เคยมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับโรคจิตก่อนหรือระหว่างเข้าร่วมการศึกษา ซึ่งมีเพศชาย 10.5 % และเพศหญิง 89.5 % โดยระยะเวลาของความสัมพันธ์ดังกล่าวมีตั้งแต่หลายเดือนไปจนถึงมากกว่า 20 ปี ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ระหว่าง 2-5 ปี ผู้เข้าร่วมได้รับการสัมภาษณ์เกี่ยวกับประสบการณ์ของพวกเขาและทำแบบสอบถามทางจิตวิทยา รวมถึงแบบประเมินเกี่ยวกับโรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ (PTSD) และภาวะซึมเศร้า

Forth และทีมวิจัยพบว่าการศึกษานี้เผยให้เห็น 5 ประเด็นหลักที่แสดงให้เห็นถึงผลกระทบระยะยาวของการมีความสัมพันธ์ที่เป็นพิษกับโรคจิต ดังต่อไปนี้


1. ผลกระทบทางอารมณ์ (Emotional Consequences)

การศึกษาพบว่าผลกระทบทางอารมณ์ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีผลกระทบมากที่สุด ผู้เข้าร่วมรายงานความรู้สึกตามระดับของความโกรธ รวมถึงความหงุดหงิด ความคับข้องใจ ความเกลียดชังของตนเองและความเกลียดชังผู้หญิง จากการสัมภาษณ์มีหนึ่งในผู้เข้าร่วมกล่าวว่า “สักพักหลังจากคบกัน ฉันโกรธมากที่ถูกเขาหลอกได้ขนาดนั้น” อีกทั้งความวิตกกังวล ความกลัว ความตื่นตระหนก และความหวาดระแวงเป็นความรู้สึกที่มักถูกอ้างถึงบ่อยครั้ง เช่นเดียวกับภาวะซึมเศร้า และความคิดที่พยายามจะฆ่าตัวตาย ซึ่งหนึ่งในผู้เข้าร่วมได้กล่าวไว้ว่า “ฉันอยู่ในจุดต่ำสุดชีวิต มันเป็นประสบการณ์ที่เจ็บปวดที่สุดเท่าที่ฉันเคยทนมา เป็นครั้งแรกที่ฉันคิดฆ่าตัวตายเพราะชีวิตเจ็บปวดเกินกว่าจะรับมือได้”


2. ผลกระทบทางชีวภาพ (Biological Consequences)

การศึกษาพบว่าผู้เข้าร่วมประสบกับปัญหาทางด้านร่างกายเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร แผลพุพอง และปวดศีรษะ รวมถึงเหยื่อบางรายกล่าวว่าได้รับบาดเจ็บทางร่างกาย เช่น ซี่โครงหัก โดยได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “ฉันมีน้ำหนักลดลงมาก ฉันจะปิดปากทันทีเมื่อฉันพยายามจะกิน ผมของฉันร่วงและเป็นสีเทา เล็บของฉันจะไม่ยาวขึ้น รวมถึงมีอาการขาดน้ำอีกด้วย” อีกทั้งยังกล่าวถึงปัญหาเกี่ยวกับหัวใจและระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หอบหืด หลอดลมอักเสบ โรคต่อมไร้ท่อและระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น เบาหวาน ไทรอยด์ต่ำ และโรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โดยเหยื่อรายหนึ่งกล่าวว่า “ตอนนี้ฉันเชื่อว่าโรคข้ออักเสบ ปัญหาลำไส้ เกี่ยวข้องโดยตรงกับความเครียดในการใช้ชีวิต 14 ปี กับโรคจิต การจัดการในชีวิตประจำวันกับเขาดูเหมือนจะดูดพลังงานของฉันไปอย่างมาก”


3. การเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรม (Behavioral Changes)

มีรายงานถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการนอนหลับและการรับประทานอาหาร เช่น การนอน ไม่หลับ การขาดการดูแลตนเอง การใช้สารเสพติด การสูบบุหรี่ และการเปลี่ยนแปลงกิจกรรมทางสังคม โดยผู้เข้าร่วมหลายคนกล่าวว่าพวกเขามีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมน้อยลงมาก ผู้เข้าร่วมคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า “ผมต้องรับมือกับภาวะซึมเศร้าเกือบตลอดเวลาหลังจากที่ผมได้เลิกลากับผู้หญิงคนนี้ไป ผมจะไม่ออกไปในที่สาธารณะนานเกินไป ผมชอบการอยู่บ้านและอยู่คนเดียว รวมถึงไม่ได้ออกไปสังสรรค์ที่ไหนเลยหากเทียบกับเมื่อก่อน”


4. การเปลี่ยนแปลงทางปัญญา (Cognitive Changes)

จากการศึกษาพบว่ามีความสอดคล้องกับอาการ PTSD ผู้เข้าร่วมมีการอ้างถึงเหตุการณ์ย้อนหลัง การแยกตัวออกจากสังคม การสูญเสียสมาธิ และมีปัญหาในการจดจำ โดยได้กล่าวว่า “ฉันไม่มีสมาธิและเกือบจะตกงานเพราะเจ้านายสังเกตเห็นว่าฉันลืมสิ่งต่าง ๆ และทำผิดพลาดอยู่บ่อยครั้ง”


5. ผลกระทบทางความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (Interpersonal Consequences)

การมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นโรคจิตได้ทำลายความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลของเหยื่อในวงกว้างมากขึ้น หลายคนสูญเสียความไว้วางใจในผู้อื่น ปกปิดข้อมูลส่วนบุคคล และกลัวว่าจะถูกหักหลังหรือถูกทอดทิ้ง ผู้เข้าร่วมที่มีความสัมพันธ์กับโรคจิตยังมีปัญหาในการไว้วางใจการตัดสินทางสังคม นอกจากนี้ยังกล่าวถึงความรู้สึกสูญเสียและความโดดเดี่ยวอีกด้วย ผู้เข้าร่วมคนหนึ่งกล่าวว่า “ฉันรู้สึกว่างเปล่าและโดดเดี่ยวตลอดเวลา เหมือนฉันสูญเสียทุกสิ่งในชีวิตไปเพราะฉันงี่เง่าและตกหลุมรักคนโรคจิต ฉันมีความหวังเพียงเล็กน้อยที่จะสามารถหาใครซักคนหรือใครก็ตามที่จะเข้าใจฉันหรือต้องการเดทกับฉัน”


อย่างไรก็ตาม จากการศึกษานี้ที่พบว่าแม้จะมีผลกระทบมากมายจากการมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับคนโรคจิต แต่ก็มีข้อบ่งชี้อื่น ๆ ที่พบว่าผู้เข้าร่วมมีประสบการณ์การที่เติบโตขึ้นหลังถูกกระทบกระเทือนจิตใจ โดยกล่าวถึงประเด็นของการฟื้นคืนกลับ (Resilience) และการกลายเป็นคนที่แข็งแกร่งขึ้น ซึ่งอาจเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับการศึกษาในอนาคตได้


iSTRONG ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและครอบครัว

บริการให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง

สามารถเลือกคุยทางโทรศัพท์หรือการพูดคุยแบบส่วนตัว (Private Counseling)

และคอร์สออนไลน์ | Classroom Workshop

รวมถึงบทความจิตวิทยาอีกมากมาย

 

อ้างอิง:

Vinita Mehta Ph.D., Ed.M. 2022. 5 Long-Term Effects of a Relationship With a Psychopath. Retrieved from. https://www.psychologytoday.com/us/blog/head-games/202212/when-your-romantic-partner-is-a-psychopath-5-core-themes

Psychopathy. Retrieved from. https://www.psychologytoday.com/us/basics/psychopathy


เรียบเรียงโดย

บัวบูชา นาคลักษณ์ (นกยูง) นิสิตชั้นปีที่ 4 ภาควิชาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page