เริ่มชีวิตใหม่ยังไงให้ไม่ทำร้ายตัวเองและลูกเมื่อต้องเลี้ยงเดี่ยว
ข่าวพ่อเลี้ยงหรือแม่ทำร้ายลูกจนเสียชีวิตไม่เพียงแต่กระทบต่อความรู้สึกของคนในสังคม แต่ยังกระทบต่อความรู้สึกนึกคิดของผู้ที่กำลังตัดสินใจหรือผู้ที่เป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวด้วยโดยเฉพาะในฝั่งของแม่เลี้ยงเดี่ยวจะเกิดโอกาสในการรู้สึกกดดันได้มากกว่า เนื่องจากในมุมมองทางสังคมแล้ว ผู้เป็นแม่จะถูกคาดหวังมากมาย หากตัดสินใจผิดพลาดไปก็จะมีโอกาสถูกสังคมด่าทอมากกว่าผู้เป็นพ่อ แต่กระนั้น แม้ว่าสังคมจะมีกลไกการลงโทษทางสังคมกับแม่ที่ตัดสินใจผิดพลาดจนลูกเสียชีวิต เราก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าข่าวพ่อเลี้ยงหรือแม่ทำร้ายลูกจนเสียชีวิตก็ไม่มีวี่แววว่าจะลดลงไปเลย สิ่งนี้อาจสะท้อนว่าการแก้ปัญหานี้ด้วยการด่าทออาจไม่เพียงพอที่จะทำให้ปัญหานี้ลดลง การหันมาทำความเข้าใจและให้ความช่วยเหลือทางสังคมจึงอาจให้ผลที่ดีกว่า
การเลี้ยงเดี่ยวต้องเผชิญกับอะไรบ้าง?
นอกจากพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวจะต้องเผชิญกับความเจ็บปวดทางใจจากการอกหักหรือสูญเสียคนที่เคยรักกันไปแล้ว ความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นและต้องเผชิญที่มีเพิ่มเติมขึ้นมา ได้แก่
การขาดการสนับสนุนทางสังคม พ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ต้องรับหน้าที่ดูแลลูก มักจะต้องใช้เวลาแทบทั้งหมดของตัวเองไปกับลูก ทำให้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใหญ่ด้วยกันน้อยลงไปโดยปริยาย โดยเฉพาะคนที่ไม่มีใครที่มาช่วยผลัดเปลี่ยนหน้าที่ในการเลี้ยงลูก จึงอาจเกิดความรู้สึกอ้างว้างโดดเดี่ยวหรือหดหู่ได้
การจัดการว่าใครจะดูแลลูก กรณีที่ทั้งสองฝ่ายต้องผลัดกันรับลูกไปดูแล การบริหารจัดการว่าใครจะดูแลลูกวันไหนบ้างก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องคิด
ความเครียด กรณีที่พ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวต้องรับผิดชอบลูก 100% โดยไม่มีอีกฝ่ายรับผิดชอบช่วยเหลือเรื่องลูก อาจทำให้เกิดความเครียดในระดับสูงได้
ความกังวลในเรื่องการเงิน พ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวหลายคนกังวลว่ารายได้ของตนเองจะเพียงพอกับรายจ่ายของครอบครัวหรือไม่ โดยเฉพาะในกรณีที่อีกฝ่ายไม่รับผิดชอบ จึงเกิดความวิตกกังวลในเรื่องการเงิน โดยจากงานวิจัยเรื่อง “The Impact of Financial Hardship on Single Parents: An Exploration of the Journey From Social Distress to Seeking Help” ของ Rebecca Jayne Stack & Alex Meredith พบว่า พ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวมีแนวโน้มในการต้องเผชิญกับปัญหาการเงิน ซึ่งส่งผลต่อสุขภาวะทางใจของพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว และมีความเสี่ยงในการเกิดความรู้สึกแปลกแยก มีความวิตกกังวลสูง และเกิดภาวะซึมเศร้าได้
จะเกิดอะไรขึ้นบ้างหากเกิดความเครียดจากการเลี้ยงเดี่ยว?
แม้ว่าความเครียดนั้นมีส่วนดีคือช่วยกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกตื่นตัว เช่น ถ้าพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวรู้สึกเครียดในระดับที่เหมาะสม ก็จะมีการตื่นตัวว่าจะต้องทำยังไงให้ตัวเองและลูกข้ามผ่านสถานการณ์เลวร้ายไปได้ แต่หากมีความเครียดเกิดขึ้นแล้วไม่ได้สังเกตตัวเองจนกลายเป็นความเครียดสะสมเรื้อรัง พ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวอาจต้องเผชิญกับปัญหาเหล่านี้
มีปัญหาทางอารมณ์เกิดขึ้น เช่น หงุดหงิดง่าย วิตกกังวล หดหู่ซึมเศร้า
ภูมิต้านทานลดลงจากความเครียด ทำให้ป่วยบ่อยขึ้นหรือป่วยง่ายขึ้น
แรงจูงใจหรือความคิดสร้างสรรค์ลดลง
มีอาการทางกายที่เกิดจากความเครียด เช่น ปวดหัวบ่อย กล้ามเนื้อตึงทำให้ปวดเมื่อยเนื้อตัว
มีปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร ทำให้ปวดท้อง ท้องผูก ท้องเสีย
มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ
อารมณ์และความอยากอาหารเปลี่ยนแปลงไป
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยเรื่อง “Factors affecting the quality of life of single mothers compared to married mothers” ของ Ga Eun Kim & Eui-Jung Kim ซึ่งทำการเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตระหว่างแม่เลี้ยงเดี่ยวและแม่ที่สมรสชาวเกาหลีใต้ โดยพบว่า คะแนนคุณภาพชีวิตของแม่เลี้ยงเดี่ยวนั้นออกมาน้อยกว่าของแม่ที่สมรส, แม่ที่มีอายุมากกว่า, มีการศึกษาสูงกว่า หรือมีอาชีพการงานที่ดีกว่า ในทางกลับกัน แม่เลี้ยงเดี่ยวนั้นมีแนวโน้มที่จะต้องเผชิญกับความเครียดในระดับสูง, มีอาการของโรคซึมเศร้า, มีความคิดฆ่าตัวตาย หรือมีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งมึนเมา
จะพาตัวเองและลูกไปตลอดรอดฝั่งได้แม้ต้องเลี้ยงเดี่ยวได้อย่างไร?
การเลี้ยงเดี่ยวนั้นไม่ง่ายเพราะต้องเผชิญกับความท้าทายหลายอย่างซึ่งล้วนทำให้เกิดความเครียด แต่หากพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวสามารถวางแผนชีวิต หาวิธีรับมือกับความเครียด หรือเข้าถึงความช่วยเหลือได้ ก็จะสามารถใช้ชีวิตได้ดีไม่แพ้คนอื่น ซึ่งแม้ว่าคุณต้องเลี้ยงเดี่ยวแต่คุณก็สามารถพาตัวเองและลูกไปตลอดรอดฝั่งได้ ถ้าคุณเลือกวิธีรับมือกับแต่ละปัญหาอย่างเหมาะสม ดังนี้
1. รับมือกับความเหงา
แม้ว่าการเลี้ยงลูกนั้นหมายถึงคุณจะมีลูกอยู่ข้าง ๆ ตลอด 24 ชั่วโมง แต่การที่ลูกยังเล็กนั้นอาจทำให้คุณรู้สึกเหงา และโดดเดี่ยว
วิธีการรับมือกับปัญหา: แม้ว่าคุณจะอยู่ในสถานะพ่อ/แม่ แต่ก็ต้องอย่าลืมว่าคุณเองก็ต้องการการดูแลเช่นกัน โดยคุณอาจจะลองใช้เวลาที่ลูกหลับอยู่เป็นเวลาพักผ่อนของคุณ ไม่ว่าจะงีบหลับไปกับลูก เล่นโยคะ ทำกิจกรรมที่ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย หรือโทรหาเพื่อนสักคนให้รู้สึกว่าคุณยังมีความเชื่อมโยงกับคนอื่น ๆ อยู่
2. รับมือกับความรู้สึกสงสัยในคุณค่าของตนเอง
สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นเสมอเมื่อต้องเลี้ยงเดี่ยว ก็คือความรู้สึกสงสัยในตัวเอง เช่น “ฉันเป็นคนที่ไม่ดีพอใช่หรือเปล่า” “ฉันเป็นคนมีตำหนิไปแล้วใช่ไหม” “ฉันเป็นคนที่แย่มากเลยใช่ไหมที่ไม่สามารถรักษาครอบครัวไว้ได้” ฯลฯ
วิธีการรับมือกับปัญหา: ฝึกอยู่กับความเป็นจริงของปัจจุบันและฝึกโฟกัสกับสิ่งที่ตัวเองทำได้ เช่น “ฉันเลี้ยงลูกได้ดี” “ฉันสามารถทำงานหาเงินมาเลี้ยงลูกได้”
3. รับมือกับการที่ต้องตัดสินใจอะไรคนเดียว
การเลี้ยงเดี่ยวจะทำให้รู้สึกว่าขาดเพื่อนคู่คิด และต้องตัดสินใจทุกเรื่องเพียงลำพัง
วิธีการรับมือกับปัญหา: ฝึกให้ตัวเองเป็นคนที่สามารถมองหาทางออกของทุกสถานการณ์ได้ รวมไปถึงฝึกทักษะในการแก้ปัญหา ซึ่งแม้ว่าในครั้งแรก ๆ อาจจะทำได้ไม่ดีนัก แต่หากคุณฝึกแก้ปัญหาบ่อย ๆ คุณจะเกิดทักษะที่ทำให้คุณสามารถกลายเป็นคนที่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้เก่งในที่สุด
หากเปรียบการเลี้ยงเดี่ยวดั่งการพลัดตกน้ำ คนที่ไม่สามารถประคองสติได้ก็จะไขว่คว้าทุกสิ่งที่อยู่ใกล้เคียงแม้ว่ามันจะเป็นเพียงกะลามะพร้าว แต่คนที่ว่ายน้ำเป็นและมีสติเพียงพอก็จะสามารถพาตัวเองเข้าสู่ฝั่งได้ อย่างไรก็ตาม คุณไม่จำเป็นต้องเผชิญปัญหาอยู่ตามลำพัง อย่างน้อยก็ยังมีนักจิตวิทยาหรือนักให้คำปรึกษาที่จะสามารถช่วยให้คุณผ่านวิกฤตชีวิตไปได้เพียงแค่คุณเปิดใจไปรับบริการจากผู้เชี่ยวชาญดังกล่าว
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความแนะนำ
อ้างอิง
[1] Single Parenting Stress: How to Beat Burnout. Retrieved from. https://www.verywellmind.com/single-parenting-stress-how-to-beat-burnout-5216180
[2] The Impact of Financial Hardship on Single Parents: An Exploration of the Journey From Social Distress to Seeking Help. Retrieved from. https://link.springer.com/article/10.1007/s10834-017-9551-6
[3] Factors affecting the quality of life of single mothers compared to married mothers. Retrieved from. https://bmcpsychiatry.biomedcentral.com/articles/10.1186/s12888-020-02586-0
[4] An Emotional Survival Guide for Single Moms. Retrieved from. https://www.seleni.org/advice-support/2018/3/13/an-emotional-survival-guide-for-single-moms
ประวัติผู้เขียน
นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) ปริญญาโทสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา (คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็น นักจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (พ.ศ. 2555 – ปัจจุบัน และเป็นนักเขียนของ iSTRONG
Kommentare